หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 28 วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 28 วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 28 วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 2 (ลำดับที่ 21-40)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 28
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2557


ขอให้ญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติให้ต่อเนื่องกันสักพักนึงนะ เอาสักนิดนึงก็ยังดี ดีกว่าไม่เอา ดีกว่าไม่ได้ทำ นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย วางใจให้สบาย หยุดความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ เอาไว้ชั่วครั้งชั่วคราว ด้วยการเจริญอานาปานสติ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย เสียงก็สักแต่ว่าเสียง แล้วก็น้อมสำเหนียก


ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว การสูดลมหายใจยาว ๆ ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ นี้เป็นธรรมชาติ กายของเราก็สงบตั้งมั่นขึ้น ใจของเราก็สงบขึ้น เพียงแค่เรื่องการหายใจเข้าออก พวกเราก็ศึกษาให้ละเอียด เวลาจะดูที จะรู้ทีนี้ บางทีก็อึดอัด บางทีสมองก็ตึง บางทีใจก็ตึง เราพยายามฝึกการหายใจยาว ผ่อนลมหายใจยาว หายใจออกยาว หายใจเข้ายาว หายใจออกสั้น หายใจออกยาว เราพยายามศึกษาให้ละเอียด คอยสังเกต มีความรู้สึกรับรู้อยู่ที่ปลายจมูกของเรา


ความรู้สึกรับรู้นั่นแหละเขาเรียกว่า ‘สติ’ ถ้าเรารู้ให้ต่อเนื่อง เราเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม ถ้าความรู้ตัวพลั้งเผลอ เริ่มขึ้นมาใหม่ ความรู้ตัวพลั้งเผลอ เริ่มขึ้นมาใหม่ จนกว่าความรู้ตัวของเราจะต่อเนื่อง ความสืบต่อความต่อเนื่องอยู่ปัจจุบัน ทุกขณะลมหายใจเข้าออก อันนี้เพียงแค่รู้กาย ถ้าเรามีความรู้ตัวตรงนี้ให้ต่อเนื่อง เราก็จะรู้ เวลาใจของเราก่อตัว เวลาใจของเราเกิดส่งออกไปภายนอก เราก็จะเห็นอาการของใจเขาเริ่มเกิด เริ่มปรุง เริ่มแต่ง ก็จะเห็นเป็น 2 ส่วน ส่วนความรู้ตัวที่เราสร้างขึ้นมานี้ส่วนหนึ่ง ส่วนใจนั้นส่วนหนึ่ง


ถ้าความรู้ตัวของเราต่อเนื่องอีก เราก็จะเห็นอาการของขันธ์ห้าที่ผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจ เขาก่อตัวอย่างไร ใจของเราจะเคลื่อนเข้าไปรวมได้อย่างไร ถ้าเราเห็นชั่วขณะใจของเราเคลื่อนเข้าไปร่วม นั่นแหละใจก็จะดีดออกจากความคิด หรือว่าใจก็จะแยกออกจากความคิด เขาจะแยกของเขาเองนะ ถ้าเรารู้ทัน เขาจะแยกออก แล้วเขาก็จะหงาย เหมือนกับแต่ก่อนเขาคว่ำอยู่ คือสมมติเขาครอบงำอยู่ พอเราเห็นตรงนั้นปุ๊บ เขาก็จะแยกออก เขาก็จะหงายขึ้น เขาเรียกว่า ‘หงายของที่คว่ำ’ ใจก็จะโล่ง กายของเรานี่แหละก็จะเบา ทั้งที่อัตตาตัวตนก็มีอยู่ นี่แหละความหลงของพระพุทธเจ้า ท่านชี้ลงอยู่ที่ตรงนี้ เห็น...แล้วใจก็จะว่างโล่งขึ้นมา


ความรู้ตัวที่เราสร้างขึ้นมาเราก็ตามดู เห็นความเกิดความดับของขันธ์ห้าเป็นเรื่องอะไร เขาเกิดขึ้นยังไง เขาตั้งอยู่ยังไง เขาดับไปยังไง นี่แหละเขาเรียกว่า เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในขันธ์ห้า รอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในวิญญาณของตัวเราเอง


ทำไมท่านถึงบอกว่าเป็นกองเป็นขันธ์ ถ้าฝึกไม่รู้ไม่เห็นตรงนี้ ปัญญาวิปัสสนาก็จะไม่เกิด ถ้าเห็นตรงนี้ ถ้าขาดการตามทำความเข้าใจ เขาก็จะซึมเข้าสู่สภาพเดิมอีก เราต้องตามทำความเข้าใจให้ได้ทุกเรื่อง แล้วก็ดับความเกิด ละกิเลสจากใจของเราให้ได้ทุกครั้งที่ใจของเราเกิด ส่วนมากก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง มันก็เลยไม่ถึงจุดหมายปลายทางกันสักที ทั้งที่ใจก็เป็นบุญ ฐานบุญก็เต็มเปี่ยม อานิสงส์ผลบุญบารมีอย่างอื่นสร้างมาดี แต่การเดินปัญญาตัวนี้ ไม่ค่อยจะปะติดปะต่อ ไม่ค่อยต่อเนื่อง เราไม่ค่อยสนใจกัน


ถ้ากำลังสติเราตามดู ตามรู้ ตามเห็น ตามดู ตามรู้ทุกเรื่อง จนไม่มีเรื่องอะไรที่จะแก้ไขนั่นแหละ จนดับความเกิด ละกิเลสได้ ต้องอาศัยความเพียร กิเลสหยาบ กิเลสละเอียดยังไง ถ้าเรารู้ตรงนี้ เห็นตรงนี้ หมดความสงสัย ไม่ต้องไปถามใคร แก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา จนใจไม่เกิด จนวางใจให้เป็นอิสระได้นั่นแหละ


การพูดง่าย แต่การลงมือ การทำการปฏิบัติ ต้องพยายาม มีความเพียรเป็นเลิศ ทุกสิ่งทุกอย่าง ความอยากไม่ให้เกิดขึ้นที่ใจแม้แต่นิดเดียว ดับความเกิด มองเห็นหนทางเดิน เราก็ต้องพยายาม พยายามได้บ้างไม่ได้บ้าง ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ หมั่นพร่ำสอนตัวเรา แก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น รอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในโลก รอบรู้ในสมมติ หมดความสงสัย หมดความลังเล อยู่คนเดียวก็มีความสุข อยู่หลายคนก็มีความสุข


ธรรมะนั้นมีกันทุกคน แต่เราไม่ทำความเข้าใจให้กระจ่าง กิเลสมารต่างๆ มันปิดกั้นเอาไว้ เราต้องมาเจริญสติ เข้าไปแก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา ชี้เหตุชี้ผล จนใจมองเห็นความเป็นจริงทุกสิ่งทุกอย่าง เขาก็จะหาทางหลบหลีก เขาก็จะหาทางปล่อย หาทางวาง วางไม่ได้ก็อยู่อุเบกขา


อยู่กับสมมติ เคารพสมมติ ไม่ยึดติดสมมติ จนกว่าจะหมดลมหายใจนั้นแหละ ถึงจะได้วางก้อนสมมติ แต่เราวางทางด้านจิต ทางด้านวิญญาณ วางความยึดมั่นถือมั่น อยู่กับสมมติอย่างมีความสุข จนกว่าจะหมดลมหายใจ ก็ต้องพยายามกันนะ


สร้างความรู้สึกรับรู้ให้ชัดเจน ทำใจให้โล่ง สมองให้โปร่ง มีความรู้สึกรับรู้อยู่ที่ปลายจมูกของเรา อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวขณะนี้ก็ให้รู้ว่าลมหายใจวิ่งเข้าวิ่งออก กระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนกันนะ


พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปศึกษาทำความเข้าใจกันเอานะ หลวงพ่อเพียงแค่เล่าให้ฟัง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง