หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 11 วันที่ 2 มีนาคม 2563 (2/2)

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 11 วันที่ 2 มีนาคม 2563 (2/2)
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 11 วันที่ 2 มีนาคม 2563 (2/2)
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 11
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 2 มีนาคม 2563 (2/2)

มีความสุขกันทุกคน พระเราชีเรา ดูดีๆ อย่าปล่อยโอกาสทิ้ง เวลาจะขบจะฉัน พิจารณาความอยากความหิว รู้ รู้เท่าทันความอยากความหิว หรือว่าความปกติ ไม่ใช่ปล่อยวันเวลาทิ้ง รู้จักกะประมาณในการขบฉันของตัวเรา เขาเรียกว่า ‘ปฏิสังขาโย’

ตั้งแต่ตื่นขึ้น รู้กาย รู้ลมหายใจ รู้ความปกติ จะลุก จะก้าว จะเดิน จะเข้าห้องส้วมห้องน้ำ จนกระทั่งถึงเวลาที่จะขบจะฉัน เราดู รู้ความปกติภายในของเราให้ได้

ใจเกิดความอยากเราก็รู้จักหยุด รู้จักดับ กายของเราเกิดความหิวก็ให้รู้เท่ารู้ทัน กายเกิดความหิว ใจจะปรุงแต่งได้เร็วได้ไว ความอยากเกิดขึ้น อันโน้นก็อร่อยอันนี้ก็อร่อย กิเลสมันสั่งงานมาว่าเอาเยอะๆ กลัวไม่อิ่ม อันโน้นก็ชอบอันนี้ก็ชอบ เราก็ต้องรู้จักวิเคราะห์พิจารณา กะประมาณในการขบฉันของเรา ทุกครั้งทุกเรื่อง เอาเยอะก็เหลือ เอาน้อยก็ไม่อิ่ม เราก็ค่อยพิจารณา

ถ้าเราไม่เอา ใจเกิดความยินดีหรือไม่ เราก็พยายามมองซ้ายมองขวา มองบนมองล่าง มองกลางใจของเราอยู่ตลอดเวลา ตากระทบรูป หูกระทบเสียง จำแนกแจกแจงออกให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น

ฝนฟ้าก็ตกลงมาสองสามวัน พายุเข้า พายุก็รุนแรง บางทีลูกเห็บลงก็เยอะ แต่เส้นทางบ้านของเราวัดของเราลูกเห็บไม่ลง..โชคดี แล้วก็พายุไม่แรง ไปแรงที่จุดอื่น เห็นบ้านเรือนพังกันเยอะความเสียหายก็เกิดขึ้นเยอะ ฝนฟ้าก็ตกลงมา ความร่มรื่นชุ่มช่ำก็ปรากฏขึ้น ต้นไม้ก็ได้รับความสดชื่น

มีโอกาสพวกเราก็จะได้พากันเริ่มปลูกต้นไม้ ต้นไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับที่เราเตรียมเอาไว้ก็จะได้เริ่มปลูก ปลูกวันละเล็กละน้อย วันละห้าต้นสิบต้นไป แซมแจมลงไปตรงไหนช่องว่างก็ลง จะพาดำเนินพาปลูกให้เป็นป่าดงดิบในวันข้างหน้าทุกจุด ให้เป็นดงดอกไม้ พวกชีก็พากันปลูกต้นอะไรนะที่เป็นดอกสวยๆ ทองอุไร ตามถนนลานพระมหากษัตริย์ ต้นทองอุไร ต้นโมก เดินไปสักการะพระมหากษัตริย์ก็จะได้เดินอยู่ในดงดอกไม้ ในวันข้างหน้า สวนป่าในป่าก็จะเอาต้นไทรกวนอูมาปลูก ก็เตรียมเอาไว้ออกรากแล้ว เตรียมเอาไว้ตั้งแต่ปีกลายสั่งจองเอาไว้ ให้รากออกเยอะๆ ซื้อมาต้นละหกร้อยห้าสิบ ก็หลายต้นอยู่เป็นสองสามร้อยปลูกที่นี่บ้าง ปลูกที่ปักธงชัยบ้าง สั่งไว้ห้าร้อยต้น ก็จะได้ลงปลูกให้เป็นป่า เราช่วยกันดูแลทุกอย่าง สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่ว่าไปมองข้าม

ตื่นขึ้นมาความเป็นอยู่ของเราเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าจะเอาตั้งแต่ธรรม มีแต่ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ มันก็ใช้การไม่ได้ เพียงแค่สมมติเราก็ยังไม่รู้จักวิเคราะห์พิจารณา เรื่องที่จะปล่อยที่จะวาง เก็บรายละเอียดทางด้านจิตใจมันก็ห่างไกลเข้าไปอีก แต่ละวันความขยัน ความขยันหมั่นเพียร ความรับผิดชอบ ความเสียสละ เป็นหลักของการปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา ความรับผิดชอบเอาแต่ความเกียจคร้าน เข้าครอบงำบางครั้งหนึ่งสองครั้งก็เป็นดินพอกหางหมู

เราพยายามสร้างความขยัน ความรับผิดชอบ ความเสียสละ ความอดทน รู้จักฝักใฝ่ รู้จักสนใจรู้จักวิเคราะห์ทั้งภายนอกภายใน จิตใจของเราก็จะปล่อยก็จะวางได้เร็วได้ไว ยิ่งอยู่ด้วยกันหลายคนหลายท่าน ก็ความรับผิดชอบยิ่งต้องเป็นทวีคูณ

เวลารับประทานข้าวปลาอาหารก็รู้จักเก็บรู้จักรักษา ไม่ใช่ว่าเอาไปทิ้งไปทั่ว บางทีก็ทิ้งไปทั่วต้องไปตามเก็บก็มี เพียงแค่ถ้วยชามที่เราอยู่เรากิน ยิ่งมีเยอะเท่าไหร่ความรับผิดชอบก็ยิ่งเป็นทวีคูณ ไม่เหมือนกับสมัยก่อน สมัยสามสิบปีนี่อยู่องค์เดียวตั้งหกเจ็ดปี ถ้วยชามต้องไปเก็บนี่เอาตามหลุมศพเลยทีเดียวสมัยนั้น หลุมศพก็มีตั้งแต่ถ้วยตราไก่ที่เวลาเขาเผาศพแล้วเขาก็เอามาใส่กับข้าวกับปลาแล้วก็มาฝังเอาไว้ในดิน หลวงพ่อก็ต้องไปเก็บมาล้างเอาไว้ได้ตั้งเยอะ ตั้งร่วมร้อยกว่าใบ เอามาใส่กับข้าวกับปลา สมัยก่อนลำบาก เพียงแค่จะเดินเข้าวัดนี่ก็ขาถลอกปอกเปิก มีป่าเล็บแมว ป่าหนาม ป่าเพ็ก มันไม่เป็นอย่างนี้ ทุกวันนี้ก็ยิ่งความเจริญเข้ามา อานิสงส์บุญกุศลก็มากขึ้น ญาติโยมก็เข้ามามากขึ้น อะไรก็ไม่ได้ลำบากมีแต่ล้นแต่เหลือ ช่วยเหลือพี่น้องของเราล้นออกไป ยิ่งมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเป็นบุคคลที่ประหยัดมัธยัสถ์ให้เกิดประโยชน์

มาอยู่วัดด้วยกัน ไม่ว่าพระว่าโยมว่าชี ก็พยายามสร้างความขยันหมั่นเพียร ช่วยกัน สร้างบุญด้วยกันนั่นแหละถึงได้มาอยู่ร่วมกัน อยู่ใกล้อยู่ไกลก็ได้มาอยู่ร่วมกัน เราก็พยายามช่วยกัน อะไรพอช่วยกันได้เราก็รีบช่วย ไม่ใช่เอาแต่งอมืองอเท้า ตื่นขึ้นมาความขยันหมั่นเพียรนี่ต้องเป็นเลิศขยันหมั่นเพียรละกิเลสภายในด้วย หยั่งสมมติภายนอกให้เป็นประโยชน์ด้วย หยั่งสมมติ ทำสมมติ ปรุงแต่งสมมติให้เป็นธรรมชาติ

ธรรมชาติเราต้องพยายามสร้างขึ้นมา ทุกวันนี้ธรรมชาติของสมมติภายนอกรู้สึกว่ามีน้อยไม่เหมือนกับสมัยปู่ย่าตายายของเราไปที่ไหนก็มีแต่ธรรมชาติหมด ตามป่าตามเขาก็มีแต่ต้นไม้ใหญ่ๆ ทุกวันนี้เป็นเขาหัวโล้นหมดเลย ไม่ว่าทางภาคไหน ป่าไม้ก็มีเฉพาะอยู่ในเขตริมทาง ออกจากริมทางไปนิดหน่อยก็โล่งโปร่งไปหมด

สมัยเป็นเด็กนี่เดินเข้าไปในป่าในเขาแถวๆ ภูพาน ดงเย็น เขาสวนกวาง นี่เดินไปได้เฉพาะทางช้างขนไม้กับทางหมูเท่านั้นแหละ ไปเยี่ยมป้าเยี่ยมลุงที่บ้านดงเย็น พอบวชเป็นพระช่วงระยะสามสิบปีกลับไปนึกว่าจะไปเจอป่าเหมือนเดิม มีตั้งแต่เขาหัวโล้นหมด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เรามาช่วยกันปลูกป่า รักษาป่า ทำให้มีให้เกิด ทั้งตัดทั้งปลูก ตรงไหนไม่ดีเราก็ทำ ตัดเสียใหม่ เราก็ปลูกขึ้นมาเสริมให้สวยให้งาม ให้เป็นแหล่งบุญของทุกคน มีโอกาส โอกาสเปิด กาลเวลาเปิดสถานที่เปิด เราก็ช่วยกัน อย่าไป

พระเราก็ขยัน ชีเราก็ช่วยกัน ขยันมีความรับผิดชอบ ดูแลทำความสะอาด จุดโน้นบ้าง จุดนี้บ้างไม่ใช่ว่าไปปล่อยปละละเลย ห้องส้วมห้องน้ำก็เหมือนกัน ช่วยกันดูแลกว่าจะมีได้แต่ละหลังนี่ลำบาก สมัยก่อนนี่ยิ่งลำบาก ทุกวันนี้ก็มีเยอะ เห็นความลำบากตรงนั้น หลวงพ่อถึงพยายามทำให้ได้เยอะๆ แล้วก็รู้จักรักษาช่วยกัน ก็เป็นบุญของทุกคนนั่นแหละ บุญสมมติเราก็ช่วยกันทำความขยัน ความรับผิดชอบ ความเสียสละ การฝักใฝ่ การสนใจ อันนี้เป็นตบะบารมี มีความละอาย เกรงกลัวต่อบาป แล้วก็มีความกล้าหาญอาจหาญให้มีให้เกิดขึ้นในใจของเรา ก็ค่อยพัฒนาไปเรื่อยๆ จนกว่ารู้จักการเจริญสติ การเจริญปัญญา

อันนี้สติที่เราสร้างขึ้นมา อันนี้ที่คือใจ ใจคือความปกติของใจ ใจที่ไม่เกิด ใจที่ไม่มีกิเลส ใจที่คลาย หรือว่าแยกรูปแยกนามจากขันธ์ห้า ตรงนี้ต้องเป็นคนขยันสังเกตจริงๆ ถึงจะเข้าถึงได้ความเกิดของใจแต่ละวันเขาเกิดสักกี่เที่ยว ความเกิดความหลง ทำไมใจถึงเกิด ทำไมใจถึงหลงใจของคนเรานี้หลงมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิด หลงมาสร้างอยู่ในภพมนุษย์

พระพุทธองค์ท่านให้เจริญสติเข้าไปอบรมใจขณะที่ยังอยู่ในกายของเรานี้แหละ ชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล เห็นความเกิดความดับ เห็นการแยกการคลาย ตามทำความเข้าใจ จนใจมองเห็นความเป็นจริงว่าอะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน อันนี้คือสมมติ กายของเราเป็นก้อนสมมติ ถ้ายังไม่ถึงเวลาเราก็เข้าไม่ถึง เหมือนกับเราปลูกผลหมากรากไม้ เราจะไปเร่งให้มันออกดอกออกผล วันเดียวให้ได้กิน วันเดียวก็ไม่ได้ แล้วก็คอยดูแลมันรักษาไป ถึงเวลาเขาก็ออกดอกออกผลให้เรา ไม่อยากจะได้เราก็ได้ นั่นแหละการปฏิบัติ

ใจก็เหมือนกัน การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน เราหมั่นวิเคราะห์ หมั่นสังเกต หมั่นทำความเข้าใจแต่ละวันๆ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความมีสัจจะในตัวของเรา ความมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่ว่ามีข้าวของเงินทองเยอะๆ ถึงจะปฏิบัติ อันนั้นก็เป็นอานิสงส์บุญของเรา ที่เกิดมาสร้างสะสมมาดีแต่ในหลักธรรมเราจะมีมากมีน้อยก็ไม่ให้ใจเกิดความอยาก เกิดกิเลส จะเอามากเอาน้อยก็เป็นเรื่องของปัญญาทำหน้าที่ ความรับผิดชอบ บางคนบางท่านก็สมบูรณ์ทางสมมติไม่ได้ลำบากบางคนบางท่านก็ลำบากทางสมมติ ก็ลำบากต้องขนขวาย ต้องสร้าง ให้มี ให้เกิด ในเมื่อมันมีแล้ว เราก็รู้จักดูแลยังประโยชน์ ให้มีให้เกิดขึ้น ให้เต็มเปี่ยม ให้ล้น ให้เหลือออกไปสู่ภายนอกนี่โอกาสพวกเรา ก็พยายามรีบตักตวงเอา ขยันหมั่นเพียรเอา กิเลสก็เป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น ทำหน้าที่เราให้จบ ภายในให้จบ ภายนอกเราก็ยังประโยชน์ให้เต็มเปี่ยม

วันพรุ่งนี้ก็จะได้มีงานใหญ่ ทางคณะของคุณโยมแอนหรือว่าหมอแอนพาหมู่พาคณะ จะได้มาถวายพระพุทธรูปองค์ใหญ่ องค์พระแก้วมรกตองค์แทนองค์พระแก้วมรกตจำลองมาประดิษฐานไว้ที่วัดของเรา ท่านก็ได้นำมาตั้งแต่อาทิตย์ก่อน ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมาโน้นแล้วก็นำมาตั้งเอาไว้ วันพรุ่งนี้ก็จะได้มาทำพิธีถวาย ยังเหลืออีกเยอะ เหลืออีกหลายองค์ ที่จะได้นำมาเพื่อที่จะประดิษฐานไว้ที่มหาเจดีย์ รอบมหาเจดีย์ ส่วนโดมใหญ่ก็รอทางโรงงานทำเสร็จก็จะได้มาประกอบโดมใหญ่ ที่โดมใหญ่ กลางโดมใหญ่นั้นก็จะเป็นแท่นไว้พระบรมสารีริกธาตุ ไว้พระพุทธรูป ตรงแท่นพระพุทธองค์เป็นพระพุทธรูปประดับเพชรหลายองค์ องค์ละล้านกว่าบาทที่โยมได้เอามาถวายเอาไว้

ก็ได้ทุกสิ่งทุกอย่างเตรียมพร้อมรอวันที่จะประกอบกันเข้าให้เป็นอานิสงส์ใหญ่ฝากเอาไว้ในแผ่นดิน ฝากเอาไว้ในใจของเราทุกคน ทำหลายที่จะได้มีความสุขร่มเย็น ปลูกต้นไม้ดูแลต้นไม้ พวกพระเรา ชีเรา ก็ช่วยกันดูแล จะได้ทำเป็นแหล่งบุญใหญ่ เป็นโรงทานใหญ่ในวันข้างหน้า ให้สวยงามทุกจุด ส่วนปางลีลาก็จะได้รื้อรางร้านเหล็กใหญ่เสียก่อนถึงจะได้ดำเนินทางจุดนั้นเพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ให้หมด ไม่ให้เสียทิ้ง จะได้อานิสงส์ใหญ่ความร่มรื่นใหญ่ และก็อีกไม่นานก็จะได้ทำแม่กวนอิมใหญ่สูงสิบเก้าเมตร ก็อยู่ที่วัดเรานี่แหละก็จะได้วางรากฐานเอาไว้เสียก่อน ให้ทุกคนได้มีความสุขกัน

อานิสงส์ส่วนการปฏิบัติขัดเกลากิเลส คำสอนของพระพุทธองค์นั้นมีอยู่ การเจริญสติเป็นอย่างนี้นะ คำว่า ’ปัจจุบันธรรม’ เป็นอย่างนี้ การละกิเลสเป็นอย่างนี้ การสร้างบารมีเป็นอย่างนี้ อยากจะรู้อยากจะทำศึกษาได้จริงๆ ก็น้อมกายของเรามาศึกษา เน้นลงที่ใจของเราให้ได้ ชี้เหตุชี้ผลให้ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนแต่มีเหตุมีผล เหตุในหลักธรรม ส่วนนามธรรม ความเกิดความดับของความคิดเป็นอย่างนี้ ความเกิดความดับของขันธ์ห้า ใจกับขันธ์ห้ารวมกันได้อย่างไร ทำอย่างไรสติของเราถึงจะตั้งมั่น เราต้องมาสร้างลงที่กายของเรา แล้วก็ดำเนินให้ถึงฐานถึงใจของเรา ชี้เหตุชี้ผล อันนี้เหตุผลในทางด้านจิตใจทางด้านนามธรรม เหตุผลทางสมมติเขาเรียกว่า‘โลกธรรม’ ก็เป็นอยู่อย่างนี้ ปัจจัยสี่ก็เป็นอยู่อย่างนี้ ทำอย่างไรเราถึงจะพัฒนาให้มีความเจริญมีความสะดวกสบาย

ในทางสมมติเราก็ช่วยกัน ช่วยกันทำ หลวงพ่อก็จะพยายามทำให้เกิดประโยชน์ เหมือนกับการปลูกต้นไม้ เราไม่อยากจะได้ร่มเงาเราก็ได้ร่มเงา ต้นไม้ก็มีทั้งเปลือก ทั้งแก่น ทั้งกระพี้ จะเอาตั้งแต่แก่นอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้นไม้ก็ตาย จะเอาตั้งแต่ธรรมอย่างเดียวก็ไม่ได้ กายของเราก็ยังมีอยู่ สมมติก็ยังมีอยู่ ปากท้องของเราก็ยังมีอยู่ พี่น้องของเราก็ยังมีอยู่ เราก็ต้องช่วยกัน ช่วยกันดูแล ช่วยกันแก้ไข ก็จากน้อยๆ ไปหามากๆ ก็จะพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ จนเป็นกองบุญอันยิ่งใหญ่อันใหญ่ในทางสมมติ พวกเราถึงจะดับความเกิดไม่ได้ก็อานิสงส์ผลบุญผลทานของเรานี่แหละจะช่วยส่งเกื้อหนุนให้ไปต่อเอาภพหน้า จะได้ไม่ลำบาก ไม่ใช่ว่าอะไรก็ไม่เอา อะไรก็ไม่ทำ มีแต่อยู่ด้วยความหลง

ถ้าเราไม่ได้เจริญสติให้ต่อเนื่องเราก็จะไม่รู้ว่าเราหลงหรอก ถ้าเราสร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องเราก็จะรู้ว่าสติ คำว่าปัจจุบันของเรานี้ไม่มีเลย บางครั้งก็มีนิดๆ หน่อยๆ มันเอาไปใช้การใช้งานไม่ได้ ถ้ากำลังสติของเราต่อเนื่องจนสังเกตวิเคราะห์ จนใจของเราคลายออกจากขันธ์ห้าได้ เราถึงจะรู้ว่าเราหลง คลายออกเพียงแค่เริ่มต้น ในหลักธรรมท่านเรียกว่า ‘สัมมาทิฏฐิ’ ความเห็นถูก

ความเห็นถูก ใจเข้าไปรวมกับขันธ์ห้า ซึ่งเป็นส่วนนามธรรม หรือว่าความคิดนั่นแหละ ใจคลายออกได้เมื่อไหร่ หงายออกมาได้เมื่อไหร่ เราถึงจะรู้ว่าเราหลง เราก็จะเข้าใจคำว่า “อัตตาอนัตตา” เข้าใจคำว่าคำสอนของพระพุทธองค์เป็นอย่างนี้ เข้าใจในหลักของอริยสัจ เข้าใจในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในกายของตัวเรา รู้เรื่องกายรู้เรื่องจิตวิญญาณในกาย รู้เรื่องหยุดการละกิเลสของเรา เราละกิเลสได้มากได้น้อย

ใจของเราเบาบางจากกิเลสได้เท่าไหร่ก็จะเข้าสู่วิปัสสนาญาณ วิปัสสนาภูมิ ต้องรู้ด้วย เห็นด้วยเข้าถึงด้วย ไม่ใช่นึกเอาคิดเอา ส่วนมากก็มีนึกเอาคิดเอา ถึงจะคิดพิจารณาในธรรมก็ยังเป็นกิเลสธรรม เราต้องแยกแยะให้ได้ รู้..อันนี้สติ อันนี้ที่เราสร้างขึ้นมา อันนี้คือใจ อันนี้คืออาการของใจ ใจเกิดกิเลสเราละได้ตั้งแต่ต้นเหตุ กลางเหตุ ปลายเหตุ รู้จักควบคุมตั้งแต่ความคิด ดูกาย วาจา ใจ ส่วนมากก็ควบคุมได้ระดับหนึ่งคือวาจา กับใจ นี่นานๆ บางทีนี่ถึงจะควบคุมได้มันไปถึงไหนต่อไหนเราถึงรู้ บางทีไม่รู้ก็หลงไปเลย ก็อย่าไปท้อ ล้มแล้วลุกขึ้นใหม่แก้ไขใหม่ปรับปรุงตัวเราของเราให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น

ที่ท่านบอกว่า ’ตนเป็นที่พึ่งของตน’ ที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์เราก็มีโอกาสได้พบพระพุทธศาสนาอันนี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐ เราพยายามเข้าให้ถึงคำสอนของพระพุทธองค์ น้อมนำคำสอนมาปฏิบัติให้ปรากฏขึ้นที่ใจของเรา มีเรื่องเดียวเท่านั้นแหละในชีวิตของมนุษย์ที่จะต้องเดินให้ถึงคือ ทำใจของเราให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ มองเห็นหนทางเดินไม่ต้องกลับมาเกิด ถ้านอกจากนี้ก็ไม่ใช่ทาง ไม่ใช่ทาง ผิดทาง ผิดทางหมด ถ้ามัวเมาเล่น มัวเมาสนุกสนานไปในทางที่ทำให้ใจของเราเกิดความทุกข์ เกิดความเศร้าหมอง หรือว่าอกุศล มันก็เดินผิดทาง อะไรที่จะนำความโล่ง ความโปร่ง ความเบา ความสบาย ความบริสุทธิ์ ความหลุดพ้น นั่นแหละคือหนทาง ให้ปรากฎ ให้ประกาศด้วยตนเองถึงจะถูกต้อง ไม่ใช่ว่าจะไปเล่นน้ำมูกน้ำมนต์ เล่นเลขเล่นหวยเล่นเครื่องรางของขลัง อันนั้นมันไม่ใช่ทาง นั่นเป็นมิจฉาทิฐิ เราต้องพยายามดำเนินให้ถูกทางตามแนวทางของพระพุทธองค์

การขัดเกลากิเลส การละกิเลส กิเลสหยาบเป็นอย่างไร กิเลสละเอียดเป็นอย่างไร นิวรณธรรมมลทินเป็นอย่างไร อริยสัจสี่เป็นอย่างไร การแยกรูปแยกนามเป็นอย่างไร การเดินวิปัสสนา การละกิเลสเป็นอย่างไร อันนี้คือหนทาง ให้ปรากฏขึ้นที่ใจของเรา จนรู้ด้วย เห็นด้วย ทำความเข้าใจได้ด้วย เราจะละได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับตัวของเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนอื่น

การทำบุญให้ทานทางด้านวัตถุทาน อันนี้ก็เป็นบุญของเรา ทำร่วมกันได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ตรงนี้ทำร่วมกันได้ ไม่ใช่ว่าไม่ดี มีโอกาสทำมากก็เป็นของเรา ทำน้อยก็เป็นของเรา เห็นคนอื่นทำเราก็พลอยอนุโมทนาสาธุด้วย ถึงจะวางรากฐานบุญ วางรากฐานบารมี ให้มีให้เกิดขึ้นที่ใจของเราแล้วก็ดำเนินตามคำสอนของพระพุทธองค์ จนประกาศด้วยตัวเองว่า ใจของเราละกิเลสได้เท่าไหร่ บริสุทธิ์ได้ถึงไหน เรารักษาความบริสุทธิ์ความหลุดพ้น เราละกิเลสได้มากใจของเราก็เบาบางจากกิเลส เราละได้หมดใจของเราก็บริสุทธิ์ เราไม่อยากจะได้ความบริสุทธิ์เราก็ได้ เราดับความเกิดของใจได้ เราไม่อยากจะได้ความนิ่งเราก็ได้ เราคลาย สังเกตวิเคราะห์จนใจคลายออกจากขันธ์ห้า เดินปัญญาได้ เราไม่อยากจะรู้ความจริงเราก็ต้องรู้ความเป็นจริง เพราะว่าเราดำเนินให้ปรากฏขึ้นที่ใจของเรา

ความเกียจคร้านมี เราก็ละความเกียจคร้าน สร้างความขยัน สร้างความรับผิดชอบแต่ละวัน ตื่นขึ้นมารีบสำรวจกายของเรา รีบสำรวจใจของเรา ทำหน้าที่ของเราให้ดี แต่ละวันเราได้ยังประโยชน์อะไรไว้บ้าง ประโยชน์ภายนอกเราก็ทำ ประโยชน์ภายในเราก็ทำ ยืน เดิน นั่ง นอน ก็อย่าให้เป็นเพียงอิริยาบถ การพูดง่ายแต่การลงมือจริงๆ ต้องอาศัยความเพียร อาศัยการสังเกตการวิเคราะห์ การกระทำให้ถึงพร้อม ทำหน้าที่เราให้ดี ก็พยายามกัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง