หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 86

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 86
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 86
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 86
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 13 สิงหาคม 2562

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติสร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนให้ต่อเนื่อง วางความนึกคิดปรุงแต่ง หยุด..หยุดความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ เอาไว้ชั่วครั้งชั่วคราว การวางภาระหน้าที่การงานที่เราเคยทำอยู่เราก็วางมาถึงได้เข้ามาในวัด วัดภายนอกเราก็เข้ามาถึง ที่นี้เราก็จะต้องพยายามเข้าวัดภายในด้วยการเจริญสติสร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยง ความรู้สึกพลั้งเผลอก็เริ่มใหม่ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย

ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว อันนี้เป็นแค่เพียงอุบาย อุบายในการสร้างความรู้ตัวการสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ แล้วผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ กายของเราก็จะสบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเราก็จะชัดเจน พยายามสร้างความรู้สึกตรงนี้แหละตั้งแต่ตื่นขึ้นตั้งแต่ยังไม่รู้จากที่ พอรู้ตัวปุ๊บเราก็สร้างความรู้สึกรับรู้อยู่ที่ปลายจมูกของเรา

สติรู้กาย ตั้งมั่นทุกขณะลมหายใจเข้าเขาเรียกว่า ‘ปัจจุบัน’ เวลาหายใจออกลมกระทบปลายจมูกก็เรียกว่า ‘ปัจจุบัน’ ที่ท่านเรียกว่า ‘ปัจจุบันธรรม’ ทุกขณะลมหายใจเข้าหายใจออก จากครั้งหนึ่ง 2 ครั้งเป็น 3 ครั้ง จาก 1 นาทีเป็น 2 นาทีเป็น 3 นาทีเป็น 4 นาที 5 นาที 10 นาทีเป็นชั่วโมง จนความรู้ตัวของเราตั้งมั่น อันนี้เพียงแค่สติรู้กาย เป็นแค่เพียงสติรู้กาย ตรงนี้เราก็ขาดความเพียรในการเจริญ ในการทำให้มีให้เกิดขึ้น

ส่วนความคิดเก่าปัญญาเก่าที่เกิดจากใจ หรือว่าวิญญาณ หรือว่าใจ ความคิดที่เกิดๆ ดับๆ บางทีก็เป็นความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจคิดซึ่งเป็นส่วนนามธรรม เขาคิดขึ้นมาใจเกิดเข้าไปรวมเป็นสิ่งเดียวแล้วไปด้วยกัน จนกายซึ่งเป็นก้อนรูปซึ่งวิญญาณมาอาศัยกาย มาสร้างกายขึ้นมาก็มาอาศัยกาย

พระพุทธองค์ท่านถึงเน้นให้เข้าไปถึงต้นเหตุ เจริญสติให้รู้เท่ารู้ทันต้นเหตุการเกิดของใจ ใจนี่เหมือนเขาเกิดเขาหลง เขาหลงใจนี่หลงมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิดนะ ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด เขาหลงมาวนเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ อันนั้นเราอย่าเพิ่งไปแสวงหาเขา เราแสวงหาวิญญาณในกายของเราให้เห็นเสียก่อน เราถึงจะเข้าใจในขั้นสูงๆ โน่น เพียงแค่สติรู้กายให้ต่อเนื่องเราก็พยายามทำให้ได้เสียก่อน

สติปัญญาในทางโลกในทางสมมติทุกคนมีกันเต็มเปี่ยม แต่เป็นสติที่ประคับประคอง สมมติให้อยู่ในระดับปกติของสมมติ แต่ความหลงก็ยังครอบงำอยู่เพราะว่าการเกิดของใจ ความยึดมั่นถือมั่นของใจซึ่งมีอยู่ในกายก้อนนี้ยังมีอยู่ เพราะว่าใจยังคลาย ยังคลายความหลงหรือว่าแยกรูปแยกนามไม่ได้ เขาก็รู้อยู่ อยู่ในระดับของสมมติ

พระพุทธองค์ท่านถึงให้เจริญสติมาสร้างความรู้ตัวให้ลงที่กายให้ได้เสียก่อน ปัญญาเก่าเรามีเท่าไหร่ ปัญญาโลกีย์จะมีเต็มเปี่ยม มีทั้งร้อยเราก็อย่าเพิ่งเอามาคิด เราก็อย่าเพิ่งมาวิเคราะห์เรามาสร้างความรู้ตัวเข้าไปอบรมใจของเรา อบรมใจไม่ทันเราก็ใช้สมถะเข้าไปดับอยู่กับลมหายใจบ้าง หรือว่าจะเอาคำบริกรรมไปกำกับบ้าง อยู่กับการเดินสร้างความรู้ตัวอยู่ปัจจุบัน อยู่กับลมหายใจ อยู่กับการเดิน ความรู้สึกพลั้งเผลอเราก็เริ่มใหม่ ความรู้สึกพลั้งเผลอเราก็เริ่มใหม่ ใจของเราปรุงแต่งส่งออกไปภายนอกเรารู้ไม่ทันต้นเหตุเราก็ดับ ส่วนมากจะรู้ไม่ทันช่วงใหม่ๆ

เพียงแค่การสร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยงให้ได้เสียก่อน เราก็ดับความเกิดของใจส่วนความคิดที่ผุดขึ้นมาที่ไม่ตั้งใจคิดที่เรียกว่า ‘อาการของขันธ์ห้า’ นะ ตรงนั้นก็เขาก็ผุดขึ้นมาปรุงแต่ง ใจของเราก็จะเคลื่อนเข้าไปรวม ถ้าเราสังเกตทันใจของเราก็จะคลายออกหงายขึ้นมาถึงเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ หรือเรียกว่า ‘สัมมาทิฏฐิ’ ความเห็นถูก พยายามหัดสังเกตจนใจคลายออกจากขันธ์ห้าซึ่งเป็นส่วนนามธรรมด้วยกัน ถ้ายังแยกแยะไม่ได้เราก็เพียรการเจริญสติเข้าไปหยุดเข้าไปดับ ดับที่ต้นเหตุ ส่วนมากก็เพียงแค่ต้นเหตุรู้ไม่ทัน กลางเหตุก็รู้ไม่ทัน บางทีปลายเหตุก็รู้ไม่ทัน เราก็เลยเพียงแค่สร้างเจริญสติให้ได้ ให้ได้ให้เชื่อมโยง ถ้ากำลังสติของเรามีมากขึ้นๆๆ ความเข้มแข็งก็จะมีขึ้น ใจก็จะช้าลง ต้องอดทน อดทนอดกลั้นกับเหตุการณ์ต่างๆ อดทนอดกลั้นกับความคิดอารมณ์ต่างๆ อดทนอดกลั้นกับเหตุการณ์ต่างๆ รู้ไม่ทันต้นเหตุเราก็ดับ..หยุด ใช้สมถะเข้าไปดับ

การพูดง่าย การลงมือปฏิบัติจริงๆ เราต้องมีความเพียรเป็นเลิศ เราอย่าไปมองเอาตั้งแต่ปลายเหตุ พยายามเจริญสติลงที่ต้นเหตุให้ได้เสียก่อน ตัวอื่นก็จะค่อยตามมา ถ้าใจคลายออกคลายความหลงหรือว่าแยกรูปแยกนามได้ ใจก็จะหงายขึ้นมา เราก็จะเข้าใจคำว่าอัตตาอนัตตา รู้..รู้อัตตาอนัตตา เห็น..เห็นความเกิดความดับ เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาในขันธ์ห้า ในกายของเราไม่ใช่ว่านึกเอา ต้องรู้ด้วยเห็นด้วยตามสติปัญญา ตามดูได้ด้วย ใจรับรู้ได้ด้วย เห็นความเกิดความดับ บางทีก็เป็นที่ท่านเรียกชื่อว่ากองโน้นกองนี้ กองสังขาร กองวิญญาณ กองรูป กองนามเอาส่วนใกล้ๆ ตัวภายในใจภายในกายของเราให้เห็นเสียก่อน ส่วนตัวอื่นก็จะเริ่มตามมา

ถ้ากำลังสติของเราสังเกตวิเคราะห์จนใจคลายออก ตามรู้ ดูรู้เห็น กำลังสติก็จะตามค้นคว้ากำลังสติก็จะเริ่มมากขึ้นมากขึ้น ก็เริ่มกลายเป็นมหาสติ จากมหาสติก็จะค้นคว้าจนหายสงสัยหายลังเล จนกลายเป็นมหาปัญญา จากมหาปัญญาก็จะกลายเป็นปัญญารอบรู้ในดวงจิต รอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในดวงวิญญาณของเรา ว่าแต่ละวันตื่นขึ้นมาใจของเราเป็นอย่างไร ใจของเราปกติ..ใจของเราปกติ ใจของเรามีความสงบ ใจของเราเกิดกิเลสสักกี่ครั้ง ใจของเราเกิดกิเลสสักกี่เที่ยว เหตุจากภายนอกทำให้เกิดหรือเกิดจากภายใน เราพยายามหัดสังเกตเจาะให้ถึงต้นเหตุ รู้ไม่ทันต้นเหตุเราก็ดับเอาไว้อย่าเพิ่งรีบร้อน ทำไปเรื่อยๆ

ฉลาดทางโลกเราฉลาดมาแล้ว ทีนี้เราก็ให้ฉลาดทางธรรม โง่เสียก่อนค่อยฉลาดใหม่ คลายความหลงให้ได้ เห็นความเกิดความดับ เห็นจุดเกิดจุดดับให้ได้ เข้าใจในภาษาธรรมเข้าใจในภาษาโลก รู้จักจำแนกแจกแจงรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสต่างๆ ออกจากใจของตัวเรา

กายของเราทำหน้าที่อย่างนี้ หูตาจมูกลิ้นกาย ทวารทั้งหกเขาทำหน้าที่อย่างนี้ ตาทำหน้าที่ดูเราก็ห้ามไม่ได้ หูทำหน้าที่ฟังเราก็ห้ามไม่ได้ ภาษาธรรมที่ท่านเรียกว่า ‘สักแต่ว่าดู’ ‘สักแต่ว่ารู้’ ‘สักแต่ว่าฟัง’ เป็นลักษณะอย่างไร แยกรูปรสกลิ่นเสียงออกจากใจ ส่วนมากเราก็จะไปโทษตั้งแต่ว่าภายนอกมารบกวนเรา ถ้าเราจะหลบหลีก ก็หลบหลีกด้วยสติด้วยปัญญา ทำเรื่องของเราวิเคราะห์กายวิเคราะห์ใจของเราให้ถึงจุดหมายปลายทางให้ได้เสียก่อน

ช่วงใหม่ๆ ก็อาจจะเป็นการฝืน การทวนกระแสกิเลส เพราะว่าใจนี่เขาชอบเกิด ชอบคิด ชอบเที่ยว สารพัดเรื่องที่เขาจะหาเหตุหาผลมาอ้าง แล้วก็ติดขัดอันโน้นบ้างติดขัดอันนี้บ้าง แยกภายในไม่ได้ ดับความเกิดไม่ได้ก็ปรุงแต่งหาที่พึ่งภายนอก พึ่งสิ่งโน้นบ้างพึ่งสิ่งนี้บ้าง ไม่ได้เจริญสติให้เป็นเพื่อนใจเป็นที่พึ่งของใจ อบรมใจ พึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทำใจให้สะอาดให้บริสุทธิ์ ให้หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นต่างๆ

กิเลส..กิเลสก็มีเยอะแยะมากมาย ไล่ตั้งแต่ความเกิดของใจนั่นแหละคือกิเลสอันละเอียดที่สุดถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด ทีนี้เขาก็มาหลงเกิดมาสร้างภพมนุษย์ มาสร้างขันธ์ห้า อันนี้ก็มายึดติดในขันธ์ห้าอีก ก็ซับซ้อนเข้าไปอีก ขณะที่ยังอยู่ในวิญญาณของเรา ใจของเราก็ยังอาศัยกายนี้อยู่เขาก็ยังเกิดอีก

ความเกิด..ความเกิดหรือว่าความนึกคิดปรุงแต่งที่ส่งออกไปภายนอก นี่ก็เป็นความหลงอีกชั้นปิดกั้นตัวใจไว้อีก หลังจากเกิดอยู่ในภพมนุษย์ หลงเข้ามาในชั้นโน้นแล้ว แล้วก็มาหลงยึด มาสร้างภพมนุษย์ก็มาหลงยึด มายึดในภพมนุษย์แล้วก็ขณะยังมีกายนี้อยู่ เขาก็ยังเกิดต่อมีการพัฒนาเกิดต่อ บางทีก็เป็นทาสกิเลสอีก ความโลภ ความโกรธ ความอยาก ความทะเยอทะยานอยากเข้าครอบงำ ทั้งความอยากทั้งความหวัง อีกชั้นที่เขาปิดกั้นเอาไว้ ทีนี้กิเลสหยาบกิเลสละเอียดเขาปิดกั้นเอาไว้ แถมเข้าไปยินดีร้าย แถมส่งเสริมเข้าไปอีก แทนที่จะเจริญสติเข้าไปหยุด เข้าไปวิเคราะห์ หาเหตุหาผล ชี้เหตุชี้ผลและก็รู้จักละ ละเหตุละผล เข้าถึงความสะอาดความบริสุทธิ์ตัวเดิมของใจ

ความบริสุทธิ์เดิมของใจนั้น คือใจที่ปราศจากกิเลส เขาก็บริสุทธิ์ ใจที่ไม่เกิดเขาก็นิ่ง แต่เวลานี้ทั้งเกิดทั้งวิ่งทั้งหลงทั้งยึด เราต้องมาเจริญสติเข้าไปอบรม เข้าไปวิเคราะห์ ช่วงใหม่ๆ เราไม่เห็นเราไม่เห็นลักษณะของใจ เรารู้ตั้งแต่เมื่อเขาเกิดแล้วเราก็ใช้สมถะดับอย่างเดียว อยู่กับลมหายใจบ้าง อยู่กับการเดินบ้าง อย่าไปนึกไปคิดเอาเด็ดขาด โง่ก็ยอมโง่ ค่อยฉลาด พยายามดับๆๆ ให้ได้ ดับความนึกคิดปรุงแต่งให้ได้

นี่เราก็หัดสังเกตเวลาเขาก่อตัว เขาเริ่มก่อตัวเมื่อไหร่เราก็ดับทันที พอดับ พอหยุดทันทีปุ๊บก็ถึงตัวใจ ใจก็จะนิ่ง เพราะว่ากำลังส่งออกไปภายนอกไม่มี แต่เวลานี้ใจของเราทั้งส่งออกไปภายนอกเร็วไว ทั้งขันธ์ห้าก็ผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจของเราเร็วไว กำลังสติของเรานี่มีน้อยไม่ทันเพียงแค่มาเจริญ มาสร้างมาทำ มาควบคุมมาอบรม อย่าเพิ่งไปเอาผลต้องดูที่เหตุเสียก่อน ดูเหตุให้ได้แยกแยะเหตุให้ได้ผลก็จะตามมา

ต้องเป็นบุคคลที่มีความเพียรเป็นเลิศ เป็นบุคคลที่มีการฝักใฝ่ มีความสนใจ หมั่นสังเกตหมั่นวิเคราะห์แต่ละวัน ใจของเรามีความเป็นระเบียบเรียบร้อยหรือไม่ ใจของเรามีความอดทนอดกลั้นหรือเปล่า เรามีสัจจะกับตัวเองหรือไม่ เรามีความเพียร เรามีความรับผิดชอบ เรามีความเสียสละหรือว่ามีตั้งแต่ความเห็นแก่ตัว เราต้องพยายามวิเคราะห์ให้ได้ทุกอย่าง ทุกอิริยาบถ ยืนเดินนั่งนอน กินอยู่ขับถ่าย

ไม่ใช่ว่าจะไปเอาเรียนตั้งแต่ชื่อ ชื่ออาการหน้าตา เราต้องเห็นการเกิด การก่อ การร่วม ตามทำความเข้าใจให้รู้ความเป็นจริง ค่อยพิจารณาให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในกายของตัวเราแล้วก็ค่อยพิจารณาให้ใจรับรู้ แต่เวลานี้ใจของเราทั้งรู้ทั้งหลงทั้งเกิด แต่ก็ต้องมา มาวิเคราะห์กันมาทำความเข้าใจกัน ความรู้ตัวของเราพลั้งเผลอเริ่มใหม่ กายเราเหนื่อย เราก็พยายามฝืนฝืนกายของเรา จนถึงไปไม่ไหวแล้วค่อยพัก กำลังสติของเราพลั้งเผลอเราก็เริ่ม

มีไม่มากถ้าคนเราจะสนใจ ถ้าเรารู้ ดูรู้ว่าเห็นเข้าใจ ใจที่ปราศจากกิเลสเป็นอย่างนี้ ใจที่ปกติเป็นอย่างนี้ ใจเขาก็จะเปิดเผยตัวออกมาให้เราเห็น เห็นความว่าง ใจที่ว่างจากการเกิด ว่างจากขันธ์ห้า ว่างจากกิเลส เป็นลักษณะอย่างนี้ ว่างด้วยปัญญา รู้เห็นตามความเป็นจริง ชี้เหตุชี้ผลใจก็อดจะเกิดความเบื่อหน่ายอีก การเป็นทาสกิเลสเขาก็ไม่เอา การเป็นทาสของขันธ์ห้าเขาก็ไม่เอา แม้แต่การเกิดเป็นทุกข์เขาก็ไม่เอา หนุนกำลังสติปัญญาไปเกิดแทนทำหน้าที่แทน ผิดถูกชั่วดี สติปัญญาของเราไปแก้ไข

คำว่า ‘ปัจจุบันธรรม’ ใจของเราต้องคลายออกจากขันธ์ห้า สติปัญญาของเราตามทำความเข้าใจให้ใจยอมรับความเป็นจริง ทีนี้สติปัญญาของเราทำหน้าที่แทนใจ จะคิดเรื่องอดีตคิดเรื่องอนาคตก็เป็นปัญญาธรรม เพราะว่าใจของเราคลายจากความหลงแล้ว ใจของเราสงบว่าง นิ่งรับรู้อยู่ในกายของเรา เขาเรียกว่า ‘รู้อยู่ปัจจุบัน’ จะคิดเรื่องอดีต คิดเรื่องอนาคต ก็เป็นเรื่องของปัญญา เขาเรียกว่า ‘ปัญญาอยู่กับปัจจุบัน’

จะยกกายพิจารณาให้ใจรับรู้ จะยกธรรมต่างๆ ขึ้นมาพิจารณาให้ใจรับรู้ พิจารณาทั้งกายทั้งใจทำความเข้าใจกับสมมติ ทำความเข้าใจกับวิมุตติ ทำความเข้าใจกับโลกธรรม ทำความเข้าใจกับนิวรณธรรม กิเลสต่างๆ รู้ความเป็นจริงแล้วก็ค่อยละ เหลือตั้งแต่รูปกับนาม กับสติปัญญากับใจกับรูป คอยบริหารกายบริหารใจ มีความรับผิดชอบด้วยปัญญา ด้วยพรหมวิหาร ด้วยความเมตตา

ทุกเรื่องในชีวิตตั้งแต่ตื่นขึ้น ก็ต้องดูรู้ทางของใจเป็นหลัก จะลุกจะก้าวจะเดิน ใจต้องนิ่งรับรู้ อย่าไปเสียดายอะไรอาวรณ์กับอารมณ์ กับกิเลสเล็กๆ น้อยๆ เราดับตั้งแต่ต้นเหตุ ดับตั้งแต่ความเกิด ตั้งแต่ความอยากเล็กๆ น้อยๆ กิเลสตัวใหญ่ๆ มันจะเกิดได้อย่างไร

เราจะคลายความหลง แยกรูปแยกนาม คลายขันธ์ห้า ใจก็จะเบา กายก็จะเบา ใจก็จะว่าง นั่นแหละความว่าง นั่นแหละคือใจ ในความว่างนั้นมีความรู้สึกรับรู้อยู่ เหมือนกับเรานั่งอยู่ในศาลาศาลาของเราก็ว่างโล่งโปร่งแต่อากาศก็มีอยู่ ในกายของเรานั้นก็ว่างโล่งโปร่งแต่ความรู้สึกรับรู้ก็มีอยู่ เขาก็จะค่อยเผยตัวออกมาให้เราเห็น

ใจก่อตัวเราก็หยุดตั้งแต่การก่อตัวเข้าถึงตัวใจ ใจก็จะเกิดปีติเกิดสุข เพราะว่ากำลังสติรู้เท่ารู้ทันรู้ทันรู้แก้ ตามทำความเข้าใจ รู้ความจริงแล้วค่อยละ ละขันธ์ห้า มาละกิเลสที่ใจ ละกิเลสที่ใจมาดับความเกิดที่ใจ เข้าถึงความบริสุทธิ์ความหลุดพ้นของใจ ใจก็มีตั้งแต่ความปีติความสุข

เราละกิเลสเราต้องดูรู้ว่าสาเหตุกิเลส กิเลสเกิดขึ้นภายในโดยตรง หรือเกิดจากขันธ์ห้ามาปรุงแต่ง หรือเกิดขึ้นจากสติปัญญาของเราปรุงแต่ง หรือเกิดจากเหตุภายนอกทำให้ใจของเราเกิดเราก็ต้องเสาะแสวงหาต้นเหตุดับต้นเหตุ ดับเหตุภายในไม่ได้เราก็ต้องแก้เหตุภายนอกด้วยควบคู่กันไป ดับทั้งภายนอก ละทั้งภายนอกและทั้งภายใน แล้วก็อาศัยกาล อาศัยเวลา อาศัยความเพียรเป็นตัวทำความเข้าใจ

ความอดทนอดกลั้นเรียกว่า ‘ตบะ’ ตบะบารมี มีความสัจจะ มีความจริง ถ้าเราฝึกหัดปฏิบัติถ้าไม่รู้ความจริงเราก็ได้แค่ปฏิบัติลงที่กาย กับปฏิบัติด้วยความหลง หลงปฏิบัติ ถ้าเรายังแยกรูปแยกนามไม่ได้ วิปัสสนาความรู้แจ้งเห็นจริงก็ยากที่จะเปิดทาง เราก็รู้อยู่ระดับของสมมติ รู้อยู่ระดับของโลกีย์ ความถูกต้องก็อาจจะมีระดับของโลกีย์ เราต้องพยายามดำเนินให้ได้ใช้ตัวเองให้เป็น เจริญสติเข้าไปค้นคว้าจนไม่มีอะไรที่จะเหลือให้ค้นคว้า จะเหลือตั้งแต่สติปัญญากายใจสติปัญญาสมาธิ เขาก็จะรักษาเรา

การได้ยินได้ฟังได้อ่านทุกคนมีกันเต็มเปี่ยม ถ้าไม่รู้จักหมั่นพร่ำสอนตัวเราเองแล้วก็ไม่มีใครจะสอนให้ ตำราครูบาอาจารย์ก็เป็นแค่เพียงแผนที่ ธรรมะนั้นมีมาอยู่ประจำโลก พระพุทธองค์เป็นบุคคลที่ค้นพบ เป็นศาสดาเอกของโลก ความจริงสัจธรรมที่ท่านค้นพบ ก็ยังมีอยู่ในกายของเราทุกคน ความเกิดความดับเป็นอย่างไร การแยกรูปแยกนามเป็นอย่างไร การละกิเลสหยาบกิเลสละเอียดที่ท่านได้ค้นพบว่าต้องทำอย่างไร

ใจเกิดความโลภ ละความโลภ ใจเกิดความโกรธ ละความโกรธ ด้วยการให้อภัยอโหสิกรรมเรามีความเกียจคร้าน สร้างความขยัน สร้างความรับผิดชอบ สร้างความเสียสละ เจริญพรหมวิหารให้เต็มเปี่ยม จะมีจะเป็นของเก่าคลายออกให้หมดให้เหลือตั้งแต่ความบริสุทธิ์หลุดพ้น ที่นี้จะมีจะเป็นเราก็เจริญทำใหม่ด้วยสติด้วยปัญญาของเรา รับผิดชอบใหม่ด้วยสติด้วยปัญญาของเรา จะมีมากมีน้อย ทำมากทำน้อย ก็เป็นเรื่องของสติปัญญา กับความขยันหมั่นเพียรกับอานิสงส์แห่งบุญของพวกเรา

มีโอกาสก็อย่าไปทิ้ง จงทำกายก้อนนี้ให้เป็นบุญทำใจก้อนนี้ให้เป็นบุญ รีบตักตวงสร้างคุณงามความดี รีบตักตวงหากำไรในชีวิตขณะที่ยังมีกำลังกายอยู่ ขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ ถ้าหมดลมหายใจแล้วก็มีแต่เรื่องบุญกับเรื่องบาป บุญสมมติเราก็ทำให้เต็มเปี่ยม

ส่วนการขัดเกลากิเลส กิเลสเกิดขึ้นเมื่อไหร่เราก็พยายามละ สติของเราพลั้งเผลออย่างไร นิวรณ์เข้าครอบงำได้อย่างไร ใจเกิดความกังวล เกิดความฟุ้งซ่าน เราก็รู้จักดับ ใหม่ๆ ก็เป็นการทวนกระแสกิเลส ใจของคนเราชอบคิดหาเหตุหาผล เริ่มฝึกปุ๊บมันก็จะเริ่มเล่นงานเราปั๊บ ทั้งขันธ์ห้าก็เล่นงาน กำลังสติของเราจะเข้มแข็งหรือไม่ ตายเป็นตาย ไม่ถึงเวลาก็ไม่ตาย ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน เร่งทำความเพียร

รู้ไม่ทันต้นเหตุ ดับวางๆ หยุดวางๆ ถ้าเรารู้ด้วยเห็นด้วยเข้าถึงด้วย แยกแยะได้ด้วยกำลังสติครั้นจะพุ่งแรงเป็นมหาสติ ช่วงที่อยากรู้ไม่ทันนี่ก็ต้องพยายามสร้างขึ้นมา มีความเพียร ส่วนมากจะพลั้งเผลอ ถ้ารู้ไม่ทันจะพลั้งเผลอ ความคิดเก่านั้นมีอยู่เดิมที่เกิดจากตัวใจกับขันธ์ห้า เขาหลงเข้ามาสร้างกายเราต้องมาค้นคว้าเรื่องกายนี้ให้ละเอียด และก็มาดับความเกิด กายก็ยังอยู่กายเนื้อแตกดับใจของเราก็เข้าสู่ความบริสุทธิ์ไม่ต้องกลับมาเกิด ดับให้ได้ขณะที่ยังมีลมหายใจ ละให้ได้ขณะที่ยังมีลมหายใจ

ทำความเข้าใจให้ถึงจุดหมายปลายทาง เอาเราให้ถึงจุดหมายปลายทางเสียก่อน เรื่องของเราเรื่องของคนอื่นก็ค่อยว่ากัน เราก็คอยช่วยเหลือด้วยพรหมวิหารด้วยความเมตตา ยิ่งเพิ่มความช่วยเหลือ เพิ่มความอนุเคราะห์เป็นทวีคูณ

ถ้าเราเข้าใจแล้ว เหมือนกับเราว่ายน้ำให้ขึ้นฝั่งให้ได้เราก็กลับมาช่วยคนข้างหลัง ถ้าเรายังข้ามฝั่งไม่ได้เราจะกลับมาช่วยคน เราก็จมน้ำไปด้วยกัน เราก็ต้องพยายาม พยายามเดินให้ถึงจุดหมายปลายทาง ไม่เหลือวิสัย อย่าไปปิดกั้นตัวเองว่าไม่มีโอกาส อย่าไปปิดกั้นตัวเองว่าวาสนาไม่มี ทุกคนก็มีบุญ ทางสมมติบางคนก็มีเต็มเปี่ยม บางคนก็ขาดตกบกพร่องแต่ถึงกับไม่ลำบากเราก็พยายามดำเนินทำความเข้าใจ

ท่านถึงบอกว่าให้รอบรู้ในกองสังขาร ให้รอบรู้ในดวงวิญญาณในกายของเรา แล้วก็รอบรู้ในปัจจัยสี่ในสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว รอบรู้ในโลกธรรม รู้จักใช้สมมติเคารพสมมติ มีความสุขในสิ่งที่เรามีเราเป็น สุขภายในเราก็ได้ สุขข้างนอกเราก็มีด้วยปัญญา ยิ่งบริหารกายบริหารใจยิ่งมีความสุขในการสร้างประโยชน์ เราก็จะได้อยู่กับบุญ กายก็เป็นบุญ ใจก็เป็นบุญ วาจาก็เป็นบุญใจก็จะอยู่กับความบริสุทธิ์

การเกิดเป็นทุกข์เขาก็ไม่เอา ช่วงใหม่ๆ นี้เขาเกิด เขาหลง เขาเกิดทั้งฉุดทั้งรั้ง ทั้งสารพัดอย่างถ้าเราเห็น ชี้เหตุชี้ผลและละดับความเกิด รู้ว่าการเกิดเป็นทุกข์ ใจนี้ไม่เกิดเด็ดขาด จะเอาอะไรมาฉุดเขาก็ไม่เกิด ถ้าเขารู้ความเป็นจริงขันธ์ห้า เป็นทุกข์เขาก็ไม่เอา กิเลสเขาก็ไม่เอาแล้วก็บริหารด้วยปัญญา อันนี้ต้องเป็นบุคคลที่มีความเพียรเสียสละเป็นเลิศ เอาออกให้มันหมด เราคลายออกให้ได้ คลายออกได้เมื่อไหร่แล้วก็เป็นอิสระ ใจของเราก็อิสระจากกิเลส อิสระจากขันธ์ห้า วางใจไม่เกิด แล้ววางใจให้เป็นอิสรภาพอีก วางกายให้เป็นอิสรภาพอีก

หลายเรื่องมีแต่เรื่องละเอียด ส่วนมากก็จะมอง คนทั่วไปก็จะมองเห็นตั้งแต่ตัวหยาบๆ ตัวละเอียดไม่ค่อยจะเห็นกันเท่าไหร่ ก็เลยเดินไม่ถึงจุดหมายปลายทางกัน เดินก็เดินได้นิดๆ หน่อยๆ ถ้าเปรียบเสมือนกับการขึ้นบันไดก็ขึ้นได้แค่ 2-3 ขั้น แล้วก็ถอยลงมา เหมือนกับว่าแค่ได้ทำบุญให้ทาน แต่ไม่ทานให้มันหมด ทานให้มันหมดจากใจของเรา ทานกิเลส ทานความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็เจริญพรหมวิหารเข้าไปทดแทน ก็ต้องพยายามกันนะ ศึกษาจากเหตุไปหาปลายเหตุ อย่าไปศึกษาตั้งแต่ปลายเหตุเข้ามาหาต้นเหตุ เราพยายามดับดูรู้ตั้งแต่ต้นเหตุแล้วก็ค้นคว้าให้รู้ความจริง ที่นี้เราจะเอาจะมีจะเป็นอย่างไร จะยืนเดินนั่งนอนกินอยู่ขับถ่ายอย่างไร ก็เป็นเรื่องของปัญญา ไม่ต้องให้คนอื่นเขารู้ เรารู้เราก็พอแล้ว เรารู้เรา เราชนะเรา เราแก้ไขเราเหตุจากภายนอกก็จะมาทำให้เราช่วยเอง

เอาล่ะ วันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้

ไหว้พระพร้อมๆ กัน ไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจให้ถึงจุดหมายปลายทางกัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง