หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559 ลำดับที่ 46 วันที่ 18 ธันวาคม 2559

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559 ลำดับที่ 46 วันที่ 18 ธันวาคม 2559
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559 ลำดับที่ 46 วันที่ 18 ธันวาคม 2559
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559 ลำดับที่ 46
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 18 ธันวาคม 2559

มีความสุขกันทุกคน วันนี้ก็ญาติโยมคณะครูจากทางศรีสะเกษ ผอ. พาหมู่พาคณะพาบริวารมาทําบุญ มาตั้งแต่เมื่อวาน มาตั้งแต่เมื่อวานทำไมได้อยู่น้อยจัง ทําไมไม่อยู่หลายๆ วัน จะได้มีความสุข วางภาระหน้าที่ทางบ้านมา กายก็วิเวก ทีนี้เราก็มาศึกษาใจของเราให้วิเวกจากกิเลส จากอารมณ์ต่างๆ มีเวลาน้อย มีโอกาสก็ชวนกันมา ชวนกันมาทําบุญ ชวนกันมาถวายทาน

ถ้าเราเข้าใจในชีวิตของเรา เราก็เข้าวัด เข้าวัดภายใน ตั้งแต่อยู่บ้าน ตั้งแต่ตื่นขึ้นสํารวจตรวจตรารู้กายของเรารู้ใจของเราว่าอะไรขาดตกบกพร่อง อะไรควรทําก่อน อะไรควรทําหลัง ประโยชน์ใกล้ ประโยชน์ไกล ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ก็พิจารณาอยู่ทุกวัน แล้วก็ทําความเข้าใจตามแนวทางของพระพุทธองค์ ตามแนวทางของพระพุทธเจ้า

น้อมนําเอาคําสอนของพระพุทธองค์มาปฏิบัติ ว่าท่านสอนเรื่องอะไร ท่านสอนเรื่องความจริงของชีวิต แต่ละวันๆ กายของเราทําหน้าที่อย่างไร วิญญาณในกายทําหน้าที่อย่างไร คําว่าอัตตา อนัตตา ของพระพุทธองค์เป็นลักษณะอย่างไร อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในขันธ์ห้าของเราเป็นอย่างไร เราควรที่จะศึกษาค้นคว้า

ศรัทธานั้นมีกันเต็มเปี่ยม แต่ปัญญาต้องเกิดจากการเจริญภาวนา รู้แจ้งเห็นจริง แยกรูปแยกนาม ทําความเข้าใจ ขัดเกลากิเลสออกจากจิตจากใจของเรา ให้เห็นตามความเป็นจริง เราก็จะเข้าใจตามคําสอนของพระพุทธองค์ว่าความจริงอันประเสริฐสี่ ‘อริยสัจสี่’ นั่นแหละ ความจริง มีกันอยู่ในกายในใจเราหมดทุกคน ถ้าเราน้อมสังเกตดู วิเคราะห์พิจารณา อบรมใจของตัวเรา

แต่ละวันใจของเราเกิดสักกี่เที่ยว ใจของเรามีกิเลสหยาบกิเลสละเอียดเข้ามาปรุงแต่ง หรือว่าใจของเราไปหลงไปยึดไปติดได้อย่างไร อันนี้ต้องเกิดจากการเจริญภาวนารู้แจ้งเห็นจริง ท่านถึงบอกให้เชื่อ แต่การทําบุญให้ทานศรัทธาอันนี้มีกันเต็มเปี่ยม เราทําได้เท่าไรเราก็เอา อย่าพากันปล่อยวันเวลาทิ้ง เสียดายเวลา

เพียงแค่เรื่องการหายใจเข้าออก พวกเราก็สังเกตได้ทันสัก 5 นาที 10 นาที หรือเปล่า การอยู่ การรับประทานข้าวปลาอาหาร เราก็รู้จักพิจารณาแยก ความอยาก ความหิว ได้แล้วหรือยัง กายของเราทวารทั้งหกของเราทําหน้าที่อย่างไร เราต้องดูต้องศึกษาปัญญาทางโลกเป็นอัจฉริยะกันหมด เรามาพลิกปัญญาโลกให้เป็นปัญญาธรรม

การสร้างความรู้ตัว รู้ลมหายใจ รู้กายลึกลงไปก็รู้ใจ รู้ความปกติของใจ จนกว่าจะรู้เท่าทันใจกับอาการของใจเข้าไปรวมไปร่วมกันได้อย่างไรนั่นแหละ ‘ความหลง’ หลง หลงอัตตา หลงขันธ์ห้า แล้วก็หลงเกิด ตัวหลงเกิดนี่สําคัญ ถ้าไม่เกิด ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด ตัววิญญาณเกิดปรุงแต่ง ขณะนี้เขามาเกิดอยู่ในภพของมนุษย์ มีขันธ์ห้าปิดกั้นตัวเอาไว้ เรามาเจริญสติเข้าไปแยกแยะจิตวิญญาณออกจากขันธ์ห้า ให้รับรู้อยู่ในกายของเรา

ก็นอกจากบุคคลที่ขยันหมั่นเพียร มีความเพียรเป็นเลิศ มีความเสียสละเป็นเลิศถึงจะเข้าถึงทรัพย์ตรงนี้ ศรัทธาแล้วก็ปัญญามีเป็นอาวุธในการทําความเข้าใจ แต่ละวัน ใจของเราเกิดสักกี่เที่ยว เป็นทาสกิเลสสักกี่ครั้ง ถ้าเราไม่ได้เจริญสติเข้าไปแยกแยะเราก็ว่าเรามีปัญญา แต่เป็นปัญญาของสมมติ ปัญญาของโลกีย์ ปัญญาที่เคลือบแฝงด้วยกิเลส กิเลสเป็นลักษณะหน้าตาอาการอย่างไร เราต้องหัดสังเกตหัดวิเคราะห์ แต่ละวันๆ ความเสียสละ ความอดทน ความอ่อนน้อมถ่อมตน การฝักใฝ่ การสนใจ หรือว่าจิตใจของเรามีความตระหนี่เหนียวแน่น เราก็พยายามดู

การได้ยิน การได้ฟัง การได้อ่าน ผ่านกาลผ่านเวลากันมาเยอะ ปฏิบัติฝึกหัดขัดเกลาตัวเราที่โน่นบ้างที่นี่บ้างก็เป็นสิ่งที่ดี เป็นการเพิ่มพูนกําลังสติปัญญาของเราให้แก่กล้าขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงเวลาที่กําลังสติปัญญาของเรารู้เห็นตามความเป็นจริง รู้ลักษณะของใจที่ปราศจากกิเลสเป็นอย่างไร ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างไร ใจที่คลายจากขันธ์ห้าเป็นอย่างไร

แต่การทําบุญให้ทานศรัทธาทุกคนมีกันเต็มเปี่ยม เราลองพยายามรู้ใจของเรา รู้ทานของใจของเรา เจริญสติเข้าไปอบรมใจให้ได้ตลอดเวลา คําว่า ‘สัมมาทิฏฐิ’ ความเห็นถูก ความเห็นแจ้ง ความเห็นจริง เห็นจริงอะไรล่ะ เห็นจริงคือเห็นใจของเราคลายออกจากขันธ์ห้า แยกรูปแยกนามได้ ตามดูรู้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในขันธ์ห้า

ตราบใดที่กําลังสติไม่ต่อเนื่อง ตราบใดที่เรายังแยกรูปแยกนามไม่ได้ ก็ยากที่จะเข้าใจในส่วนลึกๆ นอกจากบุคคลที่มีความเพียร มีความเพียรทั้งกลางวันทั้งกลางคืน จนรู้เท่าทันอบรมใจของตัวเราได้ใช้ตัวเองเป็น

ตนเป็นที่พึ่งของตน ‘ตน’ตัวแรกคือตัวสติ ‘ตน’ ตัวที่สองก็คือใจ สติปัญญาเป็นที่พึ่งของใจแล้ว ได้แล้วหรือยัง หรือว่ามีตั้งแต่ส่งเสริม ส่งเสริมกิเลสอยู่ จงอยู่เหนือกิเลส ละกิเลส ใช้กิเลสให้เกิดประโยชน์ ก็รู้จักดูแลสมมติ กายของเรานี่แหละก้อนสมมติ ทวารทั้งหกทําหน้าที่อย่างไร ตา หู จมูก ลิ้นกาย มีกันทุกคน มีอาการครบ 32 กันทุกคน

อย่าไปปิดกั้นตัวเราว่าไม่มีโอกาสว่าไม่มีเวลา ทุกลมหายใจเข้าออกสําคัญ ทุกขณะจิตทุกขณะลมหายใจเข้าออก กว่าใจของเราจะยอมรับสิ่งต่างๆ ได้ กําลังสติต้องแยกแยะ ชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล เพียงแค่ระดับสมมติเราก็พยายามทําให้ดี มีความซื่อสัตย์ต่อตัวเราเอง มีความเสียสละ มีความอ่อนน้อม มีการฝักใฝ่ มีการสนใจอยู่ตลอดเวลา สักวันหนึ่งเราก็คงจะเห็นจุดหมายปลายทางกันว่าพระพุทธองค์ท่านสอนเรื่องอะไรในชีวิตของเราในกายก้อนนี้ กายนี่แหละคือสนามรบอย่างดีเลยทีเดียว

เราพยายามหัดสังเกตหัดวิเคราะห์ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่จนกระทั่งถึงเวลานอนหลับ เวลาจะรับประทานข้าวปลาอาหารก็เหมือนกัน เรารู้จักพิจารณา แยกความอยาก แยกความหิว กายของเราเกิดความหิวหรือว่าใจของเราเกิดความอยาก เราก็ต้องดู วิเคราะห์ใจปกติ ใจที่คลายจากขันธ์ห้า ใจที่ไม่มีกิเลส

อยู่คนเดียวก็มีความสุข อยู่หลายคนก็มีความสุข ถ้าเราเข้าใจในธรรม เข้าใจในชีวิตของเรา อะไรคือธรรม อะไรคือสติปัญญา บางคนบางท่านก็เจริญสติก็ไม่รู้จักเอาสติปัญญาไปใช้ อะไรคือธรรม ตัวใจนั่นแหละคือตัวธรรม แต่เวลานี้เขายังหลงอยู่ หลงเกิด หลงมาเกิดมาสร้างขันธ์ห้าปิดกั้นตัวเอง แล้วก็ไปเป็นทาสของกิเลสอีก กิเลสหยาบกิเลสละเอียดอีก เราก็ต้องพยายามหมั่นขัด หมั่นเกลา หมั่นวิเคราะห์ หมั่นสํารวจ หมั่นตรวจตราอยู่ตลอดเวลา เราชนะเราแล้ว เราก็ชนะหมด ชนะตัวเอง ชนะตัวเองก็ชนะหมด ให้กิเลสเล่นงาน แต่ละวันๆ เราก็พยายาม จิตใจของเราเกิดความโลภ เราก็ละความโลภด้วยการให้ ด้วยการเอาออกด้วยการคลาย จิตใจเกิดความโกรธก็พยายามดับความโกรธด้วยการให้อภัย ขยันหมั่นเพียร

เพียงแค่ระดับสมมติ สมมติที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยวเราก็ยังสมมติให้เกิดประโยชน์ แต่ละวันเราก็ยังอาศัยสมมติอาศัยปัจจัยสี่ แต่เราต้องแยกแยะให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น ถ้าเราสอนตัวเราไม่ได้ ถ้าไปเที่ยวให้คนอื่นเขาสอน ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ครูบาอาจารย์ตำราก็เป็นแค่เพียงแผนที่ชี้แนะแนวทางให้ เราต้องสร้างสติจนกลายเป็นมหาสติ แยกรูปแยกนาม ตามดูรู้เห็นตามความเป็นจริง จนใจของเรายอมรับความเป็นจริง ชี้เหตุชี้ผลได้นั่นแหละ ใจยอมรับความเป็นจริงได้ เขาก็ปล่อยเขาวางได้ บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น

แต่ใจนี่ก็แปลกนะ เขาก็หาเรื่องปิดกั้นตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าเขาหลงเกิดมานาน หลงเป็นทาสของกิเลสมานาน ก็ต้องค่อยหมั่นอบรม หมั่นพร่ำสอน หมั่นควบคุม แล้วก็ทั้งตีแล้วตีอีก กระหนาบแล้วกระหนาบอีก จิตใจเขาก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ มีอีกอย่างหนึ่งขันธ์ห้าเขาก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ นอกจากกําลังสติปัญญาของเราจะเข้มแข็ง กําลังตบะบารมีของเราจะเข้มแข็ง มีความขยันหมั่นเพียรทั้งภายนอกทั้งภายใน ไม่ต้องไปกังวลว่าจะไม่รู้ไม่เห็น ถ้าเดินตามแนวทางของพระพุทธองค์ ถึงจุดหมายแล้ว

ท่านถึงบอกให้เชื่อ อย่าไปเชื่อแบบหลงงมงายอีกด้วย มีเหตุมีผล ทางสมมติก็มีเหตุมีผล ทางวิมุตติก็มีเหตุมีผล เหตุผลทางด้านนามธรรม เหตุผลทางสมมติ ตราบใดที่เรายังแยกแยะไม่ได้ มันก็จะเอาตั้งแต่เหตุผลสมมติเข้ามาแก้ไข เข้ามาตัดสิน บางครั้งก็ถูกบ้าง บางครั้งก็ผิดบ้าง ทั้งที่ยังหลงอยู่ นอกจากบุคคลที่มาเจริญสติให้ต่อเนื่อง ถึงจะรู้ว่าตัวเรานี่ขาดสติ ถ้ากําหนดสติไม่ต่อเนื่องมันก็ยากที่จะเข้าใจ

เราต้องพยายามสร้างบุญสร้างอานิสงส์ สร้างตบะบารมี ไปที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง เหมือนกับการไปใส่น้ำใส่ปุ๋ย ไปหาประสบการณ์ ถ้าเราเข้าใจแล้ว อยู่ที่ไหนก็เป็นวัด เพราะว่ากายของเราเป็นวัด เจริญสติเข้าไปเยี่ยมพระ ตัวพระก็คือตัวใจ เราปล่อยวางได้มากเท่าไร ใจของเราก็เป็นพระ เราดับความเกิดได้ คลายความหลงได้ เราก็ไม่ต้องกลับมาเกิดกัน มองเห็นหนทางเดิน ว่าเราจะได้กลับมาเกิดหรือไม่กลับมาเกิดกัน

โชคดีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วก็มีโอกาสได้พบพระพุทธศาสนาอีกด้วย เราก็พยายามศึกษาค้นคว้าปัญญาทางโลกก็เป็นอัจฉริยะ ผ่านกาลผ่านเวลาจากตั้งแต่เด็กโตเป็นผู้ใหญ่ ความเสื่อมก็ปรากฏให้เห็น เสื่อมขึ้นเสื่อมลง แล้วก็ถึงเวลาวาระเขาก็ต้องแตกดับ กายเนื้อก็ต้องแตกดับ อันนี้เป็นกฎของไตรลักษณ์ กฎของความเป็นจริง

ถ้าเราศึกษาเรื่องความเป็นจริงในชีวิตของเรา เราก็จะเข้าใจไม่ปล่อยปละละเลย ไม่ว่าผู้ดีมีจน พระราชามหากษัตริย์ ก็หนีไม่พ้นความตาย เราอย่าพากันประมาท ให้พยายามพากันพิจารณาแก้ไขทั้งสมมติทั้งวิมุตติ ทั้งความเป็นอยู่ของเราให้เรียบร้อย เพียงแค่ระดับสมมติในทางโลกเราก็ยังทะเลาะเบาะแว้งกัน ยังทะเลาะเบาะแว้งกัน ต้องพยายามไปทะเลาะเบาะแว้งกับกิเลส ขัดเกลากิเลส ละกิเลสออกจากใจของเราให้หมดจด เราก็จะได้มีความสุข สุขทั้งภายใน สุขทั้งภายนอก ไม่ปล่อยวันเวลาทิ้งเสียดายเวลา

เกิดมาเป็นมนุษย์ก็รู้จักหน้าที่ เปลี่ยนจากหน้าที่เป็นความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบก็ทําความเข้าใจให้รู้แจ้งเห็นจริง เพราะว่าแนวทางมีอยู่ นอกจากเราจะไม่สนใจเท่านั้นเอง

พากันตั้งใจรับพรกัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง