หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 69 วันที่ 28 กรกฎาคม 2563

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 69 วันที่ 28 กรกฎาคม 2563
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 69 วันที่ 28 กรกฎาคม 2563
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 69
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2563

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกของตัวเราให้ชัดเจน เเล้วก็พยายามฝึกให้เกิดความเคยชิน หายใจเข้าด้วยความรู้สึกรับรู้อยู่ หายใจออกด้วยความรู้สึกรับรู้อยู่ ทุกขณะลมหายใจเข้าหายใจออกซึ่งท่านเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม แล้วก็ให้ต่อเนื่อง จนกระทั่งเอาไปใช้ได้ จนกระทั่งรู้เท่าทันการเกิดของใจ

ใจส่งออกไปภายนอกได้อย่างไร การเกิดของขันธ์ห้า ความคิดที่เราไม่ตั้งใจผุดขึ้นมา ใจเคลื่อนเข้าไปร่วมได้อย่างไรถ้าสังเกต ขันธ์ก็จะแยกออกจากกัน แล้วก็จะมองเห็นความเกิด ความดับ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งเป็นส่วนนามธรรม เห็นความเกิดความดับเขาเกิดอย่างไร เป็นกุศลหรือว่าอกุศล พยายามฝึกให้เกิดความเคยชิน เห็นความคิดของเรานั่นแหละซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรม เขาเกิดขึ้นตั้งอยู่ ดับไป

ความไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงทุกอย่างลงที่อนัตตา ลงที่ความว่างเปล่าหมด แต่เวลานี้ กิเลสต่างๆ มาครอบงำเอาไว้ กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด ทั้งความอยาก ทั้งความทะเยอทะยานอยาก ทั้งยินดียินร้าย ความคิดทุกชนิดนั่นแหละ

กายของเราก็เหมือนกัน กายของเรานี้ก็ เมื่อถึงเวลาเขาก็จะลงไตรรักษ์ คือความตาย กลับคืนสู่สภาพเดิม คือ ดิน น้ำลม ไฟ เราอาจจะได้ฟังกันทุกวันๆ ในสิ่งที่หลวงพ่อเล่าให้ฟัง แต่พวกท่านไม่ไปทำให้มันต่อเนื่อง แล้วก็ไม่รู้จักเอาไปใช้ รู้ไม่ทันการเกิดของใจ เราใช้สมถะเข้าไปดับ อยู่กับลมหายใจบ้าง อยู่กับการเดินบ้าง แล้วแต่ความถนัดของตัวเราฝึกจนอบรมใจของเราได้ ใจของเราอยู่ในโอวาทของสติปัญญาของเราได้

จะทำอะไร ใจเกิดความยินดี ยินร้าย ผลักไส หรือดึงเข้ามาหรือไม่ ไม่ใช่ว่าปฏิบัติธรรมไม่รู้เรื่องธรรม เเล้วก็ถ้าเราแยกได้ เห็นได้ ทำความเข้าใจได้ เราก็จะมองเห็นหนทางทันที พอมองเห็นหนทาง เราก็อบรมใจของเราอีก แต่ละวัน ก่อนที่จะคิดก่อนที่จะพูด ทั้งความอยาก ทั้งความหวัง เขาก่อตัวอย่างไร เกิดอย่างไร จนอยู่ในโอวาทของสติปัญญาของเราเเล้วก็หนุนกำลังสติปัญญาไปใช้ทุกเรื่องเลยในชีวิต ไม่ใช่ว่าจะไปทำกระท่อนกระแท่น มันก็ได้แค่กระท่อนกระแท่นบางทีก็รู้บ้างไม่รู้บ้าง

ความเกิดคือความหลงอันละเอียดที่สุด เราทำความเข้าใจแยกแยะขันธ์ห้าได้เขาเรียกว่า ‘สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก’ เพียงแค่เริ่มต้น เพียงแค่เริ่มต้นถ้าเราไม่ตามทำความเข้าใจให้ใจรับรู้ เราก็จะไม่เข้าใจในภาษาธรรมภาษาโลกเพราะว่าเราขัดเกลากิเลสออกไม่หมด ดับความเกิดไม่ได้ เราก็ต้องพยายามทำให้ได้ต่อเนื่อง ให้ต่อเนื่อง ถึงไม่ต่อเนื่องก็พยายามทำความเข้าใจ เพียงแค่เรื่องการหายใจเข้าหายใจออก ให้เกิดความเคยชิน ให้เป็นธรรมชาติ

ใจของเราเกิดความโลภ เราก็พยายามละความโลภ ใจเกิดความโกรธ เราก็พยายามละความโกรธด้วยการให้อภัยอโหสิกรรม มองโลกในทางที่ดี คิดดี อะไรที่จะเป็นบุญ เป็นกุศลเราก็รีบทำ ไม่ปล่อยวันเวลาทิ้ง อะไรที่จะเป็นกุศลเราก็พยายามรีบดับ รีบละ จนมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมดา

การพูดง่าย แต่การลงมือจริงๆ มันยาก แต่ละวันๆ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา พรหมวิหารของเรามีไหม ความเมตตาของเรามีไหมความอ่อนน้อมถ่อมตน สัจจะ ความกตัญญู สิ่งพวกนี้ก็ล้วนแต่เป็นบารมี บารมีส่งผลให้ใจไปถึงจุดหมายปลายทางกันอย่าไปทิ้งเด็ดขาด ทำบุญให้ทาน ทำมาก ทำน้อย ก็เป็นอานิสงส์ของเรา เห็นคนอื่นทำเราก็พลอยอนุโมทนาสาธุด้วยใจของเราจะเกิดอกุศล

ตั้งแต่การเริ่มเกิด เริ่มคิด เราก็พยายามรีบดับ ดับที่นั่นที่นี่ เขาก็เหือดแห้งไป เหือดแห้งไป ปฏิบัติศึกษาธรรมก็คือศึกษาใจของเรานั้นแหละ ศึกษากายของเรานั่นแหละ ไม่ว่าจะอยู่ในอริยาบทไหน ยืน เดิน นั่ง นอน กิน อยู่ ขับถ่าย การมาสมาทานศีลเราก็ต้องตรวจดู ใจของเราเป็นอย่างไร ความปกติของใจนั่นแหละคือศีล ศีลภายนอกก็เพื่อบังคับสมมติ ให้เขาเรียกว่าศีลสังคม ศีลวิมุตติ ศีลสมมติ ถ้าเราจัดการที่ใจของเราได้ เราก็จับต้นขั้วของศีลได้ นั้นแหละเราก็ดูใจปกติ ใจก็จะเป็นศีลตลอดเวลา ระดับในกาย ระดับวาจา ระดับใจ มันก็ควบคุมไปได้หมดทุกอย่าง

แต่เราปล่อยปละละเลย เพียงแค่ความคิดนาทีสองนาที ไม่รู้ไปตั้งกี่เรื่อง แล้วก็หลงด้วย ยึดด้วย อาจจะถูกอยู่ระดับของสมมติ แต่ในหลักธรรมแล้วใจต้องแยก ต้องคลาย เพียงแค่แยกคลายนั้นก็เพียงแค่เริ่มต้น เหมือนกับเราขึ้นบันไดเราก็อาศัยบันไดขั้นแรกจนถึงขั้นสุดท้าย แล้วก็ขึ้นถึงตัวเรือน ในตัวเรือนของเรานั้นเราก็ต้องปัดกวาดทำความสะอาดอีกถ้ากำลังสติของเราไม่เข้มข้นก็ยากที่จะเข้าใจตรงนี้ ก็ยากที่จะรู้ที่จะเห็น เห็นความเกิด ความดับ รู้เรื่องอัตตา อนัตตา รู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในกายของเรา ซึ่งมีกันทุกคน จะมีมาก มีน้อยจะคิดมาก คิดน้อย ขอให้เราดูต้นเหตุ ทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนเกิดแต่เหตุ เกิดเหตุแล้วก็มีผลมาอย่างนี้

ร่างกายของคนเราเนี่ยแหละคือสนามรบอย่างดี ก็เป็นร่างกายของเราอยู่ระดับสมมติ เราก็ดูแลอาศัยเขาตรงนี้ไปจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง ถึงจุดหมายปลายทางแล้วกายของเราก็ยังอยู่ คือเราดับความเกิดได้ กายเนื้อแตกดับต่อไป กายเนื้อแตกดับ (ใจก็) การเกิดไม่มี อยู่เข้าสู่กับความบริสุทธิ์ อย่างน้อยๆ ก็ให้อยู่ในกองบุญเอาไว้ อยู่ในกองกุศลเอาไว้ เพราะว่าทุกคน เกิดมาก็เพื่อที่จะให้ถึงบรรลุเป้าหมาย บางคนก็พลาดไป บางคนก็ถึงได้เร็ว ได้ไว ก็ต้องพยายามกัน

ทำความเข้าใจกับชีวิตของเราให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น ไม่ว่าจะฝึกที่ไหน เราไม่เข้าใจมันก็ได้แค่ฝึก เจริญสติมันก็ได้แค่เจริญ ไม่รู้จักเอาไปใช้ เราต้องเอาไปใช้ชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล ปรับสภาพใจของเราให้ได้

กายของเรานี่ก็เป็นกฎของไตรรักษ์ กฎของความเป็นจริง ถึงเวลาก็ไป วันนี้ก็มาเอาไปแล้ว หนึ่งโรงหรือสองโรงตั้งแต่เช้า เอาทุกวัน วันละสามวันละสี่ วันละสอง ถ้าไม่อย่างนั้นก็วันละหนึ่ง นั่นแหละความตาย ก็ให้มาปรากฎให้เราเห็น อีกสักระยะเวลานึงก็จะเป็นของเรา เพราะว่าคนเราเกิดมาเท่าไรก็ตายหมด ไม่ตายช้า ตายเร็ว แต่ไม่อยากตาย เราต้องทำความเข้าใจให้ได้เสียก่อน ทำความเข้าใจให้ได้เป็นผู้เตรียมพร้อม พร้อมที่จะอยู่พร้อมที่จะไป มีความสุขทุกเวลาขณะที่ยังไม่ได้ไป เราก็ต้องดูแลรักษาเขาไป ตามระดับของสมมติ ก็ต้องพยายามกันนะ

พยายามกันอย่าปล่อยวันเวลาทิ้งเสียดายเวลา เวลามีคุณค่าทุกลมหายใจเข้า ออก ถ้าไม่ฝึก ถ้าเราไม่ฝึก ก็ยากที่จะจัดการกับใจของเราได้ เพราะว่าความเกิดของใจนี้เร็วไว ถ้าถือเปรียบว่าเหมือนกับลิง กระโดดไปโน่น กระโดดไปนี่เราก็ต้องฝึกสติของเราให้เข้มข้น ไล่บี้ชี้เหตุ ชี้ผล อะไรที่จะเป็นอกุศลเราก็พยายามละ อะไรที่จะเป็นกุศล เราก็พยายามทำให้มีให้เกิดขึ้น แต่ละวันใจของเราเป็นอย่างไร มีความกังวลไหม มีความฟุ้งซ่านหรือไม่ แต่เวลานี้กำลังสติปัญญาของเรารู้ไม่ทันตรงนั้น คิดก็รู้ ทำก็รู้ เขารวมกันอยู่

ถ้าเราควบคุมใจของเราได้ จนแยกแยะได้ ก็จะเข้าสู่วิปัสสนาญาณ วิปัสสนาภูมิ เพียงแค่เริ่มต้น ทีนี้ก็ไล่เรียงกิเลสหยาบ กิเลสละเอียด ไล่เรียงลงไปจนความเกิดของใจ ความเกิดของขันธ์ห้า ความเกิดของใจ อันนี้ส่วนปัญญานะ

ก่อนที่จะเป็นปัญญาได้เราก็ต้องฝึกสติให้เข้มข้น แล้วสติรู้ความจริงก็ตามดูค้นคว้าอีก กำลังสติก็จะกลายเป็นปัญญา จากปัญญาก็จะกลายเป็นมหาปัญญา จากปัญญาจนค้นคว้าได้หมดทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเป็นปัญญา เป็นปัญญารอบรู้ในจิตวิญญาณ รอบรู้ในการละกิเลส รอบรู้ในการทำความเข้าใจ นิวรณ์ต่างๆ สติเราพลั้งเผลอได้อย่างไร ใจเกียจคร้านได้อย่างไร กิเลสเกิดขึ้นที่กาย หรือเกิดขึ้นที่ใจ กายเกิดขึ้นที่กาย ใจส่งเสริมหรือไม่ หรือเกิดขึ้นที่ใจเราต้องทำความเข้าใจ เพราะว่าเราอยู่กับกองกิเลส ทุกคนก็มีกิเลสกันหมด กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด เรามาละ เรามาดับ เอาสิ่งใหม่เข้าไปทดแทน เอาพรหมวิหาร ความเมตตา ความน้อมถ่อมตน ความกตัญญูกตเวทีเข้าไปแทน สักวันหนึ่งก็คงจะเดินถึงจุดหมายปลายทางกัน ก็ต้องพยายาม

เอาล่ะ วันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปทำความเข้าใจต่อให้ได้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง