หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 88

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 88
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 88
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 88
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2556

พากันดูดีๆ นะ พระเราชีเรา พิจารณาปฏิสังขาโยกัน อย่าไปปล่อยโอกาสทิ้ง อย่าไปปล่อยเวลาทิ้ง ตื่นขึ้นมาเราก็พยายาม หัดรู้กาย รู้ใจ รู้หน้าที่ รู้จักรับผิดชอบ อย่าไปปล่อยเวลา อย่าไปเลือกกาลเลือกเวลา ขณะนี้ใจของเราเป็นอย่างไร กายของเราเป็นอย่างไร ยิ่งเวลาจะรับประทานข้าวปลาอาหารก็ให้รู้จักพิจารณา กายหิวหรือใจเกิดความอยาก ความอยาก ความหิว

การควบคุม การดูแล การสังเกต การแยกแยะ ทุกเรื่องตั้งแต่ตื่นขึ้น ตั้งแต่ตากระทบรูป หูกระทบเสียง ท่านใดจะลุกจะก้าว จะเดินจะเข้าห้องส้วมห้องน้ำ ว่าใจของเราปกติ คนทั่วไปนี่ก็ยากอยู่นะ เพียงแค่การเจริญสติ ให้ต่อเนื่องก็ลำบากอยู่ การสร้างความรู้ตัว ได้นาที 2 นาที 3 นาทีก็ยังไม่ค่อยจะสนใจ แต่ปัญญาทางสมมติ ทางโลกียะนั้นอาจจะถูกต้องอยู่ มองเห็นความจริงของสมมติอยู่ แต่ความรู้ตัว รู้กาย รู้ใจ ลักษณะของคำว่าปัจจุบันธรรมเป็นอย่างไร ถ้าไม่ขยันหมั่นเพียรจริงๆ นี่ก็ยากจริงๆ ที่จะเข้าใจถึงความหมาย แต่ก็ไม่เหลือวิสัย

ใกล้เข้าพรรษาเข้ามาแล้ว เหลืออีกอาทิตย์เดียวก็จะเข้าพรรษาแล้ว เผลอแป๊บเดียว วันเดือนปีผ่านไปๆ ทางด้านนามธรรม ทางด้านโลกธรรมก็ผ่านไปๆ ความเกิดความดับของจิตใจมันเกิดอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่เข้าไปเห็นเข้าไปถึง ก็เลยไม่รู้ความจริงตรงนี้ ก็เลยวิ่งตามความคิด วิ่งตามอารมณ์ ทำตามความคิด ทำตามอารมณ์อยู่ตลอดเวลา โดยที่ไม่รู้ตัว ถ้าไม่เห็นจริงๆ มันก็ยากที่จะเข้าใจ แต่ก็จิตใจก็ฝักใฝ่ในบุญในกุศล อยากจะได้บุญได้กุศล

เมื่อวานนี้ก็พากันเทองค์พระหายอยู่หลายชั่วโมง ชั่วโมง 2 ชั่วโมง องค์พระปางเลไลย์ ปางที่พระพุทธองค์ท่านได้เสด็จออกไปอยู่ป่า ท่านอยู่กับบริวาร อยู่กับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ภิกษุสงฆ์บอกไม่เชื่อฟัง ทะเลาะเบาะแว้ง ทะเลาะเบาะแว้งกัน ท่านก็เลยเสด็จออกไปอยู่ป่า อยู่ในป่าดงดิบ สมัยก่อนช้างก็เยอะ ลิงก็เยอะ เสือก็เยอะ นกก็เยอะ มีช้างกับลิงไปคอยอุปัฏฐากท่าน เมื่อวานนี้ ป่าของเรายังไม่ได้หนาเหมือนป่าดงดิบ ก็เลยเอาต้นไม้มาปลูกประมาณสักห้าหกร้อยกว่าต้น ต้นไทร จะได้เป็นป่าดงดิบใหญ่ที่พระพุทธองค์ท่านได้ไปอาศัย จะได้มีความร่มรื่นร่มเย็น เอาไว้ฟอกอากาศให้กับทุกคน

นี่แหละอานิสงส์ของการสร้างพระ ปางป่าเลไลย์ ท่านเข้าไปอยู่ในป่า ไปบำเพ็ญอยู่ในป่า จะเรียกว่าบำเพ็ญก็คงจะไม่ใช่ เพราะว่าท่านได้ตรัสรู้ตั้งแต่หกเจ็ดปีแรก ท่านเข้าไปบำเพ็ญ ไปพักอยู่ในป่า ไปเสวยวิมุตติสุข มีช้าง มีลิงมาคอยอุปัฏฐาก ลิงที่มาคอยอุปัฏฐาก มาให้อาหารมาให้น้ำผึ้งพระพุทธเจ้า ช่วงใหม่ๆ พระพุทธองค์ก็ยังไม่รับ เพราะว่าในรวงผึ้งในน้ำผึ้งนั้นมีตัวอ่อนอยู่ มีตัวผึ้งอยู่ท่านก็เลยนิ่ง

ลิงก็สงสัย ก็เลยเอารวงผึ้งมาพลิกซ้ายพลิกขวา พลิกดู เห็นตัวอ่อนของผึ้งอยู่ ก็เลยหยิบออก ก็เลยเอาถวายพระพุทธองค์ พอพระพุทธองค์รับรวงผึ้งจากลิงๆ ดีใจใหญ่ กระโดดโลดเต้นมีความสุขกระโดดขึ้นต้นไม้ กระโดดพลาดยังไงก็ไม่รู้ ไปจับกิ่งไม้หัก ตกลงมาคอหักตาย ในพระไตรปิฎก ท่านกล่าวเอาไว้อย่างนั้น พอตกลงมาคอหักตาย จิตดวงนั้นเกิดความปีติเกิดสุข เกิดดีใจว่าได้ถวายของให้แด่พระพุทธองค์ก็เลยไปเกิดเป็นเทพอยู่ชั้นดาวดึงส์ เป็นเทพอะไรจำไม่ค่อยได้นะ เพียงแค่ค้างคาวก็เหมือนกัน ได้ฟังพระสวดมนต์อยู่ในถ้ำ ตกลงมาตายก็ได้ไปเป็นเทวดา

พวกเรามีโอกาสที่มาเป็นมนุษย์ ฟังภาษาก็รู้เรื่อง ได้ทำบุญได้ให้ทาน อย่างน้อยๆ ก็ได้ไปเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ สวรรค์ชั้นไหนก็เลือกเอา เอาชั้นปัจจุบันให้ได้เสียก่อน ได้ทำบุญได้ให้ทาน ทำใจให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ทำใจให้มีความสุข อะไรที่จะเป็นประโยชน์เราก็ทำ ทำช่วยกัน หลวงพ่อก็พาทำทุกวัน 30 ปีมานี้ทุกวันเลยไม่ค่อยขาด ทำทุกอย่าง

แต่เรื่องดูใจ รู้กาย รู้ใจ ต้องดูตั้งแต่ตื่นขึ้นมาทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ว่าทำไมใจของเราถึงเกิด ทำไมใจของเราถึงเป็นทาสของกิเลส ทำไมใจของเราถึงหลง ทำไมใจของเราถึงส่งออกไปภายนอก ตรงนี้แหละไม่ค่อยจะพากันสนใจกันเท่าไหร่ ไม่ค่อยจะรู้จักควบคุมใจ ควบคุมอารมณ์ จนกว่าใจจะคลายออกจากความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้าของตัวเรา

คำว่าขันธ์ห้า ความหมายของขันธ์ห้าก็ยังไม่ค่อยจะทำความเข้าใจกัน ก็ไปนึกเอาเทียนห้าคู่ ดอกไม้ห้าคู่มาเป็นขันธ์ห้า ขันธ์ห้าก็อยู่ในกายของเรานี่แหละไม่ได้อยู่ที่ไหนหรอก ที่พระพุทธองค์ท่านบอกว่าเป็นกองเป็นขันธ์ พากันสวดกันท่องอยู่ กองวิญญาณ กองรูป กองนาม กองความคิด กองกุศล กองอกุศล กองอดีต มีอยู่ในกายของเราหมดนะ เว้นเสียแต่ว่าพวกเราจะเจริญสติเข้าไปดูรู้เท่าทันหรือไม่เท่านั้นเอง

ตั้งใจรับพร

ขอให้ญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย ฟังไปด้วย น้อมสำเหนียก ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยวนะ ความนึกคิดปรุงแต่งที่เกิดจากใจของเราจะหยุด สงบระงับลงทันที ความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเรา นั่นแหละเขาเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ ถ้าเรารู้ให้ต่อเนื่อง เขาเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’

ความรู้สึกตัวพลั้งเผลอเราก็เริ่มขึ้นใหม่ ความรู้สึกตัวพลั้งเผลอเราก็เริ่มขึ้นใหม่ให้เกิดความเคยชิน เพียงแค่การเจริญสติ การทำความเข้าใจกับการสร้าง พวกเราก็ยังไม่เคยชินพวกเราก็ยังไม่เคยทำ ถึงทำก็อาจจะทำอาจจะรู้ได้เป็นบางช่วงบางครั้งบางคราว ไม่รู้ให้ต่อเนื่อง จะเอาตั้งแต่ความคิดเก่า ปัญญาเก่า

ความคิดเก่าที่เกิดจากจิตจากวิญญาณนั้นเขาเกิดมาตั้งนาน เขาหลง เขาถึงได้เกิด แต่มาเกิดอยู่ในภพของมนุษย์ มีกายเนื้อเข้ามาห่อหุ้มเอาไว้ ยิ่งมาหลงเข้าไปอีก ถ้าไม่ได้เจริญสติเข้าไปสังเกต เข้าไปหาเหตุหาผล จนกว่าจะสังเกตเห็นอาการของขันธ์ห้ากับตัวใจหรือว่าตัววิญญาณคลายออกจากกัน รู้ลักษณะของวิญญาณ แต่วิญญาณนั้นเป็นความว่าง ในความว่างนั้นมีความรู้สึกรับรู้อยู่ ถ้าความรู้ตัวสติปัญญาของเราไม่แหลมคมจริงๆ ก็ยากที่จะเห็น

ส่วนมากก็รู้อยู่ช่วงเขาเกิด ท่ามกลาง แล้วก็บั้นปลาย แล้วก็รู้จักควบคุมอยู่ตั้งแต่ระดับบั้นปลายท่ามกลาง แต่ต้นเหตุโคนเหตุ รากฐานจริงๆ เราไม่ค่อยจะสนใจ เพราะว่าเรา กำลังสติของเรามีไม่เพียงพอ แม้แต่กำลังสติที่จะสร้างขึ้นมาภายใน 5 นาที 10 นาทีนี้ก็ยังไม่ ไม่ต่อเนื่อง มันก็เลยได้ตั้งแต่ทำบุญให้ทาน กับเจริญพรหมวิหารในระดับหนึ่ง อยู่ในระดับของสมมติเท่านั้นเองก็เลยเข้าไปไม่ถึงต้นเหตุ โคนเหตุ รากฐานของความทุกข์จริงๆ ก็เลยดับทุกข์ไม่ค่อยจะได้ ก็ดับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ช่วงกลางช่วงปลายก็ยังดี ดีกว่าไม่ทำ

ขอให้เราน้อมใจเข้ามา เราเจริญสติเข้าไปอบรมใจของเรา ไปหมั่นพร่ำสอนใจของเราอยู่ตลอดเวลา ว่าพระพุทธองค์ท่านสอนเรื่องอะไร ท่านชี้เหตุชี้ผลเรื่องอะไร เราก็ต้องพยายามค้นคว้าอยู่ในกายของเรา ตำราใบใหญ่เลยทีเดียวในกายของเรา ถ้าเราค้นคว้าตรงนี้เห็นชัดแจ้งชัดเจนแล้ว เราก็จะมองเห็นความเป็นจริงของชีวิต รอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในโลก โลกใบนี้แหละที่เดินได้ อันนั้นโลกภายนอก เขาก็เป็นอยู่อย่างนั้น

อย่าไปปิดกั้นตัวเราเอง อย่าไปปล่อยโอกาสทิ้ง อย่าไปปล่อยเวลาทิ้ง จะทำอะไรก็มีเหตุมีผล ทำด้วยเหตุด้วยผล ให้ใจของเรารับรู้ผิดถูกชั่วดีอย่างไร สติปัญญาของเราไปแก้ไข แต่เวลานี้กำลังสติของเรามีน้อย ก็ต้องพยายามสร้างพยามทำ อดทนอดกลั้น หาเหตุหาผลให้กับชีวิตของเรา ทำไมเราถึงขาดตกบกพร่อง เพียงแค่ระดับสมมติ เรามีความพร้อมแล้วหรือยัง ความขยันหมั่นเพียรของเรามีเพียงพอแล้วหรือยัง การแสวงหาการขวนขวาย การสร้างการทำของเรามีแล้วหรือยัง

กายของเราทำหน้าที่อย่างไร วิญญาณทำหน้าที่อย่างไร ทวารทั้งหกทำหน้าที่อย่างไร มีหมดอยู่ในกายของเรา ถ้าเรารู้เราเห็นแล้วเราพยายามรีบทำความเพียร เมื่อจิตวิญญาณของเรามองเห็นความเป็นจริง การเกิดเป็นทุกข์เขาก็ไม่เอา เป็นทาสของกิเลสเขาก็ไม่เอา ก็จะอยู่กับความบริสุทธิ์ เมื่อกายแตกดับแล้วก็เข้าสู่ความบริสุทธิ์กัน ก็ต้องพยายามนะ

สร้างความรับรู้สัมผัสของลมหายใจให้ชัดเจนให้ต่อเนื่องกัน หลวงพ่อก็เพียงแค่เล่าให้ฟัง พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปสร้างสานต่อเอานะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง