หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 33 วันที่ 10 เมษายน 2560

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 33 วันที่ 10 เมษายน 2560
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 33 วันที่ 10 เมษายน 2560
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 33
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 10 เมษายน 2560

มาครบกันหมดหรือยัง พระเราชีเราเข้ามานั่งให้เป็นระเบียบ พระบวชใหม่ก็พยายามดู รู้ทันใจ รู้เท่าทันการความอยากความหิวของตัวเรา ถ้ากายหิวใจเกิดความอยากก็ให้รีบดับรีบหยุด กะประมาณในการขบฉันของตัวเรา ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาพยายามมาเจริญสติให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยง จนกระทั่งถึงเวลานี้แล้วก็เดี๋ยวนี้ จนกระทั่งเผลอเมื่อไหร่เริ่มใหม่ เผลอเมื่อไหร่เริ่มใหม่ อย่าพากันเกียจคร้าน

เรามาศึกษาทำความเข้าใจกับชีวิตของเรา พยายามสร้างความขยันหมั่นเพียรให้ต่อเนื่อง อย่าไปปล่อยวันเวลาทิ้ง ทุกขณะจิตทุกขณะลมหายใจเข้าออกเราต้องรู้เท่าทัน จากการฝึกฝนตัวเราเอง แก้ไขตัวเราเอง ปรับปรุงตัวเราเอง ว่าเราขาดตกบกพร่องอะไรบ้าง ความเสียสละของเรามีเต็มเปี่ยมหรือไม่ การสังเกตการวิเคราะห์ใจที่ปราศจากกิเลสเป็นอย่างไร ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างไร การดับ การละ การสร้างอานิสงส์ สร้างบุญบารมี สร้างความขยันหมั่นเพียรให้ต่อเนื่องก็ต้องพยายาม

จากก่อนที่ปล่อยเลยตามเลย ในเมื่อเรามีโอกาสได้เข้ามาบวชเข้ามาศึกษาค้นคว้า เราก็ต้องพยายามเจริญสติให้เร็วให้ไวทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน กินอยู่ขับถ่าย ต้องดูให้รู้ให้เท่าทัน รู้จักพิจารณาทุกเรื่อง ตากระทบรูปเป็นอย่างไร หูกระทบเสียงเป็นอย่างไร กายหิวใจเกิดความอยาก รู้จักดับ ยิ่งกายหิวๆ กิเลสมันก็บอกว่าสั่งเอาเยอะๆ เอาเยอะๆ แล้วก็ทานไม่หมด

พากันดูดีๆ นะ กะประมาณในการขบฉันของตัวเรา สามเณรดูดีๆ เห็นว่าเอาไปล้นบาตรทุกวัน เอาไปทิ้ง กะประมาณในการขบฉันของตัวเรา ถ้าใจเกิดความอยากเราก็พยายามหยุด กายหิวก็ให้รู้จักวิเคราะห์พิจารณาไม่ให้ใจเกิดความอยาก เราฝึกเราทั้งความโลภ ความโกรธ ความอยาก อันนี้เพียงแค่ระดับของหยาบๆ ก็ต้องพยายามแก้ไข ส่วนละเอียดลงไปเรื่อยๆ คือความเกิดของจิตวิญญาณ เกิดในทางรูปธรรม เกิดในทางนามธรรม เราต้องมีกำลังสติเข้าไปอบรมเข้าไปดูแลแก้ไขถึงจะรู้เท่าทัน

อันนี้เราพยายามมาจัดระบบระเบียบทุกอย่าง ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเรามีความรับผิดชอบหรือไม่ เรามีความเกียจคร้านหรือเปล่า เราก็พยายามขัดเกลาเอาออก สร้างความขยันหมั่นเพียร ให้มีให้เกิดขึ้นทุกเรื่อง ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา อะไรควรทำก่อน อะไรควรทำหลัง ภาระทางสมมติก็เปลี่ยนเป็นหน้าที่ ความรับผิดชอบไม่ใช่ว่าไปปล่อยปละละเลย

เราต้องดูตัวเราแก้ไขตัวเรา ถ้าเราแก้ไขตัวเราไม่ได้ ไม่มีใครจะแก้ไขให้เราได้ อาศัยสมมติเรามาอยู่ด้วยกันร่วมกันก็ยังสมมติให้เกิดประโยชน์ อานิสงส์ของสมมติกายของเราก็ไม่ได้ลำบาก คนอื่นมาก็ไม่ได้ลำบาก สมมติก็ไม่ได้ลำบาก ที่นี้ก็เหลือ ตั้งแต่จิตใจของเรา เราก็พยายามแก้ไข ไม่ใช่มาวัดมาอยู่วัดแล้วก็สร้างความเกียจคร้านให้กับตัวเอง ไม่ใช่ เราต้องสร้างความขยันหมั่นเพียร

แต่ละวันๆ เราทำหน้าที่อย่างไร อะไรคือหน้าที่ เราก็ต้องพยายามทำความเข้าใจ ไม่ใช่ว่าไม่ใช่หน้าที่ของเราคนโน้นจะทำคนนี้จะทำ เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะช่วยกันทำ ช่วยกันดูแลความสะอาด ตั้งแต่ปากทางโนนเข้ามาถึงก้นครัว มองบนมองล่างมองกลางใจของตัวเรา พยายามช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดเพียงแค่ระดับสมมติก็ทำให้ได้ ให้ดี เราเป็นบุคคลที่มีความเป็นระเบียบก็จะไล่เรียงลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจัดความเป็นระเบียบของใจของเรา

ใจ การเกิดของใจเป็นอย่างไร ใจมีความกล้าหาญอาจหาญหรือไม่ หรือว่าใจมีความละอายเกรงกลัวในสิ่งที่ ในสิ่งที่เป็นอกุศล เจริญในสิ่งที่เป็นกุศล พยายามทำพยายามดำเนิน พระก็เยอะชีก็เยอะที่มาบวชใหม่ก็มาเรื่อยๆ ก็เพื่อที่จะแสวงหาใจของเรา ไม่ใช่ว่าไปอยู่ที่โน่นฉันจะเข้าใจในธรรม ไปอยู่ที่นี่ฉันจะเข้าใจในธรรม มันไม่ใช่

ธรรมก็คือตัวใจของเรานั่นแหละ เรามาแก้ไขใจของเราด้วยการเจริญสติ คำว่า สติ ความรู้ตัวเวลาหายใจเข้าหายใจออกมีความรู้สึกรับรู้อยู่ อันนี้ท่านเรียกว่า สติ ทำอย่างไรเราถึงจะทำให้เยอะๆ ทำให้มีมากๆ ให้ต่อเนื่องเพื่อที่จะเอาไปอบรมใจ จนกระทั่งถึงชี้เหตุชี้ผล จนกระทั่งใจอยู่ในโอวาทของสติปัญญา ใจคลายจากขันธ์ห้าซึ่งเรียกว่า แยกรูปแยกนาม

แต่เวลานี้กำลังสติยังไม่รู้จัก ตัวธรรมก็ยังไม่รู้จัก อยากได้แต่บุญอย่างเดียว ใจมีความสุขนั่นแหละคือตัวบุญ ทำไมใจถึงเกิด ทำไมใจถึงหลง มีศรัทธาแล้วก็เชื่อมั่น แล้วก็พยายามอย่าเป็นศรัทธาที่หลงงมงาย จงเป็นศรัทธาที่เกิดจากการเจริญภาวนารู้แจ้งเห็นจริง เห็นความเกิดความดับของวิญญาณในกายของเรา รู้จักขัดเกลา รู้จักละกิเลสออกจากใจของตัวเราอยู่ตลอดเวลา จงเป็นอยู่ด้วยปัญญา อย่าให้ใจเกิดความอยาก แม้แต่การเกิดของใจนั่นแหละคือความหลง ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด คิดอันโน่นคิดอันนี้ทั้งความคิดอาการของขันธ์ห้ากับใจรวมกันบางทีก็รวมกันไปทั้งปัญญาไปทั้งก้อน

เราจงมาเจริญสติลงที่กายให้ต่อเนื่องเพื่อที่จะเอาไปใช้การใช้งาน ปรับใจของเรา ใจของเรามีความแข็งกร้าว เราพยายามสร้างความอ่อนน้อมถ่อมตน ใจมีความแข็งกระด้างเราก็พยายามรีบแก้ไข ใจมีความเกียจคร้านเราก็พยายามสร้างความขยัน ใจหลงความคิดหลงขันธ์ห้า เราก็พยายามหัดสังเกตุจนใจแยกใจคลายออกมองเห็นตามความเป็นจริงทุกเรื่อง

พระพุทธองค์ท่านถึงบอกให้เชื่อ ไม่ใช่ว่าเชื่อแบบงมงาย การเจริญสติเป็นอย่างนี้ ปัญญาวิปัสสนาเป็นอย่างนี้ ความเกิดความดับของขันธ์ห้าเป็นอย่างนี้ ความเกิดความดับของใจเป็นอย่างนี้ แต่เวลานี้มันรวมกันไปหมด เพราะว่าอะไร เพราว่าเราไม่ได้สร้างความรู้ตัวเจริญสติเอาไปใช้การใช้งานได้ เพียงแค่สร้างกับทำให้ต่อเนื่อง ก็ยังทำกันไม่ค่อยจะได้

ต้องเป็นบุคคลที่มีความขยันหมั่นเพียรเป็นเลิศถึงจะเข้าถึง ทำความเข้าใจ แม้แต่แยกแยะได้อีก เราก็ต้องทำความเข้าใจให้มันถึงจุดหมายปลายทาง มีความเพียรชี้เหตุชี้ผลเหตุผลทางสมมติก็มี เหตุผลทางวิมุตติก็มี คำว่า อัตตา อนัตตา ในหลักธรรมเป็นอย่างไร คำว่าตัวตนเป็นอย่างไร แต่เราไปเหมาว่าทั้งตัว ทั้งตน ทั้งใจเป็นของเราหมดในหลักธรรมแล้วมีแต่ความว่างเปล่า ไม่มีอะไร

เรามาหลงมายึดเพราว่าเราคลายความหลงไม่ได้แยกรูปแยกนามไม่ได้ ก็หลงทั้งเกิดขณะมีกายเนื้อ อาศัยกายเนื้ออยู่ใจก็ไปเกิดต่อ แล้วก็กลับมาอยู่ในกายใหม่ ใจเกิดทั้งรวมทั้งขันธ์ห้าอีก กายก็หนักใจก็หนัก ทั้งกิเลสหยาบกิเลสละเอียดอีก มันเข้ามาปิดกั้นตัวตนเอาไว้ เราต้องพยายามสร้างความรู้ตัว หรือว่าเจริญสติให้เข้มแข็ง ขัดเกลากิเลสออกจากใจของเรา อยู่กับสมมติ เคารพสมมติ ไม่ยึดติดสมมติ ให้รู้แจ้งเห็นจริงแทงตลอด พยามทำความเข้าใจเอา

แม้แต่เรื่องความอยากความหิวก็ต้องพยายามกำจัดออกจากใจของเรา ความอยากกับความหิวนี่เรายังแยกแยะไม่ได้ ยังแก้ไม่ได้ความเกิด ความคิดมันก็เกิดจากตรงที่มันก่อความอยากนั้นแหละ ความอยากแม้แต่นิดเดียวก็อย่าให้เกิดขึ้นที่ใจ

ถ้าใจของคนเรานี่อบรมได้ ไม่ใช่ว่าอบรมไม่ได้ อบรมได้ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาช่วงใหม่ๆ ถึงจะอึดอัด ท่านถึงว่าเป็นการสวนเป็นการทวนกระแสกิเลส แต่ส่วนมากก็มีตั้งแต่ตามใจกิเลส ตามใจกิเลสยังไม่พอตามใจกิเลสของตัวเอง ตามใจกิเลสคนอื่นมันก็เลยห่างไกล ห่างไกลธรรม ห่างไกลทรัพย์ภายใน ทรัพย์ภายในก็คือความบริสุทธ์ของใจ ความสะอาดของใจ ใจเที่ยงนิพพานก็เที่ยง

แต่เวลานี้ใจทั้งเกิดทั้งหลง ถึงจะเกิดถึงจะหลงก็ให้อยู่ในคุณงามความดี ให้อยู่ในกองบุญกองกุศลเอาไว้ ช่วงที่เรายังฟังไม่รู้เรื่องเพราะว่าเรายังแยกรูปแยกนามไม่ได้ ไม่ได้ตามดูรู้เห็นตามเห็นความเป็นจริง เราก็ต้องพยายามฝืนเอา แก้ไขตัวเราเอาให้อยู่ในกองบุญกองกุศลก็ยังดี ดีกว่าไปตกสู่ที่ต่ำ

แต่ละวันๆ ใจของเรามีความปกติ มีความสุขหรือเปล่า กายวิเวกเป็นอย่างไร ใจวิเวกเป็นอย่างไร คำว่ากายวิเวกหมายถึงิกายของเราวางจากภาระหน้าที่การงานต่างๆ เขาเรียกว่า กายวิเวก ใจวิเวก ใจต้องคลายจากขันธ์ห้าละกิเลส ใจมีความสงบมีความสุข ใจวิเวกต้องวิเวกอยู่ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน กินอยู่ขับถ่าย ยืน เดิน นั่ง นอนก็เป็นแค่เพียงกิริยาของสติปัญญาดำเนินกายพากายไป ใจรับรู้ เราต้องพยายาม

ไม่ใช่ว่าไปอยู่ที่โน่นทำไมไม่เข้าใจในธรรม ไปอยู่ที่นี้ทำไมไม่เข้าใจในธรรม ความสงสัยความลังเลต่างๆมันปิดกั้นเอาไว้ อย่าไปสงสัยอย่าไปลังเลในคำสอนของพระพุทธองค์ คำว่าความจริง หลักของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นอย่างไร ความเกิดความดับของใจเป็นอย่างไร มีหมด ท่านค้นพบแล้วก็วางเอาไว้

โยมมาบริจาคโรงศพ เมื่อวานนี่ก็มาสองโรง ทั้งเช้าทั้งเย็นมาทุกวัน มาทุกวัน ใครมีอยากจะมาบริจาคช่วยโรงศพก็มา ตายกันทุกวัน ความตายนี่เดี๋ยวนี้ก็ปาเข้าไปเจ็ดร้อยเจ็ดสิบกว่าแล้วที่ให้ไป ตายได้ครั้งเดียว อนุเคราะห์ช่วยกันนี่แหละเขามาสอนธรรมเรา ทุกคนเกิดมาตายหมดไม่ว่าผู้ดีมีจน ยาจกพระราชาตายหมด แต่ขณะที่ยังมีลมหายใจเรายังแก้ไขตัวเราได้ ปรับปรุงตัวเราได้

อีกสักหน่อยก็พลัดพรากจากกันหมด ไม่พลัดพรากจากกันตอนเป็น ก็ต้องได้พลัดพรากจากกันตอนตาย เพราะเป็นกฎของไตรลักษณ์กฎของความเป็นจริง ขณะที่อยู่รวมกันทำอย่างไรถึงจะมีความสุข ความเสียสละร่วมกัน หมั่นขยันหมั่นเพียร อย่าเอารัดเอาเปรียบคนโน้นคนนี้ อย่าไปอคติคนโน้นคนนี้

เมื่อวานก็ให้ออกจากวัดไปคนนึง ไปเที่ยวด่าคนโน้นด่าคนนี้อยู่ทั่ววัด อะไรเสื้อสีส้มๆ น่ะ สั่งให้ออกจากวัดไปที่โน่นก็ไปว่าคนโน้นคนนี้ ตามไปด่าชีคนโน้นคนนี้สารพัดอย่าง ได้มาอาศัยอยู่แล้วก็ไปว่าคนโน้นคนนี้ให้เสียหาย ก็ต้องสั่งให้ออกจากวัดทันที นั่นแหละคนมีกรรม มีกรรม มองอีกอย่างหนึ่งก็เหมือนกับเป็นคนที่น่าสงสาร เราก็ให้ความเมตตาอนุเคราะห์มาอยู่ก็ให้อยู่ อยากจะอยู่ก็อยู่ พออยู่แล้วก็ไปว่าคนโน้นคนนี้ไปทั่ววัด ไปสร้างความเสียหายก็ต้องให้ออกจากวัด

ทุกคนนั่นแหละ อะไรที่จะนำความทุกข์มาให้เราก็พยายามแก้ไข แก้ไขภายในของเรา เราอยู่รวมกับสมมติก็ให้เคารพสมมติ จะถูกหรือไม่ผิด จะถูกหรือผิดเราก็พยายามแก้ไข ถูกผิดระดับสมมติระดับวิมุตติ ไม่ใช่ว่าจะไปอคติเพ่งโทษคนโน้นเพ่งโทษคนนี้ เรามีหน้าที่แก้ไขเราอย่างเดียว อยู่หลายคนเราก็ดูเรา อยู่น้อยคนเราก็ดูเรา กว่าจะมีสมมติให้อยู่ดีมีความสุขได้กับทุกคน ต้องอาศัยบารมีอานิสงส์ของทุกคนหล่อหลอมรวมกันมาให้ทุกคนได้อยู่ดีมีความสุข

กายมีความสุข อาหารตา อาหารกาย อาหารใจก็ต้องผ่านความลำบากกับคนรุ่นหลังมาก่อน หล่อหลอมกันมา พวกเรามาอยู่มาอาศัยเราก็ต้องพยายามยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นให้มี ขณะที่เรายังมีลมหายใจอยู่ ไม่ใช่ว่ามาระรานกันมันไม่ดี ถ้ามีอยู่ทีจิตใจคนไหนเราพยายามรีบแก้ไข แก้ไขไม่ได้ก็ต้องออกจากวัด เพราะว่าจะทำให้หมู่คณะเสียหาย เราก็ต้องพยายามกัน อยู่ที่นี่คงไม่มี เรารีบแก้ไขกัน

ทั้งพระทั้งชีก็ต้องพยายามขยันหมั่นเพียร ถ้าเราไม่มีความขยันหมั่นเพียรไปอยู่ที่ไหนก็หนัก หนักตัวเองยังไม่พอหนักคนอื่น หนักคนอื่นยังไม่พอหนักสถานที่ ไปที่ไหนก็แก้ไขตัวเองไม่ได้ ใช้ตัวเองไม่เป็นก็เสียดายเวลา เวลาทั้งภายนอกทั้งภายใน เราต้องพยายามแก้ไขขัดเกลา ฝืนกิเลสของเราจนใจคลายจากความหลง จนละกิเลสขัดเกลาออกบ้างได้บ้างไม่ได้บ้างก็ต้องพยายามทำล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่อยู่ตลอดเวลา

ตั้งใจรับพรกัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง