หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 60 วันที่ 27 มิถุนายน 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 60 วันที่ 27 มิถุนายน 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 60 วันที่ 27 มิถุนายน 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 3 (ลำดับที่ 41-60)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 60
วันที่ 27 มิถุนายน 2557


เจริญธรรมญาติโยมทุกคนทุกท่าน ขอให้ญาติโยมจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมาเราได้สร้างความรู้ตัวแล้วหรือยัง ถ้ายังก็เริ่มเสียนะ นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย วางใจให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียก การเจริญสติ ลักษณะของสติ ความรู้สึกรับรู้


ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ อย่า ไปบังคับลมหายใจ เราก็หายใจมาตั้งแต่เกิดนั่นแหละ แต่เราขาดการสร้างความรู้ตัว รู้ว่าลมหายใจเข้าเป็นอย่างไร หายใจยาว หายใจสั้นเป็นอย่างไร หายใจที่เป็นธรรมชาติเป็นอย่างไร


เวลาเราจะสร้างความรู้ตัวทีทำไมถึงอึดอัด เพราะความไม่เคยชิน ความเคยชินเก่าๆ เราปล่อยละปล่อยเลยไม่สนใจ ถ้าเรามาสร้างความรู้สึกรับรู้ ใหม่ๆ ก็อาจจะพลั้งเผลอ ความพลั้งเผลอเราก็เริ่มขึ้นมาใหม่ เขาก็เลยว่าอึดอัด เราพยายามทำบ่อยๆ ให้เกิดความเคยชิน เราก็จะได้รู้กายของเรา มีสติรู้กายของตัวเรา ลึกลงไปก็จะรู้ใจ รู้ลักษณะของใจ รู้การเกิดการดับ ใจปกติเป็นอย่างไร ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างไร ใจที่คลายออกจากความคิดหรือว่าคลายออกจากขันธ์ห้า ซึ่งเป็นส่วนนามธรรมเขาเป็นอย่างไร


ใจที่ไม่มีกิเลสเขาเรียกว่า ‘สมาธิ’ ใจปกติเขาเรียกว่า ‘ศีล’ ความปกติ ‘สมาธิ’ ใจที่ปราศจากกิเลส ใจที่ไม่เกิดเขาก็สงบสู่ความรู้ตัวที่เราสร้างขึ้นมา ถ้ารู้ให้ต่อเนื่องเขาเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม ถ้าใจคลายออกจากความคิด ออกจากอารมณ์ได้เมื่อไหร่ เขาเรียกว่า ‘สัมมาทิฏฐิ’ ความรู้แจ้งเห็นจริง ตรงนี้แหละเรียกว่า ‘คลายความหลง’


ถ้าเราตามเห็นความเกิดความดับของความคิด ใจก็ว่างรับรู้อยู่ เรียกว่าเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความว่างเปล่าเข้ามาปรากฏ เมื่อเขาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป รู้เห็น ทำความเข้าใจให้กระจ่าง เขาถึงเรียกว่า ‘ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร ปัญญารอบรู้ในขันธ์ห้าของตัวเรา’ ใจจะเกิดกิเลสเราก็รู้จักดับ ใจจะปรุงแต่งส่งไปภายนอกเราก็รู้จักดับ หนุนกำลังสติปัญญาของเราไปทำหน้าที่แทน


กายของเราทำหน้าที่อย่างไร ทวารทั้งหกทำหน้าที่อย่างไร ซึ่งเป็นทางผ่านของรูป รส กลิ่น เสียง ผ่านเข้าไปถึงใจของเรา เรามีสติรู้ใจของเราว่าใจของเราเกิดความยินดียินร้ายหรือไม่ ทุกเรื่องในชีวิตของเราจนกระทั่งจะหมดลมหายใจ


เราต้องพยายามทำความเข้าใจอยู่กับสมมติ เคารพสมมติ ไม่ยึดติดสมมติ กายของเรานี่แหละเป็นก้อนสมมติ ซึ่งใจเขาสร้างขึ้นมา มีขันธ์ห้าเข้ามาครอบคลุมเอาไว้ ขันธ์ห้าในกายของเรา ซึ่งมีวิญญาณเข้ามาครอง เราต้องอาศัยปัญญาของผู้รู้ อาศัยปัญญาของพระพุทธองค์ เข้ามาเดินตามแนวทางของท่าน การเจริญสติเป็นอย่างนี้ กายวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจวิเวกเป็นอย่างนี้ อย่าไปปล่อยปละละเลย เราต้องพยายามเป็นเรื่องของเรา เพียงแค่ระดับของสมมติเราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด


เรามีความขยันหมั่นเพียร เรามีความรับผิดชอบ เรามีความเสียสละ จิตใจของเรามีพรหมวิหาร มีความเมตตา มีความอ่อนโยน อ่อนน้อมทุกเรื่อง รู้จักฝักใฝ่ รู้จักสนใจแก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา โทษตัวเรา แก้ไขตัวเราอยู่ตลอดเวลา ท่านถึงบอกว่าให้ขนาบตัวเอง แก้ไขตัวเอง จนใจของเราคลายออกจากขันธ์ห้า ตกกระแสธรรม ตามทำความเข้าใจละกิเลสออกให้หมด ดับความเกิดของใจให้มันได้ หนุนกำลังสติไปเกิดแทน


มีความสุขในการดู ในการรู้ ในการทำความเข้าใจ ทำความเข้าใจกับโลกธรรมในสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว ท่านถึงบอกว่ารอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในโลกธรรม รอบรู้ในชีวิตของตัวเรา รู้จักดำเนินชีวิตให้มีความสุขในท่ามกลางกองกิเลส ก็ต้องพยายามกัน ไม่ว่าพระ ว่าโยม ว่าชี ขยันหมั่นเพียรกันทั้งงานภายนอกงานภายใน เราไปอยู่ที่ไหนก็จะมีความสุข อยู่คนเดียวก็มีความสุข อยู่หลายคนก็มีความสุข


หลวงพ่อก็ได้เพียงแค่เล่าให้ฟัง เล่าสิ่งเดียวนี่แหละทั้งปี เพราะว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องทำความเข้าใจ เมื่อรู้แล้ว เห็นแล้ว ทำความเข้าใจได้แล้ว เราจะละกิเลสได้หมดจดหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความเพียรของเรา ก็ต้องพยายามกันนะ


สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้ชัดเจน ให้ต่อเนื่องกันสักนิดก็ยังดี อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวขณะนี้ก็ให้รู้ว่าลมหายใจวิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนกันนะ


พากันไว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปศึกษาต่อทำความเข้าใจกันนะ


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง