หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 66 วันที่ 24 กรกฎาคม 2560

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 66 วันที่ 24 กรกฎาคม 2560
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 66 วันที่ 24 กรกฎาคม 2560
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 66
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2560

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนให้ต่อเนื่อง ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเราได้สร้างความรู้ตัวแล้วหรือยัง เราได้สำรวจใจของเรา สำรวจกายของเราแล้วหรือยัง นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย ไม่ต้องประนมมือ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ อย่าไปบังคับลมหายใจ เพียงแค่เรื่องการหายใจเข้าออกพวกเราก็ขาดความสนใจกันมากเลยทีเดียว เรา พยายามสร้างความรู้ตัวหรือว่าเจริญสติอยู่กับกายของเรา ลมสัมผัสปลายจมูกของเราเป็นอย่างไร หายใจยาวเป็นอย่างไร หายใจสั้นเป็นอย่างไร อันนี้เพียงแค่รู้กายเท่านั้น

ลึกลงไปเราก็ต้องรู้ใจ รู้การเกิดการดับของใจ รู้ความปกติของใจ ใจที่ปราศจากกิเลสเป็นอย่างไร ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างไร ทำไมใจถึงไปหลงขันธ์ห้า หรือว่าความคิดอารมณ์ต่างๆ เขาเกิดขึ้นมาอย่างไร ตรงนั้นถ้ากำลังสติของเราต่อเนื่องเข้มแข็ง ก็อาจจะรู้เท่าทันรู้ลักษณะของใจของเรา รู้ไม่ทันต้นเหตุของการเกิดเราก็รู้จักหยุด รู้จักดับ รู้จักควบคุมเอาไว้ จนใจของเราคลายออกจากขันธ์ห้าซึ่งเรียกว่า แยกรูปแยกนาม นั่นแหละเขาเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ความรู้แจ้งเห็นจริงเปิดทางให้

ถ้ายังแยกแยะไม่ได้ ใจยังไม่คลาย ใจยังเกิดอยู่ ถึงจะถูกต้องก็เป็นแค่เพียงความถูกต้องของสมมติเท่านั้นเอง เราจง พยายามหมั่นพร่ำสอนใจของเรา สร้างอานิสงส์สร้างบุญบารมีให้เกิดขึ้น แต่ละวันความรับผิดชอบของเรามีเต็มเปี่ยมหรือไม่ ความขยันหมั่นเพียร หรือว่ามีแต่ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ ถ้าเรามีความเกียจคร้านเราก็จง พยายามกำจัดความเกียจคร้านออกไป สร้างความขยันหมั่นเพียร สร้างความรับผิดชอบ สร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย ให้มีให้เกิดขึ้นที่ใจของเรา แล้วก็ พยายามขัดเกลากิเลสออกจากใจของเรา การฝึกหัดปฏิบัติ ตัวใจนั่นแหละคือตัวธรรม

แต่เวลานี้ใจของเรายังเกิดอยู่ยังหลงอยู่ ใจนี้หลงมาเกิด เขาหลงมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิด มาเกิดอยู่ในภพมนุษย์ มาสร้างขันธ์ห้าหรือว่าอัตภาพร่างกายของเรานี่แหละปิดกั้นตัวเขาเอาไว้อีกทีหนึ่ง แล้วใจของเราก็มีความทะเยอทะยานอยากเป็นทาสของกิเลสอีก บางทีก็โลภบ้าง โกรธบ้าง ยินดียินร้าย สารพัดอย่าง มีความยึดติด ยึดมั่นถือมั่น เราก็จงพยายามหัดสังเกตหัดวิเคราะห์ ถ้ากำลังสติกำลังความเพียรของเรามีเพียงพอเราก็คงจะเห็นเข้าสักวันหนึ่ง เห็นการแยกเห็นการคลาย เห็นความคิดต่างๆ ซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรมเขาเกิดอย่างไร เขาตั้งอยู่อย่างไร

คำสอนของพระพุทธองค์ก็จะปรากฏขึ้นที่ใจของตัวเราถ้าใจคลายออกจากขันธ์ห้าได้ เราก็จะเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ว่า ลักษณะของอัตตาเป็นอย่างไร อนัตตาเป็นอย่างไร อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความไม่เที่ยงในขันธ์ห้าเป็นอย่างไร การละกิเลสก็ต้องตามมาอีก กิเลสหยาบหรือว่ากิเลสละเอียด ความโลภ ความโกรธ แต่ความหลงนี่กำลังสติของเราต้องหัดวิเคราะห์จนใจคลายออกจากขันธ์ห้าถึงจะคลายความหลงได้

คลายความหลงได้เราก็มองเห็นหนทางเดินว่าเราจะกำจัดกิเลสออกจากใจของเราได้หมดจดหรือไม่ กิเลสตัวไหนมันเกิดขึ้นที่ใจของเรา เราก็จงพยายามทำความเข้าใจ แล้วก็ค่อยละ ละทิฏฐิความเห็นเก่าๆ ความเห็นแบบโลกๆ สร้างสัมมาทิฏฐิคือความรู้แจ้งเห็นจริงปรากฏขึ้นที่ใจของเรา ใจคลายจากขันธ์ห้า แยกรูปแยกนามได้เมื่อไร นั่นแหละถึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ เริ่มต้นความเห็นถูก เริ่มต้นเท่านั้นเอง ถ้าเราขาดการตามทำความเข้าใจอีก เราก็ไม่เข้าใจเขาก็จะซึมเข้าสู่สภาพเดิม

ทั้งพระทั้งโยมทั้งชี เรามาสร้างอานิสงส์สร้างบุญบารมีกัน เราก็จงพยายามหัดวิเคราะห์ เป็นเรื่องของเราทุกคนไม่ใช่เรื่องของคนอื่น เป็นเรื่องของตัวเราแท้ๆ เราก็จงพยายามศึกษาดู อันไหนคือตัววิญญาณในกายของเรา ทำไมวิญญาณหรือว่าตัวใจถึงเกิดกิเลส ทำไมตัวใจถึงทุกข์ กายนี่เป็นก้อนทุกข์ เรามาศึกษาให้ละเอียด ชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล ไม่ใช่ว่าจะไปโยนความผิดให้คนโน้นคนนี้ คนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนั้นเป็นอย่างนี้ คนนี้ไม่ดีอย่างนั้น คนนั้นไม่ดีอย่างนี้ ก็กิเลสภายในของเราจิตใจของเราไม่ดีนั่นแหละถึงมองโลกไม่ดี ถ้าใจของเราดีแล้วถึงภายนอกไม่ดีถึงขนาดไหนใจของเราก็ดีอยู่เหมือนเดิม

ท่านถึงบอกให้มาแก้ไขใจของเรา มาอบรบใจของเรา รู้จักลักษณะของการเจริญสติ การสร้างความรู้ตัวที่ต่อเนื่องกันเป็นอย่างไร กายวิเวกเป็นอย่างไร ใจวิเวกเป็นอย่างไร การทำให้ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน เอาสติปัญญาไปใช้การใช้งาน ไปรู้แจ้งเห็นจริงได้อย่างไร ไม่ใช่เอาไปนึกเอาไปคิดเอา ก็ต้องพยายามกันทุกคน ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนกระทั่งนอนหลับจนกระทั่งเราหมดลมหายใจ

ธรรมก็มีอยู่ในใจของเราทุกคน จะมีมากมีน้อย หรือว่ากิเลสเข้าเล่นงาน กิเลสหยาบกิเลสละเอียด ลึกลงไปก็คือความเกิดของใจ เราคลายใจออกจากขันธ์ห้า ละกิเลสที่ใจของเรา แล้วก็ดับความเกิดของใจของเราให้ได้ มันหลายชั้น คนเราเกิดมาก็มีบุญมีวาสนากันอยู่แล้ว เรากลับมาสร้างสะสมกิเลสต่างๆ เข้าไปทับถมดวงใจของตัวเราอีก จะเอาจะมีจะเป็นก็เป็นเรื่องของปัญญา มีมากมีน้อยก็เป็นเรื่องของปัญญา เราพยายามคลายปัญญาเก่าหรือปัญญาโลกีย์ออกจากใจของเราให้หมด ให้เหลืออยู่ที่ความบริสุทธิ์ หนุนกำลังสติปัญญาไปทำหน้าที่แทน

แต่เวลานี้กำลังสติปัญญาตัวใหม่ที่เราสร้างขึ้นมา หรือว่าส่วนปัญญาส่วนสมองตรงนี้มีไม่ค่อยจะเยอะ เพราะว่าเราไม่ได้ฝึก เราฝึกแบบโลกๆ โดยใจบงการไปหมด ทั้งใจทั้งขันธ์ห้าบงการไปหมด เราจงมาสร้างความรู้ตัวตัวใหม่ แล้วก็ไปอบรมใจ ชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล ต้องเป็นบุคคลที่มีความเพียรเป็นเลิศ ไม่ใช่ว่าเล่นสนุกสนาน ภาษาธรรมภาษาโลกเป็นอย่างไร กายทำหน้าที่อย่างไร ทวารทั้งหก ทำหน้าที่อย่างไร ท่านบัญญัติเอาไว้หมด เพียงแค่ว่าเราจะศึกษาให้ถึงจุดหมายปลายทางคือความบริสุทธิ์ของใจตัวเราได้หรือไม่เท่านั้นเอง ไม่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส

จงพิจารณาตัวเรา แก้ไขตัวเราแต่ละวันๆ ความรู้ตัวพลั้งเผลอได้อย่างไร ทุกเรื่องตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ยืน เดิน นั่ง นอน เวลาจะรับประทานข้าวปลาอาหารก็เหมือนกัน ความอยากเป็นอย่างไร ความหิวเป็นอย่างไร ซึ่งภาษาธรรมท่านเรียกว่า ปฏิสังขาโย พิจารณาเช็คก่อน ก่อนที่จะรับประทาน ไม่ให้ใจเกิดความอยาก กายของเราหิวใจเกิดความอยากได้อย่างไร สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เนี่ยแหละพวกเรามองข้าม จะไปเอาตั้งแต่ละกิเลสตัวใหญ่ๆ ไอ้ตัวน้อยๆ มันเกิดอยู่ทุกเวลา ความเกิดของใจนั่นแหละ ความคิดของเรานั่นแหละ มันเกิดตรงไหน เรื่องอะไรที่มันเกิด เราละตัวเล็กได้แล้ว ตัวใหญ่มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เราถอนรากถอนโคน

พระพุทธองค์ท่านชี้ลงที่เหตุ เหตุทางสมมติก็มี เหตุทางวิมุตติก็มี เราต้องพยายามทำความเข้าใจให้ได้ทั้งสองอย่าง ทั้งสมมติทั้งวิมุตติ เพราะว่าสมมติกับวิมุตติเขาก็อาศัยกันอยู่ ตัวใจนั่นแหละอาศัยกายอยู่ เขามาสร้างกายมาสร้างขันธ์ห้าขึ้นมา ถึงวาระเวลาเขาก็ต้องแตกดับ ถ้าหมดลมหายใจก็มีตั้งแต่เรื่องวิบากของกรรม วิบากของบุญกับบาป ท่านให้ละบาปสร้างบุญ ไม่ยึดติดในบุญ ถึงเราไม่ถึงจุดหมายปลายทางก็มีเสบียง มีเข้าพกเข้าห่อติดตามตัวเรา ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็อย่าไปทิ้งบุญ

การทำความเข้าใจ ลักษณะของการเจริญสติเป็นอย่างนี้ ลักษณะของศีลความปกติเป็นอย่างนี้ ทั้งศีลอยู่ที่กายอยู่ที่ใจ ท่านถึงบอกให้สำรวมทั้งกายทั้งวาจาทั้งใจ แล้วก็ดับความเกิดของใจให้ได้ มองเห็นหนทางเดินว่าเราจะได้กลับมาเกิดหรือไม่กลับมาเกิดกัน ก็ต้องพยายามกันนะ

อยู่ที่วัดมีอะไรเราก็ช่วยกันทำ ช่วยกันดูแล ช่วยกันแก้ไข จากงานหนักก็เป็นงานเบา จากงานเบาก็จะเป็นปกติ เราก็พยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นปกติ ใจปกติเป็นอย่างนี้ ใจที่ไม่มีกิเลสเป็นอย่างนี้ งานสมมติภายนอกที่เราเข้ามาอาศัยอยู่ เราก็ทำความเข้าใจ รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะว่ากายของเราก็ยังต้องการปัจจัยสี่ ยังต้องการ ยังอยู่กับสมมติ ยังอยู่กับโลกธรรม เราต้องแบ่งต้องแยก รู้ให้ชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร อะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน จงโทษตัวเราแก้ไขตัวเราปรับปรุงตัวเราอยู่ตลอดเวลาจนเป็นอัตโนมัติในการดูในการรู้

สร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องอีกสักนิดหนึ่ง อดทนต่อทุกขเวทนาทางด้านร่างกายของเรา แล้วก็สร้างความรู้สึกให้ต่อเนื่อง

ไหว้พระพร้อมๆ กันค่อยไปสร้างสานต่อ ทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง