หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559 ลำดับที่ 13 วันที่ 6 ตุลาคม 2559

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559 ลำดับที่ 13 วันที่ 6 ตุลาคม 2559
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559 ลำดับที่ 13 วันที่ 6 ตุลาคม 2559
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 13
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 6 ตุลาคม 2560

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของตัวเราเองให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยง ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาได้น้อมเข้าไปดูรู้กายรู้ใจของของเราแล้วหรือยัง ถ้ายังก็เริ่มเสียนะ วางกายให้สบาย วางใจให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ​ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียก ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ กายก็รู้สึกว่าสบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเรานั่นแหละท่านเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ เราพยายามสร้างความรู้ตัวตรงนี้

ตั้งแต่ตื่นขึ้นตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ ความต่อเนื่องความสืบต่อเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าไปนึกเอาไปคิดเอา ลักษณะของคําว่า ‘ความระลึกรู้ตัวอยู่ปัจจุบัน’ ทุกขณะลมหายใจเข้ามีความรู้สึกรับรู้อยู่ ลมหายใจออกมีความรู้สึกรับรู้อยู่ เขาเรียกว่า ‘ปัจจุบัน’ ปัจจุบันทุกขณะลมหายใจเข้าออกให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยง ความรู้สึกตัวตรงนี้แหละเราพยายามสร้างขึ้นมาแล้วก็เอาไปวิเคราะห์ใจของเรา เอาไปสังเกตใจของเรา รู้ให้ทัน รู้ไม่ทันต้นเหตุการเกิดของใจก็ใช้สมถะดับ กับสร้างความรู้สึกอยู่ที่ลมหายใจใหม่

เพียงแค่ความต่อเนื่องสืบต่อพวกเราก็ยังทำกันไม่ค่อยจะได้ต่อเนื่องกันเท่าไร ส่วนการเกิดของใจ การเกิดของขันธ์ห้านั้นเขามีอยู่เดิม ตัวใจนั้นเขามา เขาหลงเกิดมานาน เขาถึงได้มาสร้างภพมนุษย์ มาสร้างขันธ์ห้าปิดกั้นตัวเองเอาไว้ แล้วก็มายึด มายึดมาติดความเป็นตัวเป็นตนของเราจริงๆ

ในหลักธรรมแล้วท่านว่ามีแต่ความว่างเปล่า ทำไมท่านถึงว่ามีแต่ความว่างเปล่า เรามาเจริญสติเข้าไปแยกรูปแยกนาม ทำความเข้าใจคําว่าอัตตาอนัตตาเสียก่อนถึงจะรู้ว่าในโลกนี้มีแต่ของ มีตั้งแต่ความว่าง แต่ใจไปหลง ไปยึด ไปติดก็เกิดอัตตาตัวตน กายก็หนักใจก็หนัก แถมมีความทะเยอทะยานอยากตามเข้ามาอีก ความโลภ ความโกรธ ความอยาก ความยินดียินร้าย ความเกิดของใจซึ่งเป็นกิเลส​ กิเลสอันละเอียด

ถ้าเราไม่เจริญสติเข้าไปสังเกตเข้าไปวิเคราะห์จนใจคลายออกจากขันธ์ห้าได้ เราถึงจะเข้าใจคําว่า อัตตาอนัตตา เข้าใจคําว่าความว่างเป็นอย่างไร ทีนี้การเกิดของใจก็มีอยู่ ใจเกิด กิเลสหยาบกิเลสละเอียดเราก็พยายามละ พยายามขัดพยายามเกลาทีละเล็กทีละน้อยก็จะถึงจุดหมายปลายทางกัน

บุญสมมติเราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดี ตื่นขึ้นมาเราก็วิเคราะห์กายวิเคราะห์ใจของเรา ถ้าเราไม่สังเกตไม่วิเคราะห์กายใจของเราแล้ว ไม่มีใครจะทำให้เราได้เลยนอกจากตัวของเราเอง อย่าไปโทษคนโน้นอย่าไปโทษคนนี้ อย่าไปโทษสถานที่ สถานที่นั้นเป็นอย่างนั้นสถานที่นี้เป็นอย่างนี้ ที่นั่นไม่ได้ปฏิบัติที่นี่ไม่ได้ปฏิบัติ ที่ไหนก็เกิดจากใจของเราทั้งนั้น​ มันส่งออกไปภายนอก ไปมีมลทินอคติกับคนโน้นบ้างคนนี้บ้าง เป็นเรื่องของเราที่จะต้องแก้ไข คนอื่นจะว่าเราอย่างโน้นคนอื่นจะว่าเราอย่างนี้ อันนั้นเป็นเรื่องของคนอื่น เราไปห้ามเขาพูดไม่ได้ ห้ามเขาคิดไม่ได้

เรามาจัดการกิเลสของเราว่าเราละกิเลสได้มากได้น้อยเท่าไร กิเลสหยาบเป็นอย่างไร กิเลสละเอียดเป็นอย่างไร ใจวิเวกเป็นอย่างไร ใจที่ปราศจากกิเลสเป็นอย่างไร ทวารทั้งหกทำหน้าที่อย่างไร การที่ใจคลายออกจากขันธ์ห้า ใจที่ปล่อยวางขันธ์ห้าเป็นอย่างไร ใจของเรายังเกิดกิเลสอยู่เราก็พยายามละพยายามขัดพยายามเกลา เป็นหน้าที่ของเรา เป็นเรื่องของเราทั้งนั้นไม่ใช่เรื่องของคนอื่น เราทำ เราแก้ไขปัญหาภาระกิจภายในของเราให้มันจบ มองเห็นหนทางเดินว่าเราจะได้กลับมาเกิดหรือไม่หรือกลับมาเกิดกัน

แนวทางคําสอนของพระพุทธองค์นั้นมีมาตั้งนาน ถ้าพวกเราพยายามทำความเข้าใจ พยายามเดินตาม ใจของเรามีกิเลส เราก็พยายามละกิเลส ใจของเรามีความแข็งกร้าวแข็งกระด้าง เราพยายามละความแข็งกร้าวแข็งกระด้าง สร้างความอ่อนน้อมถ่อมตน สร้างความขยันหมั่นเพียรให้มีให้เกิดขึ้น ไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อตัวเองต่อคนอื่น รู้จักฝักใฝ่ รู้จักสนใจ ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง

พยายาม เราค่อยๆ เดิน ค่อยๆ สร้างความรู้ตัว จากหนึ่งครั้งสองครั้ง เป็นนาที 2 นาที 3 นาที จนเอาไปรู้เท่าทันใจ รู้ลักษณะของใจ ใจที่ปราศจากกิเลส ใจที่ปราศจากการเกิด กายวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจวิเวกเป็นอย่างนี้ ‘อริยทรัพย์’ ทรัพย์ภายในเป็นอย่างนี้ ความว่าง การทรงความว่างวิหารธรรมของใจเป็นลักษณะอย่างนี้ เราก็ต้องพยายามดู เราหมั่นพร่ำสอนใจของเรา

ใจของทุกคนสอนได้ ไม่ใช่ว่าสอนไม่ได้ ไม่ใช่ว่าไปปล่อยไปตามอำเภอใจ ใหม่ๆ ก็อาจจะเป็นการฝืนการทวนกระแสเพราะว่าใจชอบคิด ชอบเที่ยว ชอบเกิด บางทีขันธ์ห้ากับใจก็รวมกันไปด้วยกัน บางทีทั้งใจทั้งขันธ์ห้าทั้งปัญญารวมกันไปทั้งก้อน เราถึงได้มาเจริญสติ มาสร้างความรู้ตัว แล้วก็ให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยง แล้วรู้จักเอาไปใช้แยกแยะให้ได้ อะไรคือส่วนสติที่เราสร้างขึ้นมา อะไรคือส่วนใจ ลึกลงไปใจกับอาการของใจอีก ต้องแจงออกไปทีละชั้นทีละชิ้น ใจเกิดกิเลสหยาบกิเลสละเอียด เราก็มาขัดเกลาเอาออกทีละเล็กทีละน้อย

บุญสมมติเราก็ทำ ประโยชน์ใกล้​ ประโยชน์ไกล ประโยชน์สมมติ ท่านถึงบอกให้รอบรู้ในกองสังขาร​ คือรอบรู้ในความคิด รอบรู้ในดวงจิตหรือว่าวิญญาณของเรา อะไรคือส่วนรูป อะไรคือส่วนนาม แล้วก็รอบรู้ในโลกธรรม โลกธรรมแปด​ ความเป็นอยู่ของเรา

การดำเนินทางที่ถูกต้อง สัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกคือใจที่คลายออกจากขันธ์ห้า คลายความหลงตรงนั้นให้ได้เสียก่อน การคลายออก รู้แจ้ง เห็นจริง เข้าถึง ทำความเข้าใจ แล้วก็ค่อยละกิเลส ก็ต้องพยายาม จากวัน เป็นเดือน เป็นปี จนเป็นอัตโนมัติในการดู ในการรู้ อย่าไปผัดวันประกันพรุ่งเด็ดขาด เป็นเรื่องของตัวเรา เป็นเรื่องของทุกคนที่ควรจะต้องทำ ที่ควรจะต้องเดินให้ถึงจุดหมายปลายทางกัน กายวิเวก ใจวิเวก

วิ่งหาสถานที่นั้นสถานที่นี้ก็เพื่อที่จะหาแนวทาง เรารู้จักวิธีการ รู้จักแนวทางแล้ว ไปทำทั้งกลางวันทั้งกลางคืน ใจของเราเกิดกิเลส เราก็ขัดเกลากิเลส มีแต่เรื่องของกิเลสทั้งนั้นแหละ เรื่องของกิเลสถ้าเราเอาจริงๆ แล้ว ก็อยู่ที่กายของเรา อันนี้คือรูป อันนี้คือนาม ความเกิดของจิตวิญญาณมันเกิดตรงไหน เราก็ค่อยแก้ไขกันไป

สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้เชื่อมโยงให้ต่อเนื่องกันสักนิดก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำนะ

พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปศึกษาทำความเข้าใจให้รู้ทุอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง