หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 3 วันที่ 4 มกราคม 2561

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 3 วันที่ 4 มกราคม 2561
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 3 วันที่ 4 มกราคม 2561
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 3
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 4 มกราคม 2561

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญติสร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสทั้งลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนให้ต่อเนื่อง ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ตั้งแต่ยังไม่ได้ลุกจากที่ เราได้สร้างความรู้ตัวแล้วหรือยัง ถ้ายังก็เริ่มเสียนะ หยุดความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ เอาไว้ชั่วครั้งชั่วคราวถึงเราละไม่ได้เด็ดขาด หยุดความดับความกังวล หยุดความกังวล หยุดความฟุ้งซ่านต่างๆ ด้วยการสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว ความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ ก็จะคลายก็จะหายไป ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจก็จะชัดเจน

เราพยายามสร้างความรู้ตัวตรงนี้แหละ รู้ให้ต่อเนื่อง ถ้าความรู้สึกพลั้งเผลอก็เริ่มใหม่ ถ้าความรู้ตัวต่อเนื่องเราก็จะรู้ว่าแต่ก่อนเราไม่มีความรู้ตัวที่เข้มแข็งต่อเนื่องหรือว่าไม่มีสติ มีตั้งแต่ปัญญาแบบโลกๆ ที่ใจยังส่งไปภายนอก ใจยังวิ่ง ใจยังเกิดความคิดผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจอยู่ ถ้าเราสร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องกัน หนึ่งครั้งสองครั้งสามครั้ง เพิ่มขึ้นไปมากขึ้นไปเรื่อยๆ

ส่วนใจนั้น การเกิดการดับของใจ หรืออว่าความคิดเก่าๆ เขาจะผุดขึ้นมาให้เห็น บางทีความคิดอาการของขันธ์ห้าก็ผุดขึ้นมาใจเคลื่อนเข้าไปรวม อันนี้เขาเรียกว่าปัญญาเก่า-ปัญญาโลกีย์ปัญญาโลกีย์ตัวนี้แหละมันปิดบังอำพรางตัวเองเอาไว้ ซึ่งเรียกว่า ‘ความหลงเข้ามาครอบงำ’

ถ้าเรามาสร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยงกัน 1 นาที 2 นาที 3 นาที ไปหา 5 นาที 10 นาทีเราก็จะเห็นเห็นการเกิดของใจเห็นการเกิดของขันธ์ห้า ถ้าความคิดที่ผุดขึ้นมาไม่ใช่ตัวใจโดยตรงใจของเราก็จะเคลื่อนเข้าไปรวม ความรู้ตัวของเราจะรู้ทันตรงนั้น ถ้าเรารู้ทันตรงนั้นปุ๊บใจจะดีดออกจากความคิดหรือว่าแยกรูปแยกนาม ใจก็จะหงายขึ้นเหมือนกับหงายของที่คว่ำ ใจก็จะว่าง กายก็จะเบา เราก็จะเข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้า

ความรู้ตัวที่เราสร้างขึ้นมาก็จะเห็นการเกิดการดับของความคิด เขาเรียกว่าเห็นอนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตาในขันธ์ห้า เขาเกิดขึ้น เขาตั้งอยู่ เขาดับไป เวลาเขาดับไป ความว่างเปล่าเข้ามาปรากฏ ส่วนมากตัวใจของเราเข้าไปรวมแล้วก็ส่งไปด้วยกัน เราอยู่ว่าเราคิดเราทำ ทำตามความรู้ ทำตามความคิด แต่หลงอยู่ในความรู้ตรงนั้นอยู่เพราะว่าใจของเรายังเกิดอยู่ ใจของเรายังไปรวมกับความคิดอยู่ เราอาจจะว่าเราไม่หลง

นอกจากบุคคลที่มาเจริญสติที่ต่อเนื่อง ความต่อเนื่อง ความสืบต่อเราถึงรู้ว่าแต่ก่อนนี้สติของเราไม่มีเลย มีตั้งแต่ปัญญาแบบโลกๆ ปัญญาโลกีย์ บางทีก็อาจจะถูกบ้างผิดบ้าง แต่ปัญญาที่ใจยังเกิดยังหลงอยู่ ถึงจะคิดพิจารณาในธรรมก็เป็นธรรมโลกีย์ ธรรมที่ใจยังเกิดอยู่ ก็ต้องพยายามกัน

อะไรเป็นอกุศล อะไรเป็นกุศล แม้แต่ใจเกิดเป็นอกุศลเราก็รู้จักดับ หลายสิ่งหลายอย่างที่จะเราที่จะต้องศึกษาค้นคว้า ในสิ่งชีวิตของเรา ตั้งแต่ตื่นขึ้นจนกระทั่งนอนหลับ กิเลสหยาบกิเลสละเอียดเป็นอย่างไร อาการของขันธ์ห้าเป็นอย่างไร ที่ท่านว่าเป็นกองเป็นขันธ์ กายทำหน้าที่อย่างไร ทวารทั้งหกทำหน้าที่อย่างไร วิญญาณในกายทำหน้าที่อย่างไร

เราก็ต้องพยายามรู้ รู้ให้เท่า รู้เท่ารู้ทัน รู้กันรู้แก้ รู้จักสร้างอานิสงส์ สร้างตบะบารมี ความเสียสละของเรามีเต็มเปี่ยมหรือไม่ ความรับผิดชอบทั้งภายนอกทั้งภายใน ความเป็นบุคคลที่มีจิตใจที่อ่อนโยน ไม่แข็งกร้าวไม่แข็งกระด้าง มองโลกในทางที่ดี คิดดี เรารีบแก้ไขตัวเราเสียขณะที่เรายังมีลมหายใจอยู่ หมดลมหายใจไปแล้วก็มีแต่เรื่องบุญกับเรื่องของบาป

ในหลักธรรมท่านก็ให้ละบาป สร้างบุญ หรือว่าสร้างกุศล แล้วก็ไม่ให้หลง ไม่ให้ยึด ยกระดับใจของเราให้คลายออกจากทุกสิ่งทุกอย่าง อยู่เหนือบุญเหนือบาป ทำใจของเราให้อยู่ในความเป็นกลาง อยู่ในความว่าง ว่างจากการเกิด ว่างจากกิเลส ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ว่างจากสิ่งต่างๆ ว่างจากขันธ์ห้า

ต้องเป็นบุคคลที่ขยันหมั่นเพียรเป็นเลิศ เป็นบุคคลที่ขยันหมั่นเพียรตามให้ต่อเนื่องกันจริงๆ เราถึงจะเข้าถึงตรงจุดนี้ได้ ถึงเราเข้าถึงจุดนี้ไม่ได้ก็ให้รู้จักสร้างอานิสงส์ สร้างบารมี ความขยันหมั่นเพียรของเรามีเพียงพอหรือไม่ ความรับผิดชอบเพียงแค่ระดับของสมมติ รอบรู้ในปัจจัยสี่รอบรู้ในโลกธรรม มีหน้าที่ทำความเข้าใจให้มันได้ ใช้ตัวเองให้มันเป็น เป็นเรื่องของเราทั้งนั้นไม่ใช่เรื่องของคนอื่น
ถ้าเราทำภาระหน้าที่ภายในจบ เราก็อยู่กับสมมติ เคารพสมมติ สมมติว่าเป็นโน้นเป็นนี่ ทำโน้นทำนี่ ก็เพื่อยังประโยชน์ของสมมติเท่านั้นเอง หมดลมหายใจเราก็มองเห็นหนทางเดินว่าเราจะได้กลับมาเกิดหรือไม่กลับมาเกิดกัน ขณะที่เรายังมีลมหายใจกันอยู่นี้แหละ ก็ต้องพยายามรีบเดินเสียนะ อะไรที่ยังเป็นบุญ อะไรที่ยังเป็นกุศล เราก็ทำ

ส่วนการขัดเกลากิเลส กิเลสของเราเราก็ละเอา ให้คนอื่นเขาละให้ไม่ได้ นอกจากเราจะละตัวของเรา แก้ไขตัวของเรา หลวงพ่อก็เพียงแค่เล่าให้ฟัง การเจริญสติเป็นอย่างนี้ การเข้าถึงเป็นลักษณะอย่างนี้ การดับ การละ อะไรคือสติปัญญา อะไรคือใจ การเจริญสติที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงเป็นลักษณะอย่างนี้ รู้ไม่ทันเราก็เริ่มใหม่เอาใหม่ ตั้งแต่ตื่น กายวิเวกเป็นอย่างนี้ ใจวิเวกจากความคิด ใจวิเวกจากการเกิด ใจวิเวกจากขันธ์ห้าเป็นอย่างนี้

เราต้องพยายามทำความเข้าใจให้เข้าถึงสิ่งๆ นั้น เราก็จะเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ว่าท่านสอนเรื่องอัตตา อนัตตาเป็นอย่างไร สอนเรื่องหลักอริยสัจเป็นอย่างไร การขัดเกลากิเลสกิเลสเกิดขึ้นที่กาย ใจส่งเสริมหรือไม่ หรือว่าเกิดขึ้นที่ใจ กิเลสหยายกิเลสละเอียด เราต้องจำแนกแจกแจงให้รู้ ให้เห็นชัดแจ้งชัดเจน ท่านถึงบอกให้เชื่อ ไม่ใช่ว่าเชื่อแบบหลงงมงายปฏิบัติธรรมไม่รู้จักธรรม เจริญสติไม่รู้จักลักษณะของสติ มันก็ยังหลงอยู่ เราก็ต้องพยายามกันนะ

สร้างความรู้ตัวให้ชัดเจนกันให้ต่อเนื่องกันสักนิดหนึ่งก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ก็ไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง