หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 17

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 17
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 17
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 17
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2558

ดูดีๆ นะ พระเรา ชีเรา พิจารณาปฏิสังขาโยทุกเรื่องตั้งแต่ตื่นขึ้นมา อย่าไปปล่อยโอกาสทิ้ง อย่าไปปล่อยเวลาทิ้ง เสียดายเวลา ปัญญาที่สร้างขึ้นมา หรือว่าปัญญาที่เกิดจากใจ แต่การละกิเลส การวิเคราะห์ การทำความเข้าใจ เราก็ต้องเจริญสติเข้าไปวิเคราะห์พิจารณาตามแนวทางของพระพุทธเจ้า ว่าพระพุทธองค์ท่านสอนเรื่องอะไร วิธีไหนที่จะดำเนินเข้าไปถึง ใจของเรานั้นเกิดมานาน หลงมานานแล้วแหละ ทำอย่างไรเราถึงจะคลายความหลงได้

นี่แหละเราต้องมาเจริญสติ จนกลายเป็นมหาสติ จนกลายเป็นมหาปัญญา เข้าไปดู รู้ ชี้เหตุชี้ผล ให้ใจของเราคลายออกจากความคิด คลายออกจากอารมณ์ แล้วก็ละกิเลส ดับความเกิดของใจให้ได้ ปัญญาที่เกิดจากใจ ปัญญาที่เกิดจากส่วนสมอง ปัญญาที่เกิดจากใจ อาการของใจนี้ นี่แหละคนมาหลงปัญญาตัวนี้ เพราะว่าเขาหลงมานาน ใจกับอาการของใจแล้วก็ไปขับเคลื่อน ไปบงการคลื่นสมองไปด้วยกัน

ในหลักธรรมท่านให้สร้างความรู้ตัวกับส่วนบุญส่วนสมอง สร้างความรู้ตัว แล้วก็รู้ให้ต่อเนื่อง รวมกันกับคลื่นสมอง ไปวิเคราะห์ ไปควบคุมความคิดเก่า ควบคุมตัวใจเก่าแล้วจนกว่าใจจะคลายออกจากอาการของใจ ถึงเรียกว่าแยกรูปแยกนาม ถ้าคนไม่มีความเพียร ยากที่จะแยกแยะตรงนี้ได้ เข้าใจตรงนี้ได้ ก็เลยเอาปัญญาเก่าผิดถูกชั่วดีอย่างไรก็เป็นแค่ระดับของสมมติ อยู่ในบุญกุศลระดับของสมมติ ก็ค่อยบําเพ็ญกันไป ค่อยสร้างอานิสงส์กันไป เพียงแค่ระดับวิบากกรรมของสมมติเราก็พยายามแก้ไขให้ราบรื่น ภายในก็จะค่อยราบรื่นไปด้วย

ทุกเรื่องตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ไม่ใช่ว่าทำปุ๊บมันจะได้ปั๊บ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาหายใจเข้าออกเป็นอย่างไร จะลุก จะก้าว จะเดิน เป็นอย่างไร ภารกิจก่อน ภารกิจหลัง อะไรเป็นตัวสั่งพากายเดิน ส่วนมากก็ใจกับอาการของใจไปก่อน เพราะว่าเราฝึกอยู่ แต่ฝึกไม่ถึง ไม่ถึงจุดหมาย นอกจากบุคคลมีความเพียร มีการขัดเกลา มีความเพียรจริงๆ ละกิเลสจริงๆ ถึงจะออกได้ อยู่ด้วยปัญญาล้วนๆ แก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเราตลอดเวลา กายทำหน้าที่อย่างไร ทวารทั้งหกทำหน้าที่อย่างไร รอบรู้ในกองสังขาร ในขันธ์ห้าเป็นอย่างไร ความเกิดความดับของจิตวิญญาณเป็นอย่างไร แม้แต่สติปัญญาส่วนสมอง ถ้าเป็นอกุศลเรายังให้ดับอีก ไม่ให้เกิด มองโลกในทางที่ดี คิดดี ทำดี

ทุกคนมีบุญนะ มีบุญมีบารมีกันหมด อย่าไปคิดว่าทำบุญเยอะๆ จึงเป็นการสร้างบารมี มันทำบุญหลายอย่าง บางทีทำบุญเอาหน้าเอาตา บางคนก็ทำเพื่อความเสียสละ ละกิเลส เพียงแค่นิดเดียวนะ ก็ขัดเกลาถึงความบริสุทธิ์ของใจได้ ไม่เอารัดเอาเปรียบตัวเอง ไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น ละความเห็นแก่ตัวออกจากใจของตัวเรา อารมณ์ความคิด ซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรมนี้มันละเอียดอ่อน ถ้าผิดหนทางแล้วก็ห่างไกลดวงใจ

เพียงแค่การเกิดของใจนะ การเกิดของใจ ใจมันก็ไม่นิ่ง ปฏิบัติธรรม ไม่รู้จักธรรม เจริญสติไม่รู้จักสติ มีตั้งแต่ปัญญาของกิเลส คุยกันเรื่องธรรม มีแต่ธรรมเมา มีตั้งแต่กิเลสธรรม คุยไปคุยมาแล้วก็โต้เถียงกัน ทะเลาะเบาะแว้งกัน แทนที่จะขัด จะเกลา จะละ ธรรมเมาก็เลยไม่ลงกัน มีแต่คนเก่งๆ อัตตามันเกิดก็เลยทะเลาะเบาะแว้งกัน ตีกัน

อย่างกับหลวงตาสมัยก่อน หลวงตาทางอุดรฯ หรือทางไหนที่เขาลงหนังสือพิมพ์ ผู้เฒ่าบวชตอนแก่ คนหนึ่งไปบวชกับอาจารย์ผู้ประพฤติปฏิบัติเก่ง คร่ำเคร่ง อีกคนหนึ่งก็ปกติธรรมดา เป็นฝ่ายธรรมยุตกับมหานิกาย แต่ก่อนเป็นเพื่อนกัน เป็นฆราวาสก็ถูกกันดีๆ ไปมาหาสู่กัน คุยกัน เพราะต่างคนต่างก็ออกบวช อีกองค์หนึ่งก็ไปบวชปฏิบัติคร่ำเคร่ง อีกองค์หนึ่งก็ปฏิบัติอยู่บ้าน อยู่วัดบ้าน ฉัน 2 มื้อ อีกองค์หนึ่งฉันมื้อเดียว ไปคุยกัน ทีนี้ไปเจอกันว่าตัวเองปฏิบัติเก่ง ปฏิบัติเคร่ง อีกองค์หนึ่งก็มันเป็นธรรมดา ไม่ต้องไปคร่ำเคร่งมากมาย มีอะไรมักรอคอยขัดเกลากิเลสออกไป เถียงกันไป ทะเลาะเบาะแว้งกันไปทะเลาะเบาะแว้งกันมา ไอ้คนเก่งอัตตาก็ใหญ่ ไอ้คนที่ไม่เก่งก็เกิดความขุ่นมัว เกิดความโกรธ ก็เอามีดจิ้มพุงเอานะ ตายคาที่

ส่วนอีกที่หนึ่งก็อยู่ทางปักษ์ใต้ นายพลด้วย นายพล เอาลงข่าวนายพลนิมนต์พระทางวัดป่า วัดบ้าน ไปทำบุญส่วนที่บ้าน วัดป่าก็ธรรมยุต ไม่จับเงิน วัดบ้านก็มหานิกาย เขาถวายก็รับ ทีนี้ก็เขาก็ถวายไว้ให้กับพระวัดบ้านหมด ทะเลาะเบาะแว้งกัน ว่าตัวเองเก่ง ตัวเองเคร่ง เข้าไปในบ้าน เข้าไปดึงอาสนะออก ว่าเป็นพระไม่นั่งอาสนะที่อ่อนนุ่มว่าอย่างนั้น ที่เขาปูสาดปูเสื่อ ไม่รู้จักใช้ปัญญา ก็ลงไปนั่งต่ำกว่าเพื่อนนะ ว่าตัวเองเก่ง ตัวเองเคร่ง พูดกันไปพูดกันมา มหานิกายกับธรรมยุตก็ลุกขึ้นต่อยกันในงาน วิ่งเตลิด เห็นแล้วก็น่าอายนะ

การปฏิบัติธรรมคร่ำเคร่งมากมายถึงขนาดไหน จุดหมายก็เพื่อละกิเลส การเจริญสติ การเจริญปัญญา ข้อวัตรปฏิบัติมากมาย ก็เพื่อให้มีสติคอยสำรวมระวังกาย วาจา ใจ ถ้าในหลักการแล้วก็ มีความยินดีแม้แต่นิดเดียวมันก็ผิดแล้ว ใจไปยินดียินร้าย ไปยึดแม้แต่เงินบาทเดียว ถ้าใจปล่อยวางความคิดอารมณ์ ดับความเกิด จัดการกับความเกิด ละกิเลสที่ใจออกให้มันหมดจด จะมีมากองท่วมหัวก็ใช้ให้มันเกิดประโยชน์ไม่ได้ ไปทุกข์ ไปติดไปยึด มีให้เป็น ใช้ให้เป็น ใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่ส่วนมากไม่รู้จัก บางทีก็ขึ้นรถ เคยเห็นบ่อยสมัยก่อน เป็นพระธุดงค์ ไม่จับเงินจับทอง เอาเงินไปวางไว้ข้างหน้า รถจอดแล้วก็ให้โชเฟอร์เขามาเอาค่ารถถึงจะขึ้น บางทีก็เอาไม้คีบเอา เอาไม้คีบเอาให้บอกว่า ถือไฟว่าอย่างนั้น ไม่รู้จัก เอาไม้คีบว่าจับไฟ ทั้งที่มันไหม้ตัวเองอยู่ตลอดไม่รู้จัก นี่แหละความหลง ความไม่เข้าใจ

จุดหมายปลายทางของธรรมของพระพุทธองค์ก็คือ การขัดเกลากิเลสให้ถึงสภาวะจิตที่แท้ที่จริง ดวงเดิม เขาเกิดเขาหลง เขาถึงเกิด มาเจริญสติ เข้าไปชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล ตามดูรู้ความเป็นจริง ใจรู้ความเป็นจริงเขาก็จะละ เขาก็จะวางของเขาเอง พูดง่ายอยู่ ต้องสร้างสะสมอานิสงส์บารมีขัดเกลากิเลส เป็นผู้ให้ ผู้เอาออก ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง อยู่ที่นี่คงไม่มีนะ เพราะว่าหลวงพ่อพา เมื่อคืนนี้ก็เห็นว่าพากันทำงานละนิวรณ์ ละนิวรณ์ทำน้ำตกใหญ่ที่วิหารพระหยก ทำไปด้วยดูใจไปด้วย สติพลั้งเผลอ เห็นว่าทำจนกระทั่งตีห้า ทำวัตรพอดี ทีนี้นิวรณ์ตัวนี้จะไปเล่นงานเอาช่วงที่เราฉันข้าวเสร็จ อย่าเพิ่งไปพักให้มัน ฝืนต่อ ช่วงฉันข้าวเสร็จ อะไรเสร็จแล้วมันก็เริ่มครอบงำ อยากพัก อยากนอน อยากนั่นอย่างนี้ กายก็จะหาวว้อยๆ เราก็พยายามฝืนอีก ฝืนสักตั้งหนึ่งเสียก่อน อาบน้ำอาบท่า ให้มันสดชื่น ถ้าอยากจะพักก็ค่อยพักกัน อย่าเพิ่งไปพักให้มัน ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 เริ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

สมัยก่อนหลวงพ่อนี่ไม่นอนทั้ง 9 คืน 9 วันเลย ตามดูใจ หนาวๆ ถ้านิวรณ์จะครอบงำ ก็ลุกอาบน้ำ เดิน จนกระทั่งดูในกระทั่งในนิมิตว่าเกิดอย่างไร ไปอย่างไร จนจิตนี่ยิ้มขึ้นมาเฉยๆ ว่านั่นมันก่อตัวอย่างไร มันจบลงอย่างไร ไปอย่างไรมาอย่างไร ตามดู 9 วัน 9 คืน เอาการงานเป็นตัวฝึก กลางวันก็ทำงานละนิวรณ์ ละความเกียจคร้าน ไม่นอน นั่ง ถ้านิวรณ์จะครอบ ลุกเดินอาบน้ำ มีความสุข เราจะพลั้งเผลอให้กิเลสตัวไหน ไปอย่างไร มาอย่างไร ถ้าเราทำความเข้าใจได้ เราค่อยพัก ทั้งอดอาหาร ทั้งละนิวรณ์ เราต้องทำ ศึกษาให้ละเอียดก่อนที่จะพักได้ ก่อนที่จะถึงจุดหมายปลายทางได้ ทุกเรื่องเลยในชีวิต ไม่ใช่ว่ารู้นิดๆ หน่อยๆ แล้วก็ปล่อยปละละเลย พระเรา ชีเราก็พยายามขยันกัน

ตั้งใจรับพร

ขอให้ญาติโยมทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน ให้ต่อเนื่อง กันสักพักหนึ่งก็ยังดี ความต่อเนื่อง ความสืบต่อ เพียงแค่การเจริญสติ พวกเราก็ขาดการทำความเพียรตรงนี้ ถ้าเราเจริญสติให้ต่อเนื่องลึกลงไป เราก็จะรู้ความปกติของใจ รู้การเกิดการดับของใจ รู้การเกิดการดับของอาการของขันธ์ห้า ว่าใจกับอาการของขันธ์ห้าเขาไปรวมกันได้อย่างไร ซึ่งเป็นฝายนามธรรม

ถ้าเราสังเกตทัน บางทีเราอาจจะเห็นใจเคลื่อนเข้าไปรวม ขณะเขาเคลื่อนเข้าไปรวม ถ้าเรารู้ทันเขาก็จะดีดออกจากความคิด อาการของขันธ์ห้า แล้วเขาก็จะพลิกหงายจากของที่คว่ำ ใจก็จะว่าง กายก็จะเบา ความรู้ตัวที่เราสร้างขึ้นมา ตามดูเห็นความเกิด ความดับของขันธ์ห้าว่าเป็นเรื่องอะไร เป็นเรื่องอดีต หรือว่าเป็นเรื่องอนาคต หรือว่าเป็นกลางๆ ว่าเขาเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีเยอะอยู่ในกายของเรา ในส่วนรูป หรือว่าร่างกายนี่ ก็ที่นั่งอยู่นี่แหละ

ส่วนความรู้ตัว หรือว่าส่วนปัญญาตัวใหม่ เราต้องสร้างขึ้นมา แล้วก็ไปใช้การใช้งานให้ได้ รู้ไม่ทันการเกิดของใจ ของความคิด เราก็ใช้สมถะเข้าไปดับ เพื่อที่บั่นทอนกําลังเขาลงไป แต่การสร้างบารมี สร้างอานิสงส์ส่วนอื่น ทุกคนสร้างกันมาดี มีศรัทธาเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย เชื่อบุญเชื่อบาปเชื่อกรรม แต่เราต้องทำความเข้าใจว่าอะไรคือกรรม กายนี่แหละก้อนกรรม กรรมที่เป็นฝ่ายนามธรรม ที่มาปรุงแต่งใจ แล้วก็ใจปรุงแต่งส่งออกไปภายนอกเป็นอย่างไร แยกแยะ ชี้เหตุชี้ผล ตามดู รู้เหตุรู้ผล จนใจมองเห็นความเป็นจริง แล้วก็ค่อยละค่อยดับ กรรมเก่าก็ตามไม่ทัน ก็เลยเป็นอโหสิกรรม

กรรมใหม่ที่สร้างขึ้นมาก็เป็นแค่เพียงกิริยา การกระทำด้วยสติ ด้วยปัญญา เพื่อยังประโยชน์ เราต้องพยายามรู้ให้ถึงต้นเหตุ พระพุทธองค์ท่านสอนเข้าถึงเหตุ ชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล จากน้อยๆ มันก็ค่อยๆ กว้างขวางออกไป เหตุผลทางสมมติ เหตุผลทั้งทางด้านวิมุตติ แล้วก็ขัดเกลากิเลสออกจากใจของตัวเรา คนทั่วไปนี่มีแต่สร้างเหตุเข้ามาทับถมดวงใจ มันก็เลยยากที่จะคลายออกเข้าถึงความบริสุทธิ์ ความหลุดพ้น อย่างมากก็ได้ไปฝึกหัดปฏิบัติ ก็ได้แค่ความสงบ ความสงบเล็กๆ น้อยๆ กับการสร้างบุญ สร้างทาน สร้างบารมี แต่ก็อย่าไปทิ้ง พยายามสร้างอานิสงส์ สักวันหนึ่งก็คงจะเต็มเปี่ยม คนเราสร้างสะสมอานิสงส์ไปเรื่อยๆ ถึงวันอิ่มก็อิ่ม เหมือนกับเรารับประทานข้าวปลาอาหาร ใหม่ๆ ก็เกิดความหิว เราทานไปเรื่อยๆ ถึงเวลาอิ่มก็อิ่ม จะรู้

การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน กําลังสติ กําลังปัญญา การวิเคราะห์ การเห็นเหตุเห็นผล ชี้เหตุชี้ผล หมดความสงสัย หมดความลังเล ช่วงฝึกใหม่ๆ อย่าเอาความคิดโลกๆ ความคิดเก่าๆ มาโต้แย้ง จงเจริญสติตามแนวทางของพระพุทธองค์ เมื่อแยกได้ คลายได้ ตามดูได้ รู้เห็นความเป็นจริงได้ ท่านถึงบอกให้เชื่อ หลักของอริยสัจ ความจริงเป็นอย่างนี้ ใจที่ส่งออกไปภายนอกเป็นอย่างนี้ ใจที่หลงขันธ์ห้าเป็นอย่างนี้ ทำให้เกิดอัตตาตัวตน ใจที่แข็งกร้าวหรือว่าอ่อนน้อม ความกตัญญู ความกตเวที ความเสียสละ รู้จักวิเคราะห์พิจารณา สักวันหนึ่งเราก็คงจะรู้รอบ ท่านถึงบอกว่ารู้รอบในกองสังขาร รู้รอบในขันธ์ห้า แล้วก็รอบรู้ในสมมติ รอบรู้ในโลกธรรม ก็สมมติอยากมีความสงบความสุข กายของเรานี่แหละก้อนสมมติ ไม่ใช่ที่ไหนเลย สมมติภายนอก สมมติภายใน ก็ต้องพยายามกันนะ

สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจให้ชัดเจน อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวขณะนี้ก็ให้รู้ว่าลมหายใจเข้าออกให้ชัดเจน อย่าไปมองข้าม

พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปสร้างสานต่อให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง