หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 34 วันที่ 11 เมษายน 2560

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 34 วันที่ 11 เมษายน 2560
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 34 วันที่ 11 เมษายน 2560
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ปี 2560 ลำดับที่ 34
พระธรรมเทศนาโดยพระอาจารย์สำราญธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วยวัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 11 เมษายน 2560

มีความสุขกันทุกคน ดูดีๆ นะ พระเราชีเราพิจารณาปฏิสังขาโย กะประมาณในการขบฉันของตัวเรา เราต้องดูต้องรู้ กายของเราเกิดความหิวหรือว่าใจเกิดอยากหรือว่าทั้งหิวทั้งอยาก เราก็พยายามหยุด ดับความอยากหรือว่าหยุดความอยาก หยุดความเกิดของใจ หยุดได้เมื่อไหร่เราค่อยเอาด้วยสติเอาด้วยปัญญา เราพยายามหัดวิเคราะห์หัดพิจารณาบ่อยๆ ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ละได้บ้างไม่ได้บ้าง เราก็ต้องพยายาม

พยามฝึกพยายามฝืนไม่ให้ใจของเราเกิดกิเลส ดับที่นั้นดับที่นี้ มันเกิดความอยากเราก็พยายามละความอยากด้วยการไม่ต้องเอา เอาอาหารอันโน้นก็จะเอาอันนี้ก็จะเอากิเลสมันสั่งเราก็พยายามดับพยายามหยุด ถ้าเราให้ผ่านเลยไปใจยังอาลัยอาวรณ์อยู่หรือไม่เราก็ต้องพยายามดู มันเป็นกิเลสละเอียดที่เกี่ยวเนื่องทุกวัน ร่างกายของเราก็ต้องการอาหารมาหล่อเลี้ยงร่างกาย ยิ่งอายุน้อยๆ ก็ยิ่งต้องการอาหารมาพัฒนาร่างกายขของเราให้เจริญขึ้น ในหลักธรรมท่านว่า เสื่อม เสื่อมขึ้นกับเสื่อมลงคือ ความเกิด

ความเกิด หลงมาเกิดอยู่ในภพมนุษย์มาสร้างกายเนื้อ มาสร้างขันธ์ห้าปิดกั้นตัวเอาไว้หรือว่าตัววิญญาณตัวใจ ท่านถึงได้ให้เจริญสติเข้าไปอบรมใจ วิเคราะห์ใจ สังเกตใจจนกว่าใจจะคลายออกจากขันธ์ห้าซึ่งเป็นส่วนนามธรรมด้วยกัน แล้วก็ละกิเลสที่ใจ ดับความเกิดที่ใจ

ใจของคนเรานี่หลง หลงมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิด หลงวนเวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยภพใหญ่ จนกระทั่งถึงเวลามาอยู่ในภพของมนุษย์ซึ่งมีขันธ์ห้ากันทุกคน คือส่วนรูปกับส่วนนาม ส่วนนามมีทางด้านจิตวิญญาณ

ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด อันนี้หลงอย่างละเอียดที่สุดคือ ‘หลงเกิด’ ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด ขณะมาอยู่ในกายเนื้อก็ยังเป็นทาสของกิเลสอีก เดี๋ยวก็อยากโน่นอยากนี่สารพัดอย่าง ยินดียินร้ายในสิ่งต่างๆ แล้วก็มายึดติดตัวตนร่างกาย กายก็เลยหนัก ใจก็เลยหนัก

ในหลักธรรมท่านให้สังเกตวิเคราะห์จนใจคลายออกจากความคิดซึ่งเป็นฝ่ายนามประธรรมด้วยกัน ใจหงายขึ้นมาเหมือนกับหงายของที่คว่ำ ใจเกิดเราก็มาดับความเกิดของใจอีก หนุนกำลังสติปัญญาไปเห็นเหตุเห็นผล ชี้เหตุชี้ผลเห็นเหตุเห็นผลคือ เห็นอาการของใจคลายออกจากขันธ์ห้า แล้วก็ตามดูขันธ์ห้านั่นแหละเราก็จะเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ว่าท่านสอนเรื่องอะไร อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความไม่เที่ยงของขันธ์ห้า

ความเกิดความดับตรงนี้เราก็แยกไม่ได้ แม้แต่กำลังสติก็ยังไม่ได้สร้างให้ต่อเนื่องหรือว่าไม่ได้ทำให้มีให้เกิดเลย จะเอาตั้งแต่ความคิดเก่าที่เกิดจากตัววิญญาณ หรือว่าเกิดจากอาการของวิญญาณ หรือว่าขันธ์ห้ารวมทั้งปัญญา รวมกันไปทั้งก้อนเป็นก้อนนี่ความหลง หลงทั้งก้อน หลงว่าเรามีตัวมีตน แต่ในหลักธรรมท่านให้แยกให้คลาย มองเห็นหลักของความเป็นจริง กายเนื้อก็เป็นกายเนื้อของเราทางสมมติ เราก็ต้องพยายามศึกษาสมมติกับวิมุตติ อะไรคือสมมติ อะไรคือวิมุตติ

กิเลสมันเป็นหน้าตาอาการอย่างไร มีทั้งหยาบมีทั้งละเอียดเยอะแยะมากมาย ยิ่งเจริญสติไปเท่าไหร่ยิ่งเห็นเยอะ ยิ่งเห็นเยอะเท่าไหร่ก็ยิ่งทำความเข้าใจ รู้เหตุรู้ผลชี้เหตุชี้ผล แล้วก็ค่อยละออกไปที่ละนิดที่ละหน่อย จนดับความเกิดของใจได้นั่นแหละ ถึงดับความเกิดของใจได้ กายเนื้อก็ยังอยู่ เราก็ต้องอาศัยปัญญาพิจารณา ดูแลรักษา ทำความเข้าใจจนกว่าจะหมดสภาพกายเนื้อกลับคืนสู่สภาพเดิม คือ เขายืมดิน น้ำ ลม ไฟ มาประกอบกันเข้าจนเป็นอัตตาร่างกายตัวตน ใจก็มาหลง มายึดต่อ แล้วก็ขณะอยู่ในกายก็ยังคิดต่อสารพัดเรื่อง ทั้งที่บางทีนี่ทั้งอยากทั้งไม่อยาก ความเกิดของใจนี่มีตลอด

เราต้องมาหัดขัดเกลา อะไรคือส่วนปัญญาที่เราสร้างขึ้นมา อะไรคือส่วนใจ ตามแนวทางของพระพุทธองค์ที่ท่านได้ค้นพบเอาเปิดเผย การเจริญสติเป็นอย่างนี้ การเจริญพรหมวิหารเป็นอย่างนี้ แต่ละวันๆ ใจของเรานี่เกิดสักกี่เที่ยว อาการของขันธ์ห้าหรือว่าความคิดผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจของเราสักกี่ครั้ง ใจเกิดเป็นกุศลหรืออกุศล มีมลทินหรือไม่มีมลทิน นิวรณ์ธรรมกิเลสตัวละเอียดเป็นอย่างไร ความกังวล ความฟุ้งซ่าน ความมองไม่เห็นหนทาง ทิฏฐิมานะต่างๆ ตาเนื้อเราก็มองเห็นทางเดินทางสมมติ ตาปัญญาตาใจต้องให้คลายออกจากความหลง ดับความเกิดให้รับรู้ ตั้งมั่นเป็นเอกเป็นหนึ่งอยู่ภายใน ผิดถูกชั่วดีปัญญาแก้ไขใจรับรู้ อยู่ด้วยปัญญาล้วนๆ

การพูดง่ายแต่การลงมือจริงๆ ถ้าไม่เอาจริงๆ นี่มันยาก ถึงจะเอาจริงๆ ถ้าเราไม่ละกิเลสมันก็เหมือนเดิม ปล่อยไปตามอำนาจของกิเลสบงการอยู่ตลอดเวลา บางทีบางครั้งบางคราวใจของเราก็ปกติ ความปกตินั้นเป็นปกติจากการเกิด ปกติจากการไม่มีกิเลส การไม่เป็นทาสของกิเลสใจ แต่ก็ยังคว่ำอยู่ เราพยายามสังเกตใจของเราคลายออกจากขันธ์ห้าเขาถึงได้หงายเขาเรียกว่า หงายของที่คว่ำ

สมมติกับวิมุตติเหมือนกับฝ่ามือกับหลังมือนั่นแหละอยู่ด้วยกัน เราหงายฝ่ามือขึ้นหลังมือก็อยู่ข้างล่าง เราหงายฝ่ามือไม่ได้หลังมือก็อยู่ข้างบนเหมือนกับคว่ำกันเอาไว้อยู่ กายก็เป็นส่วนของสมมติเป็นก้อนสมมติ ตัวใจก็มาหลงมายึดเพราะว่าใจยังไม่ได้คลาย แต่ทุกคนก็บอกตัวเองมีสติ มีปัญญา มีกันทุกคน แต่เป็นสติปัญญาของโลกีย์ของสมมติ อาจจะถูกอยู่ระดับของสมมติ แต่ในหลักธรรมแล้วถ้าใจยังไม่คลาย ยังไม่หงาย แยกรูปแยกนามยังไม่ได้ ละกิเลสยังไม่ได้ มันก็ยังติดอยู่กับสมมติ ก็ต้องพยายาม

เราไม่เห็นวันนี้ก็ต้องเห็นพรุ่งนี้ ไม่เห็นพรุ่งนี้ก็เห็นเดือนหน้า ปีหน้า แต่ตามความเป็นจริงนี้ใจเกิดอยู่ทุกวัน บางทีเกิดอยู่ทุกนาที บางทีนั่งฟังอยู่มันยังแว็บไปโน่นแว็บไปนี่สารพัดเรื่อง ถ้าเรามาเจริญสติเข้าไปอบรมใจจนใจคลายออก ตามดูชี้เหตุชี้ผลได้ แล้วก็ดับความเกิดของใจ เขารู้ความจริงเขาก็ไม่เกิด การเกิดเป็นทุกข์เขาก็ไม่เอา การเป็นทาสของกิเลสเขาก็ไม่เอา เขาก็จะคลายออกให้หมด

การเกิดมันไม่เที่ยง ท่านถึงบอกว่า ‘ความเกิด’ ความเกิดของจิตวิญญาณ ความเกิดของกายเนื้อนี่ไม่มีความเที่ยงอะไรเลย ถ้าใจไม่เกิดดับ ความเกิดได้นั่นแหละท่านถึงเรียกว่า ใจเที่ยง ใจเที่ยงนิพพานก็เที่ยง ความหมายของนิพพานคือ ใจบริสุทธิ์ ใจวาง ว่างจากขันธ์ห้า วาง ว่างจากกิเลส ใจไม่มีกิเลสเขาก็เข้าสู่ความบริสุทธิ์เหมือนเดิมเขาเรียกว่า นิพพาน ไม่ต้องกลับมาเกิดกัน

ต้องให้รู้ให้เห็นขณะที่เรายังมีลมหายใจอยู่ ถ้าหมดลมหายใจแล้วก็มีตั้งแต่เรื่องบุญเรื่องบาป ขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่เราก็พยายามละอกุศล เจริญกุศล สูงขึ้นไปก็ไม่ได้ยึดติดอะไร ยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นให้เต็มเปี่ยม อยู่คนเดียวก็ดูใจของเรา อยู่หลายคนก็ดูใจของเรา แต่ส่วนมากไม่ค่อยจะสนใจ มีแต่ปล่อยปละละเลย การเจริญสติที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงเป็นอย่างไรก็ไม่ทำให้เกิดขึ้น

แต่ละวันๆ ใจเกิดปรุงแต่งส่งไปภายนอกสักกี่เรื่อง ที่ท่านบอกว่า สมุทัย ใจส่งนอกนั้นแหละ ส่งไปภายนอกก็ยังไม่พอก็ไปหลงเอาขันธ์ห้าอีก ขันธ์ห้าส่วนนามธรรมอีก ก็มืดมิดไปด้วยกัน หลงทั้งสมมติหลงทั้งวิมุตติ แต่ถึงจะหลงยังไงก็ให้อยู่ในกองบุญเอาไว้ พยายามยึดติดบุญ สร้างบุญสร้างอานิสงส์ให้ใจของเราตกอยู่ในกองบุญเอาไว้ก็ยังเป็นเข้าพกเข้าห่อติดตามตัวเราไป

อยากจะดับทุกข์ได้ก็ต้องปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ การเจริญพรหมวิหาร การขัดเกลากิเลส กิเลสเป็นหน้าตาอย่างไร เราต้องเจริญสติเข้าไปดู เข้าไปแก้ไขในใจของเรา ถ้าเราแก้ไขไม่ได้ก็ไม่มีใครจะแก้ไขให้เราได้นอกจากตัวของเรา ก็ต้องพยายาม

เข้ามาวัดมาทำบุญให้ทานก็เพื่อที่จะมาขัดเกลากิเลส มาศึกษาใจของเรา เพียงแค่ระดับสมมติเราก็พยายามทำสมมติของให้บริบูรณ์ให้สมบูรณ์ ไม่ต้องลำบาก คนทั่วไปก็ฝักใฝ่ฝักใฝ่ในบุญ ทำบุญเป็นอาจิณ ทำบุญเป็นกิจวัตร ถ้ามาฝักใฝ่ในการเกิดการดับของใจอีก เราก็ยิ่งจะเห็น เห็นแล้วรู้ความจริงแล้วเราก็ค่อยละ จนใจของเราเข้าสู่ความบริสุทธิ์

พระเราก็เหมือนกัน ชีเราก็เหมือนกัน อย่าพากันปล่อยปละละเลย อย่าให้ได้ยินคำว่าทะเลาะเบาะแว้ง ถ้าจะทะเลาะเบาะแว้งก็ทะเลาะเบาะแว้งกับกิเลสภายในของเรา เรารีบแก้ไขอย่าว่า กูดีมึงดี กูเด่นมึงเด่น อันนั้นหน้าที่ของเราอันนี้ไม่ใช่หน้าที่ของเรา ทุกคนก็ปรารถนาหาทางดับทุกข์หาทางหลุดพ้นหมด ออกจากบ้านมาปลงผมบวชเป็นนักบวช เราก็ต้องอยู่ในโอวาทคำสอนของพระพุทธองค์ว่าการละกิเลสเป็นอย่างไร การขัดเกลากิริยามารยาทของเราเป็นอย่างไร เราต้องดูทั้งสมมติทั้งวิมุตติ ไม่ใช่ว่าไปปล่อยปละละเลย ยิ่งอยู่ด้วยกันมาคนละทิศละที่ก็พยายามมาปรับสภาพตัวเรา เอาใจคนอื่นมาใส่ใจเรา เอาใจเขาไปใจเราไปใส่ใจคนอื่น รู้จักแก้ไขรู้จักปรับปรุง ไม่ใช่ว่าจะมีตั้งแต่ กูดี กูเด่น กูดัง คนอื่นไม่ดีคนอื่นชั่ว อย่างนี้ใช้การไม่ได้

อยู่ด้วยกันหลายคนเราก็ต้องพยายามอะลุ่มอล่วย อะไรผิดพลาดก็แก้ไขยิ่ง การเป็นนักบวชก็พยายามเพิ่มความเพียรเป็นทวีคูณ กว่าจะได้มาได้อยู่ดีมีความสุข แม้แต่ที่นั่งที่นอนที่อาศัยเราก็มาช่วยกันทำ ช่วยกันทำให้มันดี สมมติไม่ให้ลำบาก ใครไปใครมาก็อยู่ดีมีความสุข ไม่ใช่ว่าไปปล่อยปละละเลย เราก็ต้องพยายาม สมมติบริบูรณ์แล้วก็ส่งผลทางจิตใจของเราไม่ได้ลำบาก มีอะไรก็ให้ช่วยกัน ใครมีหน้าที่อย่างไรก็ช่วยกัน ไม่ใช่ว่าไปเบ่งไปแย่งพรรคกูพรรคมึง อย่ามีเหตุผลแบบกิเลส เราจงพยายามสร้างความสมัครสมานสามัคคี

ชีก็หลายคน ชีมาบวชก็มาบวชก็เยอะ ถึงยังแยกรูปแยกนามเดินปัญญาไม่ได้เราก็ยังอยู่ในกองบุญกองกุศลก็ยังดี มีอะไรเราก็รีบแก้ไขตัวเรา ทางโรงครัวโรงทานก็เหมือนกัน ทางโรงทานโรงครัวโรงครัวนี้หนัก งานหนัก งานหนัก มีอะไรก็ให้ช่วยกัน ช่วยกันทำ ช่วยกันพิจารณา อย่าไปอคติอย่าไปเพ่งโทษกันมันไม่ดี อยู่ที่นี่อย่าให้ได้ยิน เราจงพยายามช่วยกัน พระเราก็เหมือนกันรู้จักข้อวัตรปฏิบัติของตัวเอง อย่าไปเที่ยวให้คนอื่นเขาบังคับ เราจงบังคับตัวเรา แก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา

หลวงพ่อก็ได้เพียงแค่บอกแค่กล่าวอยู่ระดับของสมมติ ยังสมมติให้ทุกคนได้อยู่ดีมีความสุข อาศัยอานิสงส์บุญของทุกคนถึงเกิดขึ้นมาได้ ทำที่พักที่อาศัย ที่หลับที่นอน ที่อยู่ที่กิน แม้กระทั่งที่ตายก็ยังทำที่ไว้ให้ มอบสิ่งต่างๆ ไว้ให้ พวกเรามาอย่ามาทะเลาะเบาะแว้งกันอย่าให้ได้ยิน ก็จงพยายามแก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา

ตั้งใจรับพรกัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง