หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 83 วันที่ 16 สิงหาคม 2563

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 83 วันที่ 16 สิงหาคม 2563
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 83 วันที่ 16 สิงหาคม 2563
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 83
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 16 สิงหาคม 2563

ขอให้ญาติโยมทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของตัวเราให้ชัดเจน ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเราได้สร้างความรู้ตัวแล้วหรือยัง เรารู้จักลักษณะของการเจริญสติแล้วหรือยัง

เพียงแค่การเจริญสติ รู้จักคำว่า 'ปัจจุบัน' การหายใจเข้าหายใจออก พวกเราได้วิเคราะห์ได้สังเกตกันแล้วหรือยัง ส่วนมากจะไปอยากได้แต่ผล อยากเห็นตั้งแต่ผล อยากจะได้ธรรมอยากจะรู้ธรรม หารู้ไม่ว่าความอยากนั่นแหละ คือกิเลสอันละเอียดที่สุด ปิดกั้นตัวเองเอาไว้ แต่เป็นความอยากในฝ่ายกุศล ความเกิดของใจนั่นแหละ

เราต้องสร้างผู้รู้ สร้างความรู้ตัว ถ้าความรู้สึกไม่ชัดเจน เราก็พยายามหายใจเข้าไปลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมาลึกๆ อย่าบังคับ เวลาเราหายใจเข้าหายใจออก ลมกระทบหรือว่าสัมผัสปลายจมูกของเรา นั่นแหละคือความรู้กาย

ความรู้ตัว สร้างให้เยอะๆ สร้างให้ต่อเนื่อง ถึงจะเป็นสติ แล้วก็กำลังสติก็จะมากขึ้น ส่วนมากก็มีตั้งแต่ความคิดที่เกิดจากใจ เกิดจากขันธ์ห้าซึ่งมีอยู่ในกายของเรา เขาเกิดเกิดดับๆ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วก็เขายังหลงเกิด หลงรวมกับขันธ์ห้า โดยที่เราไม่รู้เรื่อง เพราะว่ากำลังสติของเรามีไม่เพียงพอ

ศรัทธานั้นมีอยู่ การสร้างบุญบารมีนั้นมีอยู่ แต่การเจริญสติที่จะเข้าไปชี้เหตุชี้ผล ตรงนี้มันกระโดดข้ามไปหมดกระโดดข้ามไปหมด ไม่ลงที่ต้นเหตุ เจริญสติก็ยังไม่ต่อเนื่อง แต่ก็มีรู้จักการควบคุมใจ ควบคุมอารมณ์ได้เป็นบางเรื่องบางครั้งบางคราว เราต้องให้รู้ให้เห็นทุกขณะทุกเวลา จนเป็นอัตโนมัติในการดูในการรู้ คนเราปล่อยปละละวางต้นเหตุตรงนี้ จะไปไขว่คว้าเอาตั้งแต่ผล ก็เลยปิดกั้นตัวเองเอาไว้หมด

เราต้องรู้ ต้องค้นคว้าให้เห็นความเป็นจริงในกายของเรา ถ้าเรารู้เห็นตรงนี้ จะเจริญสติให้ต่อเนื่องตรงนี้ จนเห็นการเกิดของใจเข้าไปรวมกับขันธ์ห้า แยกแยะได้ ใจว่าง หงายขึ้นมา รับรู้ได้

สติปัญญา สติของเราก็ตามดูขันธ์ห้าว่าเรื่องอะไร เราก็จะเห็นความเกิดความดับ ให้รู้ด้วย เห็นด้วย ตามดูได้ด้วยเพราะว่าทุกอย่างล้วนแต่เกิดจากเหตุ ถ้าเราไม่เห็นตรงนี้ มันก็ปิดกั้นตัวเองเอาไว้หมด ก็ได้แค่สร้างคุณงามความดีสร้างประโยชน์อยู่ระดับของสมมติ ที่จะเข้าไปดับทุกข์ได้จริงๆ ต้องแยกให้ได้ ตามดูให้ได้ แล้วก็ละกิเลสให้ได้ปรับปรุงสภาพใจของเราให้ได้

ใจของเรามีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความกตัญญูกตเวที มีความเสียสละ หรือว่ามีแต่ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ'ความเกียจคร้าน' นี่ร้ายกาจมากนะ เข้าครอบงำทั้งกายทั้งใจ แถมใจก็เพิ่มกิเลสให้กับตัวเองอีก ความทะเยอทะยานอยาก ทั้งอยากทั้งไม่อยากนั่นแหละ

เรื่องใจนี่เป็นเรื่องสลับซับซ้อน เป็นเรื่องละเอียด ถ้าเราไม่เข้าใจก็ยิ่งห่างไกล ยิ่งคิด ยิ่งหา ยิ่งห่างไกล ปัญญาทางโลกศึกษาเท่าไหร่มันก็ยิ่งห่างไกลตัว ปัญญาทางธรรมยิ่งศึกษาเท่าไหร่ก็ยิ่งใกล้ตัว ลดลงไปจนถึงตัวใจ ทีนี้จะเอา จะมี จะเป็น ก็หนุนกำลังสติปัญญาเข้าไปทำหน้าที่แทน ช่วงใหม่ๆ นี่จะลำบาก ทั้งฝืนกระแสกิเลส ทั้งทวนกระแสกิเลส เราต้องมาสร้างบารมี สร้างบุญ

ความเกียจคร้านมี เราก็พยายามละความเกียจคร้านออกจากตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นพระเป็นโยมเป็นชี ถ้าความเกียจคร้านเข้าครอบงำแล้วแย่เลย ความเสียสละเรามีหรือไม่ ความอดทนอดกลั้นเรามีหรือไม่ ทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนแต่เป็นตบะบารมีของเรา ก็ต้องพยายามกัน

อย่าพากันไปเสียดาย อาลัยอาวรณ์ กับกิเลสเล็กๆ น้อยๆ เราต้องพยายามแก้ไขเราให้ได้ ใช้เราให้เป็น ขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ ไม่ใช่ว่าจะมีตั้งแต่เห็นแก่ตัว เห็นแต่ความเกียจคร้าน ครั้งหนึ่งวันหนึ่ง 2 ครั้ง 3 ครั้ง ก็มากขึ้นๆๆ จนเป็นดินพอกหางหมู

ตื่นขึ้นมาปุ๊บความเกียจคร้านเข้าครอบงำแล้ว พอตื่นขึ้นมาก็ยัง กิเลสมันก็บอกว่าอีกหน่อยนะ ทุกเรื่องนะ ทุกเรื่องเลยอีกหน่อย... นั่นก็เล่นงานเราเสียจนน่วม เราก็เลยมองข้าม ผัดวันประกันพรุ่ง เดี๋ยวก็หนาวนัก เดี๋ยวก็ร้อนนัก มันก็เลยติดเป็นนิสัย เวลาฉันข้าวเสร็จปุ๊บ นิวรณ์มันก็เล่นงานปั๊บ รีบวิ่งไปนอนเสียแล้วทานข้าวทานปลาบางทีถ้วยชามยังไม่ได้ล้างเลยก็มี นั่นแหละเราต้องหมั่นขัดเกลาตัวเอง เอากิเลสออกจากตัวเองของเราให้ได้ ไม่ใช่ให้กิเลสมันเล่นงานตลอดเวลา ยิ่งเป็นนักบวชแล้วก็ยิ่งแย่ถ้าขี้เกียจคร้าน

เราต้องเป็นผู้ขยันผู้หมั่นเพียร วิเคราะห์ทั้งสมมติวิมุตติ ถึงจะไม่ถึงจุดหมาย เราก็พยายามแก้ไขตัวเราให้ได้ กิเลสมันเล่นงานอยู่ตลอดเวลา โดยหารู้ไม่ว่า เราโดนเล่นงานอยู่ตลอดเวลา ถ้าเป็นพระก็ยากที่จะเข้าถึงจุดหมาย ถ้าเป็นชีก็ยากที่จะเข้าถึงจุดหมาย ยิ่งความเป็นอยู่สะดวกสบายเท่าไหร่ ก็ยิ่งห่างไกล ติดสบายแล้วก็หลง เราต้องพยายามทำความเข้าใจกับชีวิตของเราให้รอบ

อันนี้เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล หลวงพ่อก็เพียงแค่บอกแค่กล่าว ไม่ต้องไปกลัวว่าคนอื่นจะได้ดี เราชนะตัวเราแล้ว เราชนะหมด เพียงแค่สมมติเราก็ยังทำกันไม่ได้ เรื่องจิตใจล่ะ มันจะไปถึงได้ยังไง

ต้องเป็นบุคคลที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีสัจจะมีความหนักแน่น หาความจริงในกายของเราให้เจอ ความจริงนั้นมีอยู่แต่เวลานี้โดนกิเลสมันหลอกอยู่ ความละเอียด ความเกิด ท่านถึงบอกให้สร้างสะสมความเสียสละ ละความเกียจคร้านออกไปให้มันหมด เพียงแค่เล็กๆ น้อยๆนั่นแหละ แต่เราขาดการพิจารณาดู ทุกคนมองเห็นเป็นกลุ่มเป็นก้อน แต่พระพุทธองค์มองเห็นมีแต่ความว่างเปล่า แต่สมมติก็ยังมีอยู่ เราก็อาศัยสมมติ ก้อนนี้อยู่ ถึงเวลาแล้วเมื่อหมดลมหายใจนั่นแหละถึงจะได้ทิ้งจากสมมติก้อนนี้จริงๆ

แต่เราต้องแยกแยะด้วยปัญญา รู้ด้วยปัญญา ปล่อยวางด้วยปัญญา อยู่ด้วยปัญญา บริหารสมมติให้เกิดประโยชน์ คนทั่วไปเพียงแค่สมมติก็ยังไม่เต็มเปี่ยม ยังไม่ทำให้เต็มรอบ ส่วนวิมุตติก็ยิ่งห่างไกล

การละ การดับ การแก้ไข การพิจารณา มีตั้งแต่สร้างสะสมความเกิด ความเกิดของขันธ์ห้า ความเกิดของใจ โดนกิเลสมันเล่นงานอยู่ตลอดเวลา นั่นแหละ ไม่มีอะไรมากหรอก ก็มีอยู่ในกายของเรานี้แล้วก็ยัง ชี้แนะเหตุผลให้มันถูกต้อง ตัวอื่นก็จะตามมาเอง

กองรูป กองนาม กองความคิด กองอารมณ์ต่างๆ ใจเกิดกิเลสได้อย่างไร กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด มันเกิดตรงไหนเกิดขึ้นที่กาย ใจส่งเสริมหรือไม่ หรือเกิดขึ้นที่ใจ เหตุจากภายนอกทำให้เกิด หรือเกิดจากภายใน เพียงแค่สมมติเราก็ทำหน้าที่ของเรา ขยันหมั่นเพียร

ในชีวิตของเรา มีให้ได้ เป็นให้ได้ ถ้าเรามีครอบครัว พรหมวิหาร ความเสียสละของเราเป็นอย่างไร ลูกหลานของเราเป็นอย่างไร เราพาประพฤติปฏิบัติพาทำ ลูกหลานเขาก็ทำตามเราเท่านั้นแหละ เราพาทำบุญให้ทาน ลูกหลานก็พาทำบุญให้ทาน ติดเป็นนิสัย

ทีนี้การเจริญสติ ลักษณะของสติตั้งแต่ตื่นขึ้นมา รู้ใจเป็นยังไง รู้กายเป็นยังไง เจริญสติไม่รู้จักสติ โดยบางทีก็มีอยู่บ้างเป็นบางช่วง เป็นบางช่วง บางทีใจเกิดความโกรธก็รู้จักควบคุมอยู่ ควบคุมได้นิดหน่อยก็ทิ้งไป ไม่สานต่อให้ต่อเนื่องเอาไปใช้การใช้งาน

ใจของเราแข็งกระด้าง เราแก้ไขได้ไหม การพูดการจา ก่อนที่จะพูด ก่อนที่จะคิดอีก มันเกิดยังไง อะไรควรพูดหรือไม่ควรพูด อะไรควรคิดหรือไม่ควรคิด เพียงแค่วาจาก็ยังไม่รู้จักรักษา ไอ้เรื่องใจล่ะ มันจะเข้าถึงได้ยังไง

ทุกคนก็อยากจะรู้ธรรม ตัวใจนั่นแหละตัวธรรม ความเกิดของใจนั่นแหละคือความหลง ปิดกั้นตัวเขาเอาไว้ ความโกรธความโลภความทะเยอทะยานอยาก

ความคิดของเรานั่นแหละ แต่ละวันมันคิดกี่เรื่อง ตื่นขึ้นมา มันไปแล้วสักกี่ครั้ง เราค่อยไล่เรียงลงไปเรื่อยๆ ไล่เรียงลงไปเรื่อยๆ แล้วก็รู้จักจัดการกับความคิดของตัวเรา จนไม่เกิดนั่นแหละ จนหนุนกำลังสติปัญญาไปเกิดแทน มันจะกลับกันทันที สมมติวิมุตติ ถ้าแยกได้คลายได้ วิมุตติก็ผุดขึ้นกลางใจของเรา หงายขึ้นมา แต่สมมติก็ยังอยู่ กายก็ยังอยู่ หูตาจมูกลิ้น เขาก็ทำหน้าที่ของเขาอยู่ ทุกเรื่องเลย ทุกเรื่อง ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ตั้งแต่ก่อนที่จะลุก ตัวไหนเป็นตัวสั่ง พากายไป ส่วนมากก็ใจพุ่งไปก่อน ขันธ์ห้ากับใจรวมกันไปก่อน หรือรวมกันไปทั้งคลื่นสมอง หรือว่าส่วนสติที่เราสร้างขึ้นมาไปทั้งก้อน นั่นแหละเขาหลงอยู่ทั้งก้อน แต่อาจจะหลงอยู่ในการสร้างคุณงามความดี หลงอยู่ในการสร้างกุศลสร้างบุญอันนี้ก็เป็นสิ่งที่ดีไม่ใช่ว่าไม่ดี

ถ้าจิตใจที่มีมลทินฝ่ายอกุศลล่ะ คนนู้นก็ไม่ดี คนนี้ก็ไม่ดี มากขึ้นๆ ตัวเรานั่นแหละไม่ดี ถึงคิดไม่ดี ถ้าตัวเราใจเราดีแล้วใครจะมาด่ามาว่าก็ยกมือสาธุ นั่นแหละอาจารย์สอบอารมณ์เราเป็นอย่างดี มีสติคอยตรวจสอบใจของเรา อยู่คนเดียวก็ตรวจสอบใจของเรา เป็นอาจารย์ สร้างอาจารย์มาสอนใจของเรา อันนี้ส่วนกาย อันนี้ส่วนรูป อันนี้ส่วนนาม ทุกสิ่งก็ล้วนแต่เป็นอาจารย์ มีสติคอยตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา

เราพลั้งเผลอเราก็เริ่มใหม่ พลั้งเผลอเราก็เริ่มใหม่ ยิ่งใจคลายออกจากขันธ์ห้าได้เมื่อไหร่ยิ่งสนุก กิเลสตัวไหนจะมาหลอกเรา กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด มันเข้ามาได้ยังไง สติจะพลั้งเผลอได้ยังไง ถ้าแพ้แล้วเริ่มใหม่ น้อยใจให้กับตัวเองแล้วแก้ไขใหม่ เก็บรายละเอียดให้ได้ ส่วนมากได้ทำบุญให้ทานอยู่ในระดับของสมมติ ก็เป็นสิ่งที่ดี

ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ต้องให้มันถึงจุดหมาย เข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า มีความเป็นกลาง มีเครื่องตัดสินภายใน การพูดง่าย แต่การกระทำแล้วมันยาก ต้องพยายามทำให้มีให้เกิดขึ้นมา ใจของคนเรานี้สอนได้ ไม่ใช่ว่าสอนไม่ได้ ส่วนมากก็มีตั้งแต่พุ่งออกจากใจ จากความคิด คิดก็รู้ ทำก็รู้

พอพูดเรื่องนี้แล้วจะเกิดความเบื่อหน่ายเพราะว่าเรายังไม่เข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้วไปอ่านหนังสือเล่มไหนก็จะเข้าใจ ยิ่ง‘ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์’ หรือว่าหนังสือที่เกี่ยวกับธรรม ถ้าเรามีความเป็นกลางเป็นเครื่องตัดสิน ว่าอะไรถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เราอาจจะมีความถูกต้องในระดับของสมมติ แต่ยังดับทุกข์ไม่ได้

ทำไมมันถึงเกิดอยู่ตลอดเวลา ความเกิดนั่นแหละปิดกั้นเอาไว้ ความเกิดนั่นแหละคือความทุกข์ ใจไม่ว่างจากกิเลส ใจไม่ว่างจากขันธ์ห้า ใจมีแต่ความทะเยอทะยานอยากหาธรรม นั่นก็เพราะความเกิดนั่นแหละปิดกั้นเอาไว้ แต่คนเราไม่ตายก็ต้องเกิด ต้องคิด แต่ให้คิดด้วยปัญญา คิดด้วยสติ ใจเป็นประธาน ว่างอยู่ในความเป็นกลาง รับรู้อยู่

อันนี้หลวงพ่อพูดสำหรับคนที่มีความขยันหมั่นเพียรจริงๆ มีการใฝ่จริงๆ ที่จะขึ้นสู่ที่สูงได้ ถ้าไม่ฝักใฝ่ ไม่สนใจ ก็ได้ทำบุญให้ทาน เป็นเข้าพกเข้าห่อติดตามตัวเราไป เราไม่เข้าถึงวันนี้ พรุ่งนี้ เดือนนี้เดือนหน้า อานิสงส์ผลบุญที่เราสร้างมาก็จะไปต่อเอาภพหน้า ไปในทางที่ดี ก็ต้องพยายามกันนะ

เอาละวันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กันพากันไปสร้างสานต่อ ทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง