หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 32 วันที่ 16 มีนาคม 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 32 วันที่ 16 มีนาคม 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 32 วันที่ 16 มีนาคม 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 2 (ลำดับที่ 21-40)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 32
วันที่ 16 มีนาคม 2557


ขอให้ญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย และก็วางใจให้สบาย อันนี้เป็นการย้ำ เป็นการเตือน ให้พวกท่านได้รู้จักวิธี รู้จักแนวทางในการเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเรา


นั่งตามสบาย ไม่ต้องพนมมือ วางกายให้สบาย ฟังไปด้วย น้อมสำเหนียก เสียงก็สักแต่ว่าเสียง ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว กายของเราก็รู้สึกว่าสบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น


ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจ ที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเรานั่นแหละ เขาเรียกว่า ‘สติในทางโลก’ สติในทางธรรมก็ต้องสร้างขึ้นมา แล้วก็สร้างให้ต่อเนื่อง แล้วก็ให้เชื่อมโยง เขาเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม ความรู้สึกพลั้งเผลอเราก็เริ่มขึ้นใหม่ ความรู้สึกพลั้งเผลอเราก็เริ่มขึ้นใหม่ ฝึกตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ พอรู้ตัวปุ๊บ เราก็สร้างความรู้สึกรับรู้อยู่ที่การหายใจเข้าออกของเรา อันนี้เขาเรียกว่า ‘มีสติ รู้กาย’


มีสติ รู้กาย ลึกลงไปถ้าความรู้ตัวของเราต่อเนื่อง เราก็จะรู้ลักษณะอาการของใจที่อยู่ในกายของเรานี้แหละ มันมีอยู่แล้ว ในภาษาธรรมะท่านเรียกว่า ‘วิญญาณ’ วิญญาณในกายของเรา วิญญาณของเราจะปรุงแต่ง ความคิดจะส่งออกไปภายนอกได้อย่างไร เขาเริ่มก่อตัวอย่างไร ถ้าเรามีความรู้ตัวอยู่ปัจจุบันเราก็จะเห็น เห็นการเกิดของวิญญาณปรุงแต่งเป็นเรื่องเป็นราว บางทีก็เห็นอาการของวิญญาณในขันธ์ห้าของเราผุดขึ้นมา ตัววิญญาณเคลื่อนเข้าไปรวม เป็นตัวเดียวกันไปด้วยกัน ที่เราเรียกว่า ‘ความคิด’


คิดก็รู้ ทำก็รู้ มันหลงอยู่ในความคิดตรงนั้นอยู่ หลงเกิดอยู่ หลงส่งออกไปภายนอกอยู่ ท่านถึงให้ใช้ ‘สมถะ’ เจริญสติอยู่กับลมหายใจของเรา หรือจะเอาคำบริกรรมเข้าไปกำกับ อันนี้เพียงแค่ควบคุมให้ใจของเราอยู่ในความสงบ อยู่ในกายของเรา ถ้ากำลังสติของเราวิเคราะห์เท่าทัน จนวิญญาณของเราคลายออกจากความคิด แยกรูปแยกนามได้ ใจก็จะว่าง วิญญาณก็จะว่าง พลิกหงายขึ้นมา ว่างโล่งโปร่ง


ความเกิดความดับของความคิดนั่นแหละ เขาเรียกว่า ‘กองสังขาร’ มันเป็นเรื่องอะไร เป็นกุศลหรือว่าอกุศล มันจะค่อยแจงลงไปเรื่อยๆ เห็นแล้วตามทำความเข้าใจ ตามดู ตามรู้ เห็นเหตุ เห็นผล เห็นการคลาย เห็นการแยก ตามดูรู้ให้ชัดแจ้ง ให้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องอะไร ทำไมใจถึงเกิด ทำไมใจถึงหลง ทำไมเกิดอัตตา ทำไมใจถึงเป็นทาสของกิเลส เราต้องมาจัดการให้เรียบร้อย เป็นเรื่องของเราทุกคน ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น


แต่การสร้างบุญ สร้างบารมี ทุกคนมีกันเต็มเปี่ยมกันหมด แต่การแยกรูป แยกนาม เดินปัญญา ละกิเลส ดับความเกิดตัวเราเอง ตรงนี้จะไม่ค่อยทันกัน เพราะว่าความเพียรมีน้อย เอาตั้งแต่ทำบุญ อยากจะได้บุญ อยากจะได้ทาน อยากจะรู้ธรรม ตัวใจเป็นตัวสั่งกายพาไปปฏิบัติ มันจะไปเห็นได้ยังไง เข้าใจได้ยังไง


นอกจากเจริญสติเข้าไปควบคุมใจ อบรมใจ ชี้เหตุชี้ผล ให้ใจคลายออก ให้รับรู้ ละกิเลส ดับความเกิดออกจากใจ ถึงจะเข้าถึงต้นสายปลายเหตุได้ รู้เหตุ รู้ผล ตั้งแต่ต้นเหตุ กลางเหตุ ปลายเหตุได้ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนแต่มีเหตุมีผล เหตุผลทางด้านนามธรรม ทางด้านจิตวิญญาณ ก็มีอยู่ เหตุผลทางด้านสมมติ ทางด้านรูปธรรม ก็มีอยู่ เราต้องให้รู้ ทั้งเหตุ ทั้งผล ทั้งต้น


ตัดต้นไม้แต่ละทีนี่เราจะเอาตั้งแต่แก่น เราไม่ดูรู้เปลือกรู้กระพี้ ต้องทำความเข้าใจหมด เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็อาศัยรวมกันอยู่ ธรรมกับโลกก็อาศัยกันอยู่ โลกธรรมก็อาศัยกันอยู่ เราต้องศึกษาให้ละเอียด ทั้งรอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในโลกธรรม แต่การเริ่มต้นที่จะไปดูเหตุดูผล ตรงนี้คนกระโดดข้ามหมด ก็เลยปิดกั้นตัวเองเอาไว้หมด เราต้องพยายามสาวลึกลงไปให้ถึงรากถึงโคน ถอนรากถอนโคน ใบมันก็เหี่ยวแห้งหมดเอง ค่อยแก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา ผิดพลาดเริ่มต้นใหม่ แก้ไขใหม่


กายวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจวิเวกเป็นอย่างนี้ การเจริญสติเป็นอย่างนี้ กายทำหน้าที่อย่างนี้ เวลาขบ เวลาฉัน ใจของเราเกิดความอยาก หรือว่ากายของเราหิว ตากระทบรูป หูกระทบเสียง รู้จักจำแนกแจกแจง แยกรูปรสกลิ่นเสียงออกจากจิตวิญญาณของเรา ทวารทั้งหก เขาก็ทำหน้าที่ของเขา


ภาษาธรรม สักแต่ว่าดู สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าฟัง เป็นอย่างไร พากันไปสังเกตวิเคราะห์เอา ช่วงใหม่ๆ นี้ก็อาจจะอึดอัด เพราะว่าเป็นการฝืน เป็นการทวนกระแส เพราะว่าจิตของคนเราชอบไหลส่งออกไปภายนอก หลงออกไปภายนอก มันถึงไปสวน ไปทวนกระแส คลาย ไปควบคุม ไปคลาย ไปดับ ไปแยกไปแยะ ถ้าใจของเราแยกแยะได้ ถึงจะตกกระแสธรรม หนุนกำลังสติปัญญาไปทำหน้าที่แทนได้ ถึงจะมีความสงบ ความสุข ก็ต้องพยายามกัน


สร้างความรู้สึกรับรู้ การหายใจเข้าออกให้ชัดเจนกันนะ ให้ต่อเนื่องกันสักพักหนึ่งก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำ


พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปศึกษาทำความเข้าใจต่อเอา หลวงพ่อเพียงแค่เล่าให้ฟังแค่นั้นเอง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง