หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 43 วันที่ 26 พฤษภาคม 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 43 วันที่ 26 พฤษภาคม 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 43 วันที่ 26 พฤษภาคม 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 3 (ลำดับที่ 41-60)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 43
วันที่ 26 พฤษภาคม 2557


เจริญธรรมญาติโยมทุกคนทุกท่าน ขอให้ญาติโยมจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบายวางกายให้สบาย หยุดความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ เอาไว้ชั่วครั้งชั่วคราว ถึงเราหยุดไม่ได้ ถึงเราละไม่ได้ เดินปัญญาแยกจิตแยกความคิดไม่ได้ ก็ขอให้อยู่ในความสงบ


ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเราได้สร้างความรู้ตัว รู้กายของเราแล้วหรือยัง แล้วก็รู้ให้ต่อเนื่อง หลวงพ่อก็พูดเรื่องเก่า ของเก่าอยู่นี่แหละ มาเป็น 30 ปีแล้ว เพียงแค่เรื่องการหายใจเข้าออกให้รู้กาย ลึกลงไปให้รู้ใจ รู้ลักษณะของใจ ใจที่ปกติเป็นอย่างไร ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างไร มีความคิดที่ผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจ ใจเคลื่อนเข้าไปรวมความคิดได้อย่างไร


เราต้องมาสร้างผู้รู้ให้ต่อเนื่อง หมั่นพร่ำสอนใจของเรา แก้ไขใจของเราอยู่ตลอดเวลา ใจของเราเกิดกิเลส เราก็รู้จักหยุด รู้จักดับ รู้จักละ รู้จักวิธีแก้ไข ความรู้ตัวของเราพลั้งเผลอ เราก็เริ่มขึ้นมาใหม่ คนที่จะเดินถึงจุดหมายปลายทางได้ต้องเป็นบุคคลที่มีความขยันหมั่นเพียร เป็นบุคคลที่ขัดเกลากิเลสออกจากใจของตัวเราเอง


การไปปฏิบัติธรรมที่โน่น ปฏิบัติธรรมที่นี่ ก็คือปฏิบัติกาย ปฏิบัติใจ ให้อยู่ในความถูกต้อง ให้อยู่ในความปกติ ลึกลงไปก็ให้คลายความหลง ซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรมด้วยกัน นามธรรมคือเพียงเรารับรู้เพียงแค่อาการ เห็นอาการการเกิดการดับ ไม่ให้ใจของเราเข้าไปหลง ส่วนกายนี่เป็นส่วนรูป ส่วนวิญญาณในกายของเรา นั้นเป็นส่วนหนึ่งของรูป ซึ่งเรียกว่าขันธ์ห้า มีอยู่ห้าขันธ์ ห้ากอง ทำอย่างไรเราถึงจะห้ากอง ห้าขันธ์ อันนี้เราต้องมาเจริญสติตัวใหม่ หรือว่าปัญญาตัวใหม่เข้าไปพิจารณา เข้าไปดูรู้ให้ทันต้นเหตุ ชี้เหตุชี้ผล


แต่เวลานี้กำลังสติมีน้อย ไม่ค่อยจะเจริญ ไม่ค่อยจะสร้างกัน จะเอาตั้งแต่ปัญญากับการทำบุญให้ทาน อยู่เพียงแค่นี้ คนเราจะสว่างถึงความสะอาดบริสุทธิ์ได้ ก็เกิดจากการเจริญปัญญา เกิดจากการเจริญสติ แล้วก็เข้าถึงความหมายของคำว่า ‘ปัจจุบันธรรม’ คือทุกขณะลมหายใจเข้าออก อันนี้เขาเรียกว่ารู้กาย ทุกขณะลมหายใจเข้าออก


เรารู้แล้ว รู้จักวิธี รู้จักแนวทาง ยืน เดิน นั่ง นอน ให้เป็นแค่เพียงอิริยาบถ ใจจะเกิดความอยากเราก็รู้จักระงับยับยั้ง ใจจะเกิดความโกรธ ความโลภ หรือว่าใจจะปรุงแต่ง มีกันทุกคนนั่นแหละ เพียงแค่ว่าเราจะรู้เท่าทันหรือไม่เท่านั้นเอง


พยายามให้รู้กายรู้ใจทุกอิริยาบถ การพูดง่าย แต่การลงมือ การวิเคราะห์ การทำต้องอาศัยกาล อาศัยเวลา อาศัยการปรับสภาพใจของเรา ไม่ให้ใจของเราเกิดทิฐิ เกิดมานะ เกิดความแข็งกระด้าง ให้ใจของเรามีความอ่อนน้อมถ่อมตน ให้ใจของเราเป็นบุคคลที่มีความเสียสละ มองโลกในทางที่ดี คิดดี ทำดี การกระทำของเราก็ต้องถึงพร้อม ประโยชน์ใกล้ ประโยชน์ไกล


ธรรมะอยู่กับกายอยู่กับใจของเราไม่ต้องไปดิ้นรนหาที่ไหนเลย ดูมันตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ทำไมเกิดมา เพื่ออะไร เกิดมาแล้วเราจะบริหารอย่างไร ในกายของเรานี้มีวิญญาณเข้ามาครอบครองได้อย่างไร ลักษณะของวิญญาณเป็นอย่างไร บุคคลที่จะทำความเข้าใจ พอรู้แนวทางแล้ว กายวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจวิเวกเป็นอย่างนี้ การเจริญสติที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงเป็นอย่างนี้ โลกธรรมเป็นอย่างนี้ รอบรู้ในกองสังขารเป็นอย่างนี้ จะพิจารณาตัวเอง แก้ไขตัวเอง หมั่นพร่ำสอนตัวเอง รู้ไม่ทันต้นเหตุก็รู้จักหยุด รู้จักดับ รู้จักควบคุมเอาไว้ เริ่มใหม่ สังเกตใหม่


งานภายนอกเราก็ขยันหมั่นเพียร ยังประโยชน์ คือปัจจัยสี่ เราก็ยังอิงอาศัยปัจจัยสี่อยู่ อาศัยโลกอยู่ กายของเราก็ยังกินอยู่หลับนอนอยู่ เราก็ต้องทำความเข้าใจให้รู้แจ้งหมดทุกเรื่อง ก่อนที่ใจของเราจะปล่อยจะวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น อันนี้ส่วนรูป อันนี้ส่วนนาม ใจต้องคลายออกจากส่วนนามธรรมให้ได้อีกเสียก่อน ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ จะเกิดปัญญาโล่งโพล่งเลยทีเดียวเลย มันไม่ใช่ อย่างนั้นยังคิดผิด


คนเราจะปัญญารู้แจ้งแทงตลอดได้ ก็ต้องเกิดจากการเจริญภาวนา การเจริญสติเข้าไปดูรู้เห็นการเกิดการดับของวิญญาณ เห็นวิญญาณคลายออกจากขันธ์ห้า ตามทำความเข้าใจ ละกิเลสหยาบ ละกิเลสละเอียด จนใจไม่เกิด จนเหลือแต่ความบริสุทธิ์ความหลุดพ้นในสิ่งต่างๆ หลุดพ้นในความยึดมั่นถือมั่นในความคิด ในอารมณ์ เข้าใจในหลักธรรม คำว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในกายของเราเป็นอย่างไร ขันธ์ห้ามีกี่กอง กี่ขันธ์เป็นลักษณะอย่างไร นิวรณธรรมเป็นเครื่องกางกั้นใจของเราไม่ให้ใจของเราได้รับความสงบเป็นลักษณะอย่างไร ใจเกิดความกังวล เกิดความฟุ้งซ่าน เกิดความลังเลเป็นอย่างไร ใจอุเบกขาเป็นอย่างไร มีอยู่ในกายของเราหมด เว้นเสียแต่ว่าพวกเราจะดำเนินให้ถึงจุดหมายปลายทางหรือไม่ ส่วนมากก็มีตั้งแต่ไปมองข้าม จะเอา อยากได้แต่ธรรม อยากได้แต่บุญ มันก็เลยมีแต่ความอยากเข้าไปปิดกั้นดวงใจของเราเอาไว้เสีย


เรามาละความอยาก มาดับความโกรธ มาสังเกตดูเขาเกิดยังไง เขาหลงอะไร การสังเกต การวิเคราะห์ การแยกการทำความเข้าใจมี เราไม่อยากได้วามสงบเราก็ได้ความสงบ เราละกิเลสไปเรื่อยๆ เราไม่ได้อยากได้ความสะอาดของใจมันก็ได้ นี่แหละหลักธรรมท่านชี้แนะแนวทางเอาไว้หมด


พยายามอย่าไปปิดกั้นตัวเราเอง ว่าไม่มีโอกาสว่าไม่มีเวลา ทุกคนมีโอกาส ทุกคนมีเวลาเท่าเทียมกันหมด เว้นเสียแต่ว่าความเพียรจะถูกต้อง ตามแนวทางในหลักธรรมหรือไม่ ถ้าเราทำได้ถูกที่ถูกทางมันก็จะปรากฏขึ้นที่ใจของเรา หมดความสงสัย หมดความลังเล มีตั้งแต่จะบำเพ็ญ ทำความเพียรให้ถึงจุดหมายปลายทาง หมดความสงสัย จนอยู่อุเบกขา วางเฉยรับรู้ รอให้กายแตกดับเท่านั้นแหละ


ก็ต้องพยายามกันนะ ไม่ว่าพระว่าโยม ว่าชี ทั้งงานภายนอกเราก็ช่วยกัน ความสมัครสมานสามัคคี ความร่วมมือ ร่วมกาย ร่วมใจกัน ช่วยกันทำ อะไรขาดตกบกพร่องเราก็ช่วยกัน เราก็ช่วยกันทุกวัน ในวัดเราก็ช่วยกันทำ ทั้งสร้างศาลา สร้างวิหาร ทั้งญาติโยมทั้งใกล้ ทั้งไกล ใครมาก็ร่วมมือกัน ฝักใฝ่สนใจในการทำ นั่นแหละเราได้สร้างอานิสงส์ฝากเอาไว้โดยไม่รู้ตัว ไม่ใช่ว่าไปงอมือ งอเท้า อะไรก็ทำไม่เป็น ปฏิบัติธรรมทำไม่เป็น ไปอยู่ที่ไหนก็จะกลายเป็นคนโง่ทันที


เราต้องรอบรู้ขยัน ขยันหมั่นเพียรทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งสมมติ วิมุมติ ทั้งการละกิเลส งานภายนอกเราก็ยังสมมติของเราให้อยู่ดีมีความสุข ถึงจะไม่มีค่ามีราคา เราก็พยายามทำให้ดี รู้จักแก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา ปรับสภาพใจของเราให้รับรู้ บริหารด้วยสติด้วยปัญญา อยู่คนเดียวก็ย่อมจะถึงจุดหมายปลายทาง อยู่หลายคนก็ย่อมจะถึงจุดหมายปลายทาง ก็ต้องพยายามดำเนินกัน


เอาล่ะวันนี้ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจกันเอา หลวงพ่อเพียงแต่เล่าให้ฟัง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง