หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 121

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 121
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 121
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 121
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 5 ตุลาคม 2556

ขอให้ญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ ทำความสงบให้มีให้เกิดขึ้นที่ใจของพวกเราด้วยการเจริญสติอานาปานสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน ทำใจของเราให้สงบ ทำใจของเราให้สะอาด เราได้น้อมกายของเราเข้ามา มีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย เชื่อบุญ เชื่อบาป เชื่อกรรม เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธองค์ ทำอย่างไรเราถึงจะเข้าถึงคำสอนของท่าน ทำอย่างไรถึงจะทำใจของเราให้สะอาด ให้บริสุทธิ์

แนวทางนั้น พระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบแล้วก็เอามาเปิดเผยให้สัตว์โลกได้เดินตาม พวกเราพากันเดินตามแล้วหรือยัง พากันทำความเข้าใจกับชีวิตของตัวเราเองแล้วหรือยัง ถ้ายัง เพียงแค่การเจริญสติ การสร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่อง พวกท่านพากันทำแล้วหรือยัง อานิสงส์บุญกุศลต่างๆ ที่เคยทำ ที่เคยสร้างมานั้นเป็นพื้นฐานได้เป็นอย่างดี ในการทำความเข้าใจ การเข้าถึง การละกิเลสหยาบ การละกิเลสละเอียดออกจากจิตจากใจของพวกเรา ได้พากันทำแล้วหรือยัง

ธรรมชาติของใจที่ปราศจากกิเลสนั้นมีอยู่กันทุกคน แต่ความไม่รู้ ทำให้ใจเราถึงเกิด เกิดแล้วก็หลง หลงเป็นทาสของอารมณ์ หลงเป็นทาสของกิเลส แล้วก็เข้าไปยึดในสิ่งต่างๆ ก็ทำให้เกิดความทุกข์ ทุกข์ระดับสมมติ ทุกข์ระดับของโลกธรรม ก็ยังไม่ค่อยจะแก้ไขให้ถึงจุดหมาย ทุกข์ในกายของเราที่ใจของเราเข้าไปหลงเข้าไปยึดในธาตุขันธ์ของเราอีก หรือว่าไม่รอบรู้ในกองสังขาร ไม่รอบรู้ในดวงวิญญาณของตัวเราเอง ไม่รอบรู้ในแนวทางหนทางที่จะเดินให้ถึงจุดหมายปลายทาง

เราอาจจะเดินอยู่ ถ้าเดินอยู่ได้เพียงแค่ระดับของสมมติ อาจจะถูกต้องอยู่ระดับของสมมติ แต่ในหลักธรรมแล้วยังขาดการเข้าไปทำความเข้าใจถึงตัวใจของเราจริงๆ ว่าใจที่ปราศจากกิเลสเป็นอย่างไร ใจที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นเป็นอย่างไร ใจที่สงบเป็นอย่างไร แนวทางนั้นมีอยู่ ก็ต้องพยายามศึกษาค้นคว้า เราจะไปนึกไปคิด ไปอ่าน ไปฟัง อันนั้นก็เป็นแค่เพียงแผนที่ชี้แนะแนวทางให้เท่านั้นเอง

เราจงพยายามหมั่นเจริญสติ รู้หลัก รู้จักลักษณะของสติ ความรู้ตัวอยู่ปัจจุบันที่ต่อเนื่องกันเป็นอย่างไร การเข้าไปควบคุมจิตควบคุมอารมณ์ จนกว่าใจของเราจะคลายออกจากขันธ์ห้า ซึ่งเรียกว่า แยกรูปแยกนาม เห็นการเกิดการดับของขันธ์ห้า เห็นการเกิดการดับของตัวใจ รอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในชื่อของสมมติ ลักษณะของอริยสัจ ความจริงอันประเสริฐเป็นอย่างไร กายเนื้อของเราเป็นอย่างไร ทวารทั้งหกก็ทำหน้าที่อย่างไร โลกธรรมแปดที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว เราจะบริหารอย่างไรให้มีความสุข ธรรมชาติภายใน ใจที่ปราศจากกิเลสเป็นอย่างนี้ ใจที่เป็นสมาธิเป็นอย่างนี้ ปัญญาที่เราสร้างขึ้นมาเป็นลักษณะอย่างนี้ เราต้องแจงแยกแยะทำความเข้าใจ

อยู่กับสมมติ เคารพสมมติ ไม่ยึดติดสมมติ ทำหน้าที่ของสมมติให้ดี ถึงวาระเวลาก็ต้องวางสมมติหมด แต่เราต้องวางภายในของเราให้หมดจดเสียก่อน อยู่กับสมมติ เคารพสมมติ อยู่ที่ไหนก็มีความสุข แต่ละวันตื่นขึ้นมา เราจะทำบุญได้ตลอดเวลา เรามีความขยันหมั่นเพียร เรามีความรับผิดชอบ เรามีความจริงใจ เรามีความอ่อนน้อมถ่อมตน เราก็จะอยู่กับบุญตลอดเวลา ตื่นขึ้นมาไม่ได้ไปแสวงหาที่ไหนเลย หาที่กายที่ใจของตัวเรา สมมติภายนอกอะไรไม่ดี เราก็รีบแก้ไขเสีย ทำให้มันดี ก็จะส่งผลถึงอนาคต พยายามนะ อย่าพากันปล่อยวันประกันพรุ่ง เสียดายเวลา

การที่ได้เกิดมานี่ก็ยากแสนยากแล้ว การที่ได้พบพระพุทธศาสนาอีกก็ยากแสนยากแล้ว การทำความเข้าใจให้ถูกต้องอีกก็ยากอีก ถ้าไม่มีความเพียรที่ถูกต้อง ความเพียร แนวทางนั้นพระพุทธองค์ท่านค้นพบแล้วเอามาจำแนก ประกาศให้โลกได้รู้แล้ว แต่พวกท่านต้องพยายามพากันเดิน ท่านบอกว่าให้เดินไปทางนี้ ให้ถึงจุดหมายปลายทางเสียก่อน ท่านถึงบอกให้เชื่อ ความจริงมีอยู่ อยู่ในกายของเราทุกคน ก็ต้องพยายามกัน

สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้ชัดเจน ความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ หยุดเอาไว้ก่อน ถึงเราละไม่ได้ หยุดไม่ได้ก็ขอให้หยุดเอาไว้เสียก่อน เพียงแค่เรื่องการหายใจเข้าออกก็ขาดการสนใจกันมากเลยทีเดียว เราก็หายใจเขาออกมาตั้งแต่เกิด เวลาจะหายใจสร้างความรู้ตัวทีหนึ่ง บางทีอึดอัด กายก็อึดอัด ใจก็อึดอัด สมองก็อึดอัด เพราะว่าความไม่เคยชิน ความเคยชินแบบเก่า แบบโลกๆ กิเลสมันปิดกันเอาไว้หมด ยิ่งไม่เข้าใจเท่าไร เราก็ยิ่งเพิ่มความเพียรให้เป็นทวีคูณ ให้ถึงจุดหมายปลายทาง

ความรู้ตัวที่เราสร้างขึ้นมา รู้กายแล้วก็รู้ใจ รู้การละกิเลสของใจ รู้จักหมั่นพร่ำสอนใจ ตามความทำความเข้าใจ ชี้เหตุชี้ผลให้ใจมองเห็นความเป็นจริง ถ้าเขารู้ความเป็นจริงแล้ว เขาไม่เอาหรอกทุกข์ เขาไม่เกิดหรอก การเกิดเป็นทุกข์ การเป็นทาสของกิเลสก็เป็นทุกข์ เขาจะไม่เอา เขาจะทำความเข้าใจ อะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน

ช่วงใหม่ๆ นี้เราต้องเจริญสติเข้าไปอบรมเสียก่อน เข้าไปทำความเข้าใจเสียก่อน ชี้เหตุชี้ผล ให้ใจมองเห็นความเป็นจริง ทั้งกิเลสหยาบกิเลสละเอียด ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน เมื่อใจมองเห็นความเป็นจริงแล้ว เขาไม่เอาทุกข์เด็ดขาด มาใส่ใจตัวเราเอง แต่กายของเราก็ยังเป็นก้อนทุกข์อยู่ ก็ต้องทำความเข้าใจ บริหารให้ดี ทำให้ดี ทำหน้าที่ของเราให้ดี ก็จะมีตั้งแต่ความสุข

สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจเข้าออกให้ชัดเจนกัน ทำใจให้โล่ง สมองให้โปร่ง มีความรู้สึกรับรู้อยู่ที่ปลายจมูกของเรา อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวขณะนี้ก็ให้รู้ว่าลมวิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน สักระยะหนึ่งก่อนนะ

พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจกันนะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง