หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 60 วันที่ 20 สิงหาคม 2561

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 60 วันที่ 20 สิงหาคม 2561
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 60 วันที่ 20 สิงหาคม 2561
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 60
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 20 สิงหาคม 2561

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาพวกท่านได้พากันเจริญสติแล้วหรือยัง ตั้งแต่ยังไม่ได้ลุกจากที่จนกระทั่งถึงเวลานี้ แล้วก็เดี๋ยวนี้ พยายามทำความเข้าใจในชีวิตของเรา ความเป็นอยู่ของเรา การไปการมา การลุก การก้าว การเดิน กินอยู่หลับนอนทุกอิริยาบถ พยายามหัดวิเคราะห์หัดสังเกต สร้างความรู้ตัว เจริญสติเข้าไปอบรมใจของเรา ใจของเราปกติหรือไม่ ใจของเราเกิดส่งไปภายนอกเรื่องอะไร เป็นกุศลหรือว่าอกุศล ความคิดที่เราไม่ตั้งใจคิด อาการของขันธ์ห้าผุดขึ้นมาใจเคลื่อนเข้าไปร่วมได้อย่างไร รู้จักแก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเราอยู่ตลอดเวลา ทุกขณะลมหายใจเข้าออก ทุกขณะจิต จนเป็นอัตโนมัติในการดูในการรู้

คำว่า ความหลง ใจของเราหลงอะไร หลงเกิด ความเกิดเป็นกิเลสอันละเอียดที่สุด ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด หลงมาเกิดมาสร้างขันธ์ห้า ในขันธ์ห้ามีอะไรบ้าง ให้เราเจริญสติเข้าไปวิเคราะห์จำแนกแจกแจง อะไรคือส่วนรูป อะไรคือส่วนนาม ใจเกิดกิเลสหยาบกิเลสละเอียด เราหาวิธีการแนวทางขัดเกลาเอาออก พยายามขัดเกลา พยายามละ พยายามอบรมชี้เหตุชี้ผลจนใจมองเห็นความเป็นจริง การเกิดเป็นทุกข์เขาก็ไม่เกิด เป็นทาสกิเลสเขาก็ไม่เอา

แต่ละวันตื่นขึ้นมาเราได้ยังประโยชน์ ประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ประโยชน์สมมติประโยชน์วิมุตติ ทำความเข้าใจกับภาษาโลกภาษาธรรม สักแต่ว่าดู สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าฟัง รู้จักพิจารณาปฏิสังขาโย ตามแนวทางคำสอนของพระพุทธองค์นั้นมีมานานหลายร้อยหลายพันปีก็ยังเป็นความจริงอยู่ ถ้าเราเข้าถึงความเกิดของใจ หลักของอริยสัจความจริงอันประเสริฐ วิธีการดำเนินตามทางอริยมรรค หนทางเดินข้อแรกสัมมาทิฏฐิ ถ้าเราเจริญสติจนรู้ใจคลายออกจากขันธ์ห้า หงายขึ้นมาเขาถึงเรียกว่า ความเห็นถูก เขาเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ การตามดูรู้เห็นตามความเป็นจริง แล้วก็ค่อยละ ความขยันหมั่นเพียร ละความตระหนี่เหนียวแน่น ละความโลภ ละความโกรธ ละความตระหนี่เหนียวแน่น ให้อภัยทานอโหสิกรรม มองโลกในทางที่ดี เราพยายามศึกษาขณะที่เรายังมีกำลังอยู่ ยังมีลมหายใจอยู่ หมดลมหายใจก็มีตั้งแต่เรื่องบุญกับเรื่องบาปที่จะติดตามตัวของพวกเราไป

ในหลักธรรมแล้วท่านก็ให้ละบาป สร้างบุญ สูงขึ้นไปอีกไม่ให้ยึดติดในบุญ ยังประโยชน์ เพียงแค่ให้เกิดประโยชน์ ประโยชน์ในสมมติ ในขณะที่เรายังมีลมหายใจอยู่ ถ้าหมดลมหายใจเราก็คืนสภาพ ส่วนสมมติร่างกายของเราก็กลับคืนสู่สภาพธรรมชาติของเขา เกิดดินน้ำลมไฟที่เรายืมมาใช้ ทุกคนเกิดมามีตั้งแต่ความเสื่อม ตั้งแต่วันเกิด แต่ทุกคนมองเห็นเป็นความเจริญ มันไม่ใช่ พระพุทธองค์ท่านมองเห็นเป็นความเสื่อม เสื่อมขึ้นเสื่อมลง จากเด็กเป็นผู้ใหญ่ จากผู้ใหญ่ก็เข้าสู่วัยชราคร่ำคร่า กลับลงไปอีก กลับคืนสู่สภาพเดิม ทุกคนก็จะเป็นอย่างนี้กันหมด

เราพยายามหมั่นพิจารณา หมั่นวิเคราะห์ หมั่นทำความเข้าใจ อีกสักหน่อยพวกเราก็ต้องได้พลัดพรากจากกันหมด ไม่ได้พลัดพรากจากกันตอนตาย ก็ได้พลัดพรากจากกันตอนเป็น เพราะเป็นกฎของไตรลักษณ์ กฎของธรรมชาติ เดี๋ยวก็ตายจากกัน คนโน้นบ้างคนนี้บ้าง พ่อแม่พี่น้องก็ตายจากกัน รุ่นใหม่ก็ขึ้นมาแทน พวกเราก็จะถึงเวลานั้น ถ้ายังไม่ถึงเวลาก็ไม่ได้ไป ถ้าถึงเวลาเอาอะไรมาฉุดมารั้งเอาไว้ก็ไม่อยู่ ก็ต้องได้ไป เราพยายามทำความเข้าใจ มองเห็นหนทางเดินให้ทะลุปรุโปร่งเสียก่อน อย่างน้อยๆ ก็ให้อยู่ในกองบุญกองกุศลเอาไว้ เป็นเข้าพกเข้าห่อติดตามตัวเราไป ถึงใจของเราไม่หลุดพ้นในภพนี้ ก็จะไปต่อเอาภพหน้า เราต้องรู้ความเกิดความดับขณะอยู่ปัจจุบันนี้ให้ได้เสียก่อน รู้ไม่ทันเราก็รู้จักหยุด หมั่นพร่ำสอนตัวเรา เจริญสติเข้าไปอบรมใจของเรา จนกำลังสติของเราเป็นมหาสติ มหาปัญญา จนเป็นอัตโนมัติในการดู ในการรู้

ใจของคนเรานี้เป็นธาตุ ธาตุรู้ แต่เวลานี้เขาทั้งรู้ ทั้งเกิด ทั้งหลง เราต้องมาจำแนกแจกแจง แยกแยะทำความเข้าใจกับชีวิตของเราให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น ท่านถึงบอกว่าตนเป็นที่พึ่งของตน ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน อยู่ ขับถ่าย เราต้องทำความเข้าใจให้ได้ อย่าพากันผัดวันประกันพรุ่ง จงตื่นอยู่ตลอดเวลา ท่านถึงว่าเป็นพุทธะ คือผู้รู้ รู้ใจของเรา ท่านถึงว่าตนเป็นที่พึ่งของตน อะไรคือสติ อะไรคือใจ ทำไมใจถึงเกิด ทำไมใจถึงหลง ทุกคนมีกันหมด จงแก้ไขตัวเราปรับปรุงตัวเราทั้งสมมติทั้งวิมุตติ สมมติคือสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส โลกธรรมต่างๆ ก็ต้องพยายามกัน ฝึกหัดให้เป็นคนขยันหมั่นเพียร มีความรับผิดชอบ มีความเสียสละ การกระทำของเราให้ถึงพร้อม ไม่เห็นตั้งแต่ความเกียจคร้าน

เราบวชเข้ามาฝึกความขยันหมั่นเพียร ฝึกความรับผิดชอบ ฝึกความเสียสละ เสียสละทั้งสมมติเสียสละทั้งวิมุตติ สักวันหนึ่งเราก็คงจะเดินถึงจุดหมายปลายทาง บอกตัวเองให้ได้ใช้ตัวเองให้เป็น เราก็จะได้เป็นที่พึ่งของตัวเรา เป็นที่พึ่งของคนอื่นในวันข้างหน้า พวกเราจากไปรุ่นหลังก็จะได้มาสร้างมาสานต่อไม่ได้ลำบาก ไม่ว่างานเล็กงานใหญ่งานน้อย อยู่ใกล้อยู่ไกล มีโอกาสเราก็พยายามทำ ทำช่วยกัน

ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ที่พักที่อาศัย ที่หลับที่นอน เราดูแลเรียบร้อยแล้วหรือยัง ห้องส้วมห้องน้ำ ปัจจัยในสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว อย่าไปงอมืองอเท้า จงขยันหมั่นเพียร ความขยันมั่นเพียรนี้แหละจะส่งผลให้ใจของเรามีความสะอาดความบริสุทธิ์ในวันข้างหน้า ถ้าเราสร้างสะสมความเกียจคร้านครั้งหนึ่งสองครั้งสามครั้ง ก็หมักหมมเข้าไปเรื่อยๆ เราพยายามขัดเกลาเอาออกทั้งกลางวันทั้งกลางคืน ความขยันหมั่นเพียรก็จะติดตามตัวเราไป อะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน ก็ต้องพยายามกันนะ

เอาล่ะวันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง