หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 58 วันที่ 14 สิงหาคม 2561

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 58 วันที่ 14 สิงหาคม 2561
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 58 วันที่ 14 สิงหาคม 2561
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 58
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 14 สิงหาคม 2561

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน ตามหลักของความเป็นจริง เราพยายามดูรู้กายรู้ใจของเราตั้งแต่ตื่นขึ้น ตั้งแต่ยังไม่ได้ลุกจากที่ พอรู้ตัวปุ๊บแล้วก็สร้างความรู้ตัว รู้กายรู้ใจ รู้ความปกติของใจ อะไรคือสติปัญญาที่เราสร้างขึ้นมา อะไรคือใจ ถ้าเราไม่รู้จักแยกแยะจำแนกแจกแจง เราก็จะไม่เข้าใจ

การเจริญสติ การสร้างความรู้ตัว เราพยายามสร้างให้ต่อเนื่อง ส่วนมากก็อาจจะมีบ้างกะปริดกะปรอย ก็เลยรู้ไม่เท่าทันใจ อบรมใจตัวเองไม่ได้ ใจก็เลยเกิดอยู่ตลอดเวลา ทั้งเกิดด้วย ยึดด้วย ยึดอาการในขันธ์ห้า ความคิดที่เราไม่ตั้งใจคิด รวมกันไปทั้งสติทั้งปัญญา ทั้งใจทั้งอาการของใจ รวมกันไปเป็นวงกลม ตั้งแต่ตื่นขึ้นถ้าเรารู้จักการเจริญสติ อันนี้ลักษณะของสติที่เราสร้างขึ้นมาเอาไปใช้การใช้งาน เอาไปอบรมใจ ไปควบคุมใจ จนใจอยู่ในโอวาทของสติปัญญาของเรา

ใจการเกิดเป็นทุกข์ การเข้าไปหลงไปรวมไปยึด เป็นทาสกิเลสก็เป็นทุกข์ ใจก็จะค่อยปล่อย ค่อยวาง ค่อยสร้างตบะสร้างบารมีของตัวเองไป ใจเกิดความโลภ เราก็พยายามละความโลภ ใจเกิดความโกรธ เราก็พยายามละความโกรธ ใจเกิดความอยาก เราก็พยายามละความอยาก ทำในสิ่งตรงกันข้ามด้วยการให้ด้วยการเอาออก อโหสิกรรม ปรับสภาพใจของตัวเราให้อยู่ในพรหมวิหาร อยู่ในความเมตตา มองโลกในทางที่ดี คิดดีทำดี ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา จนไม่มีอะไรทีจะให้ได้ขัดเกลา มีตั้งแต่ความบริสุทธิ์ความหลุดพ้น

เราก็ต้องพยายามศึกษาทำความเข้าใจตามแนวทางของพระพุทธองค์ การเจริญสติเป็นอย่างนี้ การดับ การควบคุมอยู่ในองค์สมถภาวนา หรือว่าอยู่ในองค์ของปัญญา ใจคลายออกจากขันธ์ห้า ถึงเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ การตามดูรู้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในกายของเรา ใจเกิดกิเลสเราก็รู้จักละกิเลส ทำหน้าที่ของเราให้จบ หลังจากนั้นก็มีตั้งแต่ประโยชน์ ประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ประโยชน์สูงสุด ประโยชน์ทำใจให้บริสุทธิ์ ไม่ต้องกลับมาเกิด กายเนื้อแตกดับก็ไม่ต้องกลับมาเกิด

การสร้างสะสมคุณงามความดี การสร้างสะสมบารมี เรามีความเกียจคร้านเราก็พยายามละความเกียจคร้าน เรามีความตระหนี่เหนียวแน่นก็ละความตระหนี่เหนียวแน่น เราไม่มีความรับผิดชอบเราก็พยายามสร้างความรับผิดชอบออกจากใจของเรา พอสร้างความรับผิดชอบให้มีให้เกิดขึ้นที่ใจของเรา ใจของเรายังเกิดเราพยายามดับความเกิด ความเกิดนั่นแหละเป็นกิเลสอันละเอียดที่สุด ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด เกิดทางกายเนื้อ เกิดทางร่างกาย เขาก็เกิดมาซึ่งเรียกว่า ภพมนุษย์ แล้ววิญญาณหรือว่าตัวใจก็มาหลงมายึดว่าเป็นตัวตนของเราจริงๆ ก็เป็นตัวตนของเราจริงๆ นั่นแหละในทางสมมติ แต่ในทางธรรมแล้วถึงวาระเวลาเขาก็ต้องแตกต้องดับ กลับคืนสู่สภาพเดิม คือยืมโลกมาใช้กลับคืนสู่ดิน สู่น้ำ สู่ลม สู่ไฟ แต่วิญญาณยังอยู่

แต่เวลานี้วิญญาณของเรามาหลงมายึด ยึดทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็นตัวเป็นตน ถ้าวิญญาณหรือว่าใจของเราคลายออกจากขันธ์ห้าได้ ปล่อยวางขันธ์ห้าได้ เขาก็ปล่อยวางได้ทุกอย่าง ที่นี้เราก็มาละกิเลส มาดับความเกิดที่ใจของเรา ทีละเล็กทีละน้อย ทั้งเกิดทั้งไม่เกิด ไม่เกิดหรือว่าผลักไส หรือว่าดึงเข้ามา มีค่าเท่ากัน ทั้งดีและไม่ดี ละไม่ดีสร้างดีแต่ไม่หลงไม่ยึด ให้อยู่ในบุญในกุศลเอาไว้ เพราะว่าวันนี้มีพรุ่งนี้มี เดือนนี้มีเดือนหน้ามี ปีนี้มีปีหน้ามี ภพนี้มีภพหน้ามี พ่อแม่พี่น้องในระดับของสมมติมีหมด ให้เราทำความเข้าใจด้วยปัญญาที่เกิดจากการเจริญภาวนา

การเจริญภาวนาเราก็รู้จักเอาสติไปใช้ สติของเราไปรู้เท่ารู้ทัน รู้กันรู้แก้ รู้จำแนกแจกแจง จนอบรมใจของเราได้ใช้ใจของเราเป็น ท่านถึงเรียกว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน ตนตัวแรกคือสติที่เราสร้างขึ้นมา ตนตัวที่สองก็คือตัวใจ อบรมใจ อันนี้สติ อันนี้ใจต่อไปข้างหน้าก็ใจ อันนี้อาการของใจ เป็นเรื่องอะไร เป็นกุศล หรือว่าอกุศล หรือว่าเป็นกลางๆ วิญญาณในกายในขันธ์ห้าเป็นลักษณะอย่างไร เราต้องทำความเข้าใจให้ได้

แต่เวลานี้เรารู้อยู่ เพราะว่าใจเป็นธาตุรู้ เขาทั้งรู้ทั้งเกิดทั้งหลง ถ้าเรามาเจริญสติให้ต่อเนื่อง เราถึงจะรู้ว่าสติความสืบต่อความต่อเนื่องสติปัญญาแต่ก่อนไม่มี ถ้าเราฝึกทำความเข้าใจบ่อยๆ จนเอาไปใช้การใช้งานได้ มองเห็นใจของเรา มองเห็นหนทางเดิน สนุกอยู่กับบุญ ทำกายให้เป็นบุญทำใจให้เป็นบุญ ทำใจให้เป็นพระ เจริญสติเข้าไปเยี่ยมพระบ่อยๆ อะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน เราก็ต้องพยายามกันนะ

ไม่ว่าพระว่าโยมว่าชีก็มีขันธ์ห้าเหมือนกันหมด ถ้าเราไม่สอนเราแก้ไขเราไม่มีใครจะแก้ไขให้เราได้หรอกนอกจากตัวของเรา พยายามเจริญสติเป็นที่พึ่งของใจ อบรมใจ สมมติภายนอกร่างกายของเราก็ยังอาศัยหมู่อาศัยคณะ อาศัยสมมติอาศัยโลกธรรม เราก็พยายามทำความเข้าใจ ในสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว ไม่หลงไม่ยึดไม่ติดแล้วยังประโยชน์ เราก็พลอยได้รับประโยชน์นั้นด้วย

สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยงกันให้ได้ ทำกายให้โล่ง สมองให้โปร่ง มีความรู้สึกรับรู้อยู่ที่ปลายจมูกของเราให้ชัดเจนกัน

พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พยายามไปศึกษาทำความเข้าใจต่อให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง