หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 33 วันที่ 8 พฤษภาคม 2563

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 33 วันที่ 8 พฤษภาคม 2563
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 33 วันที่ 8 พฤษภาคม 2563
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 33
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2563

มีความสุขกันทุกคน พระเราชีเรา ดูดีๆ นะ ก่อนที่จะขบจะฉัน ดูความอยากกับความหิวให้ชัดเจนกายของเราหิว ใจของเราเกิดความอยาก เกิดปรุงแต่ง ได้เร็วได้ไว เอ๊ะ..อันโน้นก็อร่อย อันนี้ก็อร่อย อันโน้นก็จะเอา อันนี้ก็จะเอา เอาเยอะ ๆ กิเลสมันสั่งงาน เอาน้อยๆ ก็กลัวไม่อิ่ม กิเลสมันบอกเรา กายก็หิว ตามองเห็นรูป เห็นอาหาร ใจ กิเลสมันสั่งงาน เอาอันโน้น เอาอันนี้ กายของเราต้องสิ่งโน้น ต้องการสิ่งนี้หมด เราพยามหยุดพยามดับ พยามวิเคราะห์พิจารณาหา ภาษาธรรมะ ท่านเรียกว่า ‘ปฏิสังขาโย’

ปฏิสังขาโยตั้งแต่ตื่น ตื่นขึ้นมาก็รู้กายของเรา รู้ลมหายใจ รู้ใจ รู้ความปกติ นั่นแหละถึงเรียกว่า‘ปัจจุบันธรรม’ ก่อนที่จะเป็นปัจจุบันธรรมได้ เราก็ต้องพยามเจริญสติ หนุนกำลังสติไปใช้การใช้งาน ไปวิเคราะห์ ใจปกติเป็นอย่างนี้ ใจ การก่อตัวของใจ การก่อตัวของขันธ์ห้าเป็นอย่างนี้ความคิดของเรานั่นแหละ คิดเรื่องโน้นคิดเรื่องนี้ สารพัดเรื่อง

ไม่ใช่ว่าจะไปฝึกเฉพาะเวลาตั้งใจเดิน ตั้งใจทำ เพียงแค่ตั้งใจ ใจก็เกิดแล้ว ในหลักธรรมท่านให้ตั้งสติ สร้างความรู้ตัว ความรู้ตัวพลั้งเผลอก็เริ่มใหม่ ความรู้ตัวพลั้งเผลอก็เริ่มใหม่ จนกระทั่งถึงเวลานี้ แล้วก็เดี๋ยวนี้

เวลาจะขบ จะฉัน เราก็ต้องดู กายของเราหิวหรือใจของเราเกิดความอยาก จะเอาอาหารแต่ละชิ้น มองซ้าย มองขวา มองบน มองล่าง มองกลางใจเรา ถ้าเกิดความอยากก็ให้มันรีบดับ หรือไม่เอาให้มันซะเลย จะได้ขัดเกลากิเลสของเรา ถ้าไม่เอาแล้วให้ผ่านเลยไป ใจของเรายังมีเอาอาลัยอาวรณ์หรือไม่ เราก็ต้องดู ค่อยฝึกไปทีละเล็กละน้อย ก็จะค่อยเหือดแห้งไปเรื่อยๆ

ในกายเรามีอะไรดีๆ เยอะ กายของเรานี้เป็นสนามรบอันยิ่งใหญ่ ใจเดิมแท้นั้นบริสุทธิ์ ความไม่เข้าใจ ความหลงทำให้เขาเกิด ทำให้เขาเป็นทาสของกิเลส ก็ต้องวิเคราะห์พิจารณากัน แต่ละวันๆ ทุกลมหายใจเข้าออก ตั้งตื่นขึ้นจนกระทั่งนอนหลับ จนเป็นอัตโนมัติในการดูในการรู้ จนไม่มีอะไรที่จะมาให้ละ ไม่มีอะไรที่จะมาให้ดับ มีตั้งแต่กายกับใจ กับปัญญา บริหารกาย บริหารปัญญาของเราให้มีความสุข ขณะยังมีกำลังยังมีลมหายใจ หมดลมหายใจแล้วก็ มีแต่เรื่องบุญกับเรื่องบาปเท่านั้นแหละ

ผู้รู้ เขาก็ละทั้งสองอย่าง ละทั้งบุญละทั้งบาป จะสร้างบุญ ไม่ยึดติดในบุญ อยู่เหนือบุญ ทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนแต่มีเหตุ มีผล เหตุผลทางด้านธรรมก็มี เหตุผลทางด้านโลกก็มี เราต้องทำความเข้าใจทั้งโลกและธรรม กายของเรานี่แหละคือก้อนโลก กายของเรานี่แหละคือก้อนสมมติ กายของเราทำหน้าที่อย่างไร วิญญาณในกายทำหน้าที่อย่างไร เขาอยู่รวมกันได้อย่างไร จนที่ท่านบอกว่าเป็นกองเป็นขันธ์

เหมือนกับเชือกมีเส้นเดียว แต่ในเชือกเส้นเดียวมันมีหลายเกลียวรวมกันอยู่ ถึงรวมกันเป็นเส้นใหญ่ เราก็ต้องดูว่าเส้นไหนเป็นเส้นไหน กายของเราก็เหมือนกัน มีอยู่ห้ากอง ห้าขันธ์ กองวิญญาณ ตัวขับเคลื่อน กองรูปกองนาม กองวิญญาณ มีสี่กองรูป มีหนึ่งคือร่างกายของเรา

เรามาสร้างความรู้ตัวหรือมาเจริญสติเข้าไปวิเคราะห์ แต่เวลานี้กำลังสติเราแทบไม่มี หรือมีก็นิดๆ หน่อยๆ จะไปรู้เรื่องได้อย่างไร ทั้งที่ใจก็เป็นบุญ อยากได้บุญ ปรารถนาในบุญ ใจก็เป็นธรรมเป็นบุญ เราก็ต้องพยายาม ไม่ว่าพระว่าโยมว่าชี ก็พิจารณาตัวเรา แก้ไขตัวเรา บอกตัวเราให้ได้ ใช้ตัวเราให้เป็น ถ้าเราสอนเราไม่ได้ ก็ไม่มีใครสอนเราได้หรอก

แนวทางคำสอนของพระพุทธองค์ค้นพบมาตั้งนาน ยังทันสมัยตลอดเวลา ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาเพราะว่าคำว่า ‘ปัจจุบันธรรม’ ทุกขณะหายใจเข้า หายใจออกนั่นแหละ ถึงเรียกว่าทันสมัยที่สุดไม่ล้าสมัย ท่านสอนเรื่องหลักของอริยสัจความจริงในกายของเรา ใจของเราเป็นธรรม เราก็มองเห็นโลกนี้เป็นธรรม ไม่มีอะไรมากมาย ชนะตัวเรา แล้วก็ชนะหมด

งานสมมติ เราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดี เพราะว่ากายของเรายังอาศัยปัจจัยสี่อยู่ อาศัยสมมติอยู่อาศัยสังคมอยู่ การเจริญสติเป็นอย่างนี้ การทำให้ต่อเนื่องกันเป็นอย่างนี้ การรู้เท่ารู้ทัน รู้จักทำความเข้าใจ และก็รู้กันรู้แก้ รู้ละให้หมดจด ให้ถึงจุดหมายปลายทางกัน

สติไม่มี เราสร้างขึ้นมาให้มี รู้จักสำรวมกาย สำรวมวาจา แล้วก็สำรวมใจ ท่านเรียกว่า ‘กายวาจา ใจ’ ถ้าเราเข้าใจแล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา เขาก็จะรักษาเรา แต่เวลานี้สติของเรามีไม่เพียงพอเอาไปใช้การใช้งานไม่ได้ บารมีส่วนอื่นเราก็ทำกันอยู่ ล้มแล้วลุกขึ้นใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวใหม่ กายวิเวกเป็นอย่างนี้ กายวิเวกจากพันธะ ภาระหน้าที่การงาน ใจวิเวกจากกิเลส จากความคิด จากอารมณ์ วิเวกจากการเกิด วิเวกจากขันธ์ห้า เราต้องดูให้ละเอียดหมด

ดูดีๆ นะ ทั้งพระทั้งชี ใจเกิดความอยาก ก็รู้จักดับ รู้จักละ รู้จักเอาออก รู้จักคลาย เราเอาด้วยใจที่ไม่เกิดกิเลส ถ้าเราไม่สร้างความรู้ตัวหรือเจริญสติให้ต่อเนื่อง เราก็ว่าเรามีสติ มีปัญญาก็มีอยู่ปัญญาของโลกีย์ ปัญญาโลกๆ เอาไปดับทุกข์ที่ใจไม่ได้ ถ้าเราสร้างให้ต่อเนื่องสักห้านาที หรือสิบนาที เราถึงจะรู้ว่าสติที่เราสร้างขึ้นมานี้ไม่มีเลย ช่วงที่ผ่านๆ มา

เพียงแค่สร้างแล้วรู้จักเอาไปใช้ ถ้าไม่รู้จักเอาไปใช้ ไปอบรมใจมันก็ไม่เกิดประโยชน์ เอาไปจำแนกแจกแจง ชี้เหตุชี้ผล กำลังฝ่ายไหนจะเยอะกว่ากัน กำลังฝ่ายกำลังสติ กำลังฝ่ายกุศลอกุศล อะไรจะเยอะ ถ้าเขาเยอะกว่า เราก็แพ้ ถ้าเรามากกว่า เราก็ชนะ มากในที่นี้หมายถึงกำลังสติ แล้วก็กำลังบารมี

เรามีความเกียจคร้าน เราก็ละความเกียจคร้าน เรามีความโลภเราก็ละความโลภ มีความโกรธละความโกรธ ทำในสิ่งตรงกันข้าม เรามีความโลภเราก็ละความโลภ เรามีความโกรธเราก็ดับความโกรธ และรู้จักให้อภัย แล้วก็อโหสิกรรม เรามีความอ่อนน้อมถ่อมตน เรามีพรหมวิหาร มีความเมตตา มีความอ่อนโยน มีความเสียสละหรือไม่ มีความละอาย มีความกล้าหาญในสิ่งที่ควรกล้าหาญ มีความละอายในสิ่งที่ควรละอาย

ถ้าเราเอาตั้งแต่ความเกียจคร้าน งอมืองอเท้า ไปที่ไหนมันก็ได้แต่ความเกียจคร้านนั่นแหละเข้าครอบงำ อยู่คนเดียวก็ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ อยู่หลายคนก็ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แถมหนักตัวเอง หนักสถานที่

การแสวงหาธรรม ถ้าเราไม่รู้จักวิธีการ ก็ยากที่เข้าถึง ตัวใจนั่นแหละคือตัวธรรม แต่เวลานี้เขายังเป็นโลกอยู่ ยังเกิด ยังหลง ยังยึดอยู่ เอาใจไปหาใจมันจะไปสงบได้อย่างไร สติก็ไม่ได้สร้างมันจะเข้าถึงได้อย่างไร ก็หลงวนเวียนอยู่อย่างนั้นแหละ ดูๆ ไปก็น่าสงสารเน้อ คนเราหลงวนเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร

ความเกิด เกิดทางภพ เกิดทางกายเนื้อก็เกิดมาแล้ว เกิดทางด้านจิตวิญญาณก็เกิดอยู่ตลอดเวลา ทั้งเกิดด้วย หลงด้วย ยึดด้วย ยึดในขันธ์ห้า ยึดอัตตาตัวตน แล้วก็ไปหลงไปหมด ยึดไปหมด ถ้าคลายขันธ์ห้าได้ตัวเดียว มันก็วาง ทีนี้เมื่อเราจะดับความเกิด ละกิเลสได้หมดจดหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความเพียรของเรา ก็ต้องพยามกัน

ตั้งใจรับพรกัน ขอให้ทุกคน จงไหว้พระพร้อมๆ กัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง