หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 13 วันที่ 24 พฤศจิกายน 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 13 วันที่ 24 พฤศจิกายน 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 13 วันที่ 24 พฤศจิกายน 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 1 (ลำดับที่ 1-20)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 13
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2557


ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจเข้าออกของเราให้ชัดเจน ความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ หยุดเอาไว้ ภาระหน้าที่ทางสมมติเราก็หยุดเอาไว้ ขณะที่เรากำลังนั่งอยู่นี่แหละ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียก น้อมสำเหนียก หมายถึง น้อมเข้าไปดู รู้สัมผัสของลมหายใจของเรา ความรู้สึกลมหายใจวิ่งเข้ากระทบกับปลายจมูกของเรา เวลาลมหายใจออก มีความรู้สึกรับรู้อยู่


พยายามหัดสร้างความรู้ตัวให้เกิดความเคยชิน หายใจยาวเป็นอย่างนี้ หายใจออกยาวเป็นอย่างนี้ หายใจหยาบเป็นอย่างนี้ หายใจละเอียดเป็นอย่างนี้ หายใจธรรมชาติเป็นลักษณะอย่างนี้ ยิ่งเราไม่เข้าใจเท่าไหร่ เราพยายามหมั่นสนใจ หมั่นสังเกต การสังเกต การวิเคราะห์ให้ต่อเนื่อง พยายามฝึกให้เกิดความเคยชิน


ส่วนการเกิดการดับของใจนั้นเขามีมาตั้งนานแล้ว ไม่รู้ว่ากี่ภพกี่ชาติ อันนั้นเรื่องของเขา ให้เราสร้างความรู้ตัวให้ได้เสียก่อน เราก็จะเห็นการเกิดการดับ ไม่เห็นวันใดก็ต้องเห็นวันหนึ่ง ตราบใดที่เรายังสร้าง เรายังเจริญสติอยู่ กำลังสติมีไม่เพียงพอ ยากที่จะเห็น ถ้ากำลังสติมีต่อเนื่อง รู้ไม่ทันต้นเหตุ เราก็พยายามหยุดความนึกคิดเอาไว้


ความนึกคิดที่เกิดจากใจ หยุดด้วยสมถะ หรือว่ากำหนดอยู่ที่ลมหายใจ หรือว่าสร้างความรู้ตัวอยู่ที่ลมหายใจ ใจก็จะกลับมาอยู่กับลมหายใจเอง ใหม่ๆ มันก็ชักกะเย่อกัน ส่วนมากก็มีตั้งแต่แพ้ใจ ใจไปก่อน ใจกับความคิดเขาไปก่อน ก็เลยไปมั่นหมายเอาตรงนั้นว่าเป็นความคิดที่แท้จริง เป็นปัญญาที่แท้จริง ที่ไหนได้ เขาหลงอยู่ตลอดเวลา ตราบใดที่เรายังเจริญสติไม่ต่อเนื่อง เราก็ว่าเรามีสติ มีปัญญา มีอยู่เพียงแค่สติปัญญาของสมมติ อาจจะถูกอยู่ระดับของสมมติ


ถ้าเราเจริญสติเข้าไปรู้ เข้าไปเห็น เข้าไปชี้เหตุชี้ผล อะไรควรละ อะไรควรเจริญ กำลังสติของเราจะกลายเป็นมหาสติ จากมหาสติก็จะกลายเป็นมหาปัญญา ตามค้นคว้าจนหมดอะไรที่จะค้นคว้านั่นแหละจนเค้าอยู่เฉยๆ จนกลายเป็นปัญญารู้อยู่ปัจจุบัน ใจก็รู้อยู่ปัจจุบัน


ก่อนที่จะพูดคำนี้ได้ก็ต้องมีความเพียร ขยันหมั่นเพียร ขัดเกลากิเลสหยาบ กิเลสละเอียด ดับความเกิด ใจนี่มันมีปัญญา สร้างปัญญา สร้างกิเลสมาครอบคลุมตัวเองเอาไว้เสียเยอะแยะ ท่านมีปัญญาเต็มร้อย ก็ต้องคลายออกทั้งร้อยนั่นแหละ จนเหลืออยู่ที่ความว่าง ใจเก่งถึงขนาดไหน ปัญญามากมายถึงขนาดไหน ก็คลายออก จนยอมโง่เสียก่อนค่อยฉลาด เอาปัญญาใหม่ เอาสติปัญญาไปทำหน้าที่แทน จนกว่าจะเต็มรอบ ถ้าเต็มรอบแล้วก็ใช้ได้เหมือนเดิมนั่นแหละ แต่ใจรับรู้ ใจไม่ได้เข้าไปทุกข์ด้วย


เราต้องพยายามพิเคราะห์พิจารณาแก้ไข ชี้เหตุชี้ผล คนทั่วไปเหตุของสมมติก็ยังแก้ไม่ตก มันก็เลยยิ่งยากเข้าไป ทั้งเหตุของวิมุตติอีกซึ่งเป็นส่วนนามธรรม ก็ต้องแก้ไขทั้งข้างนอกด้วย ทั้งข้างในด้วย เพราะว่าสมมติกับวิมุตติก็อาศัยกันอยู่ โลกกับธรรมก็อาศัยกันอยู่ ถ้าเราไม่ศึกษา ไม่ทำความเข้าใจให้กับตัวเรา ไม่มีใครเขาทำให้เราได้หรอก นอกจากตัวของเรา อย่าไปโยนความรับผิดชอบให้คนโน้นคนนี้ เราพยายามแก้ไขจากน้อยๆ ไปหามากๆ ขยันหมั่นเพียร งานสมมติภายนอกเราก็เอื้ออนุเคราะห์กันได้แค่เพียงระดับหนึ่ง


แต่การละกิเลสเป็นเรื่องของเรา จะไปโทษให้คนโน้นโทษให้คนนี้ ไปที่โน้นไม่เข้าใจในธรรม ไปที่นี่ไม่เข้าใจในธรรม ไปที่โน่นไม่ดี เพราะว่าใจของเรามันไม่ดี มันจะไปดีได้อย่างไร ไปที่ไหนถ้าเรายังเข้าไม่ถึงธรรม ก็ยังแสดงว่าเรายังสร้างอานิสงส์ สร้างบุญสร้างบารมีอยู่ ดีหมดนั่นแหละ ดีทุกที่ ไปเถอะ เหมือนกับการปลูกผลไม้สักต้น จะให้ออกดอกออกผลวันเดียวก็ไม่ได้ ก็ต้องอาศัยกาล อาศัยเวลา อาศัยการดูแล อาศัยการรักษา ทำความเข้าใจ เขาเจริญเติบโตขึ้นมา เราไม่อยากจะได้ดอก เราก็ได้ดอก เราไม่อยากจะได้ผล เราก็ได้ผล


การปฏิบัติใจก็เหมือนกัน ถ้าไม่ถึงเวลาประจวบเหมาะก็ยากที่จะเข้าใจ วิบากกรรมมันยังไม่คลาย เราต้องทำความเข้าใจกับกรรมด้วย ทั้งภายนอก ภายใน กรรม การกระทำ ทีนี้การเกิดการดับของจิตวิญญาณ ไปหลงเอาความคิด หลงอารมณ์ กรรมอย่างลุ่มลึกนี่เราต้องคลาย แยกให้เห็น ถ้าเรารู้เท่าทัน เขาจะแยกของเขาเอง ตามทำความเข้าใจ ให้รู้เห็น เราก็จะเข้าใจเรื่องกรรมเก่า กรรมใหม่ กรรมเก่าถ้าเราทำความเข้าใจ เราละ กรรมเก่าก็ตามไม่ทัน กรรมใหม่ คือเกิดจากตัวใจที่เข้าไปสร้างใหม่ ไม่หลง ไม่ยึด เขาเรียกว่า ‘กิริยา’ การกระทำ ด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยสติ ด้วยปัญญา ก็ต้องพยายามทำความเข้าใจให้ปรากฎขึ้นที่ใจ กิเลสหยาบเป็นอย่างไร กิเลสละเอียดเป็นอย่างไร กิเลสเกิดขึ้นที่กาย ใจส่งเสริมหรือไม่ หรือว่ากิเลสเกิดขึ้นที่ใจ เรารู้จักละ รู้จักดับ วิธีการอย่างไร เราถึงจะละกิเลสได้


เราต้องพยายามหมั่นวิเคราะห์ ไม่เข้าข้างตัวเอง เข้าข้างคนอื่น ให้ใจอยู่ในความเป็นกลาง ความว่าง รับรู้ แม้แต่ใจยังหลอกตัวเองอยู่ตลอดเวลา เขาก็หาเหตุหาผล มาหลอกตัวเองอยู่ตลอดเวลา อันโน้นดี อันนี้ไม่ดี สารพัดอย่าง ตราบใดที่เขายังเกิดอยู่ ขันธ์ห้าก็มาปรุงแต่งใจ หลอกใจ มันละเอียดเยอะ ละเอียดเยอะ ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ รู้เหตุรู้ผลจนไม่มีอะไรเหลือที่ใจนั่นแหละ ถึงวางใจ ละกิเลสได้ที่ใจ ดับความเกิดได้ที่ใจ ถึงวางใจให้เป็นอิสรภาพอีก ก็ต้องพยายามนะ


วันนี้ก็เจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจกันเอานะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง