หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 10 วันที่ 4 ตุลาคม 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 10 วันที่ 4 ตุลาคม 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 10 วันที่ 4 ตุลาคม 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 1 (ลำดับที่ 1-20)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 10
วันที่ 4 ตุลาคม 2557


เจริญธรรมญาติโยมทุกคนทุกท่าน ขอให้ญาติโยมจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน แล้วก็ให้ต่อเนื่อง นั่งตามสบายนะ วางกายให้สบาย วางใจให้สบาย หลวงพ่อก็เป็นแค่เพียงแค่พูดแค่ย้ำแค่เตือนพวกท่าน


ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมา เราได้สร้างความรู้ตัว รู้จักลักษณะของสติ รู้ตัวอยู่ปัจจุบันแล้วหรือยัง แล้วก็รู้ให้ต่อเนื่องแล้วหรือยัง ลึกลงไปถ้าความรู้ตัวของเราต่อเนื่อง เรารู้ใจของเราแล้วหรือยัง รู้การเกิดการดับของใจ รู้ความคิด รู้อาการของขันธ์ห้า ที่ผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจ แต่เวลานี้กำลังสติของเรามีไม่เพียงพอ แต่อานิสงส์บุญบารมีนั้นมีกันทุกคน


แต่การเจริญสติเข้าไปวิเคราะห์ เห็นการเกิดการดับของใจ ถ้ากำลังสติของเรามีความเข้มแข็ง แล้วก็มีความต่อเนื่องที่เพียงพอ สักวันนึงวิบากกรรมมันคลาย ใจก็จะคลายออกจากความคิด หรือว่าคลายออกจากขันธ์ห้าซึ่งอยู่ในกายของเรานี่แหละ แยกออก คลายออก เขาเรียกว่า ‘หงาย’ เขาเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ ใจก็จะว่าง กายก็จะเบา


เราก็จะได้ตามเห็นความเกิดความดับ เขาเรียกว่าเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาส่วนนามธรรมของขันธ์ห้า ส่วนกายนี้ก็ก้อนรูป เราหัดสังเกต หัดวิเคราะห์บ่อยๆ วิบากกรรมมันคลายเมื่อไหร่ ความสมดุลมีเมื่อไหร่ เขาก็จะเปิดเผยตัวออกมาให้เห็น ยิ่งอยากจะเห็นเท่าไหร่ ยิ่งอยากจะได้เท่าไหร่ ก็ยิ่งไม่เห็นหรอก


การปฏิบัติธรรม การหาธรรม ตัวใจไปแสวงหา ยิ่งห่างไกล เราต้องมาสร้างความรู้ตัวเข้าไปชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล ตามทำความเข้าใจให้รู้ทุกเรื่อง ใจเขาก็จะยอมศิโรราบ ยอมรับความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่เที่ยง แม้แต่การเกิด การเกิดของใจ เพียงแค่การเกิดนั้นก็หลงนะ ในหลักธรรม หลง หลงเกิด


เราต้องคลายใจออกจากความคิด ซึ่งเรียกว่าคลายความหลงในขันธ์ห้าเสียก่อน เขาหลงมาแล้ว เขาถึงมาเกิด มาเกิดมาสร้างขันธ์ห้า เขาอาศัยอยู่ในกายนี้ เขายังไปเที่ยวต่ออีก เที่ยวต่อด้วยความทะเยอทะยานอยาก บางทีก็มีความโลภ ความโกรธ ความอิจฉา ริษยา สารพัดอย่าง พวกมลทิน พวกนิวรณ์ต่างๆ เป็นเพื่อนผสมโรงกันไปหมด


นอกจากบุคคลที่มีกำลังสติที่เร็วไว แล้วก็มีความเพียร แล้วก็มีบารมี มีสัจจะ มีความจริงใจต่อตัวเราเอง มีความเสียสละ มีความรับผิดชอบ มีการฝักใฝ่ มีการสนใจ ละความเกียจคร้าน สร้างความขยัน สร้างความรับผิดชอบ แจกแจงออกให้เห็น ให้รู้ให้ชัดเจน ถึงจะเข้าใจในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ เพราะว่าความจริงนั้นมีอยู่


แต่ส่วนมากก็เข้าใจอยู่ในระดับของสมมติ ทำบุญให้ทานอยู่ในระดับของสมมติ มีความรับผิดชอบ อยู่ในระดับของสมมติ แต่ก็ยังหลงอยู่ ถ้ายังคลายใจไม่ออก ตามความคิด บางทีใจสงบอยู่ แต่ก็เป็นใจที่คว่ำอยู่ ใจที่ยังไม่ได้หงาย ใจที่ยังไม่ได้คลายความคิด บางทีก็อาจจะเกิดปิติบ้าง เกิดสุขบ้าง


แต่เราต้องคลายออก คลายออก ทำความเข้าใจแล้วคลายออก แล้วค่อยละออก ไม่ใช่ไปเก็บกด ให้รู้แจ้งเห็นจริงทุกอย่าง ว่าใจที่ปราศจากกิเลสเป็นอย่างไร ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างไร ขันธ์ห้ามาปรุงแต่งใจได้อย่างไร ที่ท่านบอกว่าเป็นกอง เป็นขันธ์ มีอยู่ในกายของเราหมด


เป็นเรื่องของทุกคนที่จะต้องศึกษา ไม่ใช่ว่าไปศึกษาธรรมไม่รู้ธรรม ปฏิบัติธรรมไม่รู้ธรรม มันก็รู้อยู่ในภาพรวม มันก็หลงอยู่ในภาพรวม แต่อาจจะหลงอยู่ในคุณงามความดี ไม่ใช่ว่าเราไม่ให้สร้างคุณงามความดี ยิ่งสนุกสร้าง สร้างความเกียจคร้าน เพิ่มความขยันหมั่นเพียร สนุกทำ ทำโดยที่ใจมีความสุข ใจที่สะอาดบริสุทธิ์ สติปัญญาพากายทำ ใจรับรู้ อะไรผิดพลาดรีบแก้ไข อะไรผิดพลาดรีบแก้ไข


ไม่ว่าพระ ว่าโยม ว่าชี ขยันหมั่นเพียร ประโยชน์ก็จะเกิดขึ้นกับตัวของเราเอง อย่าไปปล่อยเวลาทิ้ง ถ้าเกียจคร้านแล้วหมดเลย เป็นพระก็ไม่ดี เป็นชีก็ไม่ดี เป็นโยมก็ไม่ดี ถ้าเกียจคร้านเข้าครอบงำ ถ้าความเห็นแก่ตัวเข้าครอบงำ จงแก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเราอยู่ตลอดเวลา จนเป็นอัตโนมัติ


เพียงแค่เรื่องความอยากกับความหิว ก็ขาดการสังเกต ขาดการวิเคราะห์ กายของเราหิว ใจจะเกิดความอยากได้เร็วได้ไว ยิ่งอดอาหารสักมื้อ สองมื้อ สามมื้อ ลองดูสิ กายนี่หิว ใจนี่จะปรุงแต่งได้เร็วได้ไว ความอยาก ความหิว ความกลัว สารพัดอย่าง แต่เวลานี้เขาก็ยังกล้าหาญด้วยอำนาจของกิเลส ถ้ามาคลายออก ทำความเข้าใจใหม่ ละออกให้มันหมด จนถึงความสะอาดความบริสุทธิ์ดั้งเดิมของใจ ดับความเกิด ช่วงนั้นแหละ เหมือนกับเขาไม่มีพลังอะไรเลย ฉลาดของกิเลสเต็มร้อย คลายออกทั้งร้อย ก็เหลือที่ศูนย์


ยอมโง่เสียก่อนค่อยฉลาดใหม่ ฉลาดด้วยสติด้วยปัญญา จนเต็มเปี่ยม จนเต็มรอบ จนเอาไปใช้ได้ตลอดเวลา กำลังสติปัญญาของเราเร็วไวแหลมคม เข้มแข็ง เด็ดขาด แก้ไขตัวเอง ปรับปรุงตัวเองอยู่ ก็จะปรากฏขึ้นที่ใจของเรา ให้รู้เห็นตามความเป็นจริง แล้วก็แก้ไข กิเลสตัวไหนยังเหลืออยู่ เราก็พยายามละ พยายามขัดเกลา พิจารณาให้ออก บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น


เราอยู่ในสถานะอย่างไร ทำหน้าที่ของเรา เป็นโน่นเป็นนี่ เป็นพี่เป็นน้อง เป็นสามีภรรยา เป็นครูบาอาจารย์ อันนี้ก็เป็นแค่เพียงสมมติ เป็นพ่อเป็นแม่ในนามสมมติ แต่เราก็ต้องเคารพสมมติ ทำหน้าที่ของสมมติ ถ้าไม่เคารพสมมตินี่วุ่นวาย


สมมติในกายของเรา เรายังแยกไม่ได้ กายของเรานี้แหละก้อนสมมติ เราต้องแจงให้ออก จนกว่าเขาจะหมดลมหายใจนั่นแหละ ตราบใดที่ใจยังเกิดต่อก็ต้องไปหาที่ใหม่ เกิดใหม่ เราพยายามคลาย ชี้เหตุชี้ผล ดับความเกิดตั้งแต่ต้นเหตุ ดับความเกิดที่ใจ ตั้งแต่กายยังไม่แตกไม่ดับ เพราะว่าความจริงมีอยู่


หลวงพ่อก็เห็นอยู่อย่างนี้ ดำเนินมาอย่างนี้ตั้งร่วม 30 กว่าปี สมัยก่อนนี้เห็น เห็นตั้งแต่บวชเพียงแค่ได้ 18 วันนะ พอบวชปลงผมบวชปุ๊บ สติมันสั่งเลยว่าเราต้องหาเครื่องอยู่ให้เจอ ถ้าไม่มีเครื่องอยู่ การบวชเป็นพระจะลำบาก ก็เริ่มทำ เจริญสติ เจริญสติให้ต่อเนื่อง 17 - 18 วัน


ช่วงบ่ายๆ อยู่กับกองไฟเลย อยู่กับกองไฟเลย วันนั้นก็เป็นวันงานของบุญบั้งไฟของชาวบ้าน หลวงพ่อก็อยู่กับกองไฟ นั่งดูไปดูมา กายก็เหงื่อก็แตกออก มีความคิดตัวหนึ่งมันผุดขึ้นมา โดยที่ไม่ตั้งใจคิด สติไปเหลือบไปสังเกตเห็น ขณะมันผุดขึ้นมานี่ ใจกระโดดเคลื่อนไปรวมปั๊บนะ ไปเห็นตรงนั่นแหละ ใจก็ดีดออก หงายออก มีคำๆ หนึ่ง มันร้องอ๋อ ขึ้นมาทันทีเลย “อ๋อ” ว่างั้น เราหลงแค่ความคิดแค่นี้เองหรือ ทั้งที่ใจของเราก็ว่างมาตั้งแต่เป็นเด็ก เรามาหลงแค่ความคิดแค่นั้นเองหรือ เพียงแค่นั่นแหละ เพียงแค่แยกได้เท่านั้นแหละ เห็นดีดได้เท่านั้นแหละ วางทุกสิ่งทุกอย่าง เดินดู ว่าเขาเกิดเขาดับยังไง ใจเกิดยังไง ไปมายังไง ตั้งแต่วันนั้น จนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ ไม่ปล่อยโอกาสทิ้ง


สติของเราก็มีมาตั้งแต่เป็นเด็ก แต่เราไม่รู้ว่า อันนี้คือสตินะ อันนี้คือใจนะ มีกันทุกคน เราก็ต้องพยายามทำความเข้าใจว่า ลักษณะของใจนี้เป็นอย่างนี้ ความคิดเกิดเป็นอย่างนี้ อาการหน้าตาอาการเป็นอย่างนี้ นิวรณ์ครอบงำเป็นอย่างนี้ สติพลั้งเผลอเป็นอย่างนี้ เราตามทำความเข้าใจให้ละเอียดเถอะ เราก็จะเห็นตามความเป็นจริง เราจะไม่พลาดโอกาสเลย ไม่พลาดโอกาสปล่อยเวลาทิ้ง จนหมดความสงสัย หมดอะไรที่จะค้นคว้าได้นั่นแหละ สติปัญญาถึงจะหยุดได้


วิบากกรรมภายนอกเราก็แก้ไข เหตุจากภายนอกเราก็แก้ไขข้างนอก ดับข้างในด้วย ดับข้างนอกด้วย แก้ไขด้วย ช่วงใหม่ๆ นี้เพียงแค่เรื่องของความอยากนี้ เราก็ยังไม่ทำความเข้าใจ พอรู้อย่างนั้นปุ๊บ ตามทำความเข้าใจ มองเห็นหลวงปู่หลวงตาที่อายุเยอะๆ 70 80 ที่ท่านบำเพ็ญมานาน บารมีของท่านก็คงจะเยอะ ทำให้หลวงพ่อต้อง แต่ก่อนอยู่ในบ้าน ต้องรีบเข้ามาป่าช้าองค์เดียว มาละความกลัว มาละความกลัว 2 ทุ่มออกมาป่าช้าตรงนี้แหละ ตี 5 กลับเข้าไปไม่มีใครรู้หรอก อยู่ตั้งนาน


กลับไปกลับมา มาละความกลัว มาอยู่ตามหลุมศพ มานอนอยู่ตามหลุมศพ นอนก็กลัว นั่งก็กลัว พยายามฝืน ใหม่ๆ ก็ถือไฟฉาย เห็นอะไร ปรู๊ดปร๊าดๆ เนี่ยฉายไฟดู มาอยู่คนเดียว จนกระทั่งเขาเอาศพมาฝังในป่า ก็มาปักกลดอยู่กับหลุมศพหลุมนั้นทันที ละความกลัว เพียงแค่ความกลัวนะ กลับไปกลับมา มองเห็นหลวงปู่หลวงตาว่าท่านบำเพ็ญมานาน อานิสงส์ของท่านคงจะเยอะ ก็เลยเข้าบำเพ็ญในป่าช้าทันที


แก้ไขตัวเอง ปรับปรุงตัวเอง ละความกลัว ละความอยาก บางทีก็อดอาหารเรื่องดูความอยากนี่ 2 วันบ้าง 3 วันบ้าง ไล่ไปเป็นอาทิตย์ อยู่ได้ตั้ง 20 กว่าวัน ดื่มได้แต่น้ำ เดินอยู่บนหลังเขา เหมือนกับจะเหาะ ดูว่าความอยาก ความหิวเป็นอย่างไร ความหิวเกิดขึ้นที่กาย ใจปรุงแต่งหรือไม่


นอนตามดูใจเนี่ย 9 วัน 9 คืนไม่นอน ถ้าสติจะพลั้งเผลอ ลุกขึ้นมาอาบน้ำ เดิน ปัดกวาดศาลา ถูศาลาจนเป็นมันเงาหมด ละนิวรณ์ละความเกียจคร้าน ตามดูตามทำความเข้าใจ มันเกิดเมื่อไหร่เราดับเมื่อนั้น แก้ไขเมื่อนั้น มันมีทุกคน ขอให้เราแจงให้ออก บอกให้ได้ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรควรละ อะไรควรเจริญ ดำเนินให้ถูกต้อง


สติ ปัญญา สมาธิ ใหม่ๆ เราต้องสร้าง สติไม่มีเราก็ต้องสร้างขึ้นมา สมาธิไม่มี เราก็พยายามควบคุม สมาธิด้วยการข่มเอาไว้ ด้วยการบังคับเอาไว้ รู้เห็นตามความเป็นจริง ละกิเลสออกให้มันหมดจด ทรัพย์ภายใน สร้างทรัพย์ภายใน อริยทรัพย์ภายใน ความว่าง ความบริสุทธิ์ เขาเรียกว่า ‘ทรัพย์ภายใน’ มองเห็นชัดเจนว่าเราจะดำเนินจิตวิญญาณของเรายังไง ไปยังไงมายังไง


พอเห็นตรงนั้นปุ๊บนี่ ตามทำความเข้าใจ อ่านหนังสือเล่มไหนก็เข้าใจ บารมี ความขยันหมั่นเพียร ความเสียสละ ความอดทน การฝึกฝนตนเอง สารพัดอย่าง เป็นสะพาน เป็นทางเดิน จนกระทั่งหน่วงเหนี่ยวเอาความว่างนั่นเป็นอารมณ์ กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด บุคคลที่เคยให้ทานมาก่อน มีศรัทธาเคยให้ทานมาก่อน นี้จะปล่อยวางได้เร็วได้ไว เพราะว่าใจมันคลายออก เอาออกมีแต่ให้ มีแต่จะเอาออก


บางที ดึกๆ ดื่นๆ ไปเดินอยู่ตรงทางรถไฟ หนาวๆ ไปดูใจมันโล่งมันโปร่ง ว่าเราว่าง ได้รับความว่างว่าเพราะสาเหตุอะไร เพราะว่าการให้ทานของเรา ทานจนไม่เหลืออยู่ที่ใจของเรา ทีนี้จะเอา จะมี จะเป็น จะเป็นเรื่องของสติปัญญา บริหารสมมติให้เกิดประโยชน์ จะมีมากมีน้อย เราก็บริหารด้วยปัญญา เราอย่าพากันเกียจคร้าน ไม่ว่าพระ ว่าโยม ว่าชี ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน อยู่ ขับถ่าย จนเป็นอัตโนมัติ รู้ทรัพย์ภายในแล้ว เข้าใจทรัพย์ภายใน แล้วก็สร้างให้มันเต็มเปี่ยม


สมัยก่อนไม่อยากจะคบค้าสมาคมกับใครทั้งสิ้น เพราะว่าทรัพย์ภายใจของเรายังไม่เต็ม จนกระทั่งใจของเราอิ่ม ใจของเราเต็มหมด ถึงได้มายังสมมติให้เกิดประโยชน์ ช่วยเหลืออนุเคราะห์เกื้อกูลพี่น้องของเรา พวกเรายังจะพากันมากันเกียจคร้านอยู่ สมัยก่อนไม่เป็นอย่างนี้หรอก แม้แต่ถ้วยชามยังอาศัยขุดเอาตามหลุมศพเลย มาใส่กับข้าวกับปลา น้ำปูน้ำปลา สารพัดอย่าง ที่พักที่อาศัย ที่หลับที่นอน ห้องส้วมห้องน้ำ ก็ยังให้พวกท่านได้อยู่ดีมีความสุข ก็ยังพากันเกียจคร้านอยู่ก็ช่วยเหลือไม่ได้


ก็จงพากันขยันหมั่นเพียร บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น อะไรคือส่วนรูปอะไรคือส่วนนาม วิญญาณในกายของเราเป็นอย่างไร สมมติโลกธรรมแปดที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว เราจะทำหน้าที่อย่างไร ความเห็นแก่ตัว ละความเห็นแก่ตัว สติของเราพลั้งเผลอได้ยังไง เพียงแค่สติพวกเรายังทำความเข้าใจไม่กระจ่างเลย


สติรู้ตัว ความระลึกรู้ แล้วก็รู้ให้ต่อเนื่อง แล้วก็รู้จักเอาไปใช้ เอาไปวิเคราะห์ ชี้เหตุชี้ผล เห็นนะ เห็นเสียก่อน ตามดูเสียก่อน ให้รู้เรื่องเสียก่อน แล้วค่อย ๆ ละ แล้วก็มาละกิเลสที่ใจอีก เราละที่นั้น ละที่นี้ มันก็จะสั้นลงๆ ๆ การก่อตัวของใจ เราดับตั้งแต่ก่อตัวนั่นแหละ จะถึงตัววิญญาณทันทีเลย


เขาก็จะเริ่มเผยฉายแววออกมาให้เรารู้ให้เราเห็น เราก็รู้จักรักษา การสร้างกำลังใจ การสร้างกำลังใจเป็นอย่างนี้ เอาสมถะสร้างกำลัง หนุนกำลังสติปัญญาไปวิเคราะห์ อะไรเข้ามากระทบ หวั่นไหวไหม มันเกิดกิเลสไหม ทีนั้นทีนี้ จนอะไรเข้ามากระทบมันก็ไม่หวั่นไหว แม้แต่ฟ้าผ่าฟ้าร้องฟ้าต่าง ๆ ใจมันก็หนักแน่นไม่หวั่นไหว แม้แต่กายจะแตกจะดับ ถ้าเราเข้าถึง รู้แล้วเห็นแล้ว ให้ปรากฏขึ้นที่ใจของเราแล้ว หมดความสงสัยหมดความลังเล จงพยายาม


เพราะว่าความเป็นกลาง เครื่องตัดสิน คือไม่เข้าข้างตนเอง ไม่เข้าข้างคนอื่น ถ้าใจคลายออกจากขันธ์ห้าแล้ว กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด มันผุดขึ้นมาเมื่อไหร่ ตามดูนิวรณธรรมต่างๆ ที่เป็นเครื่องกางกั้นจิตของเราเป็นยังไง ใจของเรามีความกังวล มีความฟุ้งซ่าน หรือว่ากำลังสติของเรามันพลั้งเผลอได้ยังไง มันจะหลุด มันจะขาดได้ยังไง


ความอยากเกิดขึ้นมาได้ยังไง เพียงแค่ความอยากมันก็เกิด หลวงพ่อถึงว่า ดับความอยากเสียตั้งแต่ตัวน้อยๆ นู่น ความเกิดนั่นน่ะ ตัวใหญ่ๆ มันจะเกิดได้ยังไง มีตั้งแต่จะวิ่งหาธรรม ใจมันวิ่งหาตัวเอง มันจะไปเจอได้ยังไง เราต้องเจริญสติเข้าไปอบรม เข้าไปใหม่ๆ ก็เป็นการฝึนเป็นการทวนกระแส ขอให้พลิก ทำความเข้าใจ จนเป็นปกติในการดู ในการรู้ ในการละ เราจะไปปล่อยปละละเลยไม่ได้เลย ต้องอาศัยกาล อาศัยเวลา อาศัยความเพียรที่ถูกต้อง


ไม่ใช่ว่าจะเอาตั้งแต่ธรรม แต่มีแต่ความเกียจคร้าน ความเสียสละก็ไม่มี ความขยันหมั่นเพียรก็ไม่มี การเจริญสติก็ไม่มี วาจาก็ไม่รู้จักรักษา กายก็ไม่รู้จักรักษา ใจก็ยิ่งยากเข้าไปอีก มันจะไปได้ยังไง เราจงพยายามทำของยากให้เป็นของง่าย จากของง่ายก็ให้มันง่ายยิ่งขึ้นไปอีก ฝักใฝ่สนใจ มีความพอใจ มีการสังเกต มีการวิเคราะห์ มีความสุข


ใหม่ๆ เราก็ต้องมีการวางภาระหน้าที่ทางโลก ทางสมมติ ให้คลี่คลายลงให้ได้เสียก่อน แล้วก็มาศึกษาเรื่องใจ ถ้าเราเข้าใจทั้งโลก ทั้งธรรม ทั้งสมมติเขาก็อยู่ด้วยกัน กายกับใจก็อยู่ด้วยกัน เหมือนกับเชือกมันมีห้าเกลียว เกลียวไหนเป็นเกลียวไหน มันอยู่ด้วยกันแต่เป็นเส้นเดียว


กายของเราก็มีวิญญาณเข้ามาครอง แต่จะรู้ด้วยปัญญาที่เกิดจากการเจริญภาวนาเท่านั้นแหละ ที่จะรู้ ไม่ใช่ว่าไปนึกเอาไปคิดเอา ว่าเป็นโน่นเป็นนี่ รู้อย่างนั้น รู้อย่างนี้ ผิดหมดนั่นน่ะแหละ การพูดการจา การอ่านหนังสือ อ่านตำรา ก็เป็นแค่เพียงแผนที่ชี้แนะแนวทางให้ เป็นแค่เพียงอุบาย ถ้าเราทำความเข้าใจให้รู้แจ้งเห็นจริง หมดความสงสัยละออกให้หมด ไม่ต้องไปถามใคร สตินั่นแหละคอยดูใจ แก้ไขใจ จนไม่มีอะไรที่จะแก้ไข รอจนตั้งแต่วันจะหมดลมหายใจเท่านั้นแหละ


เอาล่ะวันนี้ขอเจริญธรรมกันเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจกันเอา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง