หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 75

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 75
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 75
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 75
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2562

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนแล้วก็ให้ต่อเนื่องแล้วก็ให้เชื่อมโยง นั่งตามสบายวางกายให้สบายวางใจให้สบายไม่ต้องพนมมือ วางภาระหน้าที่ทางบ้าน ทางสมมติทางบ้านเราก็วางมาแล้ว ที่นี้เรามาวาง เรามาหยุด เราวางความคิดไม่ได้เราก็มาหยุดความคิดที่เกิดจากตัวใจของเราด้วยการเจริญสติ

สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย ลองสูดลมหายใจเข้าไปลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ อย่าไปบังคับลมหายใจ การสูดลมหายใจยาวผ่อนลมหายใจยาวเหมือนกับกายของเราก็จะได้ผ่อนคลายลงไปได้เยอะ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น

ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้ากระทบปลายจมูกของเรานั่นแหละ ที่ท่านว่า ‘สติรู้กาย’ เราพยายามสร้างความรู้ตัวตรงนี้ตั้งแต่ยังไม่ตื่น ตั้งแต่ความรู้ตัว ตั้งแต่ตื่นขึ้นตั้งแต่ยังไม่ได้ลุกจากที่ การหายใจเข้า หายใจเข้าหายใจออก หายใจเข้าหายใจออก เขาเรียกว่า ‘ความสืบต่อ’ หรือว่า ‘สัมปชัญญะ’ ความรู้สึกพลั้งเผลอแล้วก็เริ่มใหม่ ความรู้สึกพลั้งเผลอแล้วก็เริ่มใหม่ เริ่มอยู่บ่อยๆ ตั้งขึ้นมาอยู่บ่อยๆ ให้เกิดความเคยชิน

ส่วนศรัทธาความเชื่อมั่น เชื่อบุญเชื่อบาปเชื่อกรรม ตรงนั้นมีกันทุกคน พากันฝักใฝ่ในการทำบุญในการให้ทานตรงนี้มีกัน แต่การเจริญสติที่จะเข้าไปสำรวจใจเข้าไปอบรมใจของเรา อาจจะมีอยู่บ้างเป็นกระท่อนกระแท่นเอาไปใช้การใช้งานไม่ได้ หรือบางทีแทบไม่มีเอาเสียเลย มีตั้งแต่ปัญญาของสมมติ ปัญญาโลกีย์ที่เกิดจากตัวใจ ใจเกิดอยู่ตลอดเวลา ขันธ์ห้ากับใจรวมกันไป ทั้งปัญญาส่วนสมองรวมกันไปทั้งก้อน

พระพุทธองค์ท่านให้เจริญสติสร้างความรู้ตัวตัวใหม่ หรือว่าเจริญสติมาสร้างผู้รู้ขึ้นมาลงที่กายของเรา ให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยงก็เพื่อที่จะเอาไปอบรมใจของเรา แต่เวลานี้กำลังสติของเรามีไม่เพียงพอเอาไปอบรมใจของเราไม่ได้ ใจเป็นธาตุรู้ เขาทั้งรู้ ทั้งเกิดทั้งหลงทั้งยึด แต่เราก็อาจจะว่าเราไม่หลง เพราะว่าเรายังเจริญสติเอาไปแยกแยะทำความเข้าใจ ชี้เหตุชี้ผลไม่ได้ เราก็ว่าเราไม่หลง ไม่หลงอยู่ระดับในของสมมติ แต่ในหลักธรรมแล้วยังหลงอยู่ เพราะว่าการเกิด เขาหลงมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิด หลงมาเกิดมาสร้างพบมนุษย์ มาสร้างขันธ์ห้าแล้วก็มายึดว่าเป็นตัวเป็นตนของเรา เราก็มองเห็นเป็นตัวเป็นตนของเราจริงๆ

แต่ในหลักธรรมแล้วไม่มีอะไร มีตั้งแต่ธาตุสี่ ขันธ์ห้า ยืมดินน้ำลมไฟมาใช้ มีหนังมาห่อหุ้มพระพุทธองค์ท่านให้เจริญสติลงเข้าไปเห็นเหตุเห็นผล อันนี้ส่วนรูปอันนี้ส่วนนาม การเกิดการดับใจที่ปกติเป็นอย่างนี้ ใจที่ไม่มีกิเลสเป็นอย่างนี้ ความเกิดของใจ แต่ละวันเขาเกิดสักกี่เที่ยว เขาเกิดสักกี่ครั้ง

สมมติต่างๆ ในสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว ปัจจัยต่างๆ ที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับสมมติ เราต้องทำความเข้าใจให้กระจ่างหมด ทำความเข้าใจจากภายใน ใจที่ปกติเป็นอย่างนี้ ใจที่ไม่มีกิเลสเป็นอย่างนี้ ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างนี้ ใจที่คลายออกจากขันธ์ห้าหรือว่าแยกรูปแยกนาม ชี้เหตุชี้ผลตามทำความเข้าใจ ใจที่ว่างจากการเกิด ว่างจากกิเลส การตามดูรู้ความคิดซึ่งเราไม่ตั้งใจคิด หรือว่าอาการของขันธ์ห้าเขาเกิดๆ ดับๆ

อนิจจังทุกขังอนัตตาในกายของเราเป็นลักษณะอย่างไร กิเลสหยาบกิเลสละเอียดเกิดขึ้นที่ใจของเราเป็นลักษณะอย่างไร เราหมั่นสังเกต หมั่นวิเคราะห์พิจารณา หมั่นใคร่ครวญ หมั่นทำความเข้าใจบ่อยๆ สติที่ต่อเนื่องเป็นอย่างนี้ การควบคุมใจเป็นอย่างนี้ เราจะใช้ตบะวิธีการอย่างไรถึงจะขัดเกลากิเลสออกจากใจของเราได้

แต่ละวันตื่นขึ้นมาเรามีความขยันหมั่นเพียรเพียงพอหรือไม่ เรามีความรับผิดชอบต่อตัวเราหรือเปล่า เรามีสัจจะ มีความจริง มีความละอาย มีความกล้าหาญ มีการขัดเกลากิเลสออกจากใจของเราได้หรือเปล่า ความรู้ตัวลักษณะของการเจริญสติ คำว่า ‘ปัจจุบันธรรม’ เรามีความเข้าใจในระดับหนึ่ง แต่เราต้องให้รู้ด้วย เห็นด้วย แยกแยะได้ด้วย ตามรู้ได้ด้วย ไม่ใช่ไปนึกเอาคิดเอาคิดเอาว่าจะเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ ไปอยู่ที่นั่นเราจะรู้ธรรม ไปอยู่ที่นี่เราจะรู้ธรรม ไปอยู่ที่โน่นคนโน้นเป็นอย่างนั้น คนนั้นเป็นอย่างนี้ อันนั้นเป็นเรื่องของคนอื่น

เรามาดูเรื่องของเรา แก้ไขตัวเราปรับปรุงตัวเรา ใจของเราอยู่ตลอดเวลา ใจที่ปราศจากกิเลสเป็นอย่างนี้ ใจที่ว่างจากความยึดมั่นถือมั่นเป็นอย่างนี้ ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างนี้ สติพลั้งเผลอได้อย่างไร ใจของเรามีความอ่อนน้อมถ่อมตน ใจของเราเข้มแข็งไม่หวั่นไหว เราพยายามหัดวิเคราะห์หัดแก้ไข

แนวทางนั้นพระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบมานาน เว้นเสียแต่ว่าพวกเราจะดำเนินให้ปรากฏขึ้นที่ใจของเราได้หรือไม่ อย่าพากันเกียจคร้านทั้งกลางวันทั้งกลางคืน หมั่นขัดเกลาหมั่นแก้ไข หมั่นปรับปรุง รู้เท่ารู้ทัน รู้กันรู้แก้ น้อมใจของเราให้อยู่ในกองบุญกองกุศล อะไรที่เป็นอกุศลก็พยายามละเสีย อะไรที่จะเป็นกุศลเราก็พยายามเจริญให้มีให้เกิดขึ้น

พยายามรอบรู้ ท่านถึงว่าให้รอบรู้วิญญาณในกายหรือว่าตัวใจของเรา รอบรู้ในกองสังขารรอบรู้ในปัจจัย รอบรู้ในโลกธรรม รอบรู้ในสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว ทุกเรื่องเป็นเรื่องของเราไม่ใช่เรื่องของคนอื่น

สมมติภายนอกเราก็ช่วยกันทำ ช่วยกันทำ ยังประโยชน์ของสมมติ เราก็พลอยได้อาศัยสมมติย่นย่อลงมา ก้อนกายของเราก็เป็นก้อนสมมติ แต่เรามายึดมาติด เรายังแยกแยะไม่ได้แล้วก็มายึดมาติด เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นกฎของไตรลักษณ์ กฎของความเป็นจริง คนเราเกิดมาเท่าไหร่ก็ตายหมด เพราะว่ามีการเกิดก็มีการตาย ไม่อยากตายก็ต้องดับการเกิด

แต่เวลานี้ทั้งเกิดทั้งหลงทั้งยึด ท่านถึงให้รีบเจริญสติเข้าไปรีบตักตวงสร้างบุญสร้างบารมีหากำไรชีวิตขณะที่กำลังกายยังแข็งแรงอยู่ กายวิเวกจากสมมติเป็นอย่างไร ใจวิเวกจากกิเลสเป็นอย่างไร ใจที่อาการของใจ ใจที่คลายออกจากความหลงเป็นอย่างไร ใจเกิดกิเลส เกิดมากเกิดน้อย ทั้งอยากทั้งไม่อยากนั่นแหละ ทั้งอยากทั้งไม่อยาก ท่านให้ละทั้งความอยากละความหวังแต่การสังเกตการวิเคราะห์ การทำความเข้าใจให้ต่อเนื่อง เราก็จะเห็น

การละกิเลสได้ เราไม่อยากจะได้ความสงบ เราก็ได้ความสงบ ใจที่ไม่มีกิเลส เราต้องการความบริสุทธิ์ เราก็ได้ความบริสุทธิ์ ถ้าการละกิเลสไม่มี ใจของเราก็โดนสมมติเข้าครอบงำ โดนขันธ์ห้าเข้าครอบงำ โดนกิเลสเข้าครอบงำ ถ้ากำลังสติไม่เข้มแข็ง แยกแยะชี้เหตุชี้ผลไม่ได้ เราก็ตกเป็นทาสของกิเลสโดยไม่รู้ตัว

เราก็ต้องพยายามกัน ทั้งพระทั้งโยมทั้งชี ทุกลมหายใจเข้าออกมีคุณค่ามากมาย อย่าไปผัดวันประกันพรุ่ง การสร้างบุญ สร้างตบะ สร้างบารมี ตั้งแต่คิด คิดดี ทำดี การกระทำของเราให้ถึงพร้อมถึงจะเกิดประโยชน์

อันนี้ก็ใกล้งาน เข้าใกล้ถึงวันเข้าพรรษา วันอาสาฬหบูชา วันที่ 16 17 มีโอกาสก็ขอเชิญพี่น้องของเรามาร่วม มาร่วมกันเวียนเทียนรำลึกนึกถึงคุณของพระพุทธองค์ รำลึกนึกถึงปัญญาของพระพุทธเจ้า ความจริงสัจธรรมนั้นท่านได้ค้นพบ แล้วก็เอามาจำแนกแจกแจงให้สัตว์โลก ก็คือพวกเรานี้แหละ ได้ประพฤติได้ปฏิบัติตามให้เข้าถึงจุดหมายปลายทางได้เร็วได้ไว ถ้าบุคคลใดมีอานิสงส์ มีตบะบารมี ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของท่านก็จะเข้าถึงทรัพย์อันยิ่งใหญ่คือความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดพ้น มองเห็นหนทางเดินไม่ต้องกลับมาเกิดกัน

พระเราชีเรา มีอะไรก็ช่วยกันทำ อะไรที่ไม่เรียบร้อย เราก็พยายามทำ ที่พักที่อาศัย ที่หลับที่นอนที่อยู่ที่กิน หมั่นสังเกต หมั่นวิเคราะห์ พระใหม่ของเราก็พยายามหัดนุ่งผ้าครองผ้า ปรับปรุงอุปนิสัยของตัวเรา เราเคยนอนตื่นสายเราก็ตื่นแต่เช้า เรามีความเกียจคร้าน เราก็ละความเกียจคร้านออกจากจิตจากใจของเรา เรามีความรับผิดชอบหรือไม่ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ความรู้ตัวของเราต่อเนื่องหรือไม่ จะลุกจะก้าวจะเดินตั้งแต่ก้าวแรก ลมหายใจเข้าออกเป็นอย่างไร เป็นธรรมชาติไหม กำลังสติของเราเข้าไปควบคุมใจได้หรือไม่

เรารู้จักวิธีการแล้วแนวทางแล้ว เราก็ไปเร่งทำความเพียร ดับความกังวลในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ออกไป ทำอย่างโน้นจะถูกหรือไม่ ทำอย่างนี้จะถูกหรือไม่ ทำไปแล้วจะเกิดอะไรจะเห็นอะไร ตัดออกดับออกให้หมด สร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยง ความรู้ตัวพลั้งเผลอเริ่มใหม่ ดูไม่ทันเริ่มไม่ เพียงแค่สร้างกำลังสติให้ได้เสียก่อน อันอื่นก็จะค่อยตามมา ตามมาเรื่อยๆ

ถ้ากำลังจะสติของเรามีเพียงพอควบคุมใจของเราได้ วิเคราะห์ใจของเราได้ จนใจของเราคลายออกจากขันธ์ห้าได้ แยกรูปแยกนามได้ เราก็จะเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ว่าอัตตาเป็นลักษณะอย่างนี้ อนัตตาเป็นลักษณะอย่างนี้ ถ้าเราตามดูตามรู้ตามเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาในขันธ์ห้า ส่วนนามธรรมเป็นอย่างนี้ ใจเกิดกิเลส มันก่อตัวอย่างนี้ เราดับตั้งแต่ต้นเหตุ เราดับไม่ได้ มันออกทางกายทางวาจาหรือไม่ ไล่เรียงลงไปเรื่อยๆ

ทำความเข้าใจศีลสมมติ ศีลวิมุตติ ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีลสังคม ศีลสมมติ ศีลวิมุตติ ศีลสังคม อธิจิต อธิศีล อธิวินัย ไล่ลงไปถึงใจ ฐานของการก่อตัว ใจที่ปราศจากกิเลสเป็นอย่างนี้ ใจที่ปกติเป็นอย่างนี้ ใจที่คลายจากขันธ์ห้าเป็นอย่างนี้ ชี้เหตุชี้ผลให้ได้ จนใจมองเห็นความเป็นจริง จนเกิดความเบื่อหน่าย

ถ้าเราฝึกหัดปฏิบัติโดยไม่รู้ความหมายของหลักของการปฏิบัติ เข้าไม่ถึงความหมาย เราก็แค่ได้ปฏิบัติอยู่ในระดับของบุญกุศล อยู่ในคุณงามความดี ไม่ใช่ว่าไม่ดี มันจะส่งผลถึงวันข้างหน้าให้เดินปัญญา ละกิเลส กิเลสหยาบกิเลสละเอียดซึ่งมีอยู่ในกายในใจของเราหมด ยิ่งฝึกไปเท่าไหร่ยิ่งเห็นเยอะ ยิ่งเห็นเยอะเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำความเข้าใจ ไม่ใช่ว่าฝึกไปแล้วก็มีแต่เรื่องของคนอื่น คนโน้นเป็นอย่างนั้น คนนั้นเป็นอย่างนี้ กิเลสคนนั้นเป็นอย่างนั้น กิเลสคนนั้นเป็นอย่างนี้ ที่จริงแล้วก็มีตั้งแต่กิเลสของเรานั่นแหละ

ใจอะไรที่จะเป็นบุญกุศล อะไรที่ทำให้ใจสะอาดบริสุทธิ์ก็รีบขยันหมั่นเพียร ละความเกียจคร้านสร้างความขยัน สร้างความรับผิดชอบ มีความกล้าหาญอาจหาญ ละกิเลส ละความกลัว ไม่เสียดายอาลัยอาวรณ์กับกิเลสต่างๆ ก็ต้องพยายามกันนะ ทั้งพระใหม่ พระเก่า เราพยายามเจริญสติ เป็นที่พึ่งตัวเรา เจริญสติอบรมใจของเรา เจริญสติเป็นเพื่อนใจของเรา จนเป็นอัตโนมัติในการดู ในการรู้ อยู่คนเดียวเราก็รู้ใจของเรา อยู่หลายคนเราก็รู้ใจของเรา

กายของเราเข้าไปร่วมสมมติก็ให้ใจรับรู้ไม่อติไม่เพ่งโทษ เรามาแก้ไขเรา มาปรับปรุงตัวเรา ให้รีบตักตวงเพื่อที่จะเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ จนกว่าจะหมดลมหายใจ เรารีบตักตวง รีบสร้างสะสมกำไรชีวิตขณะที่กำลังกายยังแข็งแรงอยู่
หมดกำลังกายแล้วก็อีกสักหน่อยก็ต้องได้พลัดพรากจากกัน ไม่ได้พลัดพรากจากกันตอนเป็นก็ต้องได้พลัดพรากจากกันตอนตาย เพราะเป็นกฏของไตรลักษณ์ กฎของความเป็นจริง ก็ต้องพยายามกัน

เอาล่ะ วันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระกัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง