หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 48

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 48
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 48
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2562 ลำดับที่ 48
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2562

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสต้องลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนแล้วก็ให้ต่อเนื่องกันสักนิดหนึ่งก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำ ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมาเราได้เจริญสติแล้วหรือยัง ถ้าอย่างก็เริ่มเสียนะ นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย แล้วก็วางใจให้สบาย สูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ สัก 2-3 เที่ยว อย่าบังคับลมหายใจ ให้หายใจให้เป็นธรรมชาติที่สุด

เราพยายามหัดสังเกต หัดสังเกตดูการหายใจเข้าไปยาวๆ ผ่อนลมหายใจเข้าไปยาวๆ ให้กายของเราก็จะมีความรู้สึกสบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็สงบตั้งมั่นขึ้น สัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเราไม่ต้องตามดู รู้อยู่ที่ปลายจมูกของเราเหมือนกับนายประตูทวารค่อยนั่งอยู่ที่ประตู รถยนต์คันไหนวิ่งเข้าก็รู้อยู่ รถคันไหนวิ่งออกก็รู้อยู่ เขาเรียกว่า ‘รู้ เจริญสติรู้กาย’ ถ้าเรารู้ให้ต่อเนื่องเขาเรียก ‘สัมปชัญญะ’ เราพยายามสร้างความรู้ตัวหายใจเข้าหายใจออกแล้วก็รู้ให้ต่อเนื่องเขาเรียก ‘ปัจจุบันธรรม’

เราอาจจะไปมั่นหมายว่า นาทีนี้ชั่วโมงนี้เป็นปัจจุบัน อันนั้นเป็นปัจจุบันในทางสมมติในทางโลกในทางธรรมคือทุกขณะลมหายใจเข้าออก เขาเรียกว่า ‘ปัจจุบันธรรม’ ทำอย่างไรกำลังสติ หรือว่าความรู้ตัวของเราถึงจะต่อเนื่อง ความผิดพลาดความพลั้งเผลอเริ่มใหม่ พลั้งเผลอเริ่มใหม่อย่าไปเกียจคร้าน พยายามฝึก ตั้งแต่ตื่นขึ้น ตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่พอรู้ตัวปุ๊บรู้ลมหายใจเข้าออกปั๊บ จะลุก จะก้าวจะเดิน ความรู้สึกอยู่ที่การเดินปุ๊บหรือว่าอยู่ที่ลมหมายใจอยู่ รู้อยู่ตลอดเวลาถ้าความรู้ตัวตรงนี้มันต่อเนื่อง

ส่วนการเกิดของใจหรือว่าวิญญาณในกายของเรา หรือว่าความคิดของเรานั่นแหละ มันเกิดๆ ดับๆ อยู่ตลอดเวลา ความเกิดของใจมีอยู่กันทุกคน จะมีมากมีน้อยก็มีกันหมดทุกคน ความเกิดจากตัวใจนั้นส่วนหนึ่ง บางครั้งก็รวมกันไปกับอาการของขันธ์ห้าหรือว่าความคิดที่เราไม่ตั้งใจคิด พูดขึ้นมาใจของเราเคลื่อนเข้าไปรวมเป็นสิ่งเดียวนั่นแหละ เราไปมั่นหมายเอาความคิดตัวนั้นว่าเป็นความคิดของเราจริงๆ ก็เลยเกิดความยึดมั่นถือมั่นใจ เกิดอัตตาตัวตน กายก็เลยหนักใจก็เลยหนัก

ทั้งที่ใจของเรานี่ก็หลงมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิด แล้วก็ลงมาเกิด มาสร้างขันธ์ห้าปิดกันตัวเองอีกทีหนึ่ง แล้วก็ไปยึดติดขันธ์ห้า แล้วก็คิดต่ออีก ส่งต่อความเกิดที่จากใจส่งต่อ แล้วก็ปิดกั้นตัวใจเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง แล้วก็ใจก็เป็นทาสกิเลส ความโกธร ความทะเยอทะยานอยาก ความยินดียินร้าย ทั้งผลักไสทั้งดึงเข้ามา คือความเกิดของใจนั่นแหละ เขาก็ปิดกันตัวใจเอาไว้หลายชั้นจริงๆ

ถ้าเราไม่มีศรัทธาน้อมกายของเราเข้ามาน้อมใจของเราเข้ามาเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย แล้วก็ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ การเจริญสติเป็นอย่างนี้สติที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงเป็นอย่างนี้จนรู้เท่ารู้ทัน รู้ลักษณะการเคลื่อนไหวของใจเข้าไปรวมกับอาการของขันธ์ห้า ถ้าเรารู้ทันตรงนั้นใจจะคลายออกจากขันธ์ห้า หงายออกจากขันธ์ห้า ดีดออกขันธ์ห้า ซึ่งเรียกว่า ‘สัมมาทิฏฐิ’ ความเห็นถูก ปรากฏทางให้สัมมาทิฏฐิข้อแรกในอริยมรรคในองค์แปด

เห็นถูกข้อแรกก็ดำริถูก การทำงานถูก การเดินปัญญาถูก สมาธิถูกไปหมด แต่ข้อแรกตรงนี้เรายังไม่เห็น เราอาจจะรู้อยู่ในระดับสมมติ อาจจะถูกต้องอยู่ระดับสมมติ แต่ใจยังไม่ได้คลายก็เลยยังเข้าไม่ถึงตรงนี้ ถ้าใจคลายได้เมื่อไหร่กำลังสติของเราก็จะตามดู ใจก็จะว่าง รับรู้อยู่ เห็นการเกิดการดับของขันธ์ห้าซึ่งท่านเรียกว่า ‘อนิจจัง’ ความไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นเรื่องอดีตบ้าง อนาคตบ้าง เป็นกลางๆ บ้าง บางทีก็เป็นกุศลบ้างอกุศลบ้าง มีกันทุกคน

ตรงนี้ ถ้าเราตามทำความเข้าใจ กำลังสติก็จะเริ่มพุ่งแรงเป็นมหาสติตามค้นคว้าไม่หยุดไม่หย่อน ถ้าเราไม่ตามค้นคว้ากำลังสติตรงนี้ก็จะเผลอหลุดไปเหมือนเดิม จิตของเราก็จะกลับขึ้นสู่สภาพเดิม ถ้ากำลังสติของเราตามค้นคว้าจนอะไรมาทัดทานเอาไว้ไม่อยู่ มีตั้งแต่ตามดูตามรู้ ตามเห็นว่าสิ่งต่างๆ เกิดมาได้อย่างไร ไปอย่างไร มาอย่างไร ว่าอะไรควรละอะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน นี่แหละกำลังสติของเราก็จะกลายเป็นมหาสติ จากมหาสติก็จะกลายเป็นมหาปัญญา จากมหาปัญญาค้นคว้าจนหมดทุกสิ่งทุกอย่างก็จะกลายเป็นปัญญารอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในดวงวิญญาณ

อะไรคือสมมติ อะไรคือวิมุตติ อะไรคือโลกอะไรคือธรรม ธรรมกับโลกก็อาศัยกันอยู่ สมมติกับวิมุตติก็อาศัยกันอยู่ ขอให้เราทำความเข้าใจ ทำความเห็นให้ถูกต้อง ชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผลใจจะเกิดกิเลส ความเกิดแม้แต่นิดเดียวเราก็พยายามดับ เราดับความอยากความเกิดแม้แต่นิดเดียว ตัวใหญ่ๆ มันก็เกิดไม่ได้ เราก็พยายามถอดรากถอนโคน ตัดรากตัดโคน ถอนรากถอนโคนความกิเลสต่างๆ ออกจากใจของเราให้หมด กิ่งก้านสาขายอดมันก็จะเหี่ยวแห้งไปเอง แต่ส่วนมากก็ไปชอบเด็ดแต่ยอดมันก็แผ่ขยายปกคลุมยิ่งมากขึ้นๆ ปกคลุมยิ่งทุกข์หนักเข้าไปอีกเพราะว่าเราหาความจริงไม่เจอ ค้นหาความจริงไม่เจอ

ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสัจธรรมอยู่ ถ้าเราเข้าถึงตรงนี้ เห็นตรงนี้ เห็นความเกิดความดับของวิญญาณ เห็นความเกิดความดับของขันธ์ห้า เข้าใจในเรื่องอัตตา อนัตตา เข้าใจในเรื่องหลักของหลักอริยสัจ เราจะระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าทันทีว่าหลายร้อยหลายพันปี ท่านมีจริงอุบัติเกิดขึ้นในโลกนี้จริง แล้วก็คำสอนของท่านก็ยังเป็นสัจจะความจริงอันประเสริฐเหมือนเดิมนี่แหละถึงจะได้ระลึกนึกถึงคุณของท่าน แล้วก็ได้ตอบแทนคุณของท่าน

ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน คิดดี ทำดี การกระทำของเราให้ถึงพร้อม แต่ส่วนมากคนทั่วไปนั้นตัวใจหรือว่าปัญญากระโดดข้าม กระโดดข้ามฐานเดิมคือความบริสุทธิ์ของใจไปไขว่คว้าแสวงหากันแต่ปัญญามาทับถมดวงใจของตัวเรา คลายออกให้มันหมด คลายออกให้มันหมดฉลาดด้วยอำนาจของกิเลส แล้วก็คลายออกให้มันหมดให้ฉลาดด้วยสติด้วยปัญญา ไม่ต้องไปกลัวว่าจะไม่รู้ ไม่ต้องไปกลัวว่าจะเข้าไม่ถึง ตัวใจนั่นแหละตัวธรรม ถ้าใจมันวิ่งหา ใจเกิดอยู่ตลอดเวลามันก็ปิดกันตัวเองอยู่ตลอดเวลา สิ่งพวกนี้เป็นของละเอียด ถ้าเราไม่สร้างสะสมคุณงานความดีจริงๆ ก็ยากที่จะเข้าใจ

ทานนี่แหละเป็นพื้นฐานบารมีในการที่จะทำใจของเราให้สะอาดให้บริสุทธิ์ เราทานออกจากจิตจากใจของเรา จิตใจของเราก็จะเบาบางจากกิเลสไปเรื่อยๆ ทานกิเลส ทานสมมติ ทานวัตถุทานแล้วก็ทานอารมณ์ ทานความยึดมั่นถือมั่น ขัดเกลากิเลสจิตใจของเราก็จะค่อยพัฒนา จากที่ท่านว่าโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล น้อมใจเข้ามาในหลักธรรมในคำสอนของพระพุทธองค์ แล้วก็จะขึ้นสู่สกิทาคามีมรรค สกิทาคามีผล กิเลสก็เบาบางลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงอนาคามีมรรคอนาคามีผล ไปสู่อรหัตมรรค อรหัตผล หน่วงเหนี่ยวเอาความว่างความบริสุทธิ์เป็นอารมณ์

การพูดง่ายอยู่นะ แต่การลงมือเราต้องสร้างตบะบารมี แต่ละวันจิตใจของเรามีความอ่อนน้อมถ่อมตนหรือไม่ เรามีความสัจจะกับตัวเองหรือเปล่า เรามีความขยันหมั่นเพียรเพียงพอหรือไม่เรารู้จักการเจริญสติปัญญา อันนี้สติปัญญานะ อันนี้ใจนะ การดับการควบคุมอยู่ในระดับไหนการคลาย การให้ การเอาออก ทุกสิ่งทุกอย่างประสานกันเป็นเนื้อเดียวกันหมด เหมือนกับเราขึ้นบนบ้านก็อาศัยบันได อาศัยราวบันได ราวบันไดนั้นก็มีลูกบันได เหมือนกับทาน ศีล สมาธิปัญญาก็จะเกี่ยวเนื่องกันไปหมดจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ไม่ได้ เราอาศัยกันอยู่

เมื่อผิดพลาดก็เริ่มต้นใหม่ ผิดพลาดก็เริ่มต้นใหม่ อย่าปิดกั้นตัวเราว่าไม่มีโอกาส ทุกคนมีโอกาส ทุกคนมีบุญ ทุกคนมีวาสนาหมด จะมีมากมีน้อยก็ขึ้นอยู่กับการฝึกหัดปฏิบัติให้ถูกที่ถูกทาง ถูกกาลถูกเวลา หมั่นตักตวงสร้างบุญสร้างกุศล บุญสมมติเราก็ทำให้เต็มเปี่ยม ทำมากทำน้อยก็เป็นบุญของเรา เห็นคนอื่นทำเราก็พลอยอนุโมทนาสาธุด้วย เราก็มีส่วนแห่งบุญ อย่าไปคิดว่าไม่ทำ คนที่ยากจนลำบากนั่นแหละยิ่งหาโอกาสเข้ามาทำจะได้มีเข้าพกเข้าห่อติดตามตัวเราไป คนที่มีมากอยู่แล้วยิ่งมีโอกาสมากขึ้นไปอีก ยิ่งมีโอกาสสร้างสะสมคุณงามมากเข้าไป ยิ่งฝึกหัดปฏิบัติขัดเกลา ใจสะอาดบริสุทธิ์เท่าไหร่ เรายิ่งทำบุญมากขึ้นเป็นทวีคูณ เพราะว่ายังประโยชน์ให้กับตัวเอง ยังประโยชน์ให้กับสมมติ ยังประโยชน์ให้กับโลก

ทรัพย์ภายใน อริยทรัพย์ภายใน ใจที่สะอาดบริสุทธิ์ ใจที่ไม่เกิดนั่นแหละคืออริยทรัย์ภายในที่ทุกคนพยายามเดินให้ถึง แต่ส่วนมากก็มีตั้งแต่สร้างสะสมหากิเลสมาทับถมดวงใจของตัวเองตลอดเวลา เพียงแค่การเกิด ความเกิดนั่นแหละกิเลสตัวที่ปิดการตัวใจเอาไว้อย่างละเอียดที่สุดถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด เราดับความเกิด การก่อตัวของใจมันก่อตัวตรงไหนเราดับตรงนั้นก็จะถึงตัวของมัน

แต่เวลานี้เขาสร้างสะสมกิเลสไว้หลายชั้น ขันธ์ห้าเราก็ยังคลายไม่ได้ กิเลสหยาบเราก็ยังมีอยู่บ้าง กิเลสละเอียดเราก็ยังเต็มเปี่ยมอยู่ ความเกิดการปรุงแต่งของใจก็ยังเต็มเปี่ยมอยู่ มันก็ยากที่จะเข้าถึงตัวใจจริงๆ เรารู้อยู่ เห็นอยู่ ทำความเข้าใจได้อยู่ แต่เรายังละไม่ได้ เรายังไม่เข้าถึงตรงนั้น ถ้าจะเข้าถึงได้จริงๆ ต้องเป็นบุคคลที่มีความเพียรเป็นเลิศ มีความขยันหมั่นเพียร ในการขัดเกลา ในการวิเคราะห์ กายวิเวกเป็นอย่างนี้นะ ใจวิเวกจากกิเลส วิเวกจากขันธ์ห้า วิเวกจากความยึดมั่นถือมั่นเป็นอย่างนี้

ให้ใจของเราสงบจากกิเลสต่างๆ อยู่กลางโรงหนังกลางตลาดใจของเราก็สงบใจของเราก็สะอาดบริสุทธิ์ จะร้องตะโกนอยู่ใจของเราก็สะอาดบริสุทธิ์ สะอาดบริสุทธิ์ด้วยสติด้วยปัญญาคนเราจะรู้แจ้งเห็นจริงก็ต้องรู้แจ้งด้วยปัญญาเท่านั้นแหละไม่ใช่ว่าไปนั่งหลับตาไปเดินเฉยๆ มันจะบรรลุเลยทีเดียว มันก็ได้แค่เพียงความสงบ

คนที่จะบรรลุถึงเป้าหมายได้ก็ต้องบรรลุด้วยปัญญาที่เกิดจากการเจริญภาวนา รู้จักคำว่า ‘ปัจจุบันธรรม’ มีคำว่าปัจจุบันธรรม ทำความเข้าใจ กายทำหน้าที่อย่างนี้นะ ทวารทั้งหกทำหน้าที่อย่างนี้นะ วิญญาณทำหน้าที่อย่างนี้นะ จำแนกแจกแจงออกเป็นกองเป็นขันธ์ ที่ท่านว่าเป็นกอง เป็นขันธ์ แล้วก็เห็นความไม่เที่ยง เห็นความเกิดความดับ เห็นตั้งแต่การแยกการคลายการตามทำความเข้าใจ

ถ้าเรารู้นิดๆ หน่อยๆ มันก็ซึมเข้าสู่สภาพเดิม ไม่ใช่ว่ารู้แล้วเห็นแล้วปล่อยปละละเลย ยิ่งรู้แล้วเห็นแล้ว ยิ่งทำความเข้าใจเป็นทวีคูณ มีความเพียรเป็นทวีคูณ ค่อยดับ ค่อยละ จนไม่มีอะไรเหลือให้ละให้ดับ จนเหลือตั้งแต่รูปกับนาม ใจกับกายกับปัญญาที่เราสร้างขึ้นมา แล้วก็บริหารให้อยู่ก็สมมติจนกว่าจะหมดลมหายใจ หมดลมหายใจกายเนื้อแตกดับ ตัวใจเราดับความเกิดขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่โน่น กายเนื้อแตกดับใจก็เข้าสู่ความบริสุทธิ์ การเกิดไม่มีนี่แหละในหลักธรรมที่แท้จริง ก็ต้องพยายามกัน

เอาล่ะ ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง