หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 24 วันที่ 8 ธันวาคม 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 24 วันที่ 8 ธันวาคม 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 24 วันที่ 8 ธันวาคม 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 2 (ลำดับที่ 21-40)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 24
วันที่ 8 ธันวาคม 2557


ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ต่อเนื่อง ให้เชื่อมโยง ขณะที่เรากำลังนั่งอยู่นี่แหละ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย


ความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ ถึงเราจะเดินปัญญาทำความเข้าใจไม่ได้เต็มรอบ ก็ขอให้สร้างความรู้ตัวให้ชัดเจน ให้รู้จักลักษณะของการเจริญสติให้เชื่อมโยง พลั้งเผลอเมื่อไหร่ก็เริ่มใหม่ พลั้งเผลอเมื่อไหร่ก็เริ่มใหม่ เริ่มอยู่บ่อยๆ จนกำลังสติของเรารู้เท่าทันใจ รู้ลักษณะอาการเกิดของใจหรือว่าความคิด รู้ลักษณะอาการของขันธ์ห้าที่ผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจ


ความคิดนั้นมีอยู่เดิม ความคิดที่เกิดจากใจนั้นมีอยู่เดิม กับขันธ์ห้านั้นมีอยู่เดิม เรามาสร้างความรู้ตัวใหม่ หรือว่ามาเจริญสติตัวใหม่ กำลังสติของเราสังเกตจนใจของเราคลายออกจากความคิด สติของเราตามทำความเข้าใจ เห็นการเกิดการดับ ซึ่งท่านเรียกว่ารอบรู้ในกองสังขารในขันธ์ห้า เรื่องอะไรบ้างที่เกิด ทำไมใจถึงหลง ไปรวมจนเป็นตัวเดียว ทำให้เกิดอัตตาตัวตน ถ้าแยกได้ตามดูได้ ใจว่างรับรู้ได้


ถ้าเราไม่ตามทำความเข้าใจ กำลังสติของเราก็พลั้งเผลอเหมือนเดิม ถ้ากำลังสติของเราตามค้นคว้านี่แหละ ตัวสติตัวนี้แหละจะเริ่มกลายเป็นมหาสติ จากมหาสติก็เริ่มกลายเป็นมหาปัญญา ค้นคว้าทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็ชี้เหตุชี้ผลให้ใจมองเห็นความเป็นจริง รู้ความจริงแล้วว่า ที่ท่านว่าไม่เที่ยง ความคิดไม่เที่ยง ขันธ์ห้าไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเกิดๆ ดับๆ ที่ท่านเปรียบเอาไว้ เปรียบเสมือนกับพยับแดด เวลาแดดร้อน ๆ เรามองเห็นเหมือนกับมีตัวมีตน เวลาเข้าไปแล้วมันก็ไม่มีอะไร หรือเปรียบเสมือนกับเกลียวคลื่น มองเห็นในทะเลเป็นลูกคลื่นวิ่งเข้ากระทบฝั่ง แล้วมันก็หายไป


ความคิด อาการของขันธ์ห้านี้ก็เหมือนกัน เขาเกิดขึ้น เขาก่อตัวขึ้น ใจของเราเข้าไปรวม ทำให้เกิดอัตตา กายก็เลยหนัก ใจก็เลยหนัก ถ้าใจคลายออกไปได้ ใจก็เลยว่าง กายก็เลยเบา เราตามทำความเข้าใจ ชี้เหตุชี้ผล จนใจยอมมองเห็นความเป็นจริงว่ามันไม่เที่ยง เราค่อยละ ค่อยขัดเกลาเอาออก ใจจะเกิดกิเลส เราก็มาละ มาดับ มาละกิเลสออกจากใจของเราทีนั้นทีนี้ จนเหลือตั้งแต่ความบริสุทธิ์ ก็ต้องพยายาม ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง พยายามทำ


แนวทางนั้นมีมาตั้งนาน คำสอนของพระพุทธองค์นี้ทันสมัยตลอดเวลา ปัจจุบันธรรม ทุกขณะจิต ทุกขณะลมหายใจเข้าออกให้อยู่ด้วยปัญญา ไปไหนมาไหนด้วยปัญญาให้ใจรับรู้ ค่อยขัดค่อยเกลาทีละเล็กทีละน้อย จากน้อยๆ ไปหามากๆ เดี๋ยวก็เต็มรอบเอง ให้ปรากฏขึ้นที่ใจของเรา หมดความสงสัย หมดความลังเล มองเห็นหนทางเดินว่าเราจะได้กลับมาเกิดหรือไม่กลับมาเกิดกัน


เราอย่าไปมัวเล่นสนุกสนาน มีโอกาสเราพยายามรีบ เกิดมาก็มีบุญแล้วที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ อย่าไปพลาดโอกาส ได้พบพระพุทธศาสนาว่าท่านสอนเรื่องอะไร มีศรัทธาน้อมกายเข้ามา มีการทำบุญให้ทาน สร้างตบะสร้างบารมี ไม่จำเป็นต้องเอาเยอะ เราพยายามทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ ความขยันหมั่นเพียรของเรามีหรือไม่


เรารู้จักลักษณะของการเจริญสติ รู้จักควบคุมใจ กายวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจวิเวกเป็นอย่างนี้ การละกิเลสเป็นอย่างนี้ การก่อตัวของใจเป็นอย่างนี้ มันมองเห็นชัดเจนหมดเลย เว้นเสียแต่ว่าพวกเราจะทำให้ต่อเนื่องกันหรือไม่ ช่วงที่ยังไม่ต่อเนื่องนี่แหละมันจะพลั้งเผลอ เพราะว่ากิเลสมารต่างๆ เขาก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เขาก็ต้องหาเหตุหาผลมาต่อสู้เหมือนกัน กำลังฝ่ายไหนมันจะเยอะกว่ากัน


ถ้าเรารู้ด้วยเห็นด้วย ถ้าเราเกียจคร้านในการทำความเข้าใจ ก็จะซึมเข้าสู่สภาพเดิม เพราะว่ามันมีอยู่ ของมันมีอยู่ กายเนื้อเราก็มีอยู่ จิตวิญญาณเราก็มีอยู่ แนวทางก็มีอยู่ ก็ต้องพยายามกัน


งานภายนอกเราก็ช่วยกันทำ รู้จักรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบ ยังสมมติให้เกิดประโยชน์ เพราะว่าเราก็ยังอาศัยสมมติอยู่ กายของเราก็ยังเป็นก้อนสมมติอยู่ หู ตา จมูก ลิ้น กายก็ทำหน้าที่ ทวารเป็นทางผ่านของรูป รส กลิ่น เสียง ส่งเข้าไปถึงวิญญาณ ตัววิญญาณของเราจะเกิดกิเลสหยาบ กิเลสละเอียด เราก็ต้องรีบจัดการ ไม่มีใครจัดการให้เราได้นอกจากตัวของเราเอง ก็ต้องพยายามนะ ทุกเรื่องๆ เลยทีเดียว

สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจให้ชัดเจน ให้ต่อเนื่อง ทำใจให้โล่ง สมองให้โปร่ง อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวขณะนี้ก็รู้ว่าลมหายใจเข้าหายใจออกให้ชัดเจนกันนะ


พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถกันนะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง