หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 84 วันที่ 5 พฤศจิกายน 2560

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 84 วันที่ 5 พฤศจิกายน 2560
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 84 วันที่ 5 พฤศจิกายน 2560
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 84
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2560

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน ให้ต่อเนื่อง ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ตั้งแต่ยังไม่ได้ลุกจากที่ พวกเราได้สร้างความรู้ตัวแล้วหรือยัง เพียงแค่การเจริญสติให้ต่อเนื่อง ตรงนี้ก็ทำกันยากอยู่ ส่วนใจนั้นมีศรัทธา มีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย มีความเชื่อมั่นในบุญ ในบาป ในพระรัตนตรัย แต่การเจริญสติการสร้างความรู้ตัวเอาไปใช้อบรมใจตรงนี้ยังมีบ้างแต่ไม่ต่อเนื่อง

เราพยายามสร้างความรู้ตัวจนรู้เท่ารู้ทัน รู้ลักษณะของใจ ใจที่ปกติเป็นลักษณะอย่างนี้ ใจที่เกิดส่งไปภายนอกเป็นลักษณะอย่างนี้ รู้อาการของใจ แล้วก็รู้อาการของความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจคิด หรือว่าอาการของขันธ์ห้าซึ่งมีอยู่ในตัวของเรา จนใจของเราคลายออกจากขันธ์ห้า ส่วนนามธรรมซึ่งเรียกว่า แยกรูปแยกนาม ตรงนี้แหละถ้าแยกไม่ได้ใจก็ยังหลงอยู่ ใจนี้หลงมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิด หลงมาสร้างขันธ์ห้า มาสร้างขันธ์ห้าปิดกั้นตัวเอง แล้วก็หลงเกิดต่อ เกิดต่อยังไม่พอ ยังเป็นทาสกิเลส เป็นทาสกิเลสหยาบ กิเลสละเอียด ซึ่งมีอยู่ในกายของเรา เพราะความเกิดนั่นแหละคือความหลงอันละเอียด

ท่านถึงให้เจริญสติลงที่กายของเรา แล้วแต่อุบายแล้วแต่วิธีการแนวทาง ทำอย่างไรกําลังสติของเราจะรู้เท่ารู้ทัน ทำความเข้าใจชี้เหตุชี้ผลจนใจคลายออก จนขัดเกลากิเลสออกจากใจของตัวเราได้ ถ้าเราเอาตั้งแต่ปัญญาโลกๆ ปัญญาที่เราคิดอยู่ทุกวัน อันนี้เขาเรียกว่า ปัญญาโลกีย์ ไม่ใช่ปัญญาที่จะเข้าไปดับทุกข์ที่ใจของเราได้ ปัญญาที่จะเข้าไปดับทุกข์ที่ใจของเราได้ก็คือปัญญาของพระพุทธองค์ ที่ท่านได้ค้นพบและก็เอามาเปิดเผย เอามาจําแนกมาแจกแจง ชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล เหตุผลของการเกิดการดับ เหตุผลของการเข้าไปรวมเข้าไปร่วม จนใจคลายออกหรือว่าหงายของที่คว่ำ หรือว่าแยกรูปแยกนาม นี่แหละที่ท่านเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก เห็นถูกตั้งแต่ข้อแรก ตามเห็นความเกิดความดับ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในขันธ์ห้าของตัวเรา หรือว่าความคิดที่เกิดๆ ดับๆ

ส่วนกองรูปคือร่างกายของเรา กองนามคือตัววิญญาณ กับอาการของวิญญาณ ซึ่งมีอยู่ในการกายของเรา บางทีใจของเราก็เกิดความโลภ ความโกรธ เกิดความอิจฉาริษยา เกิดความตระหนี่เหนียวแน่น สิ่งพวกนี้มีมาทีหลัง ความบริสุทธิ์ของใจนั้นมีมาแต่ก่อน แต่ความไม่รู้ความหลงมาปิดกั้นเอาไว้ หลงในชั้นละเอียดก็คือหลงเกิด แล้วก็มาหลงสร้างขันธ์ห้าปิดกั้นตัวเอง แล้วก็เกิดต่อเป็นทาสของกิเลส นอกจากบุคคลที่มีสติปัญญาที่เกิดจากการเจริญภาวนา เข้าไปรู้เท่ารู้ทัน เห็นความเป็นจริง ตามดูรู้เรื่องของชีวิตทุกอย่าง ใจของเราถึงจะปล่อยจะวางได้

พวกเราก็สร้างสะสมคุณงามความดีมาอยู่ในระดับหนึ่ง ก็ต้องพยายามเดิน เดินให้ถึงจุดหมายปลายทางกัน ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่ เดินตามแนวทางของพระพุทธองค์ว่าท่านสอนเรื่องอะไร ท่านสอนเรื่องชีวิต สอนเรื่องการดำเนินชีวิต ในอัตภาพร่างกายของเรานี้ประกอบขึ้นมาด้วยอะไรบ้างที่ท่านว่าเป็นกองเป็นขันธ์ มีอยู่ในกายของเราทุกคน กายเราทำหน้าที่อย่างไร ทวารทั้งหกทำหน้าที่อย่างไร ภาษาธรรมภาษาโลกเป็นลักษณะอย่างไร ถ้าใจคลายออกจากขันธ์ห้าแยกรูปแยกนามได้เราก็จะเข้าใจคําว่า อัตตากับอนัตตา เข้าใจในเรื่องสมมติวิมุตติ

แต่เวลานี้กําลังความรู้ตัวหรือว่ากําลังสติของเรามีไม่เพียงพอ เราจงพยายามทำให้ต่อเนื่องที่ท่านบอกว่าทุกขณะจิต ทุกขณะลมหายใจเข้าออก ถ้าเราสร้างความรู้ตัวทั้งลมหายใจเข้าก็มีความรู้สึกรับรู้อยู่ ลมหายใจออกก็มีความรู้สึกรับรู้อยู่ ให้ต่อเนื่องกันสัก 5 นาที 10 นาที เราก็จะรู้ว่าแต่ก่อนที่ผ่านมานั้น สติตัวนี้ไม่ค่อยจะมี เราเจริญสติก็เพื่อที่จะเข้าไปอบรมใจ แล้วไปแก้ไขใจ ชี้เหตุชี้ผล เพียงแค่การเจริญสติไม่เพียงพอก็ยากที่จะเห็น ยากที่จะเข้าใจ เพราะว่ากิเลสต่างๆ เขาก็ปิดบังอำพรางตัวเองเอาไว้หมด แม้แต่ตัวใจแท้ๆ ก็ยังปิดกั้นตัวเอง คือความเกิด แล้วก็สร้างขันธ์ห้าปิดกั้นตัวเอง

ท่านถึงบอกว่าให้มีความเพียร ละความตระหนี่เหนียวแน่น ละกิเลส ดับความเกิด คลายความหลงให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น ต้องเป็นบุคคลที่มีความเพียรเป็นเลิศ ส่วนมากก็ปล่อยๆ ปละๆ ละเลย ทำบ้างไม่ทำบ้าง ก็เลยเข้าไม่ถึงจุดหมายปลายทางกัน แต่เราก็อย่าไปทิ้ง ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่ แก้ไขตัวเราอยู่ตลอดเวลา เป็นเรื่องของเรา เป็นหน้าที่ของเรา อันนี้คือสมมติอันนี้คือวิมุตติ ภาษาธรรมภาษาโลกเป็นลักษณะอย่างนี้ ถ้าพวกเราไม่ทำ หรือว่าพวกท่านไม่ทำก็ยากที่จะเข้าใจ

หลวงพ่อก็เพียงแค่บอกแค่กล่าว แค่ชี้แนะแนวทางวิธีการเท่านั้น พวกท่านจงไปจัดการกับตัวของพวกท่านเอง ให้รู้ ให้เกิด ให้เห็นตามความเป็นจริง ท่านถึงบอกให้เชื่อ ไม่ใช่ว่าเชื่อแบบงมงาย เจริญสติ ความหมายของการเจริญสติก็เพื่อที่จะเข้าไปคลายความหลง ละกิเลสออกจากใจของเราให้หมดจด ก็ต้องพยายามกัน

ไม่ว่าพระว่าโยมว่าชี ทุกคนก็มีอัตตาตัวตน ทุกคนก็มีขันธ์ห้าเหมือนกันหมด เว้นเสียแต่ว่าจะทำความเข้าใจให้ถึงฝั่ง ให้เห็นฝั่ง ถอนรากถอนโคนกิเลสออกจากใจของตัวเรา ดับความเกิดของใจของเราขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ ไม่ใช่ว่าวิ่งหาตั้งแต่ภายนอก จะไปสร้างหาภายนอกนั้นหาไม่เจอ การไปหาธรรมะที่โน้นที่นี้ ก็เพื่อที่จะแสวงหาแนวทางวิธีการ เรารู้วิธีการแล้วให้รีบไปทำ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ให้เป็นแค่เพียงอิริยาบถ หมั่นสํารวจ หมั่นแก้ไข หมั่นปรับปรุงทุกเรื่องในชีวิต

ตั้งแต่ตื่นขึ้นจนกระทั่งเรานอนหลับ จนกระทั่งเราหมดลมหายใจ เมื่อใจเขาแยกเขาคลาย เขารู้เห็นตามความเป็นจริง แล้วก็ขัดเกลากิเลสออกจากใจของเรา กิเลสตัวไหนเราละได้เราก็รู้ กิเลสตัวไหนเราละยังไม่ได้ มันยังเกิดอีก เราก็พยายามละอีก เหตุจากภายนอกทำให้ใจเกิดหรือเกิดจากภายใน แต่ส่วนมากก็กิเลสทุกอย่างก็รุมล้อมปิดกั้นตัวเราเอาไว้ทั้งโลกธรรม สารพัดอย่าง ท่านถึงบอกว่าให้รอบรู้ในกองสังขาร ให้รอบรู้ในดวงวิญญาณในกายของเรา รอบรู้ในโลกธรรมในสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว สักวันหนึ่งเราก็คงจะเข้าถึงความหมายนั้นๆ ก็อย่าพากันปล่อยโอกาสทิ้ง บุญสมมติเราก็ทำให้เต็มเปี่ยม บุญวิมุตติการขัดเกลากิเลสเราก็ทำ ดำเนินให้ถึง ไม่ถึงช้าก็ต้องถึงเร็ว

สร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องกันสักนิดหนึ่งก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำ ทำใจให้โล่ง สมองให้โปร่ง มีความรู้สึกรับรู้อยู่ที่สัมผัสของลมหายใจที่ปลายจมูกของเราให้เชื่อมโยงให้ต่อเนื่องกันนะ

พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปศึกษาทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง