หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 85 วันที่ 19 สิงหาคม 2563

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 85 วันที่ 19 สิงหาคม 2563
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 85 วันที่ 19 สิงหาคม 2563
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 85
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 19 สิงหาคม 2563

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจของตัวเราเองให้ชัดเจน แล้วก็ให้ต่อเนื่อง นั่งตามสบาย วางใจให้สบาย แล้วก็วางใจให้สบาย หยุดความคิดปรุงแต่งต่างๆ เอาไว้ชั่วครั้งชั่วคราว ถึงเราดับไม่ได้ ละไม่ได้ก็ขอให้หยุด โดยการสร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเรา ลองสูดลมหายใจเข้าไปลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว อย่าไปบังคับลมหายใจ

การสูดลมหายใจยาวๆ ผ่อนลมหายใจยาวๆ กายของเราก็รู้สึกว่าสบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเรา นั่นแหละที่ท่านเรียกว่า 'สติรู้กาย'

เราพยายามสร้างความรู้สึกตรงนี้ตั้งแต่ตื่นขึ้น ตั้งแต่ยังไม่ได้ลุกจากที่ พอรู้ตัวปุ๊บเราก็สร้างความรู้สึกรับรู้ หายใจเข้ากระทบปลายจมูก ก็มีความรู้สึกรับรู้อยู่ หายใจออกก็มีความรู้สึกรับรู้อยู่ ถ้าเรารู้ให้ต่อเนื่องเขาเรียกว่า 'สัมปชัญญะ' มีความรู้ตัวทั่วพร้อม

ขณะที่เรามีสติรู้กาย รู้ตัวอยู่ขณะทุกลมหายใจเข้า เขาเรียกว่า 'ปัจจุบัน' ไม่ใช่ว่านาทีนี้ 5 นาทีนี้10 นาทีนี้เป็นปัจจุบัน อันนั้นเป็นปัจจุบันในทางสมมติ ปัจจุบันในทางธรรม คือทุกขณะสัมผัสของลมหายใจเข้า หายใจออก เขาเรียกว่า 'ปัจจุบันธรรม' ถ้าเรารู้ให้ต่อเนื่อง เขาเรียกว่า 'สัมปชัญญะ'

เพียงแค่การเจริญการสร้างให้ต่อเนื่อง ตรงนี้พวกเราก็ยังทำกันได้ยากอยู่ ส่วนการแสวงหาธรรม ส่วนการค้นคว้าหาธรรมนั้นมีอยู่ กายของตัวเรานั่นแหละคือตัวธรรม แต่เวลานี้ยังเป็นธรรมโลกีย์อยู่ เพราะว่าการเกิด ความเกิดของใจ ความหลงของใจ ใจของเรายังเกิด หรือว่าความคิด สติปัญญาของเรายังเกิดอยู่

สติปัญญาเก่าที่เราคิดอยู่ทุกวันนี้แหละ คิดโน่น คิดนี่ คิดเรื่องอดีต คิดเรื่องอนาคต คิดเรื่องภาระหน้าที่การงาน คิดในการแสวงหาธรรม นี่แหละ...ความเกิดนี่แหละคือความหลงอันละเอียด ที่ปิดกั้นตัวใจเอาไว้ในชั้นละเอียดที่สุด ถ้าตัวใจเกิด เราถึงได้มาเจริญสติ หรือว่ามาสร้างผู้รู้ เข้าไปอบรมใจของเรา

ผู้รู้หรือว่าสติของเรายังไม่เข้มแข็ง ยังไม่แก่กล้า ก็เลยรู้ไม่เท่า รู้ไม่ทัน รู้ไม่ทันการเกิดของใจเพียงแค่การสร้าง การเจริญ ก็ยังยากอยู่ เพราะว่าความคิดเก่าปัญญาเก่าเขาปกปิดดวงใจเอาไว้หมดเพราะว่ากิเลสต่างๆ สมมติครอบงำอยู่

การเจริญสติ เราต้องเอาสติของเราไปใช้ ไปวิเคราะห์ ไปอบรมใจของเรา แต่ละทุกขณะ แต่ละทุกลมหายใจเข้าออก กว่าจะได้เป็นทุกขณะจิต ทุกขณะลมหายใจเข้าออกได้ กำลังสติของเราต้องมีมาก แล้วก็ต้องเข้มแข็ง จนใจอยู่ในโอวาทของสติปัญญา จนใจคลายออกจากขันธ์ห้าหรือว่าแยกรูปแยกนามในหลักธรรม ถึงจะเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ได้

ใจคลายออกจากขันธ์ห้า ใจหงายออกจากขันธ์ห้า หรือว่าแยกรูปแยกนาม นั่นแหละถึงจะเรียกว่า 'สัมมาทิฏฐิ' ความเห็นถูก เห็นถูกในหลักธรรม ใจคลายออก แยกรูปแยกนาม ใจหงายออกมาจากความคิดได้ กำลังสติของเราตามเห็นการเกิด การดับ ของขันธ์ห้า ว่าเรื่องอะไร นั่นแหละเขาถึงเรียกว่า ‘เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในกายของตัวเรา’ เห็นความเกิด ความดับ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ส่วนนาม ส่วนกายของเราก็เป็นส่วนรูป เราก็ต้องตามทำความเข้าใจ ชี้เหตุชี้ผลจนเห็นไตรลักษณ์ในกายของเรา เห็นความว่างในกายของเรา

ตามดูทุกเรื่อง ว่าเป็นเรื่องอะไรในกายของเรา ในขันธ์ห้าของเรา ท่านถึงบอกว่า รอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในดวงวิญญาณ รอบรู้ในขันธ์ห้าของตัวเรา รอบรู้ในอริยสัจ เห็นความเกิดความดับของวิญญาณในกาย เห็นความเกิดความดับของขันธ์ห้า ลงไตรลักษณ์ ลงความว่าง ตามดูทุกเรื่อง ใจของเราก็จะมองเห็นความเป็นจริง ว่าขันธ์ห้าไม่เที่ยง ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง ลงไตรลักษณ์ ส่วนมากเราก็มีตั้งแต่ไปอ่านไปจำ ก็เลยปล่อยก็เลยวางไม่ได้ เราต้องแยกแยะได้รู้จักจุดปล่อย รู้จักจุดวาง รู้จักจุดทำความเข้าใจ

แต่ละวัน สำรวจตัวเราอยู่ตลอดเวลา แต่ละวันตื่นขึ้นมา เรามีความขยันหมั่นเพียร เรามีความรับผิดชอบหรือไม่ เรามีความเสียสละ เรามีการฝักใฝ่สนใจ ขยันหมั่นเพียรทั้งสมมติทั้งวิมุตติ เรามีความรับผิดชอบ เรามีการละกิเลสหรือไม่ ใจของเราเกิดกิเลสสักกี่ครั้ง เกิดสักกี่เที่ยว เกิดกิเลสหยาบ กิเลสละเอียด เราตามทำความเข้าใจ เราละได้หรือไม่ แต่เราต้องแยกออกจากขันธ์ห้าให้ได้เสียก่อน ถ้ายังแยกไม่ได้นี่ เราจะเดินปัญญาขั้นสูงไม่ได้เด็ดขาดเลย ก็จะได้แค่ความสงบ

ถ้าเราแยกใจออกจากขันธ์ห้าได้ ตามดูได้ เห็นความเกิด ความดับได้ เราจะละกิเลสได้หมดจดหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความเพียรของเรา กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด มลทินต่างๆ มีกันหมดทุกคนนั่นแหละ จะมีมากหรือมีน้อย ก็มีกันหมดทุกคน ถ้าเราทำความเข้าใจ รู้ความจริงแล้วเราค่อยละค่อยละทีนั้นทีนี้ ทุกคนก็ละกิเลสกันอยู่แล้วล่ะ ตั้งแต่ตื่น ตั้งแต่เกิด รู้จักฝักใฝ่รู้จักสนใจ ยังสมมติของเราให้เกิดประโยชน์ ทั้งสมมติความเป็นอยู่ เพราะว่ากายของเราก็ยังอาศัยสมมติอยู่ มันเกี่ยวเนื่องกันหมดทุกเรื่อง ทุกอย่างตั้งแต่เกิดถึงตาย ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนกระทั่งนอนหลับ

ความเกิด เกิดทางด้านจิตวิญญาณ เกิดทางด้านจิตใจ เกิดสักกี่เที่ยว เกิดทางกายเนื้อเราก็เกิดมาแล้ว เราก็มาทำความเข้าใจกับทางกายเนื้อ ส่วนกาย ส่วนรูปส่วนนาม จนกระทั่งดับความเกิดที่ใจ ละกิเลสที่ใจออกจากจิตจากใจของเราให้มันหมด จนไม่มีอะไรมาให้ละ แล้วก็ดับความเกิดของใจ ใจไม่เกิดเราก็วางใจให้เป็นอิสรภาพ มันหลายชั้นหลายขั้นหลายตอนจริงๆ ถ้าเราไม่ทำความเข้าใจ

ส่วนมากเราก็ทำความเข้าใจนิดๆ หน่อยๆ แค่เปลือก ถ้าปฏิบัติธรรมก็อยู่ที่เปลือก อยู่ที่กระพี้เพียงแค่เปลือก กระพี้ ก็ยังทำกันไม่ค่อยจะได้เท่าไหร่ ความขยันหมั่นเพียรในระดับสมมติมีหรือไม่ หรือมีตั้งแต่ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ ความรับผิดชอบมีหรือไม่ เราต้องพยายามสร้างความรับผิดชอบ สร้างความเสียสละ ขยันหมั่นเพียร ฝักใฝ่สนใจ สอดส่อง อะไรควรทำ อะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน ไม่ใช่ว่าเอาแต่ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ บอกตัวเองไม่ได้ ใช้ตัวเองไม่เป็น ไปอยู่ที่ไหนก็ลำบาก หนักตัวเอง หนักคนอื่น หนักสถานที่

ถ้ารู้จักพิจารณาตัวเองแล้ว เราอยู่ร่วมกันหลายคนหลายท่าน ก็ต้องพยายามช่วยกัน ทั้งทางโลกทางธรรม โลกกับธรรมก็อยู่ด้วยกันนั่นแหละ กายของเรานี่แหละก้อนโลก ใจของเรานั่นแหละตัวธรรม แต่เวลานี้ทั้งใจทั้งกายนี่มันไหลไปกับโลกหมด เรายังจำแนกแจกแจงไม่ได้ เราก็ให้แยกแยะได้ ให้ทำความเข้าใจให้ได้อยู่ในระดับหนึ่ง อยู่ในคุณงามความดี อยู่ในกองบุญกองกุศล

ทุกคนก็ปรารถนาหาหนทางดับทุกข์ หาหนทางหลุดพ้น ทุกคนเกิดมาก็เพื่อที่จะให้ถึงจุดหมายปลายทางกัน บางคนก็ถึงช้า บางคนก็ถึงเร็ว บางคนก็ตกต่ำลงไปกว่าจะขึ้นมาใหม่ได้ ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่อยู่ตลอดเวลา ท่านถึงบอกว่าให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อยู่ตลอดเวลาไม่ใช่ว่าเป็นผู้หลับ เป็นผู้ตื่น ตื่นทุกขณะจิต ทุกขณะลมหายใจเข้า-ออก

ก่อนที่กำลังสติจะเป็นทุกขณะจิต ทุกขณะลมหายใจเข้าออกได้ เราก็ต้องสร้างขึ้นมา สติไม่มีก็ต้องสร้างขึ้นมา สร้างขึ้นมาแล้วรู้จักเอาไปใช้ ฝึกเจริญสติไม่รู้จักเอาสติไปใช้มันก็ไม่เกิดประโยชน์ แสวงหาธรรมไม่รู้จักธรรมก็ไม่เกิดประโยชน์ ฝึกเอาสติไปใช้เพื่อที่จะอบรมใจ แก้ไขใจของเรา ชี้เหตุผลเห็นเหตุเห็นผล มองเห็นความเป็นจริง จนประกาศด้วยตัวเอง ว่าเราจะได้กลับมาเกิดหรือไม่กลับมาเกิดกัน กิเลสตัวไหนมันหมด ตัวไหนยังไม่หมด เราพยายามค่อยขัดค่อยเกลาค่อยละ ให้รู้จัก อันนี้สติปัญญาที่เราสร้างขึ้นมา เอาไปใช้อย่างนี้นะ อันนี้ใจ เราควรจะแก้ไขอย่างไร

ใจเกิดความโลภก็ละความโลภ ใจเกิดความโกรธก็ละความโกรธ เราจะแก้ไขยังไง ใจเกิดความโกรธ เราก็พยายามดับความโกรธ แล้วก็ให้อภัย อโหสิกรรม มองโลกในทางที่ดี ใจเกิดความตระหนี่เหนียวแน่น เราก็พยายามละความตระหนี่เหนียวแน่นออกจากใจของเรา ด้วยการให้ ด้วยการอนุเคราะห์ ด้วยการช่วยเหลือ ทำในสิ่งตรงกันข้ามกับกิเลส

กิเลสมันเล่นงานเราเมื่อไหร่ เราก็จัดการกับมันเมื่อนั้น เราให้เป็นอยู่ด้วยสติ อยู่ด้วยปัญญา อยู่ด้วยพรหมวิหาร อยู่ด้วยความเมตตา อยู่ด้วยกันหลายคนหลายท่านก็มีความสุข อยู่คนเดียวก็มีความสุข อยู่หลายคนก็มีความสุขถ้าเรารู้จักตัวเรา ถ้าเราไม่รู้จักตัวเราแล้ว ก็จะเป็นบุคคลที่น่าสงสาร เพราะว่าโดนกิเลสเล่นงานอยู่ตลอดเวลา

ไม่มีใครอยากจะเป็นบุคคลที่เป็นคนหลง แต่เราก็ไม่รู้ว่าเราหลงหรอก นอกจากบุคคลที่เจริญสติแยกแยะได้ คลาย แยกรูปแยกนามได้ ทำความเข้าใจได้ ถึงจะรู้ว่าตัวเองหลง หลง หลงความคิด หลงอารมณ์ แล้วก็หลงยึดทุกสิ่งทุกอย่าง หลงเกิดอัตตาตัวตน เกิดทิฐิ เกิดมานะ อาจจะเห็นถูกอยู่ในระดับของสมมติ แต่ยังเห็นผิดอยู่ในหลักธรรม อาจจะเป็น... เห็นผิด คือยังคลายความหลงไม่ได้ แยกรูปแยกนามไม่ได้ ก็ขอให้หลงอยู่ในคุณงามความดี ให้อยู่ในกองบุญกองกุศลเอาไว้ก็ยังดี

แล้วก็ รู้สึกว่าวันสองวันนี้พายุเข้า ก็รู้สึกว่าลำบากหน่อยก็อาจจะลำบากการไปการมาก็ลำบากสถานที่ของเราก็อาจจะลำบาก ก็ให้ช่วยกันดูแล พวกต้นไม้กิ่งไม้หักต่างๆ ให้ช่วยกันดูแล ปัดกวาด ดูแลทำความสะอาดที่พักที่อาศัย กิ่งไม้ต่างๆ ที่มันหักมันโค่นลงมา เราก็ช่วยกัน ถ้าเราไม่ช่วยเรา แล้วใครเขาจะช่วย ทั้งภายในทั้งภายนอก บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น มองบนมองล่าง มองกลางใจของเรา

ตั้งแต่ปากทางนู่นมา อะไรมันไม่ดี ไม่เรียบร้อย เราก็ช่วยกันทำ ให้ช่วยเหลือตัวเอง แก้ไขตัวเองโทษตัวเอง อย่าไปโทษคนอื่น ในหลักธรรมท่านให้โทษตัวเรา แก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา ให้สร้างความขยันหมั่นเพียร ละความเกียจคร้านออกไปให้มันหมด

ใครมีความเกียจคร้าน ก็พยายามขัดเกลาเอาออก อย่ามาแสดงความเกียจคร้านให้หมู่ให้คณะเขาได้เห็น มันน่าละอาย ต้องเป็นบุคคลที่แก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา อย่าทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ จงทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก เรื่องเล็กเราก็แก้ไขไม่ให้มี เป็นผู้ตื่น ผู้ปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอดเวลา ก็ต้องพยายามกันนะ

เอาล่ะวันนี้ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง