หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 64

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 64
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 64
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 64
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 16 มิถุนายน 2558

มีความสุขกันทุกคน วันนี้ลูกหลานนักเรียนมาจากไหนกันนะเยอะแยะ มาจากโรงเรียนอะไร พากันนอนหลับดีหรือเปล่า พากันมาจากโรงเรียนอะไร ครูมาคุณครูมาด้วยสักกี่คน คุณครู 5 คน คนเดียวก็พอแล้ว นักเรียนเท่านี้เนาะ ครูพูดคําไหนก็เชื่อฟังหมด ไม่ได้ดื้อรั้น ไม่ได้ยินเสียงเฮฮาเท่าไร มาเที่ยวนี้ หรือว่าไปเฮๆ ได้ยินเสียงเฮฮา อยู่จุดนั้นจุดนี้ มาเที่ยวนี้ไม่ค่อยจะได้ยินเท่าไร นักเรียนชั้น ป.ไหน เข้ามาวัด เข้ามาในวัด เราก็พยายามสำรวม สำรวมกายสำรวมวาจา การพูดการจาก็ให้อย่าไปส่งเสียงดัง พยายามเงียบๆ

ความเงียบ ความอดความทน นี่ก็เป็นตบะอย่างหนึ่ง อะไรเราพอช่วยเหลือตัวเองได้ เราก็พยายามช่วยเหลือ ที่พักที่อาศัยที่หลับที่นอน ที่อาบ ห้องส้วมห้องน้ำ สบู่ยาสีฟัน ผ้าผลัดเปลี่ยน เราก็พยายามวางตาก ให้เป็นที่เป็นทาง อย่าไปตากให้ระเกะระกะ อย่าไปวางระเกะระกะ เพื่อความสวยงาม ในหลักการ แม้แต่การตากผ้า เราก็ต้องดูชายผ้าอีก ว่าชายผ้าของเราที่ตากนั้นเนี่ยเสมอกันหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าทิ้ง ปล่อยปละละเลย ตื่นขึ้นมาเรารีบตื่นแต่เช้า อยากจะให้ดีอีก กราบที่นอนเสียก่อนค่อยลุก ก่อนที่จะนอน ก็ไหว้ที่นอนเสียก่อน ระลึกนึกถึงคุณของพ่อของแม่ ของครูบาอาจารย์ จะเป็นอานิสงส์ติดตามตัวเรา

เราพยายามสร้างความขยันหมั่นเพียร สร้างความรับผิดชอบ ให้มีให้เกิดขึ้นตั้งแต่ตัวน้อยๆ โตขึ้นไปก็จะได้เก่งๆ ไม่เอารัดเอาเปรียบเพื่อน คอยช่วยเหลือเพื่อน คอยให้กําลังใจ คอยช่วยเหลือไม่เอารัดเอาเปรียบ ไม่เห็นแก่ตัว โตขึ้นไปการเดินปัญญาขั้นสูงก็จะตามมา เป็นบุคคลที่ให้ เป็นบุคคลที่เอาออก เป็นบุคคลที่เสียสละ เป็นบุคคลที่มีความรับผิดชอบต่อตัวเราให้ได้ ต่อใจเราให้ได้เสียก่อน ก่อนจะค่อยล้นออกไปสู่ภายนอก อยู่ที่บ้านก็พยายามช่วยพ่อช่วยแม่ ไปที่โรงเรียนตรงไหนไม่สะอาดเราก็ไปทำ ขยะตกหล่นอยู่ตรงไหนเราก็เก็บ มันจะติดเป็นนิสัยของเรา

เมื่อโตขึ้นไปก็จะได้สบาย มีอะไรเราก็ช่วยกัน มีความสมัครสมานสามัคคี ยิ่งคนเยอะเท่าไร ความสมัครสมาน สามัคคีต้องเพิ่มเป็นทวีคูณ รู้จักรักษากาย รักษาวาจา รักษาใจ อะไรควรพูด อะไรควรคิด อะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน ถ้าต่างฝ่ายต่างไม่เชื่อฟังกัน ไปคนละทิศละทาง ก็เป็นวิบากของกรรม แต่ละบุคคลสร้างมาไม่เหมือนกัน แต่ก่อนก็ไม่มีเยอะ ต่อมาก็หลั่งไหลเข้ามา เพราะอานิสงส์แห่งบุญของทุกคน บางทีก็มาทะเลาะเบาะแว้งกัน แล้วก็ไปก็มี ที่อยู่ด้วยกันก็ไม่ค่อยถูกกันก็มี

ถ้าไม่รู้จักแก้ไขตัวเรา ก็ต้องพยายาม บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น แก้ไขตัวเราให้ได้ทุกอิริยาบถ ไม่มีใครที่จะมีความพร้อม ไปหมดทุกอย่าง จากความไม่มีเราก็ทำให้มี จากมีแล้วเราก็ยังประโยชน์ให้เต็มที่ บุคคลที่มีบุญ มีปัญญา ไม่จำเป็นต้องไปพูด ยาก ถ้าคนมีอานิสงส์มีบุญฟังนิดเดียว การเจริญสติเป็นอย่างนี้ การละกิเลสเป็นอย่างนี้ การสร้างตบะบารมีเป็นอย่างนี้ มีตั้งแต่จะเพิ่มความเพียรเป็นทวีคูณ ถ้าบุคคลไม่เอามีแต่ความเกียจคร้าน งอมืองอเท้า คอยหลบคอยหลีก หนักไม่เอาเบาไม่สู้ พูดจนปากเปียกปากแฉะมันก็ไม่สนใจ

ตั้งใจรับพรกัน

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสห้องลมหายใจของเราให้ชัดเจนให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยงกันสักนิดหนึ่ง หยุดความคิด หยุดความกังวลต่างๆ เอาไว้ นั่งตามสบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วยการน้อม หมายถึงการสร้างความรู้ตัว น้อมเข้าไปดู รู้ที่ปลายจมูกของเรา ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว กายของเราก็สบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็สงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจ นั่นแหละเขาเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ เพียงแค่เรื่อง การหายใจเข้าออก พวกเราก็พยายามรู้ให้ชํานาญ

การรู้ให้ต่อเนื่องเขาเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’ เพียงแค่สร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่อง ความเพียรตรงนี้ก็ไม่ค่อยจะ ทำกันเท่าไร มีตั้งแต่เอาความคิดเก่า ปัญญาเก่า ซึ่งมันหลง หลง ทั้งหลง ทั้งยึด ทั้งติด สารพัดอย่าง เอามาใช้ จนผูกมัดตัวเอง ใจไปหาใจไม่เจอหรอก ถ้าเราไม่ได้เจริญสติเข้าไปดับ ให้เข้าไปควบคุม ไปสังเกต ไปวิเคราะห์ ไปขัดไปเกลาไปละ

คนเราจะรู้ความจริงได้ ก็เกิดจากการเจริญภาวนา รู้แจ้งเห็นจริง แล้วก็ทำความเข้าใจ อะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน การเจริญสติเป็นลักษณะอย่างนี้ การควบคุมใจเป็นในลักษณะอย่างนี้ การเจริญพรหมวิหารเป็นลักษณะนี้ เราต้องรู้ด้วย เห็นด้วย เห็นเหตุเห็นผล ชี้เหตุชี้ผล ว่าพระพุทธองค์ท่านสอนเรื่องอะไร ให้ปรากฏขึ้นที่ใจของเรา ท่านสอนเรื่องหลักของชีวิต หลักของอริยสัจ หลักของความจริง สอนเรื่องหลักของอนัตตา คําว่า อนัตตา ของพระพุทธองค์เป็นลักษณะอย่างไร อริยสัจ ใจเกิดอย่างไร ใจส่งไปภายนอกอย่างไร อะไรคือส่วนรูป อะไรคือส่วนนาม ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวพันกันหมดในชีวิตของเรา จนกระทั่งล้นออกไปสู่โลกธรรม ทำความเข้าใจกับโลก สมมติกับวิมุตติ โลกธรรมก็อยู่ด้วยกัน

เราต้องเข้าใจให้รู้ทุกเรื่อง รู้ความจริงให้ได้ บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น เจริญสติเข้าไปหมั่นพร่ำสอนใจ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ใจของเรายังไม่คลาย ใจของเรายังวิ่งยังเกิด ยังดิ้นรนอยู่ เราก็พยายามค่อยอบรมเขา ทีละเล็กทีละน้อย เขาก็จะค่อยสงบตั้งมั่นขึ้น แต่ให้เราให้รู้ให้ชัดเจนว่า ลักษณะของสติที่ต่อเนื่อง แล้วก็เอาไปใช้เป็นลักษณะอย่างไร ไม่ใช่ว่าฝึกเจริญสติไม่รู้จักสติ ฝึกจิตไม่รู้จักจิต รู้ตั้งแต่เมื่อเขาเกิดแล้ว เขาก่อตัวอย่างไร เขาเกิดอย่างไร เราจะแก้ไขอย่างไร ภาระหน้าที่อะไรเราควรทำก่อน เราควรทำหลัง ก็ต้องพยายาม อะไรเป็นบุญเป็นกุศล อะไรเป็นประโยชน์มากประโยชน์น้อย ประโยชน์ใกล้ประโยชน์ไกล ตั้งแต่ไล่เรียงตั้งแต่กายวาจาใจของเรา จนล้นออกไปสู่ภายนอก เอาข้างในให้จบ ล้นไปสู่ภายนอกให้เกิดประโยชน์มากมายมหาศาล ก็ต้องพยายามกันนะ

สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจให้ต่อเนื่องกันสักนิดหนึ่งก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำ

พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจกันเอานะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง