หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 63 วันที่ 16 กรกฎาคม 2563

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 63 วันที่ 16 กรกฎาคม 2563
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 63 วันที่ 16 กรกฎาคม 2563
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 63
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2563

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจ ที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราตั้งแต่ตื่นขึ้น ตั้งแต่ยังไม่ได้ลุกจากที่เลยทีเดียว อันนี้เป็นการย้ำ เป็นการเตือน แต่พวกท่านได้รู้จักวิธีการเจริญสติ คำว่ารู้ตัว รู้กาย แล้วก็รู้ให้ต่อเนื่อง ส่วนมากก็เราก็ไปนึกเอาไปคิดเอา ว่าจะเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ อันนั้นมันเป็นปัญญาของโลก เป็นปัญญาของโลกีย์ ซึ่งก็มีกันทุกคน บางคนก็มีเยอะ บางคนก็มีน้อย คือคิดน้อยไม่คิดมาก ไม่มีความกังวล ไม่มีความฟุ้งซ่าน

เราหาโอกาส เราพยายามสร้างบุญสร้างกุศล สร้างอานิสงส์ บารมี ขณะที่ยังมีร่างกายตรงนี้อยู่ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดมาก็ล้วนลงที่ไตรลักษณ์ คือความเป็นจริง ความไม่เที่ยง ที่พระพุทธองค์ท่านว่าอนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขังอนัตตา

ร่างกายของเราก็เกิดมาตั้งแต่เด็ก ก็พัฒนามาเรื่อยๆ กระทั่งเติบโตมา จนมีครอบมีครัว มีทุกสิ่งทุกอย่างอย่างสมมติอันนี้ก็คือความไม่เที่ยงของด้านรูปกาย ลึกลงไปอีกซึ่งเราจะต้องจัดการให้ได้ คือความไม่เที่ยงของจิตวิญญาณ ที่มันเกิดๆ ดับๆ เกิดดับๆๆ

ความเกิด...เขาก่อตัวอย่างไร เขาเกิดอย่างไร ทำไมเขาถึงหลง อะไรคือส่วนรูป อะไรคือส่วนนาม เราต้องมาสร้างผู้รู้หรือว่ามาเจริญสติเข้าไปชี้เหตุชี้ผล ไปแก้ไข แก้ไขตัวเรา

แต่ละวันๆ ใจเกิดส่งออกไปภายนอกสักกี่เรื่อง ใจเกิดกิเลสสักกี่ครั้ง กิเลสหยาบ หรือว่ากิเลสละเอียด เหตุจากภายนอกทำให้เกิด หรือเกิดจากภายใน หรือเกิดจากใจโดยตรง เราก็ต้องพยายามค้นคว้า เจริญสติเข้าไปวิเคราะห์เข้าไปค้นคว้า รู้ไม่ทันเราก็รู้จักดับ รู้จักหยุด รู้จักควบคุม จนกว่าใจของเราจะคลายออกจากขันธ์ห้า หรือว่าแยกรูปแยกนาม หรือว่าหงายขึ้นมา นั่นแหละคือความเห็นถูกแบบธรรม ที่พระพุทธองค์ท่านเน้นลงไป คือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก ที่ใจไม่เกิด ใจไม่หลงเข้าไปยึด

แต่เวลานี้ ใจของคนเราทั้งเกิด ทั้งหลง ทั้งยึด แต่เราก็ไม่รู้ว่าเราหลง เรายึดหรอก เพราะว่าเรามองเห็นความเป็นจริงในทางสมมติในด้านเดียว ในหลักธรรมแล้ว เราต้องทำความเข้าใจทั้งสมมติทั้งวิมุตติ รู้จักแก้ไขตัวเราอยู่ตลอดเวลา

กายของเราเป็นอย่างไร ใจของเราเป็นอย่างไร ใจของเรามีความเกียจคร้าน หรือว่ามีความขยันหมั่นเพียร เรามีกิเลสหยาบกิเลสละเอียด ออกมาทางกาย ทางวาจา ทางใจ เราต้องรู้เท่ารู้ทัน รู้จักทำความเข้าใจ แต่เวลานี้ผู้รู้ของเรามีไม่เพียงพอ มีไม่มาก บางครั้งก็นิดๆ หน่อยๆ ทั้งที่ใจก็เป็นบุญอยู่ ใจก็ฝักใฝ่ในบุญในกุศล สร้างบารมีตรงนี้อยู่ เราก็ต้องพยายามรีบแก้ไขตัวเราเสีย ทุกคนนั่นแหละ เพราะเป็นเรื่องของทุกคนที่จะต้องทำความเข้าใจ ไม่ใช่เรื่องของคนโน้นไม่ใช่เรื่องของคนนี้

เราทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ทรัพย์ภายในเป็นอย่างไร ทรัพย์ภายนอกเป็นอย่างไร ความเป็นอยู่ของเราเป็นอย่างไรการอยู่ร่วมกันกับหมู่กับคณะเป็นอย่างไร เราก็ต้องแก้ไขเราปรับปรุงตัวเรา ยิ่งอยู่หลายคนหลายท่านนี่แหละ ยิ่งเป็นการสร้างตบะสร้างบารมีอย่างดี เรามีความรับผิดชอบเรามีความเสียสละต่อตัวเองต่อส่วนรวม รีบแก้ไข เราไม่มีความเห็นแก่ตัว แม้แต่การคิด ความคิด ความเกิด เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล อะไรที่เรายังขาดตกบกพร่อง อะไรที่จะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้สถานที่ของเราอยู่ดีมีความสุข ล้นออกไปสู่หมู่คณะ สู่สังคมสู่โลก เพราะเรามาอาศัยสมมติอยู่ ใจก็มาอาศัยกายอยู่ กายของเราคือก้อนสมมติ เราต้องทำความเข้าใจ มันหลายชั้นหลายขั้นหลายตอน ถ้ากำลังสติปัญญาของเรามีไม่เพียงพอก็ยากที่จะเข้าใจ ถ้ากำลังสติปัญญาของเรามีเพียงพอ เราก็จะรู้ เราก็จะเห็น เราก็จะค่อยขัดเกลาใจของเราให้เบาบางจากกิเลส จนกว่าความโลภ ความโกรธ ความทะเยอทะยานอยาก แม้แต่การเกิดก็ไม่ให้มี ทั้งอยากทั้งไม่อยากนั่นแหละ

ความเกิดของใจ ความเกิดนั่นแหละคือความหลงที่ละเอียดที่สุด ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด เรามาเจริญสติเข้าไปทำหน้าที่เข้าไปชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล จนมองเห็นความเป็นจริง จนประกาศด้วยตนเองว่า เราละกิเลสได้ระดับไหน เราจะได้กลับมาเกิดหรือไม่กลับมาเกิด

ทุกสิ่งทุกอย่าง แนวทางนั้นพระพุทธองค์ท่านได้ประกาศค้นพบ แล้วก็มาเปิดเผย มาจำแนกแจกแจงให้พวกสัตว์โลก ก็คือพวกเรานี้แหละ ได้ประพฤติปฏิบัติตาม ทั้งทางโลกทั้งทางธรรม ทางโลกก็ศีล๕ ศีล๘ ศีล๑๐ เพื่อที่จะบังคับกิเลสให้เบาบางลงไป เพื่อที่จะให้สังคมอยู่ดีมีความสุข เขาเรียกว่า 'ศีลสมมติ' ทีนี่ 'ศีลวิมุตติ' คือศีลใจของเรา ใจของเราเป็นปกติหรือไม่ ใจของเราเกิดกิเลสหรือเปล่า คำว่าเป็นกองเป็นขันธ์ อะไรคือกอง คือขันธ์ เขารวมกันอยู่ได้อย่างไรจนเป็นกลุ่มเป็นก้อน

เรามาเจริญสติเข้าไปจำแนกแจกแจง ชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล ที่ว่ากองวิญญาณ กองสังขาร กองรูป กองนาม ซึ่งมีอยู่ในกายของเราหมด มีเรื่องเดียวเท่านี้แหละที่เรามนุษย์จะต้องศึกษาให้รู้ความเป็นจริง นอกนั้นก็เป็นส่วนประกอบกันเข้า เพื่อที่จะดำรงชีวิตให้ถึงจุดหมายปลายทางกัน บางคนก็ห่างไกลจากความเป็นจริง บางคนก็เข้าใกล้ความเป็นจริง

โอกาสของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ จุดมุ่งหมายอยู่ที่ไหน เราต้องพยายามดำเนิน อย่าเป็นทาสของกิเลส

การเกิดเป็นทุกข์ ถ้าจิตเขามองเห็นความเป็นจริง เขาก็จะไม่เกิด การเป็นทาสของกิเลส กิเลสหยาบ กิเลสละเอียดสารพัดอย่าง มีทุกวัน มีอยู่ทุกเวลา ถ้าเรามีสติคอยวิเคราะห์คอยสังเกต เราก็จะได้ฟังธรรมะของพระพุทธองค์อยู่ตลอดเวลา รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสต่างๆ ก็จะเป็นอาจารย์สอนธรรมะให้เรา เรารู้จักเจริญสติไปสอนใจเราอยู่ตลอดเวลาเราก็จะได้ฟังธรรมอยู่ตลอดเวลา แต่เวลานี้กิเลสมันลากไปหมด บางทีก็ความดีบ้าง บางทีก็สารพัดอย่างก็เอาสิ่งที่ดีๆนั่นแหละมาหลอก แต่ในหลักธรรมแล้วท่านก็ให้สร้างคุณงามความดี ไม่ให้หลงไม่ให้ยึด อยู่เหนือบุญ เหนือบาปเหนือกรรม

ทำใจให้โล่งให้โปร่งอยู่ในความเป็นกลาง อยู่ในความว่าง ความบริสุทธิ์ ยิ่งฝึกไปเท่าไหร่ยิ่งเห็นเยอะ ยิ่งเห็นเยอะเท่าไหร่ เราก็ยิ่งทำความเข้าใจ ก็ต้องพยายามกันนะ ไม่ว่าพระ ว่าโยม ว่าชี ทุกคนก็มีโอกาสที่จะถึงจุดหมายเหมือนกันหมดนั่นแหละ ไม่ว่าจะถึงช้าหรือถึงเร็ว ผิดพลาดแก้ไขใหม่ ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราอยู่ตลอดเวลา

เอาล่ะวันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง