หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 35 วันที่ 10 พฤษภาคม 2563

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 35 วันที่ 10 พฤษภาคม 2563
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 35 วันที่ 10 พฤษภาคม 2563
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 35
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2563

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบายวางกายให้สบายแล้วก็วางใจให้สบาย ไม่ต้องพนมมือก็ได้ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย

หลวงพ่อก็บอกก็กล่าวก็ย้ำตั้งแต่เรื่องเก่าๆ ถ้าพวกท่านหัดวิเคราะห์ สนใจ วิเคราะห์ สังเกต ทำตามที่หลวงพ่อบอกก็จะปรากฏเห็นสิ่งต่างๆในกายของเรา

การเจริญสติ การสร้างความรู้ตัวที่ต่อเนื่องกัน เป็นลักษณะอย่างนี้ เพียงแค่เรื่องการหายใจเข้าออก พวกเราก็ขาดการดู รู้ ที่ชำนาญ กว่าจะระลึกได้ที ใจแต่ละวัน ใจเกิดสักกี่เที่ยวก็ไม่รู้ ความคิดผุดขึ้นปรุงแต่งใจสักกี่ครั้งก็ไม่รู้ ใจเกิดกิเลสสักกี่ครั้ง บางครั้งก็รู้อยู่ แต่การหยุดการดับ การทำความเข้าใจ การชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล ในหลักธรรมจริงๆ ไม่ค่อยจะมี มีแต่เหตุผลระดับของโลกของโลกีย์ของสมมติ อันนั้นก็ถูกอยู่ระดับของสมมติ

แต่ในหลักธรรมแล้วเราต้องเจริญสติลงที่กายของเรา เจริญสติลงที่กายของเราอย่างเช่น รู้ลมหายใจเข้าออก อันนี้เขาเรียกว่า 'รู้กาย' ถ้าเรารู้ไม่ต่อเนื่อง สติสัมปชัญญะก็ไม่มีเกิดขึ้น ถ้าเรารู้ให้ต่อเนื่องคำว่า 'ปัจจุบันธรรม' คำว่าปัจจุบันธรรมคือทุกขณะลมหายใจเข้าออก

เข้า อันนี้เขาเรียกว่าปัจจุบัน ขณะออก เขาเรียกว่าปัจจุบัน แล้วก็รู้ให้เชื่อมโยง ทั้งหายใจเข้าหายใจออก หายใจหยาบหายใจละเอียด หายใจเป็นธรรมชาติ มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมเขาเรียกว่า 'สัมปชัญญะ'

ขอให้เราฝักใฝ่สนใจขยันหมั่นเพียร อย่าไปเกียจคร้าน ถ้าเกียจคร้านในการเจริญสติ ก็หมดโอกาสที่จะเข้าถึงเกียจคร้านในการชำระสะสางกิเลส หมั่นปรับปรุงใจของเรา พฤติกรรมของใจของเราเป็นอย่างไร เราก็ต้องหัดสังเกตหัดวิเคราะห์

ใจของเรามีความแข็งกร้าว เราก็พยายามละความแข็งกร้าว สร้างความอ่อนน้อม ใจของเรามีพรหมวิหารหรือไม่ ใจของเรามีความปกติ หรือว่ามีความกังวล มีความฟุ้งซ่าน เราก็ต้องหาอุบายหาวิธีแก้ไข แก้ไขอยู่บ่อยๆ ทำความเข้าใจอยู่บ่อยๆ ในสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว ในสมมติต่างๆ ที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว ก็ปัจจัยสี่ ที่พักที่อาศัย ที่อยู่ที่กิน ที่หลับที่นอนเรายังมีความพร้อมอยู่ตรงนี้หรือไม่ หรือว่าขาดตกบกพร่อง ถ้าขาดตกบกพร่องเราก็พยายามทำให้มีให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะยังสมมติของเราให้ไม่ให้ถึงกับลำบาก การปฏิบัติใจก็จะไปได้เร็วได้ไว ถ้าสมมติยังขาดตกบกพร่อง อันโน้นก็ขาดอันนี้ก็ขาด อันนี้ก็ลำบาก เรื่องการปฏิบัติใจมันก็ยิ่งห่างไกลเข้าไปอีก

ท่านถึงบอกว่าให้รอบรู้ในสมมติ รอบรู้ในวิมุตติ ก่อนที่จะเข้าถึงสมมติวิมุตติได้ เราก็ต้องมาศึกษามาทำความเข้าใจผ่านกาลผ่านเวลา ผ่านความอดทนอดกลั้น พยายามสร้างให้มีให้เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าจะเอาตั้งแต่ธรรมอย่างเดียว จะเอาตั้งแต่ธรรม แสวงหาตั้งแต่ธรรม แต่สมมติก็ยังลำบากอยู่ มันก็เป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้ยาก เราก็ต้องพยายามให้ได้สมบูรณ์แบบทั้งสองอย่าง

เราก็พิจารณาดูตัวเรา แต่ละวันๆ ความขยันหมั่นเพียรของเรามีหรือไม่ ความรับผิดชอบของเรามีหรือเปล่า ความเสียสละ ความอดทน ทั้งกำลังกาย กำลังใจ แม้ตั้งแต่กำลังทุนทรัพย์ แล้วแต่แต่ละบุคคลที่พอจะมีกำลัง แม้ว่าจะอยู่ที่ไหนไม่เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น ไม่เป็นคนเกียจคร้าน เป็นคนขยัน เป็นคนมีความกตัญญูกตเวที มีความเสียสละ มีความซื่อสัตย์ต่อตัวเรา มีความละอายเกรงกลัวต่อบาป มีความกล้าหาญในสิ่งที่ควรกล้าหาญ มีความเด็ดขาดกับตัวเราเองเราก็ต้องพยายาม หัดวิเคราะห์ หัดสังเกต

แต่ละวันๆ เพียงแค่การกระทำ ความเสียสละมันก็เป็นบุญแล้ว ถ้าเราไม่มีความเสียสละ การกระทำเพียงแค่เรื่องของสมมติเราก็พอทำให้ได้เถอะ ไม่ใช่ไปงอมืองอเท้า ไปอยู่ที่ไหนก็มีแต่ความเกียจคร้าน เราพยายาม พยายามดูแลแก้ไขเรา จะเอาตั้งแต่ธรรม ไม่รู้จักธรรม จะปฏิบัติธรรมไม่รู้จัก เจริญสติไม่รู้จักสติ คำว่าปัจจุบันธรรมที่ต่อเนื่องกันเป็นยังไงเชื่อมโยงเป็นยังไง

กายวิเวกจากพันธะ ภาระ หน้าที่สมมติ ใจวิเวกเป็นยังไง วิเวกจากกิเลส วิเวกจากขันธ์ห้า วิเวกจากความคิด ดับความเกิด การดับความเกิดเป็นยังไง หนุนกำลังสติปัญญาไปเกิดแทนได้เป็นยังไง

ทุกเรื่องในชีวิต ตั้งแต่ตื่นขึ้นจนกระทั่งนอนหลับ ทุกคนก็ได้ประพฤติปฏิบัติกันมาตั้งแต่เกิด ตั้งแต่ภพก่อนๆ ผ่านกาลผ่านเวลามากระทั่งถึงภพมนุษย์ จากเด็กก็ได้รับการศึกษาการเล่าเรียน รู้จักอะไรผิดถูกชั่วดี อันนี้ก็เป็นการปฏิบัติอยู่ระดับของสมมติ ระดับของวิมุตติคือตัวใจ การเกิดของใจ การสังเกต การวิเคราะห์ จนใจคลายออกจากขันธ์ห้า หรือว่าแยกรูปแยกนาม นั่นแหละเขาถึงเรียกว่า'สัมมาทิฏฐิ - ความเห็นถูก’

แยกรูปแยกนามแล้วยังไม่พอ ต้องตามทำความเข้าใจ เข้าใจรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในกายของเรา รู้เรื่องวิญญาณในกายของเรา รู้เรื่องกาย ทวารทั้งหมดเขาทำหน้าที่อย่างไร ตาทำหน้าที่ดู เราก็ห้ามไม่ได้ หูทำหน้าที่ฟัง เราก็ห้ามไม่ได้ เป็นทางผ่านของรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสต่างๆ โน่นไปดู

มีสติรู้ใจรู้ว่าใจปกติหรือไม่ ตากระทบรูป เห็นรูปสวยๆ ใจยังปกติดีอยู่หรือเปล่า หูกระทบเสียง ลิ้นกระทบรส ภาษาธรรมะที่ท่านว่า 'แยกรูป รส กลิ่น เสียง ออกจากใจ' เป็นยังไง เราต้องพยายามดู รู้ อันนี้สติปัญญาที่เราสร้างขึ้นมาให้ชัดเจน อันนี้ใจก็ให้รู้ให้ชัดเจน อันนี้อาการของใจก็รู้ให้ชัดเจน ค่อยจำแนกแจกแจงออกไปอีกว่า อะไรเป็นกอง อะไรเป็นขันธ์ ที่ท่านว่าเป็นกองเป็นขันธ์เป็นไปได้ยังไง

ทุกคนก็มีศรัทธา มีความเชื่อ ทุกคนก็ได้สร้างบุญสร้างบารมีกันอยู่แล้ว จะทำมากทำน้อย เราก็พยายามสร้างสะสมทำกันไป บุญสมมติเราก็ไม่ปล่อยปละละเลย เราก็ได้ทำกันมากันตลอด ก็พยายามสร้างสานต่อ อย่างน้อยๆ ก็ให้ใจของเราอยู่ในกองบุญเอาไว้ ทำมากทำน้อยก็เป็นอานิสงส์ของเรา เห็นคนอื่นทำเราก็พลอยอนุโมทนาสาธุด้วย

เอาล่ะ วันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจกัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง