หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 29 วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 29 วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 29 วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 2 (ลำดับที่ 21-40)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 29
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557


ขอให้ญาติโยมทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเราได้สร้างความรู้ตัวแล้วหรือยัง ถ้ายังก็เริ่มเสียนะ อย่าไปปล่อยโอกาสทิ้ง อย่าไปปล่อยเวลาทิ้ง สร้างความระลึกรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเรา นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย ฟังไปด้วย น้อมสําเหนียกไปด้วย


หลวงพ่อเพียงแค่พูด แค่ย้ำ แค่เตือน ให้พวกท่านไปทำ ไปสร้างความรู้ตัว สำรวจกายของเรา สำรวจใจของเรา ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ ลักษณะของการเจริญสติเป็นลักษณะอย่างไร เพียงแค่เรื่องการหายใจพวกเราก็ขาดการสร้างความรู้ตัวที่ชำนาญ บางครั้งก็รู้อยู่ อาจจะรู้อยู่เป็นบางช่วง บางครั้งบางคราว ทำอย่างไรเราถึงจะรู้ให้ต่อเนื่อง เรารู้จักวิธีแล้วเราก็พยายามไปทำ


ส่วนศรัทธา ความเสียสละต่างๆ นั้นมีกันอยู่ การฝักใฝ่การสนใจนั้นมีกันอยู่ แต่ไม่รู้ลักษณะของใจ ลักษณะของใจที่ปกติเป็นอย่างไร ใจที่ไม่เกิด ไม่ส่งไปภายนอกเป็นอย่างไร ใจที่เกิดกิเลสเป็นอย่างไร กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด เป็นลักษณะหน้าตาอาการเป็นอย่างไร ตรงนี้แหละเราไปนึกเอาไปคิดเอา เขายังรวมกันอยู่ เราต้องมาสร้างความรู้ตัว แล้วก็ให้ต่อเนื่อง ให้ชำนาญ แล้วก็ขัดเกลากิเลส หมั่นพร่ำสอนใจของเรา จนกว่าจะรู้เท่าทัน จนกว่าจะรู้ต้นเหตุ เห็น แยกแยะ ตามทำความเข้าใจได้ หมดความสงสัยหมดความลังเลได้


อยู่คนเดียวเราก็ดูเรา แก้ไขเรา ปรับปรุงตัวเรา อยู่หลายคนเราก็ดูเรา แก้ไขเรา ปรับปรุงตัวเรา หมั่นพร่ำสอนตัวเองอยู่ตลอดเวลา บุคคลเช่นนี้ถึงจะถึงจุดหมายปลายทาง ไม่ใช่ว่าไปวิ่งหาธรรมที่นู่น วิ่งหาธรรมที่นี่ แต่การเจริญสติ ลักษณะของสติ ยังไม่รู้จัก ลักษณะของใจ การควบคุมใจ การอบรมใจ หมั่นพร่ำสอนใจ ส่วนมากมีตั้งแต่ใจกับอาการของขันธ์ห้า เขาส่งไปภายนอก อาจจะถูกต้องอยู่ระดับของสมมติ


แต่ในหลักธรรมแล้ว เราต้องมาเจริญสติ เข้าไปแยกแยะ เข้าไปสังเกตชี้เหตุชี้ผล รู้เท่าทันกิเลสหยาบ กิเลสละเอียด ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ทุกเรื่องในชีวิต จะลุก จะก้าว จะเดิน ใจต้องนิ่งรับรู้ จะรับประทานข้าวปลาอาหาร กายหิวหรือใจเกิดความอยาก กายของเราทำหน้าที่อย่างไร ทวารทั้งหกทำหน้าที่อย่างไร ภาษาธรรมภาษาโลกเป็นอย่างไร สักแต่ว่าดู สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าฟังเป็นอย่างไร เราต้องทำความเข้าใจให้ละเอียดทุกเรื่อง ส่วนมากเราก็ทำความเข้าใจได้เป็นบางเรื่อง ละได้เป็นบางอย่าง มันก็เลยไม่ต่อเนื่อง


เราต้องพยายามทำให้ต่อเนื่อง จนกำลังสติของเราเป็นมหาสติ จากมหาสติกลายเป็นมหาปัญญา จากมหาปัญญากลายเป็นปัญญารอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในดวงใจ รอบรู้ในโลกธรรม เอาไปใช้กับชีวิตได้ตลอดเวลา ไม่ต้องฝึกอะไรเลย ฝึกตั้งแต่ใหม่ๆ เคี่ยวเข็ญตั้งแต่ใหม่ๆ ชี้เหตุชี้ผลให้ใจยอมรับความเป็นจริง ถึงจุดหมายปลายทาง สติ ปัญญา สมาธิ เขาจะรักษาเราเอง ถ้าใจไม่มีกิเลส ใจไม่เกิด ใจไม่มีความยึดมั่นถือมั่น เขาก็จะว่าง ในความว่างนั่นแหละ เขาเรียกว่า ‘วิหารธรรม’ เครื่องอยู่ของใจ


พยายามทำ ไม่ว่าพระ ว่าโยม ว่าชี พยายามเดินให้ถึงจุดหมาย ขยันหมั่นเพียร อย่าไปเกียจคร้าน เพียงแค่ระดับของสมมติ เราก็ขยันหมั่นเพียร รู้จักช่วยเหลือตัวเอง แก้ไขตัวเองให้ได้ทุกเรื่อง ที่พักที่อาศัย ที่หลับที่นอน ที่อยู่ที่กิน เราก็พยายามช่วยกันดู


อะไรที่จะเป็นประโยชน์ อะไรที่จะเป็นบุญ เราก็รีบทำ อย่าไปงอมืองอเท้า เอาการทำงานนั่นแหละเป็นการปฏิบัติ ละความเกียจคร้าน สร้างความขยันหมั่นเพียร ทุกเรื่องตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ที่พักของเราเป็นอย่างไร ความเป็นอยู่ของเราเป็นอย่างไร เราเป็นบุคคลที่พร้อมหรือไม่ เรามีความเสียสละเพียงพอหรือไม่ เรามีความรับผิดชอบเต็มเปี่ยมหรือเปล่า ก็ต้องช่วยกันแก้ไข


ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอดเวลา บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น ถ้าสอนตัวเองไม่ได้ ใช้ตัวเองไม่เป็น อย่าไปเที่ยวให้คนอื่นเขาสอน เสียเวลาเปล่า เสียดายเวลา เราต้องแก้ไขตัวเราจนล้นออกไปสู่หมู่ สู่คณะ สู่สังคม ไปอยู่ที่ไหนถึงจะมีความสุข


สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้ชัดเจน แล้วก็ให้ต่อเนื่อง อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวขณะนี้ก็ให้รู้ว่าลมหายใจวิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน อันนี้เพียงแค่เพียงผิวเผินเท่านั้นเอง


พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปศึกษาทำความเข้าใจต่อกันนะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง