หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 77 วันที่ 22 ตุลาคม 2561

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 77 วันที่ 22 ตุลาคม 2561
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 77 วันที่ 22 ตุลาคม 2561
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 77
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 22 ตุลาคม 2561

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย แล้วก็วางใจให้สบาย หยุดความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ ที่เกิดจากใจของเราเอาไว้ ถึงเราหยุดไม่ได้เด็ดขาด เราละไม่ได้ ก็ขอให้หยุดขณะที่เรากำลังเจริญสติ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย

ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเรานั่นแหละที่ท่านเรียกว่า สติรู้กาย เวลาหายใจเข้ามีความรู้สึกรับรู้อยู่ หายใจออกมีความรู้สึกรับรู้อยู่ เขาเรียกว่า รู้กาย รู้อยู่ขณะปัจจุบันธรรมคือทุกขณะลมหายใจเข้า ทุกขณะลมหายใจออก

ตั้งแต่ตื่นขึ้น จนกระทั่งถึงเวลานี้ เดี๋ยวนี้ ความรู้ตัวของเราต่อเนื่องเชื่อมโยง ลึกลงไปเราก็จะเห็นอาการเกิดของใจ ใจปรุงแต่งส่งออกไปภายนอกได้อย่างไร เห็นลักษณะอาการของความคิด อาการของขันธ์ห้า ความคิดที่เราไม่ตั้งใจผุดขึ้นมา ใจเคลื่อนเข้าไปรวมได้อย่างไร พวกเราอาจจะรู้อยู่ในภาพรวมคือใจยังเกิดยังหลงอยู่ เราต้องพยายามจำแนกแจกแจงลักษณะของความรู้ตัวให้ชัดเจน แล้วก็ให้เร็วให้ไวให้ต่อเนื่อง เพื่อที่จะเอาไปอบรมใจของเรา เอาไปใช้การใช้งาน จนเห็นใจคลายออกจากขันธ์ห้าหรือว่าแยกรูปแยกนาม นั่นแหละที่ท่านเรียกว่า เห็นวิปัสสนา

ปัญญาเริ่มเกิด เห็นการแยกการคลาย ความรู้ตัวของเราก็ตามดูตามรู้ตามเห็น ตามเห็นการเกิดการดับของขันธ์ห้า เขาเรียกว่า เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในกายของเรา ไม่ใช่ว่าเราไปนึกเอาไปคิดเอา​ ว่าจะเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ เห็นการเกิดการดับของใจ เห็นการเกิดเข้าไปรวมของใจ ตามดูรู้เห็นตามความเป็นจริง ว่าอะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน

การสร้างบุญสร้างบารมี ทุกคนสร้างกันมาดี หมั่นฝักใฝ่ในการทำบุญในการให้ทาน ทานทางด้านสมมติอันนี้ก็เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสออกจากใจของเราให้เบาบาง เราพยายามเจริญสติเข้าไปอบรมใจของเราบ่อยๆ อบรมใจของเราแล้วก็ชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล เห็นเหตุการเกิดการดับ เห็นเหตุการเกิดการแยกการคลายออกจากกัน ตามดูรู้เห็นตามความเป็นจริง ใจของเราเกิดกิเลสหยาบกิเลสละเอียด เราก็รู้จักขัดเกลา

แต่ละวันตื่นขึ้นมา ความขยันหมั่นเพียรของเรามีเพียงพอหรือไม่ ความเสียสละ ความอดทน การฝักใฝ่การสนใจ ละความเกียจคร้าน สร้างความขยันขัดเกลากิเลสออกจากใจของเราอยู่ตลอดเวลา สักวันหนึ่งใจของเราก็จะเบาบางเข้าสู่สภาพเดิมคือความสะอาดความบริสุทธิ์ ใจที่ปราศจากกิเลส ใจก็บริสุทธิ์ ใจที่ไม่เกิดใจก็นิ่ง

แต่เวลานี้ทั้งเกิด ทั้งหลง ทั้งยึด รวมกันไปทั้งก้อน หมุนกันไป ไปด้วยความหลง ถ้าเรามาเจริญสติเข้าไปวิเคราะห์จำแนกแจกแจงดู รู้เห็นตามความเป็นจริง เราก็จะอยู่ด้วยปัญญา บริหารด้วยปัญญา กายของเราก็เป็นกายของเรา สมมติก็เป็นสมมติของเรา กายทำหน้าที่อย่างนี้ วิญญาณทำหน้านี้อย่างนี้ สติปัญญาทำหน้าที่คอยมองเห็นตามความเป็นจริง แล้วก็บริหารด้วยปัญญาของเรา มีได้เป็นได้ ทำได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่ตื่นขึ้นจนกระทั่งหมดลมหายใจ อย่าไปผัดวันประกันพรุ่ง เวลาโน้นจะทำเวลานี้จะทำ เราพยายามทำให้ได้จนเป็นอัตโนมัติ

ในการดู ในการรู้ พระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบแล้วเอามาเปิดเผย มาจำแนกแจกแจงให้พวกเราปฏิบัติตาม ให้มี ให้เกิด ให้ปรากฏขึ้นที่ใจ ท่านถึงบอกให้เชื่อ เพราะว่าทุกคนก็มีจุดมุ่งหมายอันเดียวกันคือความบริสุทธิ์ความหลุดพ้นไม่ต้องกลับมาเกิด บางคนก็หลงไป บางคนก็หลงเป็นทาสของกิเลส เราต้องมาขัดมาเกลา มาเอาออกจากใจของเราให้ได้ มันไม่หมดวันนี้ วันพรุ่งนี้ เดือนนี้ เดือนหน้า ไม่หมดจริงๆ มันจะไปต่อเอาภพหน้า ตราบใดที่ใจยังเกิดอยู่ เขาก็ต้องไปสร้างภพสร้างชาติอยู่ตลอดเวลาอยู่เรื่อยร่ำไป

ขณะนี้เขามาเกิดอยู่ในภพของมนุษย์คือร่างกายของเรา ท่านให้เจริญสติเข้าไปจำแนกแจกแจง แล้วก็ชี้เหตุชี้ผล ขณะที่ใจยังอาศัยกายนี้อยู่ ถ้าสภาพร่างกายเสื่อมสภาพหมดสภาพเขาก็ไปตามกรรม ถ้าตราบใดที่ยังดับความเกิดไม่ได้ ก็ขอให้เกิดอยู่ในกุศลกรรม ละอกุศลกรรม เกิดอยู่ในกองบุญกองกุศล หมั่นสร้างบุญสร้างกุศลเอาไว้ ในหลักธรรมแล้วท่านก็ให้ละทั้งบุญละทั้งบาป แต่สร้างบุญไม่ยึดติดในบุญ อยู่เหนือบุญอยู่เหนือบาป มองเห็นหนทางเดิน ก็ต้องพยายามกัน

ไม่ว่าพระว่าโยมว่าชี ทุกคนก็มีธาตุสี่ขันธ์ห้าเหมือนกันหมด ขอให้ดำเนินให้ถึงจุดหมายปลายทางกัน ไม่ถึงช้าก็ต้องถึงเร็ว แม้แต่สมมติอะไรเราขาดตกบกพร่องเราก็ทำช่วยกัน การเข้ามาบวชเข้ามาศึกษา ก็ต้องพยายามดำเนินให้ได้ทุกสิ่งทุกอย่าง อย่าให้เก้อเขิน ละอายในสิ่งที่ควรละอาย กล้าหาญในสิ่งที่ควรกล้าหาญ การกระทำของเราให้ถึงพร้อม อย่าเอาตั้งแต่ให้ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ จากครั้งหนึ่ง 2 ครั้ง 3 ครั้ง ก็มากขึ้นๆ จนความเกียจคร้านเข้าครอบงำไม่รู้ตัว ตื่นขึ้นมาก็อยู่ด้วยความหลง เราพยายามตื่นตัวทั้งสมมติทั้งวิมุตติ ให้เรียบร้อยหมดทุกอย่างก่อนที่จะหมดลมหายใจ

วันนี้ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง