หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 15 วันที่ 14 มีนาคม 2563

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 15 วันที่ 14 มีนาคม 2563
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 15 วันที่ 14 มีนาคม 2563
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 15
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 14 มีนาคม 2563

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ พวกเราได้เจริญสติหรือว่าสร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องกันแล้วหรือยังพยายามศึกษา พยายามสังเกตพยายามวิเคราะห์ชีวิตของเรา สังเกตใจของเราสังเกตความเป็นอยู่ของเรา อะไรควรแก้ไข อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนินอะไรควรละ ไม่ใช่ไปปล่อยปละละเลย

ชีวิตของคนเรากว่าจะได้เกิดมานี้ก็ยากแสนยาก กว่าจะได้ทำความเข้าใจกับหลักธรรมในชีวิตของตัวเองก็ยากแสนยาก เรามีโอกาสมากที่สุด เราพยายามรีบตักตวง สร้างคุณงามความดี หากำไรในกายก้อนนี้ให้ได้ขณะที่ยังมีลมหายใจ

เราพยายามน้อมใจน้อมกายของเราเข้ามาในแนวทางปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ หลายร้อยหลายพันปีสัจธรรมก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม คำสอนก็ยังอยู่เหมือนเดิม เป็นคำสอนที่ทันสมัยที่สุด ทำไมถือว่าทันสมัยที่สุด ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของบุคคลที่มีปัญญา ทันสมัยที่สุดคือ ขณะทุกขณะลมหายใจเข้าออกนี่แหละเขาเรียกว่า “ปัจจุบันธรรม” ลึกลงไปก็ทุกขณะจิต จิตต้องสงบ ปกติสะอาด บริสุทธิ์ รับรู้อยู่ทุกขณะทุกเวลา ทุกขณะลมหายใจเข้าเขาเรียกว่า “ปัจจุบัน” ขณะลมหายใจออกเรียกว่า “ปัจจุบัน” ทั้งลมหายใจเข้าหายใจออกให้ต่อเนื่องเขาเรียกว่า “สัมปชัญญะ- มีความรู้ตัวทั่วพร้อม” ส่วนมากเราก็ไปนึกเอาไปคิดเอาว่าจะเป็นอย่างนั้น ว่าจะเป็นอย่างนี้ อันนั้นเขาเรียกว่า“ปัญญาโลกีย์” ปัญญาที่ใจยังเกิดอยู่ ปัญญาที่ใจยังหลงอยู่

สติปัญญาทางโลกียะของเรามีอยู่มากมายเท่าไหร่ ท่านบอกว่าอย่าเพิ่งเอามาโต้แย้ง ให้เจริญสติเข้าไปวิเคราะห์ให้เห็นการเกิดการดับ การแยกการคลาย การทำความเข้าใจว่า สัมมาทิฏฐิ ถ้าใจคลายออกจากขันธ์ห้าได้ซึ่งท่านเรียกว่า “สัมมาทิฏฐิ” ความเห็นถูก เห็นถูกแล้วก็ตามทำความเข้าใจ เราก็จะเข้าใจคำว่าอัตตา อนัตตา เข้าใจคำว่า“อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในกายของเรา” เห็น เห็นอาการ ตามดูตามรู้ตามเห็นตามทำความเข้าใจ เราก็จะเข้าใจในเรื่องสมมติ ทำความเข้าใจในเรื่องวิมุตติ ทำความเข้าใจในศีล สมาธิ ปัญญา ว่าอะไรเราควรดำเนิน อะไรควรเดิน เราละกิเลสได้ระดับไหน ต้นเหตุ กลางเหตุ ปลายเหตุ

แต่ละวัน อะไรเราขาดตกบกพร่อง เราสำรวจตรวจตรา รู้กายรู้ใจของเรา ใจของเรามีความอ่อนน้อมถ่อมตนหรือว่ามีความแข็งกร้าวแข็งกระด้าง เราก็รู้จักแก้ไขใจของเรา มีพรหมวิหาร มีความเมตตา มีความอ่อนโยน มีสัจจะกับตัวเราหรือไม่ แต่ละวันๆ เรารักษาใจของเรา กระทั่งรักษาใจ ขึ้นมารักษากาย แล้วก็วาจา แม้แต่การพูดการจาเราก็รู้จักควบคุม ลึกลงไปก็ควบคุมใจ ลึกลงไปก็ดูตั้งแต่ต้นเหตุ แต่คนเราส่วนมากก็มีตั้งแต่ไปดูแต่ปลายเหตุ สร้างแต่เหตุเข้าทับถมดวงใจของตัวเราเองอยู่ตลอดเวลา

ใจของคนเรานี่หลง หลงมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิด ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด แล้วก็มาเกิดอยู่ในภพมนุษย์ซึ่งมาสร้างร่างกายภพมนุษย์ เรียกว่า “ขันธ์ห้า” มีวิญญาณหรือว่าตัวใจนี่แหละเข้ามาครอบครอง อยากจะรู้ความเป็นจริงตรงนี้ เราต้องมาเจริญสติเข้าไปชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล

แต่เวลานี้กำลังสติของเราอาจจะมีบ้างเล็กน้อย ไม่ต่อเนื่อง ไม่สามารถที่จะเอาไปอบรมใจของตัวเราได้ ถ้าเราไม่สร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่อง แต่ละวันๆ มันก็ยากที่จะเข้าใจ

ส่วนมากก็ศรัทธาก็มีอยู่ การทำบุญให้ทานก็มีอยู่ การสร้างบารมีส่วนอื่นก็มีอยู่ แต่ก็ไม่เต็มรอบ ทำอย่างไรเราถึงจะให้เต็มรอบ รู้ด้วย เห็นด้วย ทำความเข้าใจได้ด้วย แก้ไขใจของเรา ใจของเราเกิดความโลภเราก็พยายามละความโลภใจเกิดความโกรธเราก็พยายามดับความโกรธ ด้วยการให้อภัยอโหสิกรรม ใจเกิดความหลงเราก็เจริญสติเข้าไปวิเคราะห์ จนใจคลายออกจากขันธ์ห้าซึ่งจะคลายความหลง

อัตตา เข้าใจในเรื่องอัตตา อนัตตา อนัตตาก็ผุดขึ้นกลางใจปรากฏขึ้นมา การทำความเข้าใจ การละกิเลสหยาบกิเลสละเอียดอีก

การเดินปัญญาเข้าสู่วิปัสสนาคือความรู้แจ้ง ใจคลายออกจากขันธ์ห้า แล้วก็ละกิเลสหยาบๆ ไปหาละเอียด ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการเดินปัญญา เข้าสู่วิปัสสนาซึ่งท่านเรียกว่า “โสดาปัตติมรรค… โสดาปัตติผล… สกิทาคามีมรรค… สกิทาคามิผล” ใจของเราเบาบางจากกิเลสได้มากเท่าไหร่ ใจของเราก็บริสุทธิ์มากขึ้นเท่านั้น จนกระทั่งถึงอรหัตมรรคอรหัตผล ทรงความว่างไว้เป็นอารมณ์

การได้ยินได้ฟังได้อ่านทุกคนมีกันเต็มเปี่ยม แต่การลงมือที่จะทำความเข้าใจเราก็ต้องพยายาม ต้องเป็นบุคคลที่มีความขยันหมั่นเพียรเป็นเลิศ ไม่ใช่ว่าทำปุ๊บได้ปั๊บ เราต้องมีความเพียร หมั่นขัดเกลากิเลส หมั่นปรับปรุงใจของตัวเราอยู่ตลอดเวลา คอยแก้ไขใจของเราอยู่ตลอดเวลา เพียงแค่ระดับของสมมติ เราก็พยายามทำหน้าที่ของเราให้เต็มเปี่ยม เพราะว่าถ้าสมมติของเราขาดตกบกพร่อง ก็ส่งผลถึงด้านจิตใจ ถ้าปัจจัยสี่ของเราไม่พร้อม ทางด้านจิตใจก็ดิ้นรนแสวงหา ถ้ามีความพร้อมถึงไม่มากแต่ก็ไม่ถึงกับลำบาก จิตใจก็ไม่ได้ดิ้นรนเท่าไหร่ มีตั้งแต่เพิ่มเสริมเติมด้วยปัญญา

เราต้องวิเคราะห์ เราบอกเราให้ได้ ใช้เราให้เป็น ไม่ใช่ไปให้คนอื่นเขาบังคับ เราบังคับตัวเรา แก้ไขตัวเรา กิเลสเกิดขึ้นที่เรา เราก็พยายามละที่เรา กิเลสหยาบหรือว่ากิเลสละเอียด กิเลสเกิดขึ้นที่กายใจส่งเสริมหรือไม่ หรือเหตุจากภายนอกทำให้ภายในของเราเกิด

กาย ทวารทั้งหก หูตาจมูกลิ้นกายเขาทำหน้าที่อย่างไร เรารู้จักจำแนกแจกแจง แยกรูปรสกลิ่นเสียงออกจากใจของเรา ถ้าเราไม่รู้จักวิเคราะห์พิจารณา เราก็หลง แต่เราก็ว่าเราไม่หลงนะ ถ้าบุคคลที่มาเจริญสติให้ต่อเนื่อง วันหนึ่งมีกี่นาทีวันหนึ่งมีกี่ชั่วโมง ฝ่ายกุศลหรือว่าอกุศลเขาเยอะกว่ากัน เราก็ต้องพยายามดู

เราต้องพยายามสร้าง เจริญสติ แล้วก็รู้จักเอาสติของเราไปใช้ ถ้าใจคลายออกจากขันธ์ห้าได้เมื่อไหร่ ใจหงายขึ้นมาได้เมื่อไหร่ เราก็จะมองเห็นหนทาง สติที่เราสร้างขึ้นมาก็จะตามเห็นการเกิดการดับ อารมณ์ซึ่งเป็นอาการใดอาการหนึ่งอยู่ในขันธ์ห้า ถ้ากำลังสติของเราตามดูค้นคว้าทุกเรื่อง กำลังสติของเราก็จะเพิ่มมากขึ้น ก็จะเริ่มกลายเป็นมหาสติจากมหาสติก็จะกลายเป็นมหาปัญญา ค้นคว้าแล้วก็ละกิเลสที่ใจไม่หยุดไม่หย่อน เพราะว่าหยุดไม่ได้

ถ้ากำลังสติของเราค้นคว้า ถ้าเราหยุดการค้นคว้า ใจของเราก็จะซึมเข้าสู่สภาพเดิม ยิ่งจะยากกว่าเก่าอีก เราต้องพยายามดำเนิน ทำความเพียร รู้ทุกเรื่อง รู้ความเป็นจริงแล้วก็ค่อยละ ถ้าใจมองเห็นความเป็นจริงเขาก็จะเกิดความเบื่อหน่ายในความคิด ในอารมณ์ ในความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ ว่าไม่มีสาระประโยชน์แก่นสารอะไร เขาก็จะหาทางหลบหลีกเอง หาทางหลบหลีกไม่ได้เขาก็จะอยู่อุเบกขา สติปัญญาก็ทำความเข้าใจ แล้วก็ค่อยละ อะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน

แต่เวลานี้เราต้องพยายามดำเนินให้รู้จักจุดปล่อยจุดวาง จุดแยกจุดคลายให้ได้เสียก่อน ทำความเข้าใจกับลักษณะภาษาสมมติภาษาวิมุตติ ภาษาโลกภาษาธรรม ศีล 5 เป็นอย่างไร ศีล 8 เป็นอย่างไร ศีลวิมุตติเป็นอย่างไร อธิจิตอธิศีล อธิวินัยเป็นอย่างไร ภาษาโลกภาษาธรรม สมมติ วิมุตติ อัตตา อนัตตา วิญญาณในกาย ในขันธ์ห้าของเรา ศีลสมมติ ศีลวิมุตติ ศีลปรมัตถ์ ศีลงมงายเป็นอย่างไร เราก็ต้องพยายามศึกษาให้ละเอียด

ไม่ใช่ว่าเอาแต่เล่นสนุกสนาน เอาแต่ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ ทุกเรื่องตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ใจปกติเป็นอย่างไร กายวิเวกเป็นอย่างไร ใจวิเวกเป็นอย่างไร สติเข้าไปอบรมใจ หมั่นพร่ำสนใจของเราเป็นอย่างไร ถ้าเราสอนเราไม่ได้ไม่มีใครที่จะสอนเราได้เลยนอกจากตัวเรา

แต่การทำบุญให้ทานทางด้านสมมตินั้นเรามีโอกาสได้ร่วมกันทำ ได้ร่วมกันทำบุญสร้างบารมี อานิสงส์ของสมมติตรงนี้อยู่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อยู่ใกล้อยู่ไกล อานิสงส์ตรงนี้ทุกคนก็ได้ตกทอดมาจากพ่อแม่ปู่ย่าตายายจนติดเป็นนิสัย แต่การที่จะเข้าไปชำระกิเลสก็เป็นเรื่องของเรา ทำเรื่องของเราให้จบ เรื่องของคนอื่นก็ส่วนของคนอื่น ดูแลเรื่องของเราให้จบ จบแล้วเราก็มีโอกาสที่จะได้ช่วยเหลือคนอื่น ช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันเท่าที่กำลังสติปัญญาของเรามี ก็อย่าไปพลาดโอกาส

ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าไปปล่อยปละละเลย วันนั้นถึงจะทำ วันนี้ถึงจะทำ กิเลสเกิดขึ้นเมื่อไหร่เราก็จัดการกับมันเมื่อนั้น ไม่ว่าเวลาไหน ยืนเดินนั่งนอนกินอยู่ขับถ่าย ทุกอิริยาบถ ถ้าเราเข้าใจในชีวิตของเรา เข้าใจในธรรม เข้าใจในโลก โลกกับธรรมก็อยู่ด้วยกัน ธรรมกับโลกก็อยู่ด้วยกัน

แต่เราทำความจริงให้ปรากฏขึ้นที่ใจของเราให้ได้ว่า อะไรควรละ อะไรควรเจริญอะไรควรดำเนิน ต่อไปข้างหน้าถ้าเราศึกษาให้ละเอียด สติปัญญาสมาธิเขาจะรักษาเราเอง เราไม่ได้รักษาเขายาก จะยืนเดินนั่งนอนจะร้องตะโกนอยู่ ใจของเราก็สงบสะอาดบริสุทธิ์ เราละกิเลสได้หมด เราไม่อยากให้ใจของเราบริสุทธิ์ ก็บริสุทธิ์ เพราะว่าการละกิเลสของเรามีเราไม่อยากจะให้ใจของเราได้รับความสงบ เราก็ได้รับความสงบ ใจของเราก็จะเป็นสมาธิ

ปัญญา สมาธิ จะปรับสภาพให้อยู่ในความสมดุล ปรับสภาพใจของเราให้อยู่ในความอ่อนน้อมถ่อมตน ให้อยู่ในความเสียสละเป็นผู้ให้ผู้อนุเคราะห์ผู้ช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ช่วยเหลือด้วยสติด้วยปัญญา ใจก็จะอยู่ในองค์สมาธิหรือว่าองค์ฌาน เขาเรียกว่า “วิหารธรรม” เครื่องอยู่ของใจ เราก็ต้องพยายามทำ ไม่ว่าพระว่าโยมว่าชี ก็พยายามขยันหมั่นเพียร

เพียงแค่ระดับของสมมติเราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดี มีความรับผิดชอบ อย่าไปปล่อยปละละเลย ที่พักที่อาศัยที่หลับนอน ที่อยู่ที่กินที่ถ่ายที่เยี่ยว ถ้าไม่มีสิ่งพวกนี้ความเป็นอยู่ของเราก็ลำบาก ในเมื่อเราได้สร้างได้ทำ ช่วยกันมาจากรุ่นต่อรุ่น เราก็พยายามดูแลรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบ พวกเราก็จะได้อยู่ดีมีความสุข คนภายนอกเข้ามาก็จะอยู่ดีมีความสุข เรามาทำธรรมชาติให้เป็นธรรมชาติยิ่งๆ ขึ้นไป อานิสงส์บุญก็จะยิ่งใหญ่กองมหึมาในวันข้างหน้า

เพียงแค่บุญของสมมติเราก็ทำให้เต็มเปี่ยม ทั้งวิมุตติเราก็ขัดเกลากิเลสของเรา สักวันหนึ่งเราก็คงจะเดินถึงจุดหมายปลายทางกัน วันนี้มีพรุ่งนี้มี เดือนนี้มีเดือนหน้ามี ปีนี้มีปีหน้ามี ภพนี้มีภพหน้ามีเราอยู่ในภพของมนุษย์ ภพสัตว์เดรัจฉาน ภพภูมิสัตว์นรก เทวดา พรม แล้วก็นิพพาน

ถ้าอยากจะรู้ความจริงเราต้องเข้าใจในเรื่องหลักของอริยสัจเราก็ต้องเข้าใจในเรื่องของการเดินปัญญาวิปัสสนา เราก็จะระลึกถึงคุณของพระพุทธองค์ว่า หลายร้อยหลายพันปีท่านก็ได้ค้นพบแล้วก็เอามาเปิดเผยมาจำแนกแจกแจงให้สัตว์โลก ก็คือพวกเรานี่แหละ ได้ปฏิบัติตาม จนปรากฏขึ้นที่ใจ ท่านถึงบอกให้เชื่อ ไม่ใช่ว่าให้เชื่อแบบงมงาย ให้เชื่อด้วยบุคคล ให้เชื่อด้วยการเจริญสติเจริญปัญญา โอกาสเปิด กาลเวลาเปิด สถานที่เปิด ปรากฏขึ้นที่ใจของเราเราก็จะเห็นพระพุทธเจ้าทันที พระพุทธองค์ก็จะมาอยู่ที่ใจของเรา ใครเห็นธรรมคนนั้นเห็นเรา ใครเห็นเราคนนั้นเห็นธรรม คือความบริสุทธิ์หลุดพ้นของใจ ก็ต้องพยายามกัน

เอาล่ะ วันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กันพากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง