หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 40 วันที่ 6 พฤษภาคม 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 40 วันที่ 6 พฤษภาคม 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 40 วันที่ 6 พฤษภาคม 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 2 (ลำดับที่ 21-40)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 40
วันที่ 6 พฤษภาคม 2557


ขอให้ญาติโยมทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน แล้วก็ให้ต่อเนื่อง นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย เรามาหยุดความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ ที่เกิดจากใจของเราเอาไว้ ด้วยการสร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจ ฟังไปด้วย น้อมสำเหนียก


ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว กายของเราก็รู้สึกว่าสบายขึ้นเยอะ อันนี้เพียงแค่สร้างความรู้ตัวเฉยๆ นะ การสร้างความรู้ตัว ส่วนมากเราจะไม่ค่อยจะสนใจกันเท่าไหร่ เพราะว่าความคิดเก่าที่เกิดจากตัวใจ ความคิดเก่าที่เกิดจากอาการของขันธ์ห้าซึ่งมีกันทุกคน ความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจ ความคิดที่เกิดจากตัวใจ เราต้องพยายามสร้างความรู้ตัวตัวใหม่ให้มีให้เกิดขึ้น แล้วก็ให้ต่อเนื่อง เขาเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’


ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน ความรู้สึกตัวพลั้งเผลอเราก็เริ่มขึ้นมาใหม่ ความรู้สึกตัวพลั้งเผลอเราก็เริ่มขึ้นมาใหม่ จะเห็นเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งที่เราสร้างขึ้นมา อีกส่วนหนึ่งก็เป็นใจ การเกิดการดับของใจ ถ้าเราสังเกตทันอีก ถ้ามีความคิดผุดขึ้นมา ที่ไม่ตั้งใจคิด ใจจะเคลื่อนเข้าไปรวม ถ้าเรารู้เท่าทัน ใจก็จะแยกออกจากความคิดนั้นๆ เขาเรียกว่า ‘แยกรูป แยกนาม’ หรือว่าหงายจากสมมติไปหาวิมุตติ เราก็จะเห็นเป็นส่วนอีกส่วนหนึ่ง เห็นเป็นสาม


ถ้าเราตามดู ตามทำความเข้าใจ เรื่องอะไรที่เกิดมาปรุงแต่งใจ เป็นเรื่องอดีต เรื่องอนาคต ก็จะซอยแยกลงไปเรื่อยๆ เป็นกองกุศลหรือว่าอกุศล เป็นลักษณะอาการอย่างไร เราก็จะเข้าใจในขันธ์ห้าของเรา ว่ามีอะไรบ้าง มีวิญญาณเป็นตัวสุดท้ายที่เข้ามาครอบครอง มันจะคอยละเอียดลึกลงไปเรื่อยๆ กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด การก่อตัวของใจ การก่อตัวของความคิด กายทำหน้าที่อย่างไร ทวารทำหน้าที่อย่างไร


ถ้าใจของเราคลายออกจากความคิด เราก็จะเข้าใจความหมายของคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านสอนเรื่องคำว่า ‘อัตตา’ สอนคำว่า ‘อนัตตา’ ซึ่งมีอยู่ในกายในใจของเราเป็นลักษณะอย่างไร การเกิดของใจ ใจส่งไปภายนอกเป็นลักษณะอย่างไร เป็นกุศลหรือว่าอกุศล กำลังสติ กำลังความรู้ตัวที่สร้างขึ้นมานี่แหละ จะเข้าไปรู้เท่าทัน ตั้งแต่ต้นเหตุ กลางเหตุ ปลายเหตุ ตามดู ตามรู้ ตามเห็น ชี้เหตุชี้ผล อะไรควรละ อะไรควรเจริญ มีหมดอยู่ในกายของเรา


เราจะศึกษาค้นคว้ากันให้ถึงจุดหมายปลายทางหรือไม่ เราต้องเป็นบุคคลที่มีความเพียรเป็นเลิศ ในทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน อยู่ ขับถ่าย หมั่นพร่ำสอนใจของตัวของเราอยู่ตลอดเวลา แต่ส่วนมากจะไม่ค่อยจะสนใจกัน อยากจะทำบุญ อยากจะได้บุญ อยากจะได้ธรรม มันก็ปิดกั้นตัวเองเอาไว้หมดนั่นแหละ


เราต้องมาสร้างความรู้ตัว ให้รู้ ให้เห็น ตามทำความเข้าใจ เปลี่ยนจากความอยาก เป็นความต้องการของสติของปัญญา เป็นความรับผิดชอบของสติปัญญา อยากมีมาก อยากร่ำอยากรวย ก็ขยันหมั่นเพียร รู้จักหารู้จักใช้ รู้จักเก็บ ขยันหมั่นเพียรในกองบุญกองกุศล อะไรเป็นทุกข์เป็นโทษ เราก็พยายามละ


พยายามดู พยายามพิจารณา จนมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมดาเป็นธรรมชาติหมด ทั้งดีทั้งไม่ดี ก็มองเห็นเป็นธรรมดาหมด ใจไม่หลง ไม่ยึด ละอกุศล เจริญกุศล แต่ใจไม่ยึด ไม่ติด ให้อยู่เหนือ หรือว่าอยู่เหนือบุญ เหนือบาป เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง มองเห็นความเป็นจริง ละ คลายความหลง ละกิเลส แล้วก็ดับความเกิด


กายของเราก็ทำหน้าที่ของสมมติไป สติปัญญาก็ดูแลเขาไป ถึงเวลาเขาก็ต้องแตกต้องดับ ไม่ถึงเวลาเขาก็ไม่แตกไม่ดับ เราก็ต้องพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริง ขณะที่เรายังมีลมหายใจอยู่ มองเห็นหนทางเดิน ว่าเราจะได้กลับมาเกิด หรือไม่กลับมาเกิดกัน หมั่นพร่ำสอนตัวเรา แก้ไขตัวเรา จนล้นออกไปสู่ภายนอก สู่สมมติ สนุกสร้างบุญสร้างกุศลกัน


ขณะนี้ เวลานี้ กำลังสติของเรามีน้อย แถมเกียจคร้านเสียด้วย ไม่ค่อยจะสนใจ ไม่ค่อยจะสร้าง จะเอาตั้งแต่ธรรม เราต้องมีความขยันหมั่นเพียร ความรู้สึกพลั้งเผลอเริ่มใหม่ ความรู้สึกพลั้งเผลอเริ่มใหม่ จนเกิดความเคยชิน กำลังสติของเรา ถ้าเห็นลักษณะของใจคลายออกจากขันธ์ห้า ถ้าตามดูแล้ว กำลังสติจะพุ่งแรง กลายเป็น ‘มหาสติ’ ตามค้นคว้าชี้เหตุชี้ผล ทำความเข้าใจ จนกลายเป็น ‘มหาปัญญา’ จากมหาปัญญาจนกลายเป็นอัตโนมัติ แต่เวลานี้ เพียงแค่การสร้าง พวกเราก็ยังลุ่มๆ ดอนๆ มันจะไปดำเนินถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างไร ทั้งที่ใจก็มีแรงศรัทธาเต็มเปี่ยม เป็นบุญกันเต็มเปี่ยม ให้ได้ทั้งทรัพย์ภายนอก ทรัพย์ภายใน


สิ่งพวกนี้จะไปบังคับกันไม่ได้เลย เพราะว่าวิบากกรรมของแต่ละบุคคล สร้างมาไม่เหมือนกัน บางคนก็สร้างมามาก บางคนก็สร้างมาน้อย บางคนก็สร้างมาดี ทำไมถึงว่า เราไปปฏิบัติธรรมที่โน่นที่นี่ ทำไมเราไม่เข้าใจ เพราะว่ามันยังไม่ถึงเวลา แต่อย่าทิ้งในการทำบุญให้ทาน ปฏิบัติอยู่ที่ไหน ฝึกอยู่ที่ไหนดีหมด ถ้าถึงจุดหมายปลายทาง ถ้าเรายังมีการดำเนินอยู่ เราก็คงจะถึงจุดหมายปลายทางกัน ไม่ถึงช้าก็ต้องถึงเร็ว อยู่คนเดียว เราก็ต้องรู้ ต้องเห็น ถ้ากำลังสติ กำลังบารมีของเราแก่กล้า อย่าไปทิ้งกัน ต้องพยายามกันนะ


พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อ หลวงพ่อก็เพียงแค่เล่าให้ฟัง พวกท่านจงไปทำตาม

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง