หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 54

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 54
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 54
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 54
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2562

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนแล้วก็ให้ต่อเนื่อง ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมา พวกเราได้สร้างความรู้ตัวแล้วหรือยัง ถ้ายังก็เริ่ม พยายามเริ่มอยู่บ่อยๆ ความรู้สึกพลั้งเผลอก็เริ่มใหม่ การฝึกหัดปฏิบัติขัดเกลากิเลสออกจากจิตจากใจของเรา

คนที่จะรู้แจ้งเห็นจริงได้ก็เกิดจากการเจริญภาวนา รู้จักลักษณะของสติ ระลึกรู้ตัวอยู่ปัจจุบันอย่างเช่น รู้ลมหายใจเข้าออก รู้สัมผัสของลมหายใจเข้าหายใจออก อันนี้เป็นแค่เพียงรู้เรื่องของกาย แล้วก็รู้ให้ต่อเนื่องเขาเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’ รู้จักเอาสติที่เราสร้างขึ้นมาเอาไปใช้ เอาไปอบรมใจ แต่เวลานี้ใจยังอบรมไม่ได้ เพราะว่าใจยังเกิด ยังวิ่ง ยังหลง

เราต้องพยายามควบคุมใจให้ได้เสียก่อน ควบคุมใจ อยู่กับลมหายใจ หรือว่าอยู่คำบริกรรมกำลังสติต่อเนื่องขึ้น ใจของเราก็จะช้าลง จนกว่าจะรู้ทันลักษณะของความคิดที่เราไม่ตั้งใจคิดหรือว่าอาการของขันธ์ห้าซึ่งเรียกว่า ‘กองของสัญญา’ นั่นแหละ ความคิดผุดขึ้นมาใจจะเคลื่อนเข้าไปรวม

ถ้าเราสังเกตเห็นชั่วขณะเขาเคลื่อนเข้าไปรวม ใจก็จะดีดออกจากความคิดตรงนั้น ซึ่งภาษาธรรมท่านเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ ใจก็จะดีด เราไม่จำเป็นต้องไปจับเขาแยกแยะเลย ถ้ารู้ทันปุ๊บเหมือนกับขโมยจะเข้าบ้าน พอเจ้าของบ้านรู้ทันมันก็จะรีบเผ่นเลย อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าความคิดผุดขึ้นมาใจจะเคลื่อนเข้าไปรวมกับความคิดเป็นสิ่งเดียวกันเลยทีเดียว ถ้าเราสังเกตขณะเขาเคลื่อนเข้าไปรวมปุ๊บใจจะหงาย หงายจากของที่คว่ำขึ้นมา ใจก็จะว่าง กายก็จะเบา เราก็จะเห็นการเกิดการดับของขันธ์ห้าที่ท่านเรียกว่า ‘อนิจจัง’ ความไม่เที่ยงของขันธ์ห้า มันเกิดขึ้น แล้วก็ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป

เวลาดับไปแล้ว ความว่างเปล่าปรากฏขึ้นที่ท่านเรียกว่า ‘อัตตา อนัตตา’ ความว่างเปล่า ที่เห็นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ใจของเราก็ไปรวมจนเป็นตัวเดียวกัน ปรุงแต่งไปด้วยกัน เราก็เลยไปมั่นหมายเอาตรงนั้น ว่าเราคิด เราทำ ตัวตนของเรา อัตตาของเรา เราอาจจะรู้ อาจจะเห็นถูกต้องอยู่ในระดับของสมมติ แต่ในหลักธรรมแล้ว ใจยังเกิด ยังเข้าไปหลงไปร่วมนั่นแหละ คือยังมีเห็นผิดละเอียด จุดละเอียดที่สุด

ถ้าใจคลายออก ใจหงายขึ้นมา ใจก็จะว่าง กายก็จะเบา ใจเกิดกิเลสแล้วก็มาละกิเลสที่ใจ ใจปรุงแต่งส่งออกไปภายนอกเราก็มาละมาดับ เราก็จะมารู้เรื่องหลักของอริยสัจ ที่ว่าใจส่งออกไปภายนอกเป็นลักษณะอย่างนี้นะที่ท่านเรียกว่า ‘สมุทัย’ สาเหตุแห่งทุกข์ การเข้าไปดับ การมีความเพียร การสร้างตบะสร้างบารมี เข้าไปวิเคราะห์ เข้าไปศึกษา แยกแยะ ตามดูให้ใจแยกแยะ มองเห็นตามความเป็นจริง

ท่านถึงบอกให้เชื่อ ถ้ายังแยกไม่ได้คลายไม่ได้ก็อยู่ในสัมมาทิฏฐิ อยู่ในระดับของสมมติคือมีความเห็นถูก เชื่อมั่นในความในบุญในบาปในกรรม ในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า แต่ปัญญายังไม่กระจ่าง ถ้าแยกแยะได้ ตามดูได้ทุกเรื่อง ปัญญาวิปัสสนา ความรู้แจ้งเห็นจริงก็ปรากฏขึ้น ตามเห็นการเกิด การดับ การแยก การคลาย เห็นจุดละกิเลส เห็นลักษณะ รู้ลักษณะของใจ

เวลาใจก่อตัวใจ เกิดอาการของใจจะเป็นอย่างไร เวลาสัมผัสตากระทบรูป หูกระทบเสียงต่างๆ กายทำหน้าที่อย่างไร วิญญาณทำหน้าที่อย่างไร ท่านถึงบอกว่าให้รอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในดวงวิญญาณ รอบรู้ในโลกธรรมในสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว เป็นเรื่องของเราทุกคน ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องของคนใดคนหนึ่ง เป็นเรื่องของตัวเรา ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาที่จะต้องศึกษาชีวิตของเรา แล้วก็รู้จักดำเนิน รู้จักบริหารด้วยเหตุด้วยผลด้วยสติด้วยปัญญา ไม่ใช่ว่าให้กิเลสมาบงการ

คนเราก็อยากจะพ้นทุกข์ อยากจะดับทุกข์ อยากจะเข้าถึงสุข เราต้องมาศึกษากันตามแนวทางของพระพุทธองค์ ความอยากนั่นแหละ ความอยากที่เกิดจากตัวใจ หรือว่าเกิดจากขันธ์ห้ามันปิดกั้นตัวใจเอาไว้หมด ความเกิด ความเกิดของตัวใจ ตัวใจนี้ก็แปลก เรียกว่า ‘วิญญาณในกายของเรา’ นี้ก็แปลก เขาก็หาเหตุหาผลมาหลอกล่อ มาปิดกั้นตัวเองเหมือนกัน เพราะว่าเขาหลงมานาน เขาเกิดมานาน ขันธ์ห้าก็เกิดมานาน เขาเป็นเพื่อนกัน


เราต้องมาเจริญสติเข้าไปจับแยกจับคลาย เข้าไปชี้เหตุชี้ผล จนใจยอมรับความเป็นจริงได้นั่นแหละเขาถึงจะปล่อยจะวางได้ ถ้าแยกแยะไม่ได้ก็ยากที่จะปล่อยวางได้ ถึงแยกได้แล้วถ้าไม่ตามทำความเข้าใจให้กระจ่างทุกอย่าง ก็ยากที่จะละได้อีก

กิเลสเกิดขึ้นที่ใจอีก กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด ทั้งอยากทั้งไม่อยาก ทั้งการเกิด ถ้าเราดับความเกิดได้ใจก็ไม่เกิด แต่กายเนื้อก็ยังอยู่ คือร่างกาย ส่วนก้อนรูปก็ยังอยู่ ท่านพยายามมองดูรู้ให้เห็นเป็นชิ้นเป็นอันแต่อยู่ในภาพรวม คืออยู่ในร่างกายของ ถ้าเรามองเห็นเหตุเห็นผล ชี้เหตุชี้ผลได้ เราก็จะบริหารกายบริหารใจของเราไปในทิศทางที่ถูกต้อง มีความสุขอยู่ที่ไหนก็มีความสุข ยืนเดินนั่งนอน กินอยู่ขับถ่าย

อย่าไปทิ้งบุญ ในการทำบุญ ในการให้ทาน ทำมากทำน้อยมีโอกาสก็ให้รีบทำ ถ้าหมดลมหายใจก็มีแต่เรื่องบุญกับเรื่องบาป บุคคลที่ละกิเลสได้หมดจด ดับความเกิดได้เท่านั้นแหละถึงจะไม่ได้กลับมาเกิดให้เป็นทุกข์อีก

กายของคนเราเนี่ยเป็นรังแห่งโรค เป็นรังแห่งโรคเป็นก้อนโรค เราพยายามพิจารณาให้กระจ่างขณะที่ยังมีกำลังอยู่ พิจารณาให้จบ ละให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น บริหารชีวิตของเราด้วยปัญญา ไม่ให้กิเลสมาบริหาร ไม่ให้กรรมมาบริหาร เราบริหารกายบริหารกรรมคือก้อนกายของเรานี่แหละ จนกว่าจะหมดลมหายใจ หมดลมหายใจแล้วก็มองเห็นหนทางเดิน ว่าจะได้กลับมาเกิด ไม่กลับมาเกิดกัน

หลวงพ่อก็พูดเรื่องเก่าของเก่า ก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าพวกท่านฉุกใจเอาไปพิจารณาไปทำตามก็จะเข้าถึง อย่างเวลาอย่างเช่น ความอยากความหิวเป็นอย่างไร กายหิว ใจเกิดความอยากเราละความอยากได้หรือไม่ ตากระทบรูป หูกระทบเสียง สักแต่ว่าดู สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าฟัง เป็นลักษณะอย่างไร การตามดู กองไหนเป็นกองวิญญาณ กองไหนเป็นกองรูป กองไหนเป็นของสังขาร กองไหนเป็นของสัญญาก็ต้องดู รู้ให้ชัดเจน

ส่วนศรัทธาในการทำบุญอันนี้มีเป็นพื้นฐานกันทุกคน ส่วนการเจริญสติอาจจะได้บ้างไม่ได้บ้างเหมือนกับเราขึ้นบนบ้านเราก็ต้องอาศัยราวบันได อาศัยลูกบันได ขึ้นบนตัวบ้านเราก็ขึ้นได้แค่ 2-3 ขั้น แล้วก็ถอยลงมา 2-3 ขั้นแล้วก็ถอยลงมาไม่ยอมขึ้นถึงตัวเรือน ขัดเกลากิเลส ปัดกวาดตัวเรือนให้สะอาด เข้าไปนั่งอยู่บนฝั่ง จะไปจะมาก็เป็นเรื่องของปัญญา ก็ต้องพยายามกันทุกคน ไม่พระว่าโยมว่าชี ทุกอย่าง

อีกสักหน่อยก็ต้องได้พลัดพรากจากกันหมด ไม่ได้พลัดพรากจากการตอนเป็นก็ต้องได้พลัดพรากจากการตอนตาย เพราะเป็นกฎของไตรลักษณ์ พวกเรามีโอกาสได้สร้างบุญร่วมกันถึงได้มาอยู่ร่วมกัน ขณะที่มาอยู่ร่วมกันก็ให้มีความสมัครสามัคคี มีความกลมเกลียว อย่าไปสร้างเหตุที่จะนำความแตกร้าวมาให้ เราพยายามละสิ่งที่จะนำแตกร้าวมาให้ นำความสุข นำความเจริญเข้ามา ช่วยกันทำ มีความสามัคคี มีความเสียสละ มีความอดทน อยู่ร่วมกัน ถึงเวลาก็ต้องได้พลัดพรากจากกัน พยายามมีอะไรก็ให้ช่วยกันทำ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เราก็จะมีความสุข

เอาล่ะ วันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง