หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 7 วันที่ 8 มกราคม 2560

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 7 วันที่ 8 มกราคม 2560
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 7 วันที่ 8 มกราคม 2560
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 7
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 8 มกราคม 2560

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยง นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ เพียงแค่เรื่องการหายใจเข้าออกพวกเราก็ขาดการสังเกต เราอาจจะสังเกตอยู่เป็นบางครั้งบางคราว

ในหลักธรรมเราต้องพยายามเจริญความรู้ตัว เวลาหายใจเข้าก็มีความรู้สึกรับรู้อยู่ที่ปลายจมูกของเรา หายใจออกก็ให้มีความรู้สึกรับรู้อยู่ปลายจมูกของเราให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยง จาก 1 ครั้ง 2 ครั้ง 3 ครั้ง เป็นนาที 2 นาที 3 นาที จนความรู้ตัวของเราเข้มแข็งต่อเนื่อง เราก็จะเห็นการเกิดของใจ รู้ลักษณะการเกิดของใจ รู้ลักษณะการเกิดของความคิดซึ่งเป็นอาการของขันธ์ห้า ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งในขันธ์ห้าเขาผุดขึ้นมา ใจจะเคลื่อนเข้าไปรวมไปด้วยกัน เราก็รู้อยู่ว่าเราคิดเราทำ

แต่ในส่วนลึกๆ ทั้งใจ ทั้งอาการของใจ เขารวมกันอยู่นั่นแหละคือความหลง ซึ่งเรียกว่า หลงขันธ์ห้า ถ้าเรามาสร้างความรู้ตัวลงอยู่ที่การหายใจเข้าออกของเรา อันนี้ที่ท่านเรียกว่ามีสติรู้กาย รู้ให้ต่อเนื่อง อย่าไปเกียจคร้าน รู้จนเอาไปใช้การใช้งานได้ อบรมใจของเราได้ เรารู้ไม่ทันการเกิดของใจ การก่อตัวของใจ เราก็ตั้งสติใหม่อยู่กับการหายใจเข้าออก

เราต้องบอกตัวเองให้ได้ใช้ตัวเองให้เป็น จำแนกแจกแจง อันนี้ส่วนสติปัญญาที่เราสร้างขึ้นมา อันนี้ลักษณะของใจที่ปรุงแต่งส่งไปภายนอก ลักษณะของขันธ์ห้ากับใจเคลื่อนไปรวมกันได้อย่างไร รู้ไม่ทันต้นเหตุเราก็พยายามปรับเอาไว้ ที่เราเรียกว่า ฝืน เพราะว่าตามคนทั่วไปนั้นชอบคิดชอบปรุงชอบแต่ง ใจของคนเรานี้ชอบคิดเร็วไวยิ่งกว่าลิง เดี๋ยวก็แวบไปโน่น เดี๋ยวก็แว็บไปนี่ เดี๋ยวก็เป็นเรื่องเป็นราวบ้าง บางทีก็มีความคิดผุดขึ้นมา ถ้าเรารู้จักจำแนกแจกแจงว่าอันนี้ส่วนสติที่เราสร้างขึ้นมานะ อันนี้ลักษณะของใจ ใจที่ก่อตัว ใจที่เกิด ใจที่คลายออกจากขันธ์ห้าซึ่งเรียกว่า แยกรูปแยกนาม นั่นแหละสัมมาทิฏฐิอยู่ตรงนี้

ความเห็นแยกรูปแยกนามได้ไม่พอเพียงแค่เริ่มต้น เราต้องตามดู ตามรู้ ตามเห็น ตามทำความเข้าใจว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในขันธ์ห้าเป็นอย่างไร ทำไมใจถึงหลงทำไมใจถึงเกิด เราพยายามขัดเกลา ใจเกิดกิเลสก็ละกิเลส ใจมีความเกียจคร้านก็พยายามสร้างความขยัน ทุกอย่างก็ล้วนมีเหตุมีผลหมด ไม่ใช่ไปนึกเอาไปคิดเอา ไม่ใช่เอาไปนึกว่าจะเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ ไม่ใช่เลย

เราต้องมาเจริญสติเข้าไปดูเข้าไปรู้ เข้าไปเห็นเหตุเห็นผล ชี้เหตุชี้ผล ตามดูรู้ความจริงแล้วค่อยละ ละขันธ์ห้าเป็นอย่างนี้ ละกิเลสเป็นอย่างนี้ การเจริญพรหมวิหารให้เป็นตรงกันข้ามกับกิเลสของเรา ใจเกิดความโลภก็พยายามละความโลภด้วยการให้ด้วยการเอาออก อยู่ในระดับไหน อยู่ในระดับของสมมติหรือว่าในระดับของวิมุตติ กิเลสหยาบเป็นลักษณะอย่างนี้ กิเลสละเอียดเป็นลักษณะอย่างนี้ มีอยู่ในกายของเราหมด ถ้าเราไม่ศึกษาค้นคว้าจริงๆ ก็ยากที่จะเข้าใจ

เราพยายามหัดสังเกตหัดวิเคราะห์ตามแนวทางของพระพุทธองค์ ท่านสอนเรื่องอะไร คำว่าอัตตา อนัตตาเป็นลักษณะอย่างไร อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเป็นลักษณะอย่างไร อะไรคือทุกข์ อะไรคือสาเหตุแห่งทุกข์ ถ้าเราเข้าใจ เราก็จะทำความเข้าใจอยู่กับทุกข์ ไม่ไปหลงไปยึดกับมัน เราไม่อยากจะได้สุขเราก็ได้เอง ใจเราละกิเลสให้หมดออกจากใจของเรา เราไม่อยากได้ความบริสุทธิ์เราก็ได้ เราดับความเกิดของใจของเราไม่ให้เกิดต่อ ใจก็เลยไม่เกิด มองเห็นหนทางเดิน

แต่เวลานี้ทั้งใจเกิดด้วย หลงด้วย ยึดด้วย เป็นทาสของกิเลสด้วย ต้องพยายามแก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา บอกตัวเองให้ได้ใช้ตัวเองให้เป็น ไม่ใช่ว่าเอาตัวเราไปเกี่ยวโยงกับคนโน่นเกี่ยวโยงกับคนนี้
ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเราหมั่นดู หมั่นสังเกต หมั่นวิเคราะห์แล้วหรือยัง กำลังสติปัญญาของเราไปใช้ได้แล้วหรือยัง ก็ต้องพยายามกัน มีไม่มากหรอก

ศรัทธาก็มีกันทุกคน การทำบุญให้ทาน ฝักใฝ่การสร้างทานบารมีก็มีกันทุกคน ยังไม่ถึงเวลาเราก็ไม่เข้าใจ ถ้าถึงเวลาแล้วเอาอะไรมาผูกมัดเอาไว้แล้วก็ไม่อยู่ เราย่อมจะเข้าใจในชีวิตของเรา พยายามดำเนินเสีย ในขณะที่เรามีกำลังอยู่ อย่าให้ใจตกเป็นทาสของกิเลส อย่าให้ใจของเราไปหลงมัวเมาในสิ่งต่างๆ รีบสร้างหนทางเดินให้ถึงจุดหมายปลายทางให้เร็วให้ไว ถึงจุดหมายแล้วก็ได้แต่นั่งดู นั่งรู้ นั่งเสวยผลเท่านั้นเอง

สร้างความรู้ตัวให้ชัดเจนกันนะ ให้ต่อเนื่องกันสักนิดหนึ่งก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง