หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 81 วันที่ 13 สิงหาคม 2563

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 81 วันที่ 13 สิงหาคม 2563
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 81 วันที่ 13 สิงหาคม 2563
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 81
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 13 สิงหาคม 2563

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจ ที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบายวางกายให้สบาย แล้วก็วางใจให้สบาย ตั้งแต่ตื่นขึ้น เราได้เจริญสติแล้วหรือยัง เพียงแค่เจริญเพียงแค่สร้างให้ต่อเนื่อง ตรงนี้ก็ยังยากอยู่

เราพยายามทำความเข้าใจ เจริญสติเพื่ออะไร ความหมายของการฝึกฝนตนอยู่ตรงไหน อะไรคือสติปัญญาที่เราสร้างขึ้นมา อะไรคือใจ อะไรคืออาการของใจ อะไรคืออาการของขันธ์ห้า เราต้องทำความเข้าใจให้หมด

เจริญสติเพื่อที่จะคลายความหลง หรือว่าแยกรูปแยกนาม ตรงนี้ก็ยังยากลำบากอยู่ สวนทานบารมี ความศรัทธา ความเชื่อ ความเสียสละ ในระดับของสมมติ ตรงนี้มีอยู่ แต่การชี้ เห็นเหตุเห็นผล เห็นการเกิด รู้ลักษณะการเกิด จนใจคลายออกหรือว่าแยกออกจากขันธ์ห้า ที่เป็นส่วนนามธรรมได้ เราถึงจะเข้าใจในชีวิตของเรา

แต่เวลานี้เราอาจจะเข้าใจในชีวิตของเราระดับสมมติ ผิดถูกชั่วดีก็อยู่ระดับของสมมติ ใจยังไม่ได้คลาย ยังไม่ได้ละกิเลส กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด มลทินต่างๆ มีกันหมด จะมีมากมีน้อย ตรงนี้มีกันหมด ยิ่งเจริญสติเข้าไปดู เข้าไปเห็นยิ่งฝึกเท่าไหร่ก็ยิ่งเห็นเยอะ ยิ่งเห็นเยอะเท่าไหร่ เราก็ทำความเข้าใจ ชี้เหตุชี้ผล เข้าใจในความหมาย เข้าใจในภาษาธรรม เข้าใจในภาษาโลก เข้าใจคำว่า ‘อัตตาอนัตตา’ เข้าใจ รู้ด้วย เห็นด้วย

อนิจจังทุกขังอนัตตา รู้เรื่องหลักของอริยสัจ การเกิดของใจ ใจเกิดส่งออกไปภายนอกได้อย่างไร การเกิดของขันธ์ห้าเขามารวมร่วมกันไปด้วยกันได้อย่างไร เราก็รู้เพียงแค่ คิดก็รู้ ทำก็รู้ ทำตามความคิด ทำตามความรู้ที่เรามีอยู่ระดับของสมมติ แต่ยังไม่ตกกระแสธรรม แต่เป็นธรรมอยู่ แต่เป็นธรรมสมมติ ไม่ใช่ธรรมวิมุตติที่จะหลุดพ้นจากสิ่งต่างๆได้ถ้าเราไม่เอาจริงเอาจังก็ยากที่จะเข้าใจนะ

เพียงแค่ฝึกการเจริญสตินี้ก็ทำให้ต่อเนื่อง ทุกขณะจิต ทุกขณะลมหายใจเข้าออกเขาเรียกว่า ‘ปัจจุบันธรรม’ หายใจเข้าหายใจออกตั้งแต่ตื่นขึ้นมา จนไม่พลาดเลยทีเดียว แต่คนทั่วไปก็ไปนึกไปคิด ว่าจะทำได้อย่างไร ทำได้! ทำไมจะทำไม่ได้

ถ้าเราฝึก ถ้าเราเจริญสติ พลั้งเผลอเริ่มใหม่ พลั้งเผลอเริ่มใหม่ ส่วนมากก็จะเผลอ ส่วนมากก็จะเผลอ เพราะว่า พอเราจะเริ่มฝึกสติ กิเลสเขาก็รุมเล่นงานเรา การเกิดของใจ เขาก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เพราะว่าเขาเกิดมานาน การเกิดของขันธ์ห้ากับใจรวมกัน เขาก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เพราะเขาอยู่ร่วมกันมานาน ก็เลยรวมกันไปทั้งใจ ทั้งขันธ์ห้า ทั้งส่วนปัญญารวมกันไปทั้งก้อน ก็หลงอยู่ทั้งก้อน เราก็ว่าเราไม่หลงหรอก เราก็ไม่หลงอยู่ระดับของสมมตินั่นแหละ แต่ในหลักธรรมแล้วยังหลงอยู่

ความเกิดก็ปิดกั้นตัวใจเอาไว้ กิเลสก็มาปิดกั้นตัวใจเอาไว้ ตัวใจนั่นแหละคือตัวธรรม ถ้าใจเกิด ความเกิดก็ปิดกั้นตัวเองเอาไว้ ส่วนมากคนทั่วไป ทั้งอยากทั้งหวัง ทั้งยึดอยู่ในตัว ก็เลยมองไม่ออก บอกตัวเองไม่ได้ ก็ทำตามอำเภอใจ ทำตามอำนาจของกิเลส

เราต้องมาสร้างความรู้ตัวให้ได้เสียก่อน แล้วก็รู้จักเอาไปใช้ จนสติหรือว่าความรู้ตัวของเราต่อเนื่อง เข้มแข็ง สักวันหนึ่งเราก็จะเห็น ใจคลายออกจากขันธ์ห้า ใจหงายขนมา ถ้าใจหงายขึ้นมา กายก็จะเบา ใจก็จะโล่งโปร่ง ตรงนี้เราก็จะเข้าใจ รู้เห็นอัตตาอนัตตา ความว่างเปล่าเข้ามาปรากฏ เห็นความเกิดความดับ ว่าเรื่องอะไรเกิดขึ้น เป็นกุศลหรือว่าอกุศล อะไรควรเจริญ อะไรควรละ

ส่วนมากคนจะฝึกหัดปฏิบัติตนเองโดยการก้าวกระโดด ไม่ชี้ลงไปที่เหตุ เอาใจไปค้นหา ใจเกิดอยู่ตลอดเวลา ในหลักธรรมแล้ว ทางโลกนั้นเขาเกิด เขาเกิดอยู่ตลอดเวลา เราต้องมาดับ มาละ มาฝืน ท่านถึงบอกว่าเป็นการทวนกระแสกิเลส จิตใจจะวิ่งตามกระแสกิเลส กิเลสมากบ้างน้อยบ้าง ความเกิด ถ้าพูดสำหรับความเป็นจริงแล้ว มันจะต่อต้านกับกิเลส ฝืนกิเลสมากทีเดียว คนก็เลยไม่ค่อยจะชอบเท่าไหร่

ถ้าใจคลายออกจากขันธ์ห้าได้เมื่อไหร่ ตามดูได้เมื่อไหร่ กำลังสติของเราก็จะตามค้นคว้า ตามสังเกต การวิเคราะห์ ทุกเรื่องที่เกิด กำลังสติก็จะเริ่มกลายเป็นมหาสติ จากมหาสติค้นคว้าจนเอาไม่อยู่เลยทีนี้ อะไรเกิดขึ้น มีอย่างไร ไปอย่างไร เขาจะค้นคว้าให้หมด จนหมดอะไรที่จะค้นคว้า นั่นแหละสติถึงจะเป็นมหาสติ จากมหาสติก็จะกลายเป็นมหาปัญญา จากมหาปัญญาก็จะกลายเป็นปัญญารอบรู้โดยอัตโนมัติ รอบรู้ในดวงใจ รอบรู้ในดวงจิตของตัวเอง รอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในโลก

โลกธรรมก็เป็นอยู่อย่างนี้ วิมุตติสมมติก็เป็นอยู่อย่างนี้ ใจที่ไม่มีกิเลสเขาก็บริสุทธิ์ ใจที่ยังเกิดอยู่เขาก็ไม่นิ่ง ความเกิดนั่นแหละคือกิเลสอันละเอียดที่สุด แต่ความหลงนั้นมีมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิด หลงวนเวียนอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ อันนั้นก็เป็นเรื่อง...เราอย่าไปเก็บมาคิด เอาอยู่ปัจจุบันนี้ ทำความเข้าใจอยู่ขณะนี้ เดี๋ยวนี้

ใจเกิดกิเลสอะไรเราก็ดับขณะนี้ ขันธ์ห้าเข้ามา เราก็ดู รู้ ทำความเข้าใจ ให้ใจรับรู้ ถ้าแยกแยะไม่ได้ ก็ได้แค่สร้างบารมีในการทำบุญ ในการให้ทาน ในการขัดเกลากิเลส แต่ถ้าแยกได้แล้วเราก็จะมองเห็นทาง เข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ที่ท่านวางเอาไว้ ก็จะเข้าสู่วิปัสสนาญาณวิปัสสนาภูมิ ใจของเราบางจากกิเลสก็ไล่ขึ้นไป จากที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนใจไม่มีอะไร มีแต่ความว่างความโล่งความโปร่ง แต่เราต้องเห็นเหตุเสียก่อน ต้องรู้เหตุเสียก่อน

การพูดง่าย การได้ยินได้ฟัง เราก็ได้ยินได้ฟังตลอด ว่าคำสอนเป็นอย่างนี้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเป็นอย่างนี้ ขันธ์ห้าเป็นอย่างนี้ ธาตุสี่ ดินน้ำลมไฟเป็นอย่างนี้ เขาอยู่กันเป็นกอง เป็นขันธ์อยู่ แต่เขารวมกันอยู่ เราต้องแยกแยะด้วยปัญญาจริงๆ ประกาศให้รู้ให้เห็นด้วยตัวเองจริงๆ หาความเป็นกลาง เครื่องตัดสินภายในของเรา ไม่เข้าข้างตัวเอง ไม่เข้าข้างคนอื่น เราต้องรู้ด้วย เห็นด้วยทำความเข้าใจได้ด้วย แล้วก็รู้จักละ รู้จักแก้ รู้จักกัน รู้จักดำเนินสติปัญญาไปใช้

แต่ละวัน เราต้องสำรวจเรา เรามีความขยันเพียงพอหรือไม่ ขยันระดับไหน เรามีความละอายเกรงกลัวต่อบาปหรือไม่เรามีพรหมวิหาร มีความเมตตามีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความกตัญญูกตเวทีหรือเปล่า เรามีความรับผิดชอบระดับไหน ระดับล่าง ระดับบน ระดับกลาง เราต้องเห็นผลให้ชัดเจน ไล่เรียงลงไปเรื่อยๆ ก่อนที่จะพูด ก่อนที่จะคิด หรือเป็นประโยชน์หรือไม่ การกระทำของเราถึงพร้อมหรือเปล่า มันต้องเพียบพร้อมหมดทุกสิ่งทุกอย่างเลยนะ ก่อนที่จะขัดเกลาออกได้ เราก็ต้องพยายาม การพูดการจาเป็นแค่เพียงสื่อสารภาษาสมมติเท่านั้นเอง

ถ้าเราเจริญสติเข้าไปรู้ เข้าไปเห็น จนแยกแยะได้ ตามดูได้ เราก็จะแก้ไขตัวเองได้ทันที ที่ท่านว่าทุกขณะจิต ทุกขณะลมหายใจเข้าออก จนเป็นเอง อัตโนมัติ ในการดูในการรู้ สำหรับบุคคลที่ขยันหมั่นเพียรจริงๆ แล้วก็เพียรเป็นเลิศ แล้วก็เพียรขัดเกลากิเลสต่างๆ ออกจากใจของเรา

เพียงแค่ระดับสมมติ เราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดี ทางสมมติ กายของเราก็ยังอาศัยสมมติ กายของเราก็ยังเป็นก้อนกรรมก้อนธรรม ถ้าเราแยกแยะภายในได้ ใจจะไม่เอาสักอย่าง เพียงแค่การเกิดก็เป็นทุกข์เขาก็ไม่เอา ใหม่ๆ นี้เขาวิ่งอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวก็วิ่งไปนู่นวิ่งไปนี่ ยุกยิกๆ อยู่ภายใน ทุกอย่าง

ตากระทบรูป ใจไปแล้ว หูกระทบเสียง ใจไปแล้ว เราไม่ได้แยกรูป รส กลิ่น เสียง ออกจากใจของเรา ทวารเขาก็ทำหน้าที่ของเขา ตาก็ทำหน้าที่ดู หูก็ทำหน้าที่ฟัง แต่ใจให้มีหน้าที่รับรู้ แต่เวลานี้เขาวิ่งไปยึดเอาหมด ยึดเอาหมด รูป รสกลิ่น เสียง สัมผัสต่างๆ เขาวิ่งเข้าไปยึดเอาหมด เราต้องมาแก้ไขที่ใจของเรา แล้วก็ใช้สติปัญญาไปบริหารกายของเรารู้ความจริงหมดทุกเรื่อง วางทั้งหมดนั่นแหละ วางทั้งกายทั้งใจ วางทั้งธรรม ทั้งหมดทุกเรื่อง แต่ก็บริหารด้วยสติด้วยปัญญา อันนั้นมันก็สำหรับบุคคลที่แยกแยะได้ ทำความเข้าใจได้ ตามดูได้ ถึงจะเข้าใจในสิ่งที่หลวงพ่อพูด ถ้ายังแยกแยะไม่ได้ ก็เพียงแค่อยู่ในระดับของความเชื่อมั่นในระดับของสมมติ ว่าไปอย่างนี้ทำอย่างนี้

ถ้าบุคคลที่แยกแยะได้ ละกิเลสได้ ดับความเกิดได้จริงๆ ฟังนิดเดียวก็รู้เรื่องหมด การเจริญสติเป็นงี้ เอาสติปัญญาไปใช้เป็นอย่างนี้ สติพลั้งเผลอได้ยังไง นิวรณธรรมครอบงำได้ยังไง เรามีความเกียจคร้านหรือว่ามีความขยัน เรามีความรับผิดชอบหรือว่าเมินเฉยต่อสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องของเราทั้งนั้นแหละ ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น เราพยายามทำหน้าที่ของเราให้ดี ให้ถึงจุดหมายปลายทาง

แต่ละวันตื่นขึ้นมา คนโน้นเป็นอย่างนั้น คนนั้นเป็นอย่างนี้ อันนั้นเป็นเรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของเรา เราเลือกเฉพาะส่วนที่ดีๆ ของเขา ส่วนไหนไม่ดีเราก็อย่าเอาเก็บมาคิด ถ้าใจของเราไม่คิด ไม่เกิดแล้ว จะดีหรือชั่วมันก็เป็นปกติธรรมดา อันนั้นเป็นส่วนของคนอื่น

เรามาจัดการของเรา จัดการแก้ไขตัวเราตั้งแต่คิด ความคิดมันก่อตัวอย่างไร มันเกิดอย่างไร ความหลงมันหลงยังไงความเกิดเราดับความเกิดไม่ได้ตั้งแต่ต้นเหตุ ก็ไม่ให้ออกทางกาย ทางวาจา

ถ้าจะออกทางวาจา เราก็ใช้ปัญญาหลบหลีก ก่อนที่จะพูด ก่อนที่จะคิด ก่อนที่จะทำ นอกจากบุคคลที่ใจคลายออกจากขันธ์ห้า ละกิเลสได้ ทำความเข้าใจได้ จนอยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่างได้ นั่นแหละถึงจะมองเห็นหนทางชัดเจน ว่าเราจะได้กลับมาเกิดหรือไม่กลับมาเกิดกัน

เกิดก็มี 2 ระดับ เกิดทางกายเนื้อ อันนี้เราก็เกิดมาแล้ว เขาเรียกว่าภพมนุษย์ เกิดทางด้านจิตวิญญาณ นี่แหละตัวนี้แหละกายเนื้อแตกดับ ถ้าเขายังเกิด เขาก็ต้องไปเกิดต่อ ถึงจะเกิดก็ขอให้เกิดอยู่ในกองบุญกองกุศลเอาไว้ ไม่ได้สูญหายอะไร จะได้เป็นเข้าพกเข้าห่อติดตามตัวเราไป จนกว่าจะดับความเกิดได้ ถ้าเราดับความเกิดได้ กายเนื้อแตกดับ ใจก็เข้าสู่ความบริสุทธิ์ เพราะว่าการเกิดไม่มี การยึดมั่นถือมั่นไม่มี

เราละกิเลส มองเห็นหนทางเดิน ถ้าแยกได้เขาเรียกว่า'สัมมาทิฏฐิ' ความเห็นถูก เห็นถูกในข้อแรก ในหนทางเดินอริยมรรคในองค์แปด เห็นถูก คิดถูก พูดถูก ทำการงานถูก ถ้าใจถูกแล้ว ถ้ามันผิดก็ผิดตั้งแต่ต้นเหตุ มันก็ผิดไปเรื่อยๆผิดไปเรื่อยๆ แต่อาจจะถูกอยู่ในระดับของสมมติ อยู่ในครรลองของคุณงามความดี สูงขึ้นไปก็ละหมดนั่นแหละ ทั้งดีทั้งชั่วก็ละหมดไม่เอาอะไร

อยู่กับสมมติ เคารพสมมติ ไม่ยึดติดสมมติ จนกว่าธาตุขันธ์เขาจะแตกจะดับ เราพยายามลอง ไม่ลองล่ะ ไปศึกษาเลยเรื่องกายของเรา เป็นหน้าที่ของเรา เราอย่าตกเป็นทาสของความเกิด ตกเป็นทาสของกิเลส เรามีโอกาสมากที่สุด การที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์นี่มีโอกาสมากที่สุดกว่าภพภูมิอื่น ภพภูมิอื่นนั้นเป็นแค่เรื่องของกรรม วิ่งไปตามกรรม ใครทำกรรมอะไรไม่ดีไว้ ก็ไปสู่หนทางที่ไม่ดี ใครทำกรรมดี ก็ไปสู่หนทางที่เป็นสุข มีแต่สุขกับทุกข์ ต้องให้ละให้หมดทั้งสุขทั้งทุกข์ อยู่ในความเป็นกลาง

เราละหมด เราก็ได้สุขเอง เราไม่อยากจะได้เราก็ได้ เราละกิเลสหมด เราไม่อยากได้ความบริสุทธิ์เราก็ได้ เราดับความเกิดได้ กว่าจะดับความเกิดได้ต้องมีความเพียรเป็นเลิศ แล้วก็มีพรหมวิหารเป็นเลิศ มีความเสียสละเป็นเลิศ ให้ขึ้นอยู่ที่ตัวของเราเอง สิ่งพวกนี้ไปบังคับกันไม่ได้ ต้องทำอย่างโน้นทำอย่างนี้ เอาอย่างนั้นเอาอย่างนี้ ถ้าเราไม่แก้ไขตัวเรา ไม่ช่วยเหลือตัวเราตามแนวทางของพระพุทธองค์ ก็ยากที่จะดำเนินถึง

ถึงได้ยินได้ฟังได้อ่าน ถ้าการกระทำไม่ถึง เราก็ไม่เข้าใจ ท่านถึงบอกว่าตนให้เป็นที่พึ่งของตน 'ตน' ตัวแรกคือสติปัญญาที่เราสร้างขึ้นมา ให้เป็นที่พึ่งของใจ ตัวใจนั่นก็อีก 'ตน' นะ ถึงว่าตนเป็นที่พึ่งของตน อยู่ด้วยกันใจเป็นธาตุรู้ สติเป็นผู้รู้ ใจนี้ทั้งธาตุรู้ ทั้งหลง ทั้งยึด ทั้งติด แต่เราก็ไม่ว่าเราหลง คนทั่วไปจะไม่ว่าตัวเองหลง เพียงแค่การเจริญสติให้ต่อเนื่องเชื่อมโยง เราก็จะรู้ว่าที่ผ่านมานั้น คำว่าสติรู้ตัวอยู่ปัจจุบันของเรามีน้อยนิดเราต้องสร้างขึ้นมา รู้จักเอาไปใช้ไปใช้ไปชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล ถ้าเราเข้าใจแล้ว อะไรก็จะง่ายขึ้น

ถ้าปฏิบัติศึกษาธรรม ถ้าไปหาที่อื่นหาไม่เจอหรอก ต้องเน้นลงที่กาย เน้นลงที่ใจชี้ลงที่เหตุ เขาถึงจะรู้ เขาถึงจะเข้าใจแต่วิธีการแนวทางนี่สิ ใจยิ่งเกิด ยิ่งวิ่งหาก็ยิ่งห่างไกล ยิ่งปิดกั้นตัวเองเอาไว้ ท่านถึงให้พยายามดับ ควบคุม จนกว่าใจจะคลายออกจากขันธ์ห้าได้ ท่านจึงให้ตามดูขันธ์ห้า ให้ใจว่างรับรู้อยู่ ทีนี้เราก็ขัดเกลากิเลสที่ยังตกค้างอยู่ในใจของเรา ว่ากิเลสหยาบกิเลสละเอียดต่างๆ เหมือนกับเราเดินขึ้นถึงตัวเรือน แยกรูปแยกนามได้ ก็ขึ้นถึงตัวเรือน ตัวเรือนของเรา ต้องปัดกวาดทำความสะอาดให้เป็นระเบียบเรียบร้อยอีก มันถึงจะจบ อะไรยังค้างๆ อยู่ อะไรยังเหลืออยู่ เราก็พยายามแก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา จนมองเห็น ประกาศด้วยตัวเองว่า ใจมันหมดจดแล้ว นั่นแหละ ไม่มีอะไรมาขวางได้หรอก ถ้าเรามีศรัทธา มีวิริยะความเพียร เพียรในทางที่ถูก ในทางที่ตรง เราก็ย่อมจะถึงจุดหมาย ไม่ถึงช้าก็ต้องถึงเร็ว ก็ต้องพยายามกันนะ

เอาล่ะ วันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กันมีโอกาสก็สร้างสานต่อ ทำความเข้าใจให้ได้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง