หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 4 วันที่ 19 มกราคม 2563 (2/2)

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 4 วันที่ 19 มกราคม 2563 (2/2)
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 4 วันที่ 19 มกราคม 2563 (2/2)
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 4
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 19 มกราคม 2563 (2/2)

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจนให้ต่อเนื่อง นั่งตามสบายวางกายให้สบาย อดทนอดกลั้นสักนิดนึง กายของเรานั่งนานๆ ก็อาจจะเกิดทุกขเวทนาเพราะว่ากายเป็นก้อนทุกข์ เราฝืนกายของเราสักตั้งหนึ่ง ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเราได้สร้างความรู้ตัวแล้วหรือยัง เรารู้จักลักษณะของการเจริญสติคำว่าปัจจุบันธรรมแล้วหรือยัง

ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยวกายของเราก็รู้สึกว่าสบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเรานั่นแหละ เขาเรียกว่า “สติรู้กาย” ถ้าเรารู้ให้ต่อเนื่องเขาเรียกว่า “สัมปชัญญะ” เราพยายามสร้างขึ้นมาให้เกิดความเคยชิน แล้วก็เอาไปรู้เท่าทันการเกิดของใจ การเกิดของขันธ์ห้าซึ่งมีอยู่ มีอยู่ตลอด มีอยู่เดิม

ตั้งแต่เช้ามาความคิดที่เกิดจากใจ เกิดจากขันธ์ห้า เกิดสักกี่เที่ยว เราก็นับไม่ถ้วน ถ้าเรามาสร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องขณะที่เรามีสติรู้กายอยู่ ใจมันก็จะเกิดปรุงแต่งไปโน่นไปนี่ เราก็จะรู้เป็น 2 ส่วน ถ้ากำลังสติความรู้ตัวของเราต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เราก็อาจจะเห็นความคิดที่เราไม่ตั้งใจคิดหรือว่าอาการของขันธ์ห้าเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ผุดขึ้นมา แล้วก็ใจของเราก็จะเคลื่อนเข้าไปรวม ขณะที่ใจจะเคลื่อนเข้าไปรวม ถ้าเรามีความรู้ตัวเห็นตรงนั้น ใจก็จะดีดออกจากความคิดตรงนั้นแล้วก็หงายขึ้น เราก็จะเห็นใจกับอาการของใจชัดเจน ใจก็จะว่าง กายก็จะเบา เราก็จะเห็นสติที่เราสร้างขึ้นมานี่ส่วนหนึ่ง ใจที่คลายออกจากขันธ์ห้าก็อีกส่วนหนึ่ง อาการของขันธ์ห้าก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง อันนี้เราจะเห็นเป็น3 รู้เป็นลักษณะของ3 สติ-ใจ-อาการของใจ

ใจว่างรับรู้อยู่ สติความรู้ตัวที่เราสร้างขึ้นมาตามดูความเกิดความดับของความคิด ที่ผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจ เขาเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ใจของเราเข้าไปหลงไปรวม ตรงนี้แหละทำให้เกิดอัตตาตัวตน เราก็รู้คิดก็รู้ทำก็รู้ แต่เขาไปรวมกันอยู่ เขาหลงอยู่ในความรู้ตรงนั้นอยู่ เขาเรียกว่า “ความหลงหลงอันละเอียด” อยู่ในระดับของสมมติ ถ้าเราสังเกตวิเคราะห์ไม่ทันเราก็เริ่มใหม่ ดับ ใช้สมถะเข้าไปดับ แล้วแต่อุบายของแต่ละบุคคล อยู่กับลมหายใจบ้าง หรือว่าอยู่กับคำบริกรรมบ้าง ฝืน ท่านถึงบอกเป็นการทวนกระแสกิเลส

เพียงแค่ควบคุมใจของเราให้อยู่ในโอวาทของสติปัญญาของเรานี้ก็ยังยากลำบากอยู่ เพียงแค่การสร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องให้เป็นธรรมชาตินี้ก็ยังยากลำบากอยู่ ใจของคนเรานี้ฝึกได้ ไม่ใช่ว่าฝึกไม่ได้ ฝึกบ่อยๆ ทำความเข้าใจบ่อยๆล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ปรับปรุงตัวเราใหม่

ใจเกิดกิเลสเราก็ละกิเลส ใจเกิดความแข็งกร้าวก็ละความแข็งกร้าว ใจไม่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเราก็พยายามสร้างความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักปรับสภาพแก้ไขใจ อบรมใจ กระหนาบแล้วกระหนาบอีก กระหนาบแล้วกระหนาบอีกเหมือนกับนักโทษประหารใหม่ๆ เป็นนักโทษประหารเขาก็ต้องผูกโซ่ตรวนใส่โซ่ ใส่โซ่ใส่คุกใส่ตาราง อย่างแน่นหนาปฏิบัติตัวขึ้นมาดีก็ลดจากโทษประหารมาเป็นนักโทษตลอดชีวิต ปฏิบัติตัวดีขึ้นๆๆ เขาก็ลดโทษให้มาเรื่อยๆ ก็ปลดโซ่ตรวนปลดโน่นปลดนี่ จนปฏิบัติตัวดีขึ้น เขาก็ปล่อยให้เป็นอิสรภาพ ใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าใจเกิดกิเลส เราก็ละกิเลสทีนั้น ละกิเลสทีนี้ ก็เหือดแห้งไปเรื่อยๆ เหือดแห้งไปเรื่อยๆ

ใจเกิดบ่อยเราก็ดับ บ่อยเข้าๆ จนใจคลายออกจากขันธ์ห้า คลายความหลง หงายขึ้นมาได้ก็ตามดู เราก็จะเข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในกายในขันธ์ห้าของเราเป็นอย่างนี้ ที่ท่านเปรียบเอาไว้เหมือนกับพยัพแดด เวลาเราเดินไปตามถนนหนทางเวลาแดดร้อนๆ เราก็จะมองเห็นเปลวแดดเปลวเพลิงนี่ลุกเหมือนกับเปลวเพลิงตามถนนหนทาง เวลาเราเดินเข้าไปใกล้ๆ ตรงนั้นมันก็ไม่มีมันก็หายไป หรือที่ท่านเปรียบเอาไว้ เปรียบเสมือนกับน้ำทะเล เวลาเราไปชายฝั่งเราก็เห็นลูกคลื่นเข้ามาลูกแล้วลูกเล่า วิ่งเข้ามากระทบฝั่งแล้วก็หายไปลูกใหม่ก็เข้ามา ความคิดที่มาปรุงแต่งใจของเราก็เหมือนกัน เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ใจของเราเข้าไปหลงไปรวม จนเป็นตัวเดียวกัน คิดก็รู้ทำก็รู้ ก็เลยหลงอยู่ในความรู้ตรงนั้นอยู่

ถ้าใจแยกได้คลายได้ หงายขึ้นมาได้ กำลังสติตามเห็นความเกิดความดับ เราก็จะเข้าใจ “อ่อ...อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในกายของเราเป็นอย่างนี้” บางทีถ้าเป็นเรื่องอดีตเขาก็เรียกว่า “กองสัญญา กองสังขาร” ตัวใจก็เรียกว่า “กองวิญญาณ” กายคือกองรูป เป็นกุศลอกุศลบ้าง เป็นกลางๆ บ้าง

ถ้าเรามาสร้างตัวรู้หรือตัวสังเกต ตัวสมองของเราไปสังเกตดู ลองอดพูดอดคิด ไม่พูดไม่คิด แล้วก็สังเกตดูความคิดของเรา มันจะเกิดยังไงก่อตัวยังไง สังเกตไม่ทันก็เริ่มใหม่ ส่วนมากก็ตามอำเภอใจพุ่งไปเลย รวมกันไปทั้งก้อน ทั้งใจทั้งอาการของขันธ์ห้า ทั้งปัญญารวมกันไปทั้งก้อน มันก็หลงไปทั้งก้อน หมุนไปทั้งก้อน เขาเรียกว่าถ้าแยกได้คลายได้เหมือนกับเราตัดรอบวงกลม แล้วก็ตามทำความเข้าใจ การหมุนต่อมันก็ไม่มี เขาเรียกว่าธรรมจักรนั่นแหละ เขาเรียกว่า “ธรรมจักร”

พยายามหัดสังเกตหัดวิเคราะห์ดู ไม่ต้องไปกลัวว่าจะไม่ได้คิด ไม่ต้องไปกลัวว่าจะไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้ทำ พยายามขัดเกลาเอาออก เราชนะเราแล้วเราก็ชนะไปหมดทุกอย่าง ไม่ใช่จะไปเที่ยวระรานชนะคนโน้นชนะคนนี้ เราชนะเราเราชนะหมดความขยันหมั่นเพียรเรามีเราก็ได้กำไร ไปที่ไหนเราก็มองเห็นมองออก อะไรควรทำ อะไรควรละ อะไรยังประโยชน์ประโยชน์ใกล้ประโยชน์ไกล ภาษาธรรมภาษาโลก มีหมดอยู่ในกายของเรา

กายของเรานี่แหละเขาเรียกว่า “ก้อนบุญ ก้อนกรรม ก้อนบาป” เราต้องเข้าใจ แยกแยะให้ได้ กรรมเก่าก็ตามไม่ทันกรรมเก่าคือตัวความคิดที่เราไม่ตั้งใจคิด ผุดขึ้นมา เราก็คลาย ทำความเข้าใจแล้วค่อยละ ไม่ใช่ว่าจะละได้ง่ายๆ นะเขาก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ แม้แต่ตัวใจของเรา ก็ยังหาเหตุหาผลเข้าข้างตัวเอง เราชอบอย่างงั้นเราชอบอย่างงี้ สารพัดอย่าง ยิ่งคนมีลูกมีหลานมีครอบมีครัวก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก กลัวลูกกลัวหลานกลัวไม่มีอยู่ไม่มีกินสารพัดอย่าง ที่เขาว่า“เป็นบ่วงเป็นห่วงผูกคอ”

ถ้าเราเข้าใจแล้วก็เปลี่ยนจากความอยากเป็นความต้องการของสติปัญญา บริหารกายบริหารใจ บริหารสมมติ ขยันหมั่นเพียร มีความรับผิดชอบจากน้อยๆ ไปหามากๆ เดี๋ยวก็เต็มรอบ

เอาชีวิตของเราเอาให้รอดเสียก่อน ทำใจของเราให้บริสุทธิ์เสียก่อนแล้วก็ค่อยช่วยเหลือคนอื่น เราก็ต้องพยายามช่วยเหลือในระดับของสมมติวิมุตติเราก็ช่วยประคับประคองกันไป อีกสักหน่อยก็ต้องตายจากกัน ไม่ตายช้าก็ตายเร็วเพราะว่ากฎของไตรลักษณ์ อายุขัยในโลกมนุษย์ เหลืออยู่ไม่มาก มีไม่เยอะ อย่างน้อยก็ร้อย ถ้าเปรียบเทียบอายุของภพภูมิต่างๆ สวรรค์ต่างๆ มีหลายมิติ มิติภพภูมิของสัตว์เดรัจฉานเราก็มองเห็น มิติของมนุษย์เราก็พอมองเห็น มิติของโลกสวรรค์ก็อาจจะมองเห็นเป็นบางคน นั้นมีอยู่ มีหมดนั่นแหละ วันนี้มีพรุ่งนี้มี เดือนนี้มีเดือนหน้ามี ภพนี้มีภพหน้ามีเราก็มีโอกาสได้แก้ไขอยู่ในขณะที่ยังมีลมหายใจ ขณะที่ยังเป็นมนุษย์อยู่

ที่ได้เป็นมนุษย์นี่มีโอกาสได้สร้างบุญสร้างบารมีมาก เราพยายามอย่าไปปล่อยโอกาสทิ้ง อะไรที่จะเป็นบุญ บุญเล็กบุญน้อยเราก็พยายามสร้างสะสม บุญใหญ่เราก็ทำ บุญน้อยเราก็ทำ โอกาสเปิดเราก็ทำ หลวงพ่อก็จะพาทำจนกว่าจะหมดลมหายใจ ถ้าหมดลมหายใจแล้วก็ไปกันคนละทางตามวิบากของกรรมแต่ละบุคคล

การเจริญสติเราก็ต้องพยายามให้มีตั้งแต่ตื่นขึ้น วิเคราะห์ดู รู้ไม่ทันเราก็รู้จักหยุดเอาไว้ ถ้าเราเห็นเหตุเห็นการแยกการคลาย เห็นเหตุเห็นผล ชี้เหตุชี้ผลได้ เราก็จะหมดความสงสัย หมดความลังเลในคำสอนของพระพุทธองค์ ไม่ต้องวิ่งไปหาไกลที่ไหนหรอกหาธรรม หาที่กายของเรานี่แหละ

ตื่นขึ้นมาเราก็ดู วิธีการแนวทางการเจริญสติ การเจริญปัญญา ไปหาสถานที่ครูบาอาจารย์ที่โน่นที่นี่ก็เป็นสิ่งที่ดี ไม่เข้าใจก็แสวงหาแนวทางเสียก่อน ถ้าเราเข้าใจแล้วก็รีบๆ เดิน ไปที่โน่นที่นี่ ถ้าเรายังไม่เข้าใจก็อย่าไปโทษครูบาอาจารย์ ไปที่โน่นเป็นอย่างงั้น ไปที่นั่นเป็นอย่างนี้ ไปที่นี่ไม่ดีไปที่นั่นไม่ดี ก็ใจของเรามันไม่ดีมันถึงไปว่าภายนอกไม่ดี

ถ้าใจของเราดีอะไรก็ดีหมด เราอาจจะไม่ได้ถึงวาระเวลาที่เราจะเข้าใจตรงนั้น เหมือนกับเราปลูกผลหมากรากไม้ เราจะเร่งให้ออกดอกออกผล ให้สุกให้ทานให้กินวันเดียว มันก็ไม่ได้ เราก็ต้องอาศัยกาลอาศัยเวลา อาศัยความดูแลฝักใฝ่สนใจบำรุงรักษา เขาโตขึ้นมา เราไม่อยากจะได้ดอกเราก็ได้ดอก เราไม่อยากจะได้ผลเราก็ได้ผล เราไม่อยากจะได้กินเราก็ได้กิน เพราะว่าการกระทำของเรามี

การเจริญสติเข้าไปอบรมกาย อบรมวาจา อบรมใจ การขัดเกลากิเลสของเรามี ใจของเราก็เบาบางจากกิเลสไปเรื่อยๆเราเจริญสติเพื่อที่จะเอาสติไปศึกษาไปอบรมใจ ไปทำความเข้าใจชี้เหตุชี้ผล จนใจของเรายอมรับความเป็นจริงว่าการเป็นทาสกิเลสก็ไม่เอา การเกิดก็เป็นทุกข์เพราะมันไม่เที่ยง เป็นทาสกิเลสก็ไม่เอา

เราก็พยายามขัดเกลาเอาออก ทีละเล็กทีละน้อย ส่วนมากไม่เป็นอย่างนั้น มีตั้งแต่จะไปสร้างสะสมกิเลส อะไรที่จะสนุกสนานอะไรที่จะมีความเพลิดเพลินก็หลงไปไหลไป จนซึมเข้าสู่สมมติ ขนาดคนที่ฝึกอยู่ก็ยังยากลำบากอยู่ถ้าไม่เอาจริงๆ ต้องเป็นบุคคลที่มีความขยันหมั่นเพียรเป็นเลิศ เป็นบุคคลที่มีการขัดเกลากิเลสเป็นเลิศ รู้จักอบรมใจตลอดเวลาแก้ไขใจของเราให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น ไม่ใช่ว่าจะไปเที่ยวเกาะกับสิ่งโน้น เกาะกับสิ่งนี้ ไปอาศัยสิ่งโน้นสิ่งนี้

เราจงมีธรรมเป็นที่พึ่ง มีความว่างความบริสุทธิ์เป็นที่พึ่ง พึ่งภายในหมดความสงสัยหมดความลังเล มองเห็นหนทางทะลุปรุโปร่งว่าเราจะได้กลับมาเกิดหรือไม่กลับมาเกิดกัน

นั่งดู ทั้งนั่งทั้งยืนทั้งเดิน นั่งนอนยืนเดิน นั่งนอนกินอยู่ขับถ่าย ตั้งแต่เช้าขึ้นมาดูมัน ใจมันเกิดความอยากสักกี่เที่ยว ใจปรุงแต่งสักกี่ครั้ง ความคิดผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจสักกี่ครั้ง ภาษาธรรมะท่านเรียกว่าอะไร กายทำหน้าที่อย่างไร รู้จักจำแนกแจกแจง แยกรูปรสกลิ่นเสียงออกจากใจของเราเป็นอย่างไร เราต้องเป็นคนที่หัดวิเคราะห์

บุคคลที่มีสติมีปัญญามีบุญ ฟังนิดเดียว รู้ความจริงแล้วก็เร่งทำความเพียรทั้งกลางคืนทั้งกลางวัน จนไม่มีอะไรที่จะถามถามใจตัวเรา แก้ไขใจตัวเรา เป็นที่พึ่งของเรา ถึงท่านว่าตนเป็นที่พึ่งของตน สตินี่แหละเป็นที่พึ่งของใจ อบรมใจ ทีนี้กายของเราก็ยังอาศัยสมมติ อาศัยปัจจัย เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ เราก็เข้าไปบริหารด้วยปัญญา ผิดถูกชั่วดียังไงแก้ไขด้วยปัญญาก็ต้องพยายามกันนะ

เอาล่ะ วันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจให้ถึงจุดหมายปลายทางกัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง