หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 57 วันที่ 16 มิถุนายน 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 57 วันที่ 16 มิถุนายน 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 57 วันที่ 16 มิถุนายน 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 3 (ลำดับที่ 41-60)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 57
วันที่ 16 มิถุนายน 2557



เจริญธรรมญาติโยมทุกคนทุกท่าน ขอให้ญาติโยมจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยง นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมาเราได้สร้างความรู้ตัวแล้วหรือยัง ถ้ายังก็เริ่มเสียนะ หลวงพ่อเป็นแค่เพียงผู้บอก ผู้พูด พูดเล่าให้ฟัง พวกท่านจงพยายามทำความเข้าใจกับชีวิตของตัวเราเอง


การเกิดมาเป็นอย่างไร จิตวิญญาณในกายของเราเป็นอย่างไร สติปัญญาที่เราสร้างขึ้นมา เราจะเอาไปทำความเข้าใจได้หรือไม่ กำลังสติของเรามีเพียงพอหรือเปล่า ลักษณะของความรู้ตัวหรือว่าสติที่ต่อเนื่องเป็นลักษณะอย่างไร เราต้องพยายามสร้างขึ้นมา ส่วนมากก็ไปนึกเอาไปคิดเอา แสวงหาด้วยปัญญาเก่า ปัญญาโลกีย์ ปัญญาที่เกิดจากตัวใจตัววิญญาณ การพูดง่าย แต่การลงมือการกระทำต้องเป็นบุคคลที่มีความขยันหมั่นเพียร เป็นบุคคลที่มีความเสียสละทุกอย่างเลยแหละในชีวิตของเรา


ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาปรับสภาพใจของเรา ใจของเราเป็นอย่างไร ใจของเรามีความอ่อนน้อม ใจของเรามีความอ่อนโยน ใจของเรามีความละอายเกรงกลัวต่อบาป ลักษณะของความรู้ตัวที่ต่อเนื่อง ความรู้สึกรับรู้อยู่ที่กายของเราให้ต่อเนื่อง แนวทางนั้น คำสอนของพระพุทธองค์มีมาตั้งหลายร้อยหลายพันปี ซึ่งเป็นสัจธรรม ซึ่งเป็นความจริงที่มีอยู่ในกายของเรา เอากายของเรานี่แหละเป็นสนามรบ เจริญสติเข้าไปรบกับกิเลส


ใหม่ๆ ก็ฝืนใจของตัวเรา ใจของเราชอบคิดชอบเที่ยว หาเหตุหาผลแบบโลกๆ เอามาสร้างขันธ์ห้า มาปิดกั้นตัวเขาเอง การเกิดก็มาปิดกั้นตัวเขาเอง ตัวจิต ตัววิญญาณ ยังมีความอยากอีก ความทะเยอทะยานอยาก อยากในรูป ในรส ในกลิ่น ในเสียง ทั้งความไม่อยาก ทั้งผลักไส ทั้งไม่ผลักไส ความเป็นกลางเป็นอย่างไร ความปกติเป็นอย่างไร อุเบกขาเป็นอย่างไร สัมมาทิฏฐิ ความรู้แจ้งเห็นจริงในหลักธรรมเป็นอย่างไร เราต้องสร้างขึ้นมาหรือว่าศึกษา อย่างเช่น การหายใจเข้าออกของเรา เรามีความรู้สึกที่เชื่อมโยงต่อเนื่อง ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาลักษณะของคำว่า ‘ปัจจุบันธรรม’ มีอยู่ในกายในใจของเราหมด


หลวงพ่อจะพูดเรื่องเดียวเนี่ยแหละ ไม่พูดเรื่องอะไรหรอก 30 ปีกว่ามานี้จะพูดตั้งแต่เรื่องเดียว เพราะว่าเป็นต้นเหตุที่จะเข้าไปดู เข้าไปรู้ เข้าไปเห็น นอกนั้นก็มีตั้งแต่ห่างไกลใจของตัวเราเอง การเจริญสติเข้าไปดูรู้ฐานของใจ ลักษณะการเกิดการดับซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรม ให้มองด้วยตาเนื้อมองไม่เห็นนี่มันก็ยากนะ ถ้าเราไม่มีความสนใจจริงๆ ความอยากคิด อยากมี อยากเป็น อยากไป การเกิดของจิตวิญญาณ


บุคคลที่มีบุญมีอานิสงส์ไม่จำเป็นต้องไปพูดมากเลย รู้จักวิธีการเจริญสติเป็นอย่างนี้ กายวิเวกเป็นอย่างนี้ จิตวิเวกเป็นอย่างนี้ เร่งทำความเพียรทั้งกลางวันทั้งกลางคืน ความรู้ตัวพลั้งเผลอได้ยังไง รู้ไม่ทันก็รู้จักหยุด รู้จักดับ รู้จักละ ใหม่ๆ ก็อาจจะเป็นการฝืน เป็นการทวนกระแส เพราะว่าใจของคนเราชอบคิดชอบเที่ยว เขาก็หาเหตุหาผลเหมือนกัน หาเหตุหาผลมาปิดกั้นตัวเราเอง กำลังสติของเราจะเร็วไวต่อเนื่อง ชี้เหตุชี้ผล เห็นการเกิดการดับของขันธ์ห้า รู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในขันธ์ห้าของตัวเราเอง แล้วก็แยกรูป รส กลิ่น เสียง ออกจากใจของเรา ทวารทั้งหกเขาก็ทำหน้าที่ของเขา รู้ภาษา เข้าใจภาษาธรรมภาษาโลก


ก่อนที่จะเข้าใจภาษาธรรมภาษาโลกได้ เราก็ต้องเจริญสติเข้าไปจนเห็นใจคลายออกจากขันธ์ห้า คลายออกจากความคิดซึ่งเรียกว่า ‘พลิกจากสมมติไปหาวิมุตติ’ ใจก็ว่าง กายก็เบา ตามดูรู้เห็นการละกิเลส กิเลสหยาบกิเลสละเอียด กิเลสเกิดขึ้นที่กาย หรือว่าเกิดขึ้นที่ใจ เกิดขึ้นที่กาย ใจส่งเสริมเรียกว่า ‘ใจปรุงแต่ง’ ต้องดูรู้ให้เท่าทันหมดทุกเรื่อง ใหม่ๆ ก็อาจจะเกิดความเบื่อหน่ายไม่รู้ว่าพูดอะไร


อ่านหนังสือก็เหมือนกัน สมัยก่อนเป็นเด็กนี้เห็นหนังสือธรรมะของโยมพ่อนี่เต็มห้องไปหมด ไม่รู้ว่าเขียนอะไร ไม่รู้เรื่อง พอจิตแยกรูปแยกนามแล้วไปดู แล้วมีแต่หนังสือที่มีคุณค่าของครูบาอาจารย์ ที่ท่านเขียนเอาไว้ รู้ด้วย เห็นด้วย เข้าถึงด้วย ถึงจะเข้าใจความหมาย อ่านแล้วน้อมดูใจของตัวเราเอง ใจเกิดกิเลสสักกี่ครั้ง ความโลภ ความโกรธ มีกับเรา หรือว่าความหงุดหงิด ความฟุ้งซ่านต่างๆ เราหาวิธีแก้ไขอย่างไร


อย่าไปปล่อยโอกาสทิ้ง อย่าไปปล่อยเวลาทิ้ง แล้วก็ทำความเข้าใจกับสมมติ ทำความเข้าใจกับโลก เราอาศัยสมมติอยู่ อาศัยปัจจัยสี่อยู่ ถ้าปัจจัยสี่ลำบากก็ส่งผลถึงใจลำบาก บุคคลที่จะเข้าถึงธรรมได้ ต้องเป็นบุคคลที่มีความเพียรเป็นเลิศ มีความเสียสละเป็นเลิศ จะเอา จะมี จะเป็น ก็เป็นเรื่องของปัญญาล้วนๆ


ทุกคนก็ปรารถนาที่จะหาทางดับทุกข์ หาทางหลุดพ้น ทุกคนก็เดินที่จะเข้าถึงความบริสุทธิ์ แต่บางคนก็ห่างไกล บางคนก็เดินเข้าใกล้ แล้วแต่วิบากกรรมของแต่ละบุคคล บุคคลบางคนก็ไปได้เร็ว บางคนก็ไปได้ช้า จะไปบังคับกันไม่ได้เลย บางทีทั้งที่จิตใจเป็นบุญเป็นกุศล ไม่เข้าใจในวิธีการปฏิบัติ ไม่รู้ลักษณะที่ตรง ก็ห่างไกลไปเลยก็มี ในหลักธรรมแล้วท่านให้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ ละทิฏฐิ ละมานะ ละความเห็นผิด อย่าเพิ่งมาโต้แย้ง ทำความเข้าใจให้เห็นเสียก่อน ท่านถึงบอกให้เชื่อ


การสร้างความรู้ตัวที่ต่อเนื่องกันไปนี้ การดับ การอด ทุกเรื่อง ตั้งแต่การขบการฉัน กายเราหิวหรือว่าใจของเราเกิดความอยาก เราดับความอยากได้ เราดับความเกิดได้ตั้งแต่ต้นเหตุ กลางเหตุ ปลายเหตุ แยกแยะได้ ตามดูให้ได้ทุกเรื่อง ไม่ใช่เรื่องของคนอื่นเป็นเรื่องของตัวเรา


ความรับผิดชอบระดับของสมมติ การฝักใฝ่ การสนใจ การแสวงหา การดิ้นรน การสังเกต ทุกเรื่องเลยในชีวิต อย่าไปโทษคนโน้น อย่าไปโทษคนนี้ จงโทษตัวเราเอง แก้ไขตัวเราเอง ปรับปรุงตัวเราเองอยู่ตลอดเวลาจะดีจะชั่วเราก็แก้ไขเรา วางหมดนั่นแหละถ้ารู้ความจริง วางหมดแล้วไม่เอาอะไรสักอย่าง แม้แต่กาย แม้แต่ใจ เพียงแค่ดู แค่รู้ แค่ทำความถูกต้อง อยู่กับชีวิตอย่างมีความถูกต้อง จนกว่าจะหมดลมหายใจ หมดลมหายใจแล้วก็จบกัน ถ้าใจยังไม่จบก็ต้องไปต่อ ไปสร้างภพสร้างชาติใหม่ต่อ
แต่ก็ขอให้เป็นในกองบุญกองกุศลเอาไว้จะได้ไม่ได้ลำบาก ถึงเราไม่จบมันก็ไปต่อเอาภพหน้าในสิ่งทีพวกเราทำ ก็พยายามกัน


ไม่ว่าพระว่าโยมว่าชี บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น อย่าเอาทิฏฐิมานะเข้ามาห้ำหั่นกัน กูดีมึงดี อยู่ด้วยกัน อยู่ด้วยกันแบบพี่แบบน้อง แบบพ่อแบบแม่ บอกตัวเราให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น แก้ไขตัวเรา แก้ไขตัวเราอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นขึ้นมา จากเรื่องใหญ่ก็เป็นเรื่องเล็ก จากเรื่องเล็กก็ไม่มี ไม่ใช่ว่าจะไปอยู่ที่นั้นจะรู้ธรรมไปอยู่ที่นี้จะรู้ธรรม อันนั้นยังไม่ใช่


เรามาอาศัยกันอยู่ แต่การเจริญสติการเจริญวิเคราะห์ต้องลงอยู่ที่ใจของตัวเรา ลักษณะของใจที่ไม่มีกิเลสเป็นอย่างไร ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างไร ใจที่ปราศจากขันธ์ห้า ปราศจากความยึดมั่นถือมั่นเป็นอย่างไร การดับ การละ การทำความเข้าใจ ใจไม่เกิดใจเขาก็เป็นสมาธิ ใจไม่มีกิเลส เขาก็ว่างเพราะเขาจะเป็นของเขาเอง


แต่ละวันตื่นขึ้นมาตั้งแต่เช้า ใจของเราส่งออกไปภายนอกสักกี่เรื่อง เพียงแค่ใจมันเริ่มกระตุกกระติกก่อตัวเท่านั้นแหละแล้วจัดการกับมัน ความคิดขันธ์ห้า ผุดขึ้นมา เขาผุดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าเราสังเกตรู้เท่าทัน เราก็จะเห็นความจริงของชีวิต ก็ต้องพยายามกันนะ รู้จากน้อย ๆ ไปหามาก ๆ ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่ อย่าไปปล่อยเวลาทิ้ง เสียดายเวลา มีความสุขในการดูรู้ใจ ละกิเลส มีความสุขกับการกับงาน ทำการทำงานเอาการเอางานเป็นการปฏิบัติ ละความเกียจคร้าน สร้างความขยันหมั่นเพียร สักวันนึงก็คงจะถึงจุดหมายปลายทางกัน


เอาล่ะ วันนี้ก็เจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจกันเอา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง