หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 68 วันที่ 3 สิงหาคม 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 68 วันที่ 3 สิงหาคม 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 68 วันที่ 3 สิงหาคม 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 4 (ลำดับที่ 61-80)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 68
วันที่ 3 สิงหาคม 2557


เจริญธรรมญาติโยมทุกคนทุกท่าน ขอให้ญาติโยมจงเจริญสติ ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมาเราได้สร้างความรู้ตัวแล้วหรือยัง ถ้ายังก็เริ่มเสียนะ หยุดความนึกนิดปรุงแต่งต่างๆ เอาไว้ชั่วคราว ดับความคิด ดับความกังวล ความฟุ้งซ่านต่างๆ เอาไว้ ชั่วครั้งชั่วคราว ถึงเราละไม่ได้เด็ดขาด ฟังไปด้วย น้อมสำเหนียก


ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเรานั่นแหละ เขาเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ ถ้ารู้ให้ต่อเนื่อง เขาเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม เราพยายามสร้างขึ้นมาให้เกิดความเคยชินตั้งแต่ตื่นขึ้น ตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน อยู่ ขับถ่าย ให้เป็นแค่เพียงอิริยาบถ


ถ้าเรามีความรู้ตัวที่ต่อเนื่อง เราก็จะรู้ลึกลงไปอีก ว่าความปกติของใจเป็นอย่างไร ลักษณะของใจที่ปราศจากกิเลสเป็นอย่างไร ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างไร อาการของขันธ์ห้าหรือว่าความคิดที่เราไม่ได้ปรุงแต่ง วิญญาณในกายของเราเป็นอย่าง เราก็จะเห็นเข้าไปเรื่อยๆ ว่าในกายของเรานี้มีอะไรดีเยอะ เป็นละครโรงใหญ่เลยทีเดียว ซึ่งมีวิญญาณเข้ามาสร้าง มาครอบครอง เราต้องมาสร้างผู้รู้ มาเจริญสติให้ต่อเนื่อง แล้วก็เอาไปใช้การใช้งาน เห็นเหตุเห็นผล ตามดูรู้เหตุรู้ผล ชี้เหตุชี้ผลว่าพระพุทธองค์ท่านสอนเรื่องอะไร


คำว่า ‘สัมมาทิฏฐิ’ ความรู้แจ้งเห็นจริง ความเห็นถูกเป็นอย่างไร ‘มิจฉาทิฏฐิ’ ความเห็นผิด เห็นผิดอะไร เห็นถูกอะไร เห็นถูกในกายของเรา เห็นถูกในขันธ์ห้าของเรา การพูดจา การดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง การบริหารกายบริหารใจที่ถูกต้องเป็นลักษณะอย่างไร มีหมดอยู่ในกายในคำสอนของพระพุทธองค์


ท่านสอนวิธีการที่จะเข้าถึง ท่านสอนวิธีการที่จะขัดเกลากิเลส แต่พวกเราทั่วไปนั้นอาจเห็นถูกอยู่ในระดับปัญญาของโลกีย์ แต่ในทางธรรมแล้ว เราต้องมาเจริญสติเข้าไปแยก เข้าไปคลาย เข้าไปตามดู รู้เหตุรู้ผลทุกเรื่อง ในกายของเรา ว่าวิญญาณในกายของเรา วิญญาณในขันธ์ห้าของเรา หรือที่เรียกว่า ‘ใจ’ นั่นแหละเป็นลักษณะอย่างไร ทำไมใจถึงเกิด ทำไมใจถึงหลง ทำไมใจถึงเป็นทาสของกิเลส ‘กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด’ เป็นอย่างไร คำว่า ‘ภพ’ ว่า ‘ชาติ’ เป็นอย่างไร


ความหมายการพูดการจาก็เป็นแค่เพียงการสื่อ สื่อความหมาย สื่อแนวทาง การได้ยินได้ฟัง ได้อ่าน ก็เป็นแค่เพียงการสื่อสารกันเท่านั้น ในหลักธรรมจริงๆ แล้ว เราต้องพยายามสร้างขึ้นมาให้รู้ให้เห็น แล้วทำความเข้าใจ ขัดเกลากิเลสออกจากจิตจากใจของเราให้หมด ทำความเข้าใจกับสมมติ ทำความเข้าใจกับโลกธรรม ให้ปรากฏขึ้นที่ใจของเรา ท่านถึงบอกให้เชื่อ มองเห็นหนทางเดินของตัวเราว่า กายแตกดับแล้วเราจะไปอย่างไร จิตวิญญาณของเราจะไปอย่างไร มาอย่างไร เราก็ต้องพยายาม


ไม่เข้าใจเราก็ยิ่งเพิ่มความเพียรให้เป็นทวีคูณ ยิ่งไม่เข้าใจเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเพิ่มความเพียร อย่าไปมองข้ามในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ การสร้างตบะ สร้างอานิสงส์ สร้างบุญ สร้างบารมี ความเสียสละ เสียสละวัตถุทาน กิเลสทานต่างๆ จนกว่าจะเข้าถึงปรมัตถทาน สมมติ ความจริงของสมมติก็มีอยู่ ความจริงของวิมุตติก็มีอยู่


บุคคลที่มีบุญมีอานิสงส์ ฟังนิดเดียว การเจริญสติที่ต่อเนื่องกันเป็นอย่างนี้ การละกิเลสเป็นอย่างนี้ การดับความเกิดเป็นอย่างนี้ กายวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจวิเวกเป็นอย่างนี้ ทวารทั้งหกของเราทำหน้าที่อย่างนี้ หมดความสงสัย หมดความลังเล มีตั้งแต่จะขัดเกลากิเลสออกจากจิตจากใจของตัวเราให้หมดจด ก่อนที่ธาตุขันธ์ของเราจะแตกจะดับ


อย่าไปปิดกั้นตัวเราเองว่าไม่มีโอกาส ทุกคนมีโอกาส ทุกคนมีเวลา พยายามปรับสภาพใจของเราให้ถูกตามแนวทางของพระพุทธองค์เท่านั้นเอง รู้ด้วย เห็นด้วย เข้าถึงด้วย หมดความสงสัยได้ด้วย เราก็จะได้อยู่กับบุญ ใจก็จะเป็นบุญ กายก็จะเป็นบุญตลอดเวลา


สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้ชัดเจน ให้ต่อเนื่องกัน อันนี้เป็นแค่เพียงอุบาย เป็นแค่เพียงการชี้แนะแนวทางให้เท่านั้นเอง อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวขณะนี้ก็ให้รู้ว่าลมหายใจวิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนกันนะ


พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปสร้างสานต่อ ทำความเข้าใจกันเอา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง