หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 102

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 102
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 102
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 102
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 21 กันยายน 2562

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกของเราให้ชัดเจนแล้วก็ให้ต่อเนื่อง เสียงก็สักแต่ว่าเสียง ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย วางกายให้สบาย วางใจให้สบาย นั่งตามสบาย ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว อันนี้เป็นการสร้างความรู้สึกรับรู้

การสูดลมหายใจยาวๆ สัมผัสที่ลมหายใจกระทบปลายจมูกของเราก็จะชัดเจน อย่าไปเพ่ง ถ้าเพ่ง ถ้าเราเอาส่วนบน หรือว่าเอาสมองไปเพ่ง สมองก็จะตึง ถ้าเราเอาใจไปจดจ่ออยู่ที่ปลายจมูกหน้าอกก็จะแน่น เพียงแค่เราสร้างความรู้สึกว่าลมกระทบปลายจมูกมีความรู้สึกรับรู้อยู่ หายใจออกก็มีความรู้สึกรับรู้อยู่เหมือนกับนายประตูทวาร รถคันไหนวิ่งเข้าก็รู้ รถคันไหนวิ่งออกก็รู้พยายามหัด ฝึกแล้วก็สังเกตให้เกิดความเคยชิน อย่าไปมองข้าม นี่แหละขั้นพื้นฐานในการสร้างความรู้ตัวรู้กาย

ถ้าความรู้ตัวของเราต่อเนื่องเชื่อมโยงเราก็จะเห็นอะไรดีๆ ขึ้นเยอะในกายของเรา รู้ลักษณะของใจ ใจที่ปกติเป็นอย่างนี้ ใจที่เกิดส่งออกไปภายนอกเป็นกุศลหรือว่าอกุศลเป็นลักษณะอย่างนี้ความคิดหรือว่าอาการของขันธ์ห้า ซึ่งเป็นส่วนนามด้วยกันกับใจ เขาก่อตัวอย่างไร ใจเคลื่อนเข้าไปรวมได้อย่างไร ซึ่งเรียกว่าความคิดเก่าของเรานั่นแหละมีอยู่ บางคนก็มีเยอะ บางคนก็มีเบาบาง

ส่วนใจนั้น บางคนก็มีการปล่อยการวางมาก บางคนก็มีความทะเยอทะยานอยากเยอะ บางคนก็มีความยึดมั่นถือมั่นมาก เราต้องมาเจริญสติเข้าไปวิเคราะห์สังเกต จนกว่าใจของเราจะคลายออกจากขันธ์ห้า คลายหรือว่าแยกรูปแยกนามได้เมื่อไหร่ ใจหงายขึ้นมาเมื่อไหร่ เราก็จะเห็นความเป็นจริง เข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์คำว่า ‘อัตตา ตัวตน’ ‘อนัตตา ความว่างเปล่า’ ทำไมใจถึงเข้าไปหลง เข้าไปยึด ทำให้เกิดอัตตาตัวตน ทำไมใจถึงเกิดความอยาก ทำไมใจถึงเกิดปรุงแต่ง เพราะว่าคนทั่วไปนั้นหลงมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิด

หลงเกิด ตัวใจนี่หลงเกิด หลงวนเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ อันนั้นเราอย่าพึ่งไปนั่นเขา เรามาดูใจอยู่ในกายของเราเนี่ย มาจัดการกับใจซึ่งมาสร้างร่างกายขึ้นมา แล้วก็มาอยู่ในกายของเราซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรม มีความรู้สึกรับรู้ เราต้องมาเจริญสติเข้าไปอบรมให้รู้ ให้เห็นเป็นส่วนๆ ซึ่งท่านเรียกว่า ‘เป็นกอง เป็นขันธ์’ เป็นกองเป็นขันธ์ คนเราก็ค่อยพัฒนามาเรื่อยๆ พัฒนาจากเกิดมาแล้วก็พัฒนาจากเด็ก ค่อยพัฒนาทั้งด้านร่างกาย แล้วก็ทางด้านจิตใจค่อยพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงอายุปูนนี้ เดี๋ยวนี้ ความเกิดความเสื่อมความชราคร่ำคร่าก็เข้ามาปรากฏ

บางคนก็พ่อแม่พี่น้องก็ไปจากกันหมด แม้แต่บางคน บางครั้งบางคราวก็เป็นเด็ก ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ทั้งทีก็ไปกันก็เกือบหมด เหลือตั้งแต่พวกเราที่ยังนั่งอยู่นี้แหละ ก็พยายามหมั่นวิเคราะห์กายวิเคราะห์ใจของเราให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น อย่าเป็นทาสของกิเลส ขณะที่ยังมีกำลังกายอยู่พยายามรีบตักตวงหากำไรในกายก้อนนี้ให้ได้จนกว่าเขาจะแตกจะดับ อย่างน้อยๆ ก็ยังมีเข้าพกเข้าห่อติดตามตัวเราก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำ

ตื่นขึ้นมาเราก็รีบรู้กายรู้ใจ รู้กายรู้ใจ รู้ภาระหน้าที่การงานของเรา อะไรควรรับผิดชอบ อะไรควรแก้ไข ประโยชน์ใกล้ประโยชน์ไกล ประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ประโยชน์ในโลกปัจจุบันพยายามรีบแก้ไขให้ได้ อย่าให้กิเลสมาใช้การใช้งาน ถ้าเราไม่พิจารณาแก้ไขตัวเราไม่มีใครจะแก้ไขให้เราได้เลย เราอาจจะแก้ไขอยู่ในระดับของสมมติ ต้องแก้ไขให้ได้ตามคำสอนของพระพุทธองค์คำว่า ‘แยกรูปแยกนาม’

ส่วนใจเป็นอย่างไร อาการของใจเป็นอย่างไร คลายทิฏฐิมานะ คลายกิเลสออกจากใจของเราให้ได้ จะเอา จะมี จะเป็นก็เป็นเรื่องของปัญญา จะเอามากเอาน้อย ทำมากทำน้อยก็เพื่อที่จะยังประโยชน์ หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตของเราทั้งชีวิต ไม่ใช่แค่ว่าวันเดียว 2 วัน ทั้งชีวิตจนกว่าจะหมดลมหายใจ หมดลมหายใจแล้วก็ต้องเดินต่ออีก กายเนื้อแตกดับ ตัวจิตวิญญาณต้องเดินต่ออีก ตราบใดที่ใจจิตวิญญาณนั้นมีความเกิดอยู่เขาก็ต้องเกิดต่อ ก็ขอให้เกิดอยู่ในกองกุศลเอาไว้ อย่าพากันปล่อยวันเวลาทิ้ง

แม้ตั้งแต่กุศลผลบุญผลทานของเรา ทำมากทำน้อยก็เป็นอานิสงส์ของเรา ท่านถึงวางเอาไว้ตั้งแต่ทาน ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา เราต้องทำความเข้าใจ ไม่ใช่ว่าไปปล่อยปละละเลย ศีลลักษณะของศีลเป็นอย่างไรบ้าง ความปกติ ปกติระดับไหน ระดับกาย ระดับวาจา ระดับใจ อธิจิตอธิศีล อธิวินัย ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีลพระปาติโมกข์ ก็เพื่อที่จะละกิเลสทั้งนั้น เพื่อที่จะละกิเลสก็เพื่อที่จะคลายความหลง ศีลสังคม ศีลสมมติ ศีลวิมุตติ เราต้องศึกษาทำความเข้าใจให้ละเอียดทุกสิ่งทุกอย่าง

รู้ความจริงแล้วก็วางหมด วางหมด ละอกุศล เจริญกุศล เพื่อให้เกิดประโยชน์ ไม่ให้เกิดทุกข์เกิดโทษ ทั้งดีทั้งไม่ดีละหมด ออกให้หมด วางให้หมด ดำขาววางให้หมด ดีชั่วก็วางให้หมด ละชั่วสร้างดี ไม่ยึดติดในดีซึ่งท่านเรียกว่า ‘อยู่เหนือบุญเหนือบาป’ มองเห็นหนทางเดินว่าเราจะได้กลับมาเกิด กลับมาเกิดกัน เป็นเรื่องของเราไม่ใช่เรื่องของคนอื่น

ที่ได้ยินได้ฟังได้อ่านได้ศึกษา อันนั้นก็เป็นแค่เพียงพิธีการแนวทางเท่านั้นเอง การให้ทานเป็นอย่างไรบ้าง ความเสียสละ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความอ่อนโยน อ่อนน้อมถ่อมตน มีสัจจะกับตัวเรา รู้จักแก้ไขตัวเรา ละความเกียจคร้าน สร้างความขยันหมั่นเพียร ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราทั้งนั้นแหละ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนนู้นคนนี้ ก็ต้องพยายามกันนะ

เพียงแค่การเจริญสติ ทำให้ต่อเนื่องจาก 1 นาที 2 นาทีเป็น 5 นาที 10 นาที การเจริญสติเราก็ต้องรู้จักเอาสติปัญญาไปใช้ด้วย ไม่ใช่ว่าสร้างขึ้นมาเฉยๆ โดยที่ไม่รู้จักเอาไปใช้ แต่เวลานี้เพียงแค่สร้างก็ยังยากอยู่ เรื่องที่จะเอาไปใช้มันก็ยากขึ้นไปอีก ก็ต้องพยายามมีความเพียร

บุคคลที่จะถึงจุดหมายปลายทางได้ต้องเป็นบุคคลที่มีความเพียรเป็นเลิศ เพียรต่อกิเลสภายในละกิเลสภายใน เพียรอดทนอดกลั้นจากกิเลสภายนอกเข้ามากระทบ ทุกอย่างล้วนแต่มีความเพียร ล้วนแต่เป็นการสร้างตบะสร้างบารมีให้ถึงจุดหมายปลายทางกัน

สร้างความรู้สึกรับรู้ให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยงกันสักนิดหนึ่งก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำ นาที 2 นาที 3 นาที ให้เชื่อมโยงให้ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งเราก็จะเอาสติปัญญาไปใช้การใช้งานได้คล่องแคล่ว ตั้งสติ สร้างความรู้ตัวให้ชัดเจน

พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปศึกษาทำความเข้าใจต่อให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง