หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 101

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 101
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 101
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 101
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 15 กันยายน 2562

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกของเราให้ต่อเนื่องให้ชัดเจนกันสักนิดหนึ่งก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำ นั่งตามสบายวางกายให้สบายแล้วก็วางใจให้สบายฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ อันนี้เป็นการผ่อนคลายร่างกายของเรา การสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเราก็ชัดเจน เราพยายามสร้างความรู้ตัวตรงนี้แหละ

ตั้งแต่ตื่นขึ้น พยายามฝึกให้เกิดความเคยชิน ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน ถ้าเรามีสติรู้กายอยู่กับปัจจุบัน เราก็จะรู้เท่าทันการเกิดของใจ รู้ลักษณะของใจ รู้ลักษณะของความคิดที่เรียกว่า‘อาการของขันธ์ห้า’ ซึ่งมีอยู่ในกายของเราหมดทุกคน จะมีมากมีน้อยก็ขึ้นอยู่กับอานิสงส์บุญบารมีที่เราได้สร้างสะสมมา บางคนก็ไปในทางกุศล บางคนก็ไปในทางมลทินสารพัดเรื่องที่ฝังอยู่ในใจของเรา

การเจริญสติเรามาสร้างความรู้ตัวตัวใหม่เพื่อที่จะเอาไปใช้ ถ้ากำลังสติของเราเข้มแข็งเราก็เอาไปอบรมใจของเรา เอาไปอบรมใจจนใจคลายออกจากขันธ์ห้า เห็นเหตุเห็นผล เข้าใจคำว่า‘อัตตา อนัตตา’ เข้าใจคำว่า ‘สมมติ วิมุตติ’ รู้ฐานการเกิด รู้ฐานการแยกการปล่อยการวาง นั่นแหละที่ท่านเรียกว่า ‘สัมมาทิฏฐิ’ ความเห็นถูกในหลักธรรม

เห็นถูกแล้วยังไม่พอ เราก็ต้องตามทำความเข้าใจให้กระจ่างอีก ใจเกิดกิเลสเราก็รู้จักละอีก รู้จักละกิเลสหยาบ กิเลสละเอียด ใจเกิดเป็นอย่างไร ใจส่งออกไปภายนอกเป็นอย่างไร ทำไมใจถึงเกิด ทำไมใจถึงหลง เราจะดำเนินชีวิตของเราได้อย่างไรให้ใจมีความสุข ให้กายมีความสุขด้วยเหตุด้วยผล ด้วยสติด้วยปัญญา ใหม่ๆ ก็อาจจะสับสน ถ้าบุคคลที่มาเจริญสติแล้วก็สร้างตบะสร้างบารมีมาดี เราก็จะเข้าใจในชีวิตของเรา

การสร้างบารมี ความอดทนอดกลั้น อดทนต่อกิเลสภายใน อดทนจากเหตุการณ์ภายนอกที่เข้ามากระทบ แล้วก็วิเคราะห์ ทำความเข้าใจให้กระจ่างทุกเรื่อง รู้จักจุดปล่อย รู้จักจุดวาง ใจของเราก็จะได้ไม่เข้าไปหลงในสิ่งต่างๆ ฝึกวันละเล็กละน้อย

ถ้าบุคคลใดมีความขยันหมั่นเพียรกำลังสติก็จะมีมากขึ้นๆๆ จนเป็นมหาสติ จากมหาสติก็จะกลายเป็นมหาปัญญา จากมหาปัญญาก็จะกลายเป็นปัญญารอบรู้ในดวงใจของเรา รอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในชีวิตของเรา เป็นเรื่องของเราทุกคน ไม่ใช่ว่าเรื่องของคนอื่น เป็นเรื่องของเรา

ให้เรามีความสุขในการวิเคราะห์ พิจารณา แก้ไข อะไรผิดพลาดก็เริ่มใหม่ พลั้งเผลอก็เริ่มใหม่อยู่บ่อยๆ อบรมใจของเราอยู่บ่อยๆ ซึ่งท่านเรียกว่า ‘ตนเป็นที่พึ่งของตน’ ตนตัวแรก คือสติที่เราสร้างนี่แหละเรียกว่า ‘ตน’ ตนตัวที่สอง คือ ใจ

แต่เวลานี้ใจของเราไปพึ่งเอาขันธ์ห้าเป็นที่ยึด แล้วก็พึ่งกิเลส แล้วก็พึ่งโลกธรรม พึ่งปัจจัยสี่ ไปยึด ไปยึดแต่เราก็พึ่งได้อยู่ แต่เราไปยึด ให้เรามีให้เราเป็นด้วยปัญญา บริหารด้วยสติด้วยปัญญา ด้วยเหตุด้วยผล ให้จำแนกแจกแจงให้ชัดเจนเสียก่อน สมมติเราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดี

แต่ละวันเรามีความขยันหมั่นเพียร เรามีความรับผิดชอบ เรามีความเสียสละ เรามีสัจจะกับตัวเราเอง สัจจะนี่สำคัญ สำคัญทุกอย่าง สำคัญทุกอย่างเหมือนกับบ้านเรือนนั่นแหละก็มีบันได ถ้าไม่มีบันไดเราก็ขึ้นบ้านไม่ได้ ถ้าไม่มีตัวบ้านเราก็ไม่มีที่อยู่ที่อาศัย กายของเราก็เหมือนบ้าน ใจของเราก็เหมือนผู้อาศัย บารมีต่างๆ ก็เปรียบเสมือนกับบันไดขึ้นถึงตัวบ้าน

ขันติ ความอดทน ความเสียสละ ความอ่อนน้อมถ่อมตน จิตใจของเราเป็นอย่างไรบ้าง จิตใจของเรามีความแข็งกร้าวแข็งกระด้างเราก็ละความแข็งกร้าวแข็งกระด้าง จิตใจของเรามีความกังวลมีความฟุ้งซ่านเราก็รู้จักดับรู้จักอบรมใจของเรา เพราะว่าการเกิดการดับของใจ

ใจของคนเรานี่เกิดมากันตั้งแต่ยังไม่ได้เกิด คือ เขาหลง เขาหลงเกิดเป็นโน่นบ้างเป็นนี่บ้าง จนกระทั่งมาเกิดอยู่ในภพของมนุษย์นี่แหละ ถ้าเราหมั่นวิเคราะห์ดูดีๆ ตั้งแต่เป็นเด็กๆ ตั้งแต่เด็กเติบโตขึ้นมา ช่วงเป็นเด็กจะเกิดจากใจพุ่งไปก่อน ใจนี่จะไปก่อน โตขึ้นมาบ้างก็มีอาการของขันธ์ห้า ผุดขึ้นมาแล้วก็รวมกันไปกับใจ โตขึ้นมาบ้างทั้งสมองทั้งสติปัญญารวมกันไป

เรามาเจริญสติ มาสร้างส่วนผู้รู้อยู่ ส่วนสมองเข้าไปอบรมใจอยู่ในโอวาทของสติปัญญาของเราเข้าไปชี้เหตุชี้ผลจนใจคลายออกจะเห็นเป็นชิ้นเป็นส่วน อยู่กันคนละส่วน ที่ซึ่งท่านบอกว่า ‘เป็นกอง เป็นขันธ์’ วิญญาณนี่เขาเรียกว่า ‘กองวิญญาณ’ ร่างกายนี่เขาเรียกว่ากองรูป กองรูป กองนาม กองสังขารความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ ซึ่งเป็นนามธรรมมีกันหมดทุกคน

ถ้าเราเจริญสติ สร้างความรู้ตัว รู้เท่ารู้ทัน รู้จักทำความเข้าใจ รู้กันรู้แก้ กิเลสตัวไหนจะมาหลอกเราเราก็จะรู้เท่ารู้ทัน เราก็จะแก้ไขได้ทันที แต่ส่วนมากก็ปล่อยเลยตามเลย ตามอำเภอใจ ตามอำนาจของกิเลส ถ้าเราไม่ได้เจริญสติให้ต่อเนื่องเราก็จะว่าเรานี้มีสติปัญญาอยู่ แต่เป็นสติปัญญาของสมมติของโลกีย์ ประคับประคองอยู่ในระดับของสมมติ

ส่วนปัญญาธรรมเราตรงสร้างขึ้นมาจนเป็นอัตโนมัติ ปัญญาของเรามีร้อยเราก็ต้องคายออกทั้งร้อย เพราะว่าปัญญาเก่าเข้าไปดับทุกข์ไม่ได้ ดับทุกข์ได้อยู่ในระดับของสมมติ จะดับทุกข์ที่ฐานของใจตัวใจไม่ได้เลย เราต้องมาเจริญสติเข้าไปชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล ช่วงใหม่ๆ ก็อาจจะอึดอัดเพราะว่าเป็นการทวน เป็นการสวนกระแสกิเลส ถ้าใจของเราคลายออก ใจของเราก็จะตกกระแสธรรม

ใจของเรามีความเสียสละ มีความเสียสละ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความละอายเกรงกลัวต่อบาป มีความกล้าหาญ มีหิริโอตตัปปะ มีความขยันหมั่นเพียร สิ่งพวกนี้ก็จะเป็นตบะในการที่จะทำให้จิตใจของเราเบาบางจากกิเลสลงไปเรื่อยๆ

ความอยาก ความอยากเล็กๆ น้อยๆ ความเกิด ความอยาก ความคิด ความปรุง ความแต่งกิเลสเกิดขึ้นที่กาย ใจส่งเสริมหรือไม่ หรือว่าเกิดขึ้นที่ใจ สติปัญญา มีเหตุมีผล ชี้เหตุชี้ผล จนใจยอมรับความเป็นจริงได้นั่นแหละ

การพูดง่ายแต่การลงมือจริงๆ ต้องเป็นบุคคลที่ขยันหมั่นเพียรเป็นเลิศ เป็นบุคคลที่ขัดเกลากิเลสเป็นเลิศ ทำความเข้าใจ ใจที่ปราศจากกิเลสเป็นอย่างนี้นะ ใจที่ไม่เกิดส่งออกไปภายนอกเป็นลักษณะอย่างนี้นะ ใจที่เกิดกิเลสเราละได้ ละได้ระดับไหน ตั้งแต่ต้นเหตุ กลางเหตุ ปลายเหตุเราเจริญพรหมวิหารได้เต็มเปี่ยมหรือไม่ จนใจของเราอยู่ในความสะอาดความบริสุทธิ์

การได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่านทุกคนมีกันเต็มเปี่ยม แต่การลงมือนี่ต้องลงมือตั้งแต่ตื่นขึ้น ตั้งแต่รู้ตัวเมื่อไหร่รู้ใจทันที รู้กายรู้ใจทันที จะลุก จะก้าว จะเดิน กำลังสติปัญญาของเราไปใช้การใช้งานได้จนไม่มีอะไรที่จะเข้าไปแก้ไข จนอยู่ในความบริสุทธิ์ความหลุดพ้น อยู่ด้วยอำนาจแห่งบุญ ใจบริสุทธิ์ใจว่างนั่นแหละ คือวิหารธรรมของใจ ใจก็จะเป็นบุญ อยู่กับบุญอยู่ตลอดเวลา

เราพยายามทำใจให้เป็นบุญ ทำกายให้เป็นบุญ ทำวาจาให้เป็นบุญ บางคนบางท่านก็อยู่กับบุญได้อยู่แต่อยู่ไม่ได้ยาวนาน อย่างเวลาใจเราทำอะไร เราทำบุญให้ทานจิตใจมีความสุข มีความสุขทำอย่างไรเราถึงจะรักษาความสุขตรงนั้นให้ได้ตลอดทุกอิริยาบถ ยืนเดินนั่งนอน กินอยู่ขับถ่าย ใจจะเกิดกิเลส เราก็รู้จักละ ให้ เป็นผู้ให้ด้วยปัญญา ให้ด้วยสติให้ด้วยปัญญาให้ด้วยพรหมวิหาร

การปฏิบัติใจนี้เป็นของละเอียดอ่อน เป็นของละเอียดอ่อน ต้องเป็นบุคคลที่มีการสังเกต การวิเคราะห์ การสำรวจกิเลสต่างๆ ทั้งดีทั้งไม่ดี ทุกอย่างเป็นกิเลสหมดนั่นแหละ ถ้าใจเกิด แม้แต่ความเกิดของใจก็เป็นกิเลส ความเกิดของใจนั้นเป็นกิเลสละเอียดที่สุด ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด ถึงเกิดก็ขอให้เกิดอยู่ในกองบุญกองกุศล ในหลักธรรมท่านให้สติปัญญาเป็นตัวเกิด

แต่เวลานี้กำลังสติของเรามีน้อยแทบจะไม่มี กว่าจะระลึกได้ทีนี่ไม่รู้ว่าสักกี่ชั่วโมง สักกี่นาที คำว่า ‘ปัจจุบันธรรม’ ในทางธรรม คือทุกขณะลมหายใจเข้าออก ทุกขณะจิต ทำอย่างไรถึงจะรู้ทุกขณะลมหายใจเข้าออกทุกขณะจิต เราต้องสร้างความรู้ตัวจนใจคลายออกจากขันธ์ห้า กำลังสติที่เราสร้างขึ้นมานี่แหละเขาถึงจะพุ่งแรง ตามทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร อะไรผิด อะไรถูกถ้าเราไม่ตามค้นคว้ากำลังสติของเราก็จะไม่มี เขาก็จะกลับคืนสู่สภาพเดิม

ถ้าเราค้นคว้า ดูรู้ทัน เราก็รู้จักดับ รู้จักหยุด รู้จักชี้เหตุชี้ผล กำลังสติก็จะเป็นมหาสติ จากมหาสติก็จะเอาไม่อยู่ ค้นคว้าจนไม่มีอะไรเหลือให้ค้นคว้า จนดำเนินเอาสติปัญญาไปทำหน้าที่แทนได้แต่คนทั่วไปอาจจะเจริญได้บางครั้งก็นาทีบ้าง สองนาทีบ้าง แต่ไม่รู้จักเอาสติปัญญาไปใช้หรือบางครั้งก็อาจจะนานๆ ที กิเลสเขาเล่นงานหมดโดยที่ไม่รู้ตัว ก็ต้องพยายามกันนะ ไม่ว่าพระว่าโยมว่าชี

เพียงแค่ระดับสมมติ เราก็จัดระบบระเบียบของเราให้อยู่ดีมีความสุข เพราะว่าคนเราเกิดมาก็อาศัยสมมติ ใจก็อาศัยกาย กายก็อาศัยอาหาร อาศัยปัจจัยสี่ อาศัยความเป็นอยู่กับโลกธรรมอันนี้เป็นเสมือนกับบ้านกับเรือน เปรียบเสมือนกับเครื่องอยู่ในระดับของสมมติ ระดับของวิมุตติเราต้องเอาธรรม เอาพรหมวิหาร เอาความเมตตา เอาความว่าง ความบริสุทธิ์เป็นเครื่องอยู่ของใจ ซึ่งอยู่ชั้นในคืออยู่ในกายของเรา มองให้เห็นเป็นชั้นๆ แล้วก็รอบรู้ด้วยปัญญา แก้ไขด้วยปัญญา จะไปไหนมาไหนก็เป็นเรื่องของปัญญา มีความสุข สนุกอยู่กับบุญ

แต่เวลานี้กำลังสติของเรา เพียงแค่การเจริญสติก็ยังลุ่มๆ ดอนๆ เอาสติปัญญาไปใช้ไม่ได้ก็เลยไม่ได้รับอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ คือ ความบริสุทธิ์ความหลุดพ้น ก็ต้องพยายามกัน ไม่หลุดพ้นวันนี้ก็ต้องหลุดพ้นวันพรุ่งนี้ ไม่พรุ่งนี้ก็เดือนนี้เดือนหน้า ไม่หลุดพ้นจริงๆ ไปต่อเอาภพหน้า

การได้ยินได้ฟังได้อ่าน รู้จักวิธีการแนวทางแล้ว เราพยายามทำ จะลุกจะก้าวจะเดิน มีสติรู้กายเขาเรียกว่า ‘เป็นการธุดงค์’ เดินไปปุ๊บ ตากระทบรูปใจของเราปกติหรือไม่ หูกระทบเสียงใจของเราปกติหรือไม่ เราแยกรูปรสกลิ่นเสียง ออกจากใจของเรา หู ตาจมูกลิ้นกาย เขาก็เป็นทางผ่านทางผ่านของรูปรสกลิ่นเสียง

เราก็จำแนกแจกแจงดู ส่วนมากใจจะวิ่งออกไป ไปเอาเลยทีเดียว ออกไปยึด ออกไปเอา อันนั้นก็ของเราอันนี้ก็ของเรา ครอบครัวของเรา พี่น้องของเรา พ่อแม่ของเรา อันนั้นเป็นของเราอยู่ในระดับของสมมติ กายก็ของเราอยู่ในระดับของสมมติ แต่ระดับวิมุตติเราต้องรู้ด้วยปัญญาเท่านั้นถึงจะเข้าไปถึงทรัพย์ตรงนี้ได้ ก็ต้องพยายามกันนะ

อย่าพากันปล่อยวันเวลาทิ้ง เสียดายเวลา ช่วงใหม่ๆ ศึกษาใหม่ๆ เราไม่เข้าใจเท่าไหร่ก็อย่าไปท้อถอย เราเกียจคร้านเราก็พยายามเพิ่มความขยัน เราไม่มีความรับผิดชอบเราก็เพิ่มความรับผิดชอบ ทั้งวจีกรรม มโนกรรม กายกรรม เราก็ต้องพยายามศึกษาให้ละเอียดแล้วก็จะเข้าใจในเรื่องการดำเนินชีวิต เข้าใจในเรื่องของกรรม เราจะอยู่อย่างไร บริหารกายใจของเราอย่างไร ถึงจะไปถึงจุดหมายปลายทางได้

สร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยงกันสักนิดหนึ่งก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำ ทำใจให้โล่ง สมองให้โปร่ง มีความรู้สึกรับรู้อยู่ที่ปลายจมูกของเราให้ชัดเจนกันนะ

พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปศึกษาทำความเข้าใจต่อให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง