หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 112

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 112
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 112
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 112
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 29 ตุลาคม 2562

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติสร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกของตัวเราให้ชัดเจน นั่งตามสบายวางกายให้สบายแล้วก็วางใจให้สบายไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ สัก 2-3 เที่ยว อย่าไปบังคับลมหายใจอย่าไปเพ่งลมหายใจอย่าไปจดจ่อลมหายใจ การสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ผ่อนลมหายใจเข้าไปยาวๆ ออกมายาวๆ ให้เป็นธรรมชาติที่สุด

การหายใจเข้าไปยาวๆ กายของเราก็รู้สึกว่าสบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเรานั่นแหละที่ท่านเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ รู้สัมผัสของลมหายใจอันนี้เขาเรียกว่า ‘รู้กาย’ ทำอย่างไรเราถึงจะรู้ให้ต่อเนื่อง เพียงแค่รู้กายเราก็พยายามฝึกให้เกิดความเคยชิน แต่ส่วนมากทุกคนก็มีศรัทธา มีความเพียร มีการสร้างบารมีอยู่ในระดับหนึ่ง แต่การเจริญสตินี้ไม่ค่อยจะสนใจกันเท่าไหร่ มีแต่ไปนึกเอาไปคิดเอาก็เลยวิ่งข้าม กระโดดข้าม กระโดดข้ามความบริสุทธิ์ของใจของตัวเรา ตัวใจก็เลยวิ่งอยู่ตลอดเวลา ตัวใจก็เลยเกิดอยู่ตลอดเวลา มันจะไปสงบได้อย่างไรในเมื่อใจของเราเกิด ใจของเราเป็นทาสของกิเลสตลอดเวลา เราต้องมาสร้างผู้รู้หรือว่ามาเจริญสติให้มีให้เกิดขึ้น

ช่วงใหม่ๆ สติของเราก็พลั้งเผลอ พลั้งเผลอก็เริ่มใหม่ พลั้งเผลอก็เริ่มใหม่จนกำลังสติของเรามีความเข้มแข็งต่อเนื่อง เอาไปใช้การใช้งาน ใหม่ๆ ใจของเรามันก็ว่ายาก สอนยาก เราก็พยายามกดพยายามข่มพยายามแก้ไข ใจของเราเกิดความโลภเราก็พยายามละความโลภด้วยการให้ด้วยการเอาออก ใจของเราเกิดความโกรธเราก็พยายามดับความโกรธ เราพยายามให้อภัยอโหสิกรรม มองโลกในทางที่ดี ทำในสิ่งตรงกันข้ามกับกิเลส

แต่ละวันๆ ตื่นขึ้นมาใจปกติหรือไม่ กายของเราทำหน้าที่อย่างไร ทวารทั้งหก หูตาจมูกลิ้นกายเขาทำหน้าที่อย่างไร ซึ่งเป็นทางผ่านของรูปรสกลิ่นเสียง เราพยายามหัดวิเคราะห์ บอกตัวเองให้ได้ใช้ตัวเองให้เป็น ท่านถึงบอกว่าตนเป็นที่พึ่งของตน ตนตัวแรกคือสติที่เราสร้างขึ้นมา ตนตัวที่สองก็คือตัวใจ แต่เวลานี้ใจของเราทั้งหลงทั้งเกิด ความเกิดนั้นแหละคือความหลงอันละเอียดที่สุด ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด

ขณะการเกิดมาสร้างภพมนุษย์ หรือว่ามาสร้างอัตภาพร่างกาย มาสร้างขันธ์ห้าของเรานี้ แล้วก็มายึดในอัตภาพร่างกายว่าเป็นตัวเป็นตนจริง อันนี้ก็เป็นตัวเป็นตนของเราจริงๆ นั่นแหละในทางสมมติ แต่ในหลักธรรมแล้วมันมีความเสื่อมอยู่ตลอดเวลา เสื่อมจากโน้นตั้งแต่วันเกิดนั่นแหละ ทางด้านรูปธรรมก็เสื่อม คนทั่วไปเขาก็บอกว่าเจริญ เจริญขึ้น ภาษาธรรมท่านก็บอกว่าเสื่อม เสื่อมขึ้นเสื่อมลง


เสื่อมเพราะว่ามีการเปลี่ยนแปลง เด็กเล็กก็กลายเป็นเด็กโต ได้รับการศึกษาเล่าเรียน ค่อยพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ รู้จักผิดถูกชั่วดี มีความรับผิดชอบอยู่ในระดับของสมมติ นี่แหละเจริญวัยจนถึงอายุสักประมาณยี่สิบกว่าสามสิบกว่าถึงกลางคน กลางคนแล้วก็เสื่อมลงเลย ทีนี้เขาเรียกว่าแก่ ท่านถึงได้ว่าเกิดแก่เจ็บ แล้วก็ตาย นี่ถ้าถึงวาระเวลา ไม่ถึงเวลาก็ไม่ตาย

ขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่พยายามเจริญสติตักตวงสร้างกำไรให้มีให้เกิดขึ้นในกายก้อนนี้ให้ได้ ทำใจให้ถึงความสะอาดความบริสุทธิ์ให้ได้ ถึงไม่ได้ก็ให้รู้จักวิธีการแนวทาง รู้จักการสร้างบารมีการทำบุญการให้ทานอย่าไปทิ้งบุญ ไปที่ไหนมีโอกาสได้ทำ ทำด้วยกายด้วยวาจาด้วยใจ

วันนี้พวกญาติโยมก็พากันน้อมทั้งกายทั้งใจเข้ามาช่วยกัน ถ้าไม่มีความเสียสละก็มาไม่ได้ มีความเสียสละหรือว่าเจ้านายบังคับมาก็ไม่รู้นะ ก็น่าจะขอบคุณเจ้านายเนอะ ให้มาหลายๆ วันไปหลายๆ วันหน่อยจะได้ไปฝึกฝนตัวเราเอง จะได้แก้ไขปรับปรุง กลับไปที่ทำงานตรงไหนไม่ดีเราก็ช่วยกันทำ ทำห้องส้วมห้องน้ำที่พักที่อาศัย เดินไปไหนก็มีตั้งแต่งานทั้งนั้นแหละถ้าคนเข้าใจในงาน เดินไปตามถนนหนทางเห็นเศษขยะ เห็นเศษเหล็กเศษแก้วก็เก็บกลัวคนจะเหยียบนั่นแหละคือความเสียสละ ถ้าเราไม่มีความเสียสละ เราไม่มีการวิเคราะห์เราก็ทำสิ่งพวกนี้ไม่ได้

การเข้าห้องส้วมห้องน้ำก็เหมือนกัน ห้องไหนสกปรกเราก็เข้าไปห้องนั้นแหละทำความสะอาดด้วย เปิดน้ำใส่ด้วย เห็นว่าห้องน้ำ น้ำไม่ไหล วันนี้เช้าไม่เห็นน้ำไหล น้ำไหลไหม เห็นน้ำขาดหรือน้ำไม่ไหลไม่รู้ น้ำลำบาก ช่วยไปดูหน่อยนะ แก้ไขหน่อยนะ ไปช่วยดูเรื่องไฟเรื่องน้ำ ไม่รู้ว่าไฟดวงฝั่งตะวันออกที่ประตูก็กระพริบไม่หยุดทั้งคืน ก็ช่วยไปดูหน่อย นี่แหละคือการปฏิบัติ เราพยายามแก้ไขตัวเราปรับปรุงตัวเรา

ความขยันหมั่นเพียรของเรามีในหนึ่งในเรื่องตบะ ความเสียสละของเรามีในหนึ่งตบะแล้วบารมีแล้ว การให้อภัย อโหสิกรรม จิตใจของเรามีความอ่อนโน้มถ่อมตน เราหมั่นวิเคราะห์นี่แหละคือตบะ เราไม่เอารัดเอาเปรียบเพื่อนฝูง มีความเสียสละให้หมู่ให้คณะ นี่แหละคือการปฏิบัติ แต่เราขาดกำลังสติที่ต่อเนื่องเข้าไปเห็นการเกิดการดับ การแยกการคลายการหงายหรือว่าแยกรูปแยกนาม ตรงนี้แหละที่ปิดกั้นเอาไว้เพราะสมมติยังไม่คลาย ถ้าสมมติคลายเมื่อไหร่ ถ้าถึงเวลาแล้วเราก็เข้าถึง

เราก็ค่อยละไปเรื่อยๆ อย่าไปทิ้ง ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน บุญสมมติเราก็ทำให้เต็มเปี่ยมจนล้นออกไปสู่หมู่สู่คณะสู่พี่สู่น้อง ทุกอย่างทุกเรื่องตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ พอรู้ตัวปุ๊บ รู้กายรู้ใจปุ๊บ จะเข้าห้องส้วมห้องน้ำมีสติรู้กายรู้ใจ จะรับประทานข้าวปลาอาหาร กายเราหิวหรือว่าใจเกิดความอยาก เราวิเคราะห์ทุกเรื่องจนเป็นอัตโนมัติ จนเป็นธรรมดาในการดูในการรู้ สักวันหนึ่งเราก็คงจะถึงจุดหมายปลายทางกัน

สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้ชัดเจนให้เชื่อมโยงให้ต่อเนื่องกันสักนิดหนึ่งก็ยังดี อดพูดอดคิด สังเกตดูความคิด สังเกตดูสัมผัสของลมหายใจให้ทันกัน ทำใจให้โล่ง สมองให้โปร่ง มีความรู้สึกรับรู้อยู่ที่ปลายจมูกของเรานะ

พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปทำความเข้าใจให้ได้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง