หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 47 วันที่ 30 พฤษภาคม 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 47 วันที่ 30 พฤษภาคม 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 47 วันที่ 30 พฤษภาคม 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 3 (ลำดับที่ 41-60)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 47
วันที่ 30 พฤษภาคม 2557


เจริญธรรมญาติโยมทุกคนทุกท่าน ขอให้ญาติโยมจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ หยุดความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ เอาไว้ชั่วครั้งชั่วคราว ถึงเราหยุดไม่ได้เด็ดขาด ละไม่ได้เด็ดขาด ก็ขอให้หยุด ขณะที่เรากำลังนั่งอยู่นี้แหละ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกวิธีการเจริญสติ ลักษณะของสติ ระลึกรู้ตัวอยู่ปัจจุบัน


ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว ความรู้สึกรับรู้เวลาลมหายใจเข้ากระทบปลายจมูกของเรา นั่นแหละเขาเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ เวลาหายใจออกก็มีความรู้สึกรับรู้อยู่ อย่าไปเพ่ง อย่าบังคับ สูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ สัมผัสของลมหายใจก็จะชัดเจน นั่นแหละเขาเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ แล้วก็ถ้ารู้ให้ต่อเนื่องเขาเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’


เราได้สร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องแล้วหรือยัง ส่วนมากก็ไม่ค่อยจะทำให้ต่อเนื่อง มีตั้งแต่ไปนึกเอาไปคิดเอา ความคิดเก่าที่เกิดจากตัวใจ เกิดจากขันธ์ห้า ตรงนี้เขาปิดกั้นตัวเขาเอาไว้หมด เราก็ไปมั่นหมายเอาว่าเป็นความคิด ว่าเป็นปัญญา ที่เราจะต้องขวนขวายสร้างขึ้นมา อันนั้นมันก็เป็นปัญญาอยู่ระดับของสมมติ


ปัญญาระดับวิมุตติ เราต้องสร้างความรู้ตัวเสียก่อน แล้วก็รู้ให้ต่อเนื่อง แล้วก็ให้รู้เท่าทันใจ รู้จักควบคุมใจ รู้จักอบรมใจ ลึกลงไปอาการของใจเป็นอย่างไรอีก เรื่องอะไรที่ใจของเราเคลื่อนเข้าไปรวมไปร่วม จนเกิดอัตตาตัวตน ทำไมใจถึงเกิด ทำไมใจถึงเป็นทาสของกิเลส เราต้องหมั่นวิเคราะห์ หมั่นอบรม หมั่นวิเคราะห์ หมั่นสำรวจ หมั่นทำความเข้าใจ หมั่นสังเกต เอาสมองส่วนบนหรือว่าปัญญาส่วนบนที่เราเข้าไปสังเกต สังเกตไม่ทันเราก็รู้จักหยุด เขาเรียกว่า ‘สมถะ’


จะหยุดด้วยวิธีไหนก็ได้ อยู่กับลมหายใจบ้าง อยู่กับเอาคำบริกรรมเข้าไปกำกับบ้าง อยู่คนเดียวเราก็พยายามรู้เรา สังเกตเรา วิเคราะห์เรา สติปัญญาสังเกตใจนั่นแหละ ลึกลงไปอีก ใจก็จะคลายออกจากความคิดอีก ซึ่งเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ สัมมาทิฏฐิ นี่แหละที่พระพุทธองค์ท่านว่า รู้แจ้ง เห็นจริง เราก็ตามทำความเข้าใจ เราก็จะเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในขันธ์ห้าของเรา เห็น เข้าใจในภาษาธรรมภาษาโลก ว่าพระพุทธองค์ท่านสอนเรื่องอะไร ท่านสอนเรื่องของเราทั้งนั้น ไม่ได้สอนเรื่องของคนอื่น ส่วนมากเราก็จะไปมองเอาตั้งแต่คนโน้นเป็นอย่างนั้น คนนั้นเป็นอย่างนี้ ที่นั้นเป็นอย่างนั้น ที่นี่เป็นอย่างนี้


แสวงหาธรรมที่ตรงโน้นที่ตรงนี้ สติไม่เคยสร้างให้ต่อเนื่องเลย จะแสวงหาตั้งแต่ธรรม ทั้งที่ใจก็เป็นบุญ ใจก็เป็นธรรมนั่นแหละ แต่การเกิดของใจมันมีเกิดอยู่ตลอด ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาไม่รู้ว่าสักกี่เรื่อง สักกี่เที่ยว ความคิดผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจของเราสักกี่เรื่อง ไปฟังรู้จักแนวทาง รู้จักวิธีแล้วไปทำความเข้าใจ กายวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจที่คลายออกจากความคิดเป็นอย่างนี้ ทวารทั้งหกทำหน้าที่อย่างนี้ เราก็ต้องพยายาม อย่าพากันปล่อยวันเวลาทิ้ง


ธรรมะอยู่ที่เรา ไม่ได้อยู่ที่ใคร ไม่ได้อยู่ที่ไหน เราต้องหมั่นสำรวจดู แต่ละวันตื่นขึ้นมา อาศัยความเพียร อาศัยกาลเวลา อาศัยการเจริญพรหมวิหาร ใจของเราเกิดความอยาก เราก็รู้จักดับความอยาก ใจเกิดความโลภ เราก็พยายามละความโลภด้วยการให้ ด้วยการเอาออก ด้วยการคลาย ทำความเข้าใจเจริญสติเข้าไปดูรู้เท่าทัน ชี้เหตุชี้ผล ทุกสิ่งทุกอย่างจนใจมองเห็นความเป็นจริงหมด จนใจเกิดความเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายในความคิด เบื่อหน่ายในอารมณ์ แต่เวลานี้บางทีบางครั้งอาจจะเบื่อหน่ายในระดับของสมมติ อยากจะคลายสมมติ ลึกลงไปอีกก็คลายทางด้านวิมุตติ คลายทางด้านความคิด คลายทางด้านของอารมณ์


ช่วงใหม่ๆ นี้ เราต้องรู้จักลักษณะของสติรู้ตัวอยู่ปัจจุบันให้ชัดเจน แล้วก็ให้ต่อเนื่องสร้างขึ้นมาให้ได้เสียก่อน ไม่ต้องไปกลัวว่าจะไม่ได้รู้ ไม่ต้องไปกลัวว่าจะไม่เห็น ไม่ต้องไปกลัวว่าจะเข้าไม่ถึง เราพยายามเจริญสติให้ได้ทุกอิริยาบถ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ ความรู้ตัวเป็นลักษณะอย่างนี้ จะลุก จะก้าว จะเดิน ถึงจะช้าจะงุ่มง่าม เราก็ต้องพยายาม ต้องอาศัยความเพียรอย่างมากทีเดียว อาศัยความเพียร อาศัยกาลเวลาที่ต่อเนื่อง เราจะไปเร่งว่าต้องเอาให้ได้ ต้องทำให้ได้ อย่างนี้ยิ่งห่างไกล


เราก็ต้องพยายามปรับสภาพใจของเรา ใจของเรามีความตระหนี่เหนียวแน่น เราก็ละความตระหนี่เหนียวแน่น ใจของเรามีความแข็งกร้าวแข็งกระด้าง เราก็พยายามละ คำว่า ‘มลทิน’ ตัวละเอียดที่ปิดกั้นดวงใจของเราเป็นอย่างไรบ้าง ใจของเราเกิดอย่างไร ใจของเรามีอคติเพ่งโทษ มองโลกในแง่ร้ายหรืออคติ


ถ้าเราสอนเราไม่ได้ อย่าไปเที่ยวให้คนอื่นเขาสอน ไม่มีประโยชน์ เราสอนตัวเรา แก้ไขตัวเรา เรารู้จักวิธี รู้จักแนวทางแล้ว ทำความเพียร การเจริญสติที่ต่อเนื่องเป็นอย่างนี้ กลางค่ำกลางคืนไปเดินอยู่กลางป่าคนเดียว หรือไปเดินที่ไหนที่โล่งๆ โปร่งๆ


การสร้างสติ สติรู้ตัวเป็นอย่างนี้ ใจที่ว่างจากการเกิดเป็นอย่างนี้ ว่างจากกิเลสเป็นอย่างนี้ ความคิดผุดขึ้นมาก่อตัวอาการของความคิดเป็นอย่างนี้ ทำความเข้าใจรู้แจ้งเห็นจริง อะไรควรละ อะไรควรเจริญ อยู่คนเดียวก็ย่อมจะเข้าถึง อยู่หลายคนก็ย่อมจะเข้าถึง ถ้าเราเข้าใจแล้วก็เอาภาระหน้าที่การงานเป็นการฝึก ทำงานไปด้วยใจรับรู้ไปด้วย มีความสุขในการทำ ละความเกียจคร้าน ละนิวรณ์ ละความเห็นแก่ตัว มันได้ประโยชน์ทั้งสมมติ ได้ประโยชน์ทั้งวิมุตติ ได้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง จนล้นเหลือออกไปสู่ภายนอก ก็ต้องพยายามกันนะ ได้บ้างไม่ได้บ้างก็พยายามทำ อย่าไปปล่อยโอกาสทิ้ง


ธรรมะอยู่ที่กายที่ใจของเรานั่นแหละ ไม่ได้อยู่ที่อื่นหรอก ก็ลงอยู่ที่กายของเรา เราเพียงแค่มาแสวงหาแนวทาง แสวงหาวิธี ถ้าเราเข้าใจแล้ว ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ขอให้เป็นแค่เพียงอิริยาบถ ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่ เป็นเรื่องของเราทั้งนั้นแหละ ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนอื่น


เรามีโอกาสได้ทำบุญร่วมกัน มีความเสียสละร่วมกัน ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อยู่ในระดับของสมมติ อยู่ในระดับของโลกียะ
แต่ระดับโลกุตตระ หรือว่าการละกิเลส ก็ขึ้นอยู่กับตัวของเราเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนอื่น


สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้ชัดเจนกันนะ ทำใจให้โล่ง สมองให้โปร่ง อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว
อยู่คนเดียวขณะนี้ก็ให้รู้ว่าลมหายใจวิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนกัน


พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปศึกษาทำความเข้าใจต่อกันนะ


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง