หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 11 วันที่ 7 ตุลาคม 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 11 วันที่ 7 ตุลาคม 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 11 วันที่ 7 ตุลาคม 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 1 (ลำดับที่ 1-20)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 11
วันที่ 7 ตุลาคม 2557


ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วย น้อมสำเหนียก ฟังดู การน้อม การสังเกต น้อมเข้าไปรู้กายของเรา


ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ การสูดลมหายใจยาว ผ่อนลมหายใจยาว เราอย่าไปบังคับ เราสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ในใจของเราจะสงบทันทีเลย อย่าเอาใจไปจดจ่อที่ปลายจมูกนะ การสูดลมหายใจยาวนี่ สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งกระทบปลายจมูก มีความรู้สึกรับรู้อยู่ตรงนั้นแหละ เขาเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ แล้วก็เวลาหายใจเข้า หายใจออก ก็รู้ทั้งเข้า รู้ทั้งออก ถ้าเรารู้ให้ต่อเนื่องบ่อยๆ ให้เกิดความเคยชิน


ใจนั้นเขาก็อยู่ส่วนหนึ่ง เขาจะปรุงจะแต่งส่งไปภายนอก ถ้าเรามีความรู้ตัวตรงนี้ที่ต่อเนื่อง เราก็จะเห็นการเกิดของใจ จะเห็นเป็นสองส่วนแล้ว ส่วนแรกที่เราสร้างขึ้นมานี้ เรียกว่า ‘สติ’ การเกิดของ ‘ใจ’ นั้นเขาจะก่อตัว เราก็จะเห็นเข้าไปอีก ‘สติ’ กับ ‘ใจ’ คนละส่วนกันแล้ว ทีนี้ ‘ใจ’ กับ ‘อาการของใจ’ อีก มีความคิดที่ผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจ ที่ไม่ได้ตั้งใจคิด มันผุดขึ้นมา ตัวใจจะเคลื่อนเข้าไปรวมจนเป็นตัวเดียวกัน


ขณะเรามีสติรู้ตัวอยู่ปัจจุบัน เราก็จะเห็นใจเคลื่อนเข้าไปรวม ขณะที่เห็นใจเคลื่อนเข้าไปหรือรวมนั้น ใจจะดีดออกจากความคิดทันที ก็จะหงาย หงายของที่คว่ำ เหมือนกับหงายฝ่ามือ แต่ก่อนนี้หลังมือคว่ำ ฝ่ามืออยู่ข้างล่าง ถ้าดีดออกเมื่อไหร่ ฝ่ามือก็จะหงายขึ้นมา หลังมือก็จะอยู่ข้างล่าง นั่นแหละที่ท่านเรียกว่า ‘สมมติ วิมุตติ’ ตัวใจก็จะเป็นใจที่วิมุตติ คือ คลายออกจากขันธ์ห้า ใจก็จะว่าง กายทั้งที่กายหนักๆ แต่ก่อนนี้ก็จะเบา


สติที่เราสร้างขึ้นมา ก็จะตามดู เห็นความเกิดความดับที่ผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจตัวนั้น ตั้งแต่ต้นเหตุ กลางเหตุ ปลายเหตุ แล้วเรื่องอะไร เรื่องอดีต หรือว่าเรื่องอนาคต เราก็จะเข้าใจคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในขันธ์ห้า
เวลาเขาจบไป ความว่างเปล่าเข้ามาปรากฏ เรื่องที่เขาเกิด บางทีก็เป็นเรื่องอดีต บางทีก็เป็นเรื่องอนาคต เรื่องอดีตนี่เขาเรียกว่า ‘กองของสัญญา’ ในกายของเรา บางทีก็เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง บางทีก็เป็นกลางๆ บ้าง ต้องเห็นนะ เห็นตั้งแต่อาการการเกิด แล้วสติของเราตามดู แต่ใจต้องว่างรับรู้อยู่


ตามดูทุกเรื่อง ที่ท่านบอกว่า ให้รอบรู้ในกองสังขาร ให้รอบรู้ในขันธ์ห้า ถ้าแยกได้นี่ล่ะเขาเรียกว่า ‘สัมมาทิฏฐิ’ ความเห็นถูก เพียงแค่ความเห็นถูก เราจะตามทำความเข้าใจได้หมดทุกเรื่องหรือไม่ เราจะละกิเลสได้ไหม จะขึ้นไปเรื่อยๆ โน่น จนกระทั่งถึงอรหันตมรรค อรหันตผลโน่น จนหน่วงเหนี่ยวเอาความว่างเป็นอารมณ์ อยู่อุเบกขา มีใจว่างรับรู้อยู่


กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด ยิ่งฝึกไปเท่าไหร่ยิ่งเห็นเยอะ ยิ่งเห็นเยอะเท่าไหร่ ยิ่งค้นคว้า อยู่ในกายของเรานี่แหละ ลองอดทน อดกลั้น สังเกต วิเคราะห์ แล้วแต่สาเหตุ แล้วแต่วิธีการ แล้วแต่อุบาย อยากจะเห็นจิตใจชัดเจน ลองอดอาหาร ลองดูสักมื้อสองมื้อ ความอยากจะพุ่งแรง ทั้งความอยาก ทั้งความคิดสารพัดอย่าง ถ้าเรารู้จุด รู้จุดแยก จุดคลาย ตามดูแล้ว เราจะเห็นอะไรชัดเจนหมดทุกเรื่อง


ทีนี้เราจะละได้หรือไม่ ก็ตามทำความเข้าใจค้นคว้า สติที่เราสร้างขึ้นมานี้ก็จะเริ่มกลายเป็นมหาสติ ตามค้นคว้า ตามดู ตามรู้ ตามเห็น จากมหาสติก็จะกลายเป็นมหาปัญญา เอาไปใช้ เอาไปชี้เหตุชี้ผล ตามดูเหตุ ตามดูผล อะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน ประโยชน์ใกล้ ประโยชน์ไกล ประโยชน์ภายใน


การชำระกิเลสต่าง ๆ ตามมา แต่การชำระกิเลสต่างๆ ทุกคนมีกันอยู่ในระดับการสร้างบารมี ความเสียสละ ความอดทน การขัดเกลา แต่การดู การรู้ การเห็น ไม่ต่อเนื่องเชื่อมโยงทุกอย่าง มันก็เลยหมุนอยู่อย่างนั้น
บางทีก็ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง หมุนวนเวียนอยู่อย่างนั้น


เราต้องแจงให้ออก บอกตัวเองให้ได้ อะไรควรละ อะไรควรเจริญ ก็ต้องพยายาม มีเรื่องเดียวนี่แหละ ที่จะต้องย้ำให้เห็นเสียก่อน ถ้าเห็นแล้วก็จะดำเนินให้ถึงจุดหมายปลายทางเอง เหมือนกับตกกระแสธรรม แล้วก็ไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง ก็ต้องพยายามกัน ไม่ว่าพระ ว่าโยม ว่าชี มีไม่มาก หลวงพ่อไม่พูดมากหรอก เสียดายเวลา


ดูใจเรา แก้ไขใจเรา ปรับปรุงตัวเรา คนพูดมากก็ไม่มีประโยชน์ สติ ปัญญา สมาธิ เขาก็จะรักษาเราเอง การรู้ธรรม การเห็นธรรม ไม่จำเป็นต้องไปพูดไปคุย การพูด การคุยมีแต่กิเลสธรรม พูดคุยไป พูดคุยมา มีแต่ธรรมเมา แล้วก็ฆ่ากัน ตีกัน ทะเลาะเบาะแว้งกัน เพราะว่าเข้าไม่ถึงต้นเหตุ ละสาเหตุไม่ได้ เข้าไม่ถึงจุดหมายปลายทาง การพูดการสื่อสารความหมายต่างๆ ก็เพื่ออุบายแนวทางเท่านั้นแหละ ถ้าไม่พูดสมมติก็ไม่รู้เรื่อง ถ้าเข้าถึงแล้ว หมดความสงสัยเอง เราจะละจัดการกับเราได้หมดจดหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับตัวของเรา ก็ต้องพยายาม


สร้างความรู้สึกรับรู้ให้ชัดเจน ให้ต่อเนื่องกันสักพักนะ


พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปสร้างสานต่อให้รู้ทุกอิริยาบถนะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง