หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 21 วันที่ 18 ตุลาคม 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 21 วันที่ 18 ตุลาคม 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 21 วันที่ 18 ตุลาคม 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 2 (ลำดับที่ 21-40)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 21
วันที่ 18 ตุลาคม 2557


ขอให้ญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ ทำบุญถวายทานทางด้านวัตถุทาน เราก็ทำมาแล้ว ทีนี้การวางภาระหน้าที่การงานทุกเรื่อง ทางบ้าน ทางสมมติต่างๆ ที่เราเคยยุ่งเกี่ยว เราก็วางมา ถึงได้เข้ามาถึงวัด ที่เรามาเจริญสติให้ต่อเนื่องหรือว่ามาสร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจให้ชัดเจน แล้วก็ให้ต่อเนื่อง ฟังไปด้วย เสียงก็สักแต่ว่าเสียง น้อมสำเหนียก


ลองสูดลมหายใจยาวๆ อย่าไปบังคับนะ อย่าไปบังคับลมหายใจ ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ พยายามฝึกให้เกิดความเคยชิน ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน ยืน เดิน นั่ง นอน กิน อยู่ ขับถ่าย เราพยายามสร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจ ลมหายใจหยาบเป็นอย่างนี้นะ ลมหายใจละเอียดเป็นอย่างนี้นะ ลมหายใจยาวเป็นอย่างนี้ ลมหายใจออกยาวเป็นอย่างนี้ เวลาเรารู้ลมหายใจเราอึดอัดไหม เราสังเกตดูอยู่บ่อยๆ ทำความเข้าใจบ่อยๆ


กับอีกอย่างหนึ่งเวลาจะเปลี่ยนอิริยาบถ จากเรานั่ง เราจะเดิน เราจะยืน เราก็พยายามประคับประคองความรู้ตัวเอาไว้ เวลาเราจะก้าวเดิน เราก็อาจจะเปลี่ยนความรู้สึกคือที่ลมหายใจไปอยู่ที่ฝ่าเท้าของเรา ความรู้สึกเวลาฝ่าเท้ากระทบพื้นก็มีความรู้สึกอยู่ ก้าวซ้ายก็รู้ ก้าวขวาก็รู้ ไม่ใช่ไปนึกเอานะ ให้มีความรู้สึกรับรู้ ความรู้สึกนี้แหละ เขาเรียกว่าลักษณะของ ‘สติรู้กาย’ ถ้าเรารู้ให้ต่อเนื่องเขาเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม


ส่วนการเกิดการดับของใจนั้นเขาก็มีอยู่กันทุกคน เพราะว่าเขาเกิดมานาน เขาหลงมานาน ความคิดที่เกิดจากใจ บางทีก็คิดเรื่องโน้นบ้าง คิดเรี่องนี้บ้าง ถ้าเรามีความรู้ตัวที่ต่อเนื่อง เราก็จะรู้ เราก็จะเห็นการก่อตัว ใหม่ๆ ก็อาจจะไม่เห็น เราอาจจะรู้อยู่ว่าเขาคิดไปแล้ว แต่เรายังไม่เห็นอาการ รู้ลักษณะอาการตั้งแต่เริ่มเกิด เราก็ดับ เราก็ใช้สมถะดับ อยู่กับลมหายใจหรือว่าอยู่กับการเดิน เรารู้ไม่ทันต้นเหตุเราก็ดับเอาไว้


ช่วงใหม่ๆ นี้จะอึดอัดมากทีเดียว ภายในอาทิตย์แรก สองอาทิตย์นี่ ถ้าเราทำให้เข้มข้น จะอึดอัด กายก็อึดอัด ใจก็อึดอัด ทุกอย่างอึดอัดไปหมด จนกำลังสติของเราต่อเนื่องเข้มข้นจนกว่าจะสังเกตได้ ใจของเรากับความคิดเขาจะเคลื่อนเข้าไปรวมกันได้ เขาจะแยกออกจากกัน เราไม่ต้อง ไม่จำเป็นต้องจับเขาแยกได้เลย เขาจะแยกออก ช่วงที่เขาแยกนั่นแหละเขาเรียกว่า หงายจากสมมติไปหาวิมุตติ เขาว่าพลิกจากสมมติไปหาวิมุตติ ซึ่งเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ นี่แหละที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ‘สัมมาทิฎฐิ’ ความรู้แจ้งเห็นจริง เปิดปรากฏ เปิดทางให้ เห็นการเกิดการดับของขันธ์ห้า เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สติเห็น ใจรับรู้ เราแยกไม่ได้มันก็รวมเป็นก้อนเดียวกัน มันก็ยังหลงอยู่ในความคิดตรงนั้นอยู่ ถ้าเราแยกแยะได้ ตามดูได้ ทุกเรื่องได้ เราก็จะเข้าใจในชีวิตของเรา


ส่วนสติของเราพลั้งเผลอได้ยังไง สติอ่อนได้ยังไง จิตใจของเรามีความกังวลความฟุ้งซ่านได้อย่างไร เรื่องอะไร ถ้าเราเอาจริงๆ ทำ ขยันหมั่นเพียรจริงๆ เราย่อมจะรู้ ย่อมจะเข้าใจ ถ้าเกียจคร้านก็ยิ่งห่างไกล ยิ่งคิดยิ่งหา ยิ่งห่างไกล เราต้องมาเจริญสติเข้าไปหยุด เข้าไปดับ เข้าไปควบคุม ไปสังเกตจนกว่าจะแยกได้ ตามดูได้ รู้เห็นความเป็นจริงได้ เราก็ค่อยละ รู้ความจริงแล้วก็ค่อยละ


ใจเกิดกิเลสเราก็พยายามละ พยายามดับ พยายามสร้างกำลังใจ ละความโลภ ความโกรธ ละความ ทะเยอทะยานอยาก ละความกลัว สร้างความกล้าหาญให้ใจตัวเราอยู่ตลอดเวลา จนเป็นอัตโนมัติ จนไม่มีอะไรที่จะไปค้นคว้า จนไม่มีอะไรที่จะละ วางหมด มีแต่ดูกับรู้ ให้สติดู ใจรับรู้ สติปัญญาทำหน้าที่แทน ทุกอิริยาบถ


พูดง่ายเนอะ แต่ต้องพยายาม ได้บ้างไม่ได้บ้างก็ต้องพยายาม ได้บ้างไม่ได้บ้างก็ต้องพยายาม ได้มากได้น้อยก็ขึ้นอยู่กับตัวของเรา แต่ละวันตื่นขึ้นมาใจของเราส่งออกไปภายนอกสักกี่เรื่อง เหตุจากข้างนอกมาทำให้ใจเกิดสักกี่ครั้ง กิเลสหยาบหรือว่าละเอียด กิเลสเกิดขึ้นที่กาย ใจส่งเสริมหรือไม่ หรือว่าเกิดขึ้นที่ใจ มีอยู่ในกาย ค้นคว้าลงอยู่ที่ในกายของเรานี่แหละ ตำราใบใหญ่เลย ตำรานอกนั้นก็เขียนอยู่ที่กายของเรานี่แหละออกไปเขียน


ถ้าเราเห็น แยกแยะได้ เราทำความเข้าใจได้ เทียบเคียงดูกับตำราของครูบาอาจารย์ หรือพระไตรปิฎกดูได้ ว่าเอาความเป็นกลางเป็นที่ตั้ง ไม่เข้าข้างตัวเอง เข้าข้างคนอื่น เราก็จะมองเห็นทาง มีแต่ความขยันหมั่นเพียรจนถึงที่สิ้นสุด จนนั่งเสวยผลได้นั่นแหละ ก็ต้องพยายามเอา


ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่ ถึงเดินไม่ถึงจุดหมายปลายทาง เราก็พยายามค่อยเดินค่อยเป็นค่อยไป อย่าเกียจคร้าน พยายามสร้างความขยันหมั่นเพียร ทั้งภายนอกภายใน สร้างความรับผิดชอบ พวกนี้แหละเป็นตบะ เป็นบารมีอย่างยิ่งเลยทีเดียว


สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจให้ชัดเจนให้ต่อเนื่องกัน อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว
อยู่คนเดียวก็ให้รู้ว่าขณะนี้มีลมหายใจวิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนนะ


พากันไว้พระพร้อมๆ กัน พยายามพากันไปทำความเข้าใจต่อให้รู้ทุกอิริยาบถนะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง