หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 47

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 47
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 47
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 47
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 8 เมษายน 2556

พยายามดูดีๆ นะ พระบวชใหม่ เณร​ ทั้งพระทั้งชีบวชใหม่บวชเก่า เราต้องเป็นผู้ใหม่ตลอด เป็นผู้ใหม่ในการดูในการรู้ ในการทำความเข้าใจ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมาเราต้องรีบรู้กายรู้ใจของเรา สร้างความรู้ตัวหรือว่าเจริญสติ​ รู้จักเอาสติปัญญาไปใช้ ไปหมั่นพร่ำสอนใจของเรา ตื่นขึ้นมาใจของเรามีความเกียจคร้าน เราก็พยายามละความเกียจคร้าน ใจของเรามีความตระหนี่เหนียวแน่น ใจของเรามีความทะเยอทะยานอยาก เราก็รู้จักละความอยาก สังเกตวิเคราะห์พฤติกรรมของใจของเรา ว่าการเกิดของใจ การเกิดของความคิด ในกายเนื้อของเราซึ่งมีหนังมาห่อหุ้ม มีวิญญาณเข้ามาครอบครอง มาสร้าง สร้างภพมนุษย์

ในกายมนุษย์นี่มีอะไรบ้าง เราต้องสร้างความรู้ตัวเข้าไปวิเคราะห์ถึงจะมองเห็นความเป็นจริงของชีวิต ส่วนมากเราก็มองเห็นความเป็นจริงของชีวิตอยู่ในภาพรวม แสวงหาความสุขตั้งแต่ทางด้านสมมติ ความสุขภายในก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง ลุ่มๆ ดอนๆ ทำสมมติเสร็จ ความสุขภายในก็มีความสุข แต่สุขสมมติสุขภายในไม่ถาวรเหมือนกับการคลายความหลง ละกิเลส ดับความเกิดเข้าสู่สภาพเดิมของใจ ส่วนมากก็แสวง แสวงหากันไม่หยุด ไม่เจริญสติเข้าไปหยุด เข้าไปคลาย ก็เลยไม่รู้ความจริง

ก็เลยได้แต่บุญ เอาแต่บุญ ยึดติดในบุญก็ยังดีเน้อ ดีกว่าทำใจของเราให้ตกสู่ความทุกข์ความเศร้าหมอง ในหลักธรรมท่านก็ให้สร้างบุญนั่นแหละ สร้างกุศลนั่นแหละ แต่ไม่ให้ยึด ทำอย่างไรเราถึงจะคลายได้ เราก็ต้องเห็นจุดคลาย จุดเกิด จุดดับของจิตใจของเรา ซึ่งอยู่ในกายของเรา มันก็ยากจะเห็นถ้าไม่เจริญสติให้ต่อเนื่องจริงๆ เพราะว่าเป็นนามธรรม ไม่มีตัว ไม่มีตน เพียงแค่เราสร้างความรู้ตัวเข้าไปแจง เข้าไปแยกแยะให้เห็นมันก็ยาก การเจริญสติก็ยาก ถ้าไม่ขยัน มีตั้งแต่อุปสรรคต่างๆ นานา เต็มไปหมด แต่ก็ไม่เหลือวิสัย ถ้าวิบากกรรมมันคลาย อะไรก็จะดีหมด

ในชีวิตของตัวเรา เพียงแค่ความอยาก อยากในอาหาร อยากในรูป ในรส ในกลิ่น ในเสียง พวกเราก็ยังไม่รู้จักดับรู้จักละ มันก็เลยจะสงบจะสะอาดบริสุทธิ์ได้อย่างไรกัน ความอยาก ความทะเยอทะยานอยาก ความไม่อยากอีก ผลักไส ไม่ผลักไส ถ้าไม่หาเหตุหาผลจริงๆ นี่เอาอยู่ยาก เรื่องใจเอาอยู่ยาก ความคิดอารมณ์ต่างๆ ได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็พยายามทำกัน อยากจะดับทุกข์ อยากจะหลุดพ้น ก็ต้องปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ การกระทำของเราก็ต้องถึงพร้อม การละกิเลสของเรามีหรือไม่ การเจริญสติ การทำความเข้าใจ การสำรวจใจ สำรวจกาย การสำรวมกายอินทรีย์ของเรามีหรือไม่ การเจริญสติที่ต่อเนื่อง การทำความเข้าใจตามหลักธรรมของพระพุทธองค์

พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ว่า ในโลกนี้ถึงพระพุทธเจ้าจะไม่เกิดบังเกิดขึ้น ธรรมะก็มีอยู่ประจำโลก พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้วก็มาค้นพบ รู้จักวิธี รู้จักแนวทาง แล้วก็เอามาเปิดเผย มาจำแนกแจกแจงให้เหล่ามนุษย์ได้เดินตาม พระพุทธองค์เป็นแค่เพียงผู้ชี้แนะแนวทางให้ พวกเราจะเดินตามหรือไม่เท่านั้นเอง พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด ธรรมะก็มีอยู่ประจำโลก แต่ส่วนมากก็จะไม่ค่อยสนใจกัน มีแต่ปล่อยปละละเลย แต่สนใจอยู่ในระดับการทำบุญ การให้ทาน แต่การเจริญที่สติที่ต่อเนื่อง ลักษณะของสติรู้ตัวอยู่ปัจจุบันเป็นอย่างไร ไม่ค่อยจะสร้าง ไม่ค่อยทำ แต่ความอยากความหวังนั้นมีเต็มเปี่ยม

อยากได้บุญ อยากได้ธรรม แต่การละกิเลส รู้การเกิด การดับของจิตของวิญญาณ รู้จักทำความเข้าใจให้ละเอียด การทำความเข้าใจทุกเรื่อง ถึงจะเข้าถึงจุดหมายปลายทางได้ ไม่ใช่ว่าจะทำเหยาะๆ แหยะๆ ละกิเลสก็ต้องละจริงๆ สังเกตแยกแยะ คลายจริงๆ อะไรส่วนรูป อะไรส่วนนาม อะไรคือเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ความรู้แจ้งเห็นจริงเป็นอย่างไร วิญญาณที่คลายจากความยึดมั่นถือมั่นเป็นอย่างไร ถ้าไม่ถึงเวลาก็ยากที่จะคลายได้

แต่ก็ต้องพยายามสร้างอานิสงส์สร้างตบะบารมี เป็นผู้เสียสละ เป็นผู้เอาออก เป็นผู้ให้ เป็นผู้คลาย รู้จักบริหารใจของเรา บริหารกายของเราให้ดี ทำได้เท่าไรก็เอานะ ดีกว่าไม่ได้ทำ สักวันหนึ่งก็คงจะเดินถึงจุดหมายปลายทางกัน ไม่ถึงช้าก็ต้องถึงเร็ว เอาล้อเลื่อนเข้ามา เอาล้อเลื่อนมา มาที่หลังก็เอามา เอามาถวาย ปีหน้าจะพาฉลองสมโภชใหญ่ ผู้เฒ่าเตรียมตัวไว้ ใครจะบวชก็บวช เอาผู้เฒ่านี่แหละบวชฉลองสมโภช จะซื้อผ้าไตรให้คนละชุดๆ อยากให้ผู้เฒ่ามีความสุข

การบวชนี่ก็ยากนะ ไม่ใช่ว่าไม่ยาก ถ้าภาระหน้าที่สมมติไม่คลายมันก็บวชยากอยู่จะเหมือนกัน อยากจะบวชก็ไม่ได้บวช บางคนไม่อยากบวช ถ้าถึงเวลาได้บวชก็ต้องได้บวช เพราะว่าสร้างอานิสงส์มาไม่เหมือนกัน บางคนก็สร้างมา ไม่เคยว่านึกว่าจะได้บวช ถึงเวลาแล้วก็ต้องได้บวช บางคนก็อยากจะบวช ปรารถนาที่จะบวชก็อันโน้นอันนี้ก็ฉุดก็รั้งเอาไว้ ถึงได้บอกว่าอานิสงส์บุญแต่ละบุคคลสร้างมาไม่เหมือนกัน บางคนก็สร้างมาทางนี้โดยตรง บางคนก็กว่าจะมาได้ก็ลำบาก บางคนเข้ามาแล้วก็ยังไม่รู้เรื่องก็มี

การเจริญสติเป็นอย่างไร การละกิเลสเป็นอย่างไร เพราะว่าตัวจิตวิญญาณก็หาเรื่อง หาเหตุหาผลปิดบังอำพราง​ตัวเองเอาไว้ ท่านถึงให้มีกฎมีข้อบังคับก็เพื่อที่จะละกิเลส เพื่อที่จะละกิเลส มีศีล มีวินัย มีข้อบังคับเอาไว้ จากหยาบไปหาละเอียด ก็เพื่อที่จะให้ได้เจริญสติเข้าไปละกิเลสออกจากใจของตัวเรา แล้วก็เจริญพรหมวิหารให้เต็มเปี่ยม เอาออกจาก เอาออกให้หมดจากใจของเรานั่นแหละถึงจะเป็นผู้ได้ ได้ความบริสุทธิ์ ได้ความสุข นอกนั้นก็เป็นอานิสงส์แห่งบุญส่วนเกินที่เราได้ประโยชน์ ได้กำไร ได้ยังประโยชน์ให้กับสมมติ

แต่บุญภายในเอาออกให้หมดจากใจเสียก่อนถึงจะได้ ถ้าออกไม่หมดไม่ได้ จนใจไม่มีความอยากแม้แต่นิดเดียว แม้แต่การปรุงการแต่ง การเกิด นั่นแหละจะเป็นผู้ได้ที่เต็มเปี่ยม ทีนี้เราก็ยังสมมติมีตั้งแต่บุญ ยังบุญ ยังประโยชน์ให้กับสมมติให้มีความสุข เท่าที่โอกาสจะอำนวยให้ พวกเราพากันทำ อย่าพากันทิ้ง ทั้งพระทั้งชี ทั้งโยมบอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น หมั่นพร่ำสอนตัวเราเอง รู้จักวิธี รู้จักแนวทาง อย่าให้คนอื่นได้บังคับ ถ้าคนอื่นบังคับ แล้วไม่มีใครชอบหรอก ไม่มีใครชอบที่จะให้คนอื่นมาบังคับ เราต้องบังคับตัวเราเอง แก้ไขตัวเราเอง ปรับปรุงตัวเราเอง ไม่เป็นภาระให้กับตัวเรา แก้ไขตัวเรา อยู่ก็มีความสุข ไปก็มีความสุข ถึงจะเป็นบุคคลที่เข้าใจในชีวิต เข้าใจในธรรมได้ดี

ตั้งใจรับพรกัน

ขอให้ญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน ให้ต่อเนื่องกันสักพักหนึ่ง นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ หลวงพ่อเป็นแค่เพียงผู้พูด ผู้ชี้แนะอุบายแนวทาง พวกท่านเป็นผู้ทำ เป็นผู้น้อมไปดู รู้กายของท่าน แล้วก็พยายามไปสานต่อวิธีการเจริญสติ วิธีการหายใจเข้าออก พวกเรายังขาดการสร้างความรู้ตัวตรงนี้มากเลยทีเดียว ทั้งที่ใจก็อยากจะได้ธรรม ใจก็อยากจะรู้ธรรม ในการทำความเข้าใจ ท่านให้หยุด ระงับยับยั้งพันธะภาระหน้าที่สมมติ ไม่ว่าทุกเรื่อง หยุดเอาไว้ให้หมด ทำหน้าที่น้อมเข้าไปรู้กายของเรา ลึกลงไปก็ให้รู้ใจ เพียงแค่การสร้างความรู้ตัว ก็ยังมีความเพียรที่ไม่ต่อเนื่อง มันก็ยากที่จะรู้เท่าทันการเกิดของใจ รู้ลักษณะของใจ

ส่วนใจนั้นหรือว่าวิญญาณซึ่งอยู่ในกายของเรานั้นก็ส่วนหนึ่ง ส่วนความคิดที่ผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจเขาเรียกว่าอาการของใจ ซึ่งมีอยู่ในกายของเรา ซึ่งเรียกว่ากองสังขาร ความคิดที่เราไม่ตั้งใจคิดซึ่งเป็นส่วนนามธรรม ซึ่งรวมกับตัววิญญาณ เข้าไปหลงไปรวมกันจนเกิดอัตตาตัวตน แต่ส่วนรูปกาย ร่างกายของเรานี่ก็ส่วนหนึ่ง เราต้องมาสร้างความรู้ตัวเข้าไปรู้เท่าทัน แล้วก็แจง แยกแยะออก จนกว่าจะเห็นตัววิญญาณชัดเจน เห็นความคิดชัดเจน ละกิเลสชัดเจน​ ทุกเรื่อง แต่เวลานี้ผู้ที่จะเข้าไปทำความเข้าใจกับวิญญาณของเราหรือว่าสติ​ มีน้อยนิด มันจะไปรู้ทันตรงนั้นไม่ได้เลย เพราะว่าความคิดเก่า ปัญญาเก่า เขาก็หาเหตุหาผลมาปิดกั้นตัวเองเอาไว้มากมายทีเดียว บางคนก็กลัวว่าจะไม่ได้คิด บางคนก็กลัวจะไม่ได้ธรรม บางคนก็กลัวจะไม่มีปัญญาสารพัดอย่าง ความกังวล ความฟุ้งซ่าน ผูกมัดรัดดึงตรึงเอาไว้หมด เรียบร้อยหมด มีความคิดปกปิดตัวเองเอาไว้หมด นอกจากบุคคลที่จะมาเดินตามแนวทางของพระพุทธองค์

การเจริญสติ ลักษณะของคำว่าสติรู้ตัวปัจจุบันเป็นลักษณะอย่างนี้ ความรู้ตัวที่ต่อเนื่อง ความพลั้งเผลอเราก็เริ่มขึ้นมาใหม่ ตายเป็นตาย ไม่ต้องไปกลัวตาย ทำความเข้าใจเถอะ รู้จักวิธีแล้ว กายวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจวิเวกเป็นอย่างนี้ ไปทำความเพียร อยู่คนเดียว ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ อดพูด อดคิด สังเกตดูความคิด วิเคราะห์ดูความคิด รู้ไม่ทันก็รู้จักระงับยับยั้ง ตากระทบรูปวิญญาณเป็นอย่างไร หูกระทบเสียงวิญญาณเป็นอย่างไร ภาษาธรรม สักแต่ว่าดู สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าฟังเป็นอย่างไร นิวรณธรรมเป็นลักษณะอย่างไร ใจของเรามีความกังวล มีความฟุ้งซ่าน ความรู้ตัวของเราพลั้งเผลอ หรือว่าจิตใจของเรามีความอาฆาตพยาบาท ความขยันหมั่นเพียรของเรามีเพียงพอหรือไม่

บุคคลที่มีบุญมีอานิสงส์ จะพยายามหมั่นสังเกต หมั่นวิเคราะห์ตัวเองอยู่ตลอดเวลาจนเป็นเอง จนเป็นธรรมชาติในการดู ในการรู้ ในการละ ในการชำระสะสางกิเลส จนไม่เหลืออยู่ในจิตใจ มันเหลือมากเหลือน้อย ใจของเราเกิดสักกี่ครั้งสักกี่เที่ยว แต่ละวันตื่นขึ้นมา คนทั่วไปแล้วเพียงแค่ 5 นาทีมันก็ไปแล้วไม่รู้สักกี่เรื่อง เพียงแค่การเจริญสติ​ ฉุดๆ ควบคุมยับยั้งเอาไว้มันก็ทั้งยาก ถ้าไม่ทำบ่อยๆ เราทำบ่อยๆ แล้วก็คลายออกให้มันหมดจดจากใจของเรา ไม่ให้เหลือ มีตั้งแต่จะให้อภัยอโหสิกรรม ไม่เอามาขังไว้ในใจของตัวเรา

จะว่าง่ายก็ง่าย ง่ายสำหรับบุคคลที่ฝักใฝ่ ง่ายสำหรับบุคคลที่สนใจ มันจะยากสำหรับบุคคลที่เกียจคร้าน ยากสำหรับบุคคลที่มีความทะเยอทะยานอยากด้วยอำนาจของกิเลส ถ้าเราเป็นผู้เอาออก เป็นผู้คลายออกให้หมด คลายความโลภ คลายความอยาก ดับแล้วก็คลาย แล้วก็เจริญพรหมวิหารมองโลกในทางที่ดี ใจก็จะคลายออกได้เร็วได้ไว ไม่ต้องเอามาผูกมากักมาขังเอาไว้ สักวันหนึ่งก็คงจะเดินถึงจุดหมายปลายทางกัน

มีความละอาย เกรงกลัวต่อบาป แล้วก็หมั่นสร้างบุญ อะไรควรสร้าง อะไรควรละ ประโยชน์ใกล้ประโยชน์ไกล ประโยชน์ปัจจุบัน รู้จักลักษณะของการเจริญสติที่ต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา กำลังสติของเรามีเพียงพอ จนรู้จนเห็นจนค้นคว้าจนเอาไม่อยู่นั่นแหละ จนกำลังสติของเรากลายเป็นมหาสติมหาปัญญา ค้นคว้าเรื่องจิตเรื่องใจของเรา อะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรคือตัวใจที่แท้จริง ใจก็อาการของใจมันเป็นอย่างไร

หลวงพ่อก็ได้เพียงแค่พูดให้ฟังเรื่องเก่าของเก่า พูดของเก่ามาเป็น​ 30 ปี บางคนก็ฟังจนเบื่อแต่ไม่ไปทำให้มันรู้มันเห็น ไม่รู้ว่าพูดอะไร ไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะว่ามันไม่ถึงใจ มันก็ยากที่จะรู้เรื่อง ทั้งที่ว่าของง่ายๆ นั่นแหละ ถ้่าบางคนมีปัญญา ฟังนิดเดียว ไปทำความเข้าใจ ตามทำความเข้าใจ ยิ่งมีความสุข ยิ่งเห็นใจ เห็นกิเลส เห็นอะไรต่างๆ มันมาหลอกเราได้อย่างไร เราเผลอได้อย่างไร ช่วงนั้นแหละจะมีความสุข เผลอให้กิเลสเริ่มใหม่ แก้ไขตัวเองใหม่

กายวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจวิเวกเป็นอย่างนี้ การน้อมการสำรวจเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องไปถกไปเถียงอะไร ธรรมะแนวทางมีไว้ประพฤติปฏิบัติ ช่วงใหม่ๆ ความลังเลสงสัยเกิดขึ้นที่ใจ หยุดอย่างเดียว ดับอย่างเดียว ฝืนดับวาง ดับวาง ปฏิบัติอย่างเดียว จนกว่าจะเห็นการรวมตัววิญญาณกับอาการของวิญญาณแยกออกจากกันได้ หมดความสงสัยได้ ตามทำความเข้าใจได้ชัดเจน แล้วก็ละกิเลสทุกครั้งที่มันเกิด ไม่ให้คลาดสายตาของสติปัญญาของเราได้เลย นั่นแหละถึงจะเป็นบุคคลที่จะไปถึงฝั่งได้เร็วได้ไว

ฝั่งก็คือนิพพานนั่นแหละ นิพพานก็คือความว่าง ใจที่ว่างจากขันธ์ห้า ว่างจากกิเลส ว่างจากการเกิด ใจที่ไม่เกิด เขาเรียกว่าใจเที่ยง ใจเที่ยง นิพพานก็เที่ยง บางทีถ้าเรายังแจงยังแยกแยะไม่ได้ก็อย่าไปประมาทว่าเราไม่หลง เราหลงอยู่ แต่เราไม่รู้ ก็เลยว่าตัวเองไม่หลง ตราบใดที่มาเจริญสติให้ต่อเนื่อง เราถึงจะรู้ว่าแต่ก่อนนั้นสติเราไม่มีเลย มีตั้งแต่สติปัญญาของกิเลส ของโลกที่วิ่งวุ่นอยู่ตลอดเวลา สติที่จะเข้าไปรู้กายรู้ใจนี่ไม่มีเลย เก่ง​ เก่งตั้งแต่อำนาจของกิเลส ปัญญาเฉโก ปัญญากิเลส ไม่ใช่ปัญญาในธรรมที่จะขัดเกลาทำใจของเราให้สะอาด ให้บริสุทธิ์

ถ้าเราเข้าใจแล้ว อยู่กับสมมติ เคารพสมมติ ไม่ยึดติดสมมติ ทำหน้าที่ของสมมติให้ดี มีตั้งแต่ความสุขในการสร้างอานิสงส์ สร้างประโยชน์มากมาย ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ประโยชน์ใกล้ ประโยชน์ไกล ก็พยายามพากันทำนะ ทุกเรื่องในชีวิต เราต้องแจงออกให้รู้เรื่องให้หมด ไม่ใช่ว่าเรื่องหนึ่งเรื่องเดียว รู้จักวิธี รู้จักแนวทาง แล้วก็ค่อยๆ​ เดิน ค่อยๆ​ ประพฤติ ค่อยๆ​ ปฏิบัติขัดเกลาตัวเอง จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางกัน

เอาล่ะ วันนี้ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจกันนะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง