หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 3 วันที่ 19 มกราคม 2563 (1/2)

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 3 วันที่ 19 มกราคม 2563 (1/2)
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 3 วันที่ 19 มกราคม 2563 (1/2)
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 3
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 19 มกราคม 2563 (1/2)

มีความสุขกันทุกคน ขณะที่ยังมีกำลัง มีลมหายใจ รีบตักตวงหากำไรสร้างกำไรในกายก้อนนี้ ใจเกิดกิเลสก็ละกิเลสใจมีความแข็งกร้าวก็ละความแข็งกร้าว ใครมีความเกียจคร้านก็ละความเกียจคร้านสร้างความขยัน สร้างความขยันสร้างความรับผิดชอบทั้งสมมติทั้งวิมุตติ สมมติคือปัจจัยที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโลกธรรม ย่นย่อลงมาก็กายของเรานี้แหละ ก็เป็นก้อนสมมติที่ยังไปอาศัยอยู่ ใจก็มาอาศัยกายอยู่แล้วก็มายึดมาหลงกาย หลายต่อหลายทอด กิเลสหยาบกิเลสละเอียด เราก็มาวิเคราะห์เอา ทำเอาแก้ไขเอา แนวทางนั้นมีอยู่

แนวทางนั้นพระพุทธองค์ค้นพบมานาน แล้วก็มาเปิดเผย การละกิเลสเป็นอย่างนี้ การเจริญสติเป็นอย่างนี้ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาสำรวจใจของเราเป็นอย่างนี้ การเกิดของใจ ความเกิดนั่นแหละคือความหลงอันละเอียด ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด เขาหลงมาเกิดอยู่ในภพมนุษย์ ก็ร่างกายของเรานี่แหละ ท่านก็ให้เจริญสติมาสร้างผู้รู้ตัวใหม่ ให้ไปทำความเข้าใจ ชี้เหตุชี้ผลเห็นเหตุเห็นผล เหตุ-ผลในที่นี้หมายถึงใจกับอาการของขันธ์ห้า ซึ่งเป็นส่วนนามธรรม เขาต้องคลายออกจากกันถึงจะรู้ต้นเหตุ ถึงจะแยกได้ ถ้ายังแยกไม่ได้ก็รวมกันไปทั้งก้อน ก็ได้สร้างบารมีกันทั้งก้อน แยกจำแนกแจกแจงออกไม่ได้ ที่ท่านว่าเป็นกองเป็นขันธ์ในกายของเรา เป็นกองเป็นขันธ์ได้ยังไง กองรูปกองนาม กองวิญญาณ กองสังขาร กองสัญญา ที่ว่าเป็นกองเป็นขันธ์รวมกันอยู่ในกายของเรา แต่เรามองเห็นเป็นตัว เป็นตน เป็นก้อน

เราต้องรู้จักจำแนกแจกแจง อันนี้สติผู้รู้ที่เราสร้างขึ้นมา ใจของเรายังเอาไม่อยู่ก็รู้จักใช้ปัญญาเข้าไปอบรม เข้าไปแก้ไขปรับปรุงเอา ถ้าเราแก้ไขให้เราไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็ไม่รู้ใครจะมาคอยช่วยเรา เราก็ช่วยเราได้อยู่ในระดับของสมมติ แต่ระดับปัญญาวิมุตติต้องอาศัยปัญญาของพระพุทธองค์ ให้รู้ให้ถึงแก่นคือถึงใจจริงๆ รู้จักจุดปล่อยจุดวางจริงๆ เขาถึงจะวางได้ ชี้เหตุชี้ผลให้ได้ว่าอันไหนมันตรงหรือไม่ตรง อันไหนมันเที่ยงหรือไม่เที่ยง พวกเรามองเห็นเป็นของเที่ยง พระพุทธองค์มองเห็นเป็นของไม่เที่ยง มีตั้งแต่ความว่างเปล่า ใจว่างมองเห็นโลกนี้เป็นของว่าง ใจไม่ว่างเราก็มองเห็นโลกนี้เป็นของไม่ว่าง มันกลับกัน

ใจไม่มีตัวมีตน แต่ความรู้สึกรับรู้มีอยู่ เหมือนกับเรามานั่งอยู่ในศาลานี่แหละ เป็นศาลาที่ว่างเปล่าแต่อากาศก็มีอยู่กายของเราก็เหมือนกัน นั่งอยู่นี่แหละแต่มีวิญญาณในกาย อาศัยในกายนี้ มีอยู่ ความคิดของเรามันก่อตัวตรงไหน ก็ดับมันตรงนั้นแหละ

ทีนี้ มันหลายสิ่งหลายอย่างมาปิดกั้นตัวเอง ทั้งความหลงอันลุ่มลึก ความเกิด ความเกิดของใจการปรุงแต่งของใจ การปรุงแต่งของอาการของใจ มารวมกัน เราต้องศึกษาให้ละเอียด แยกแยะให้ได้ เราถึงจะเข้าใจในชีวิต เราถึงจะเข้าใจในเรื่องของกรรม กรรมเก่ากรรมใหม่ เหมือนๆ กับสายโยงสายใยยืดเยื้อเป็นลูกโซ่เดียวกัน เราต้องมาจำแนกแจกแจงออกทีละชิ้นทีละอัน ซึ่งรวมอยู่ในกายของเรา เราก็จะเห็นชัดเจน

เพียงแค่การเจริญสตินี้ก็ยังยากลำบากนะ ยังยากลำบากอยู่ ก็ต้องพยายาม ศรัทธานั้นทุกคนก็มีกันเต็มเปี่ยมอยู่ฝักใฝ่ในการทำบุญในการให้ทาน ความหมายของการฝึกหัดปฏิบัติ จะคร่ำเคร่งมากมายถึงขนาดไหนก็เพื่อที่จะคลายความหลง แล้วก็เพื่อที่จะละกิเลส ละกิเลสแล้วก็คายกิเลส สำรอกกิเลสออกให้มันหมด จะเอาจะมีจะเป็นก็เป็นเรื่องของปัญญา เป็นความขยันหมั่นเพียรของสติปัญญาเข้าไปทำหน้าที่ด้วยพรหมวิหาร ด้วยความเมตตาเข้าไปทดแทน

อยู่กับสมมติเคารพสมมติ ไม่ยึดติดสมมติ จนกว่าจะหมดลมหายใจ หมดลมหายใจแล้วก็มีแต่เรื่องบุญเรื่องบาป ไม่อยากจะกลับมาเกิดก็ต้องละทั้งบาปละทั้งบุญ สร้างบุญไม่ยึดติด อยู่เหนือบุญเหนือบาป ใจของเรานั่นแหละคือตัวบุญใจของเราเป็นทุกข์ใจของเราก็บาป ทำไงถึงจะละทุกข์ได้ ละทั้งทุกข์ละทั้งสุขนั่นแหละ ใจของเราก็อยู่กับความสุข ก็ต้องพยายามกันนะ อย่าพากันปล่อยวันเวลาทิ้งเสียดายเวลา

บุญสมติเราก็ทำหน้าที่ของเราให้เต็มเปี่ยม คอยสร้างสะสมบุญ บุญน้อยๆ ก็สร้างสะสมอย่าไปมองข้าม คิดดีทำดีเห็นคนอื่นทำเราก็อนุโมทนาสาธุด้วย โอกาสเปิดเมื่อไหร่เราก็รีบทำ

จะลุกจะก้าวจะเดินเราก็สังเกตใจของเรา เรามีความอ่อนน้อมถ่อมตนหรือว่ามีความแข็งกระด้าง เรามีความเกียจคร้านหรือว่ามีความขยันมีความรับผิดชอบ เรามีพรหมวิหาร มีสัจจะกับตัวเองหรือเปล่าเราก็ต้องดู แต่ละวันแต่ละวันไม่ใช่ว่าปล่อยวันเวลาทิ้ง

ในหลักธรรมแล้วต้องดูทุกขณะลมหายใจเข้าออก รู้ทุกขณะจิตจนเป็นอัตโนมัติ จนไม่มีอะไรที่จะเข้าไปแก้ไข มีแต่ดูกับรู้ทำความเข้าใจให้มันถูกต้องว่าอะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน แล้วก็บริหารกายบริหารใจไปจนกว่าจะหมดลมหายใจ อะไรที่จะเป็นประโยชน์เราก็รีบทำ ประโยชน์ใกล้ประโยชน์ไกล ประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ประโยชน์สูงสุดคือไม่ต้องกลับมาเกิดกัน ตราบใดที่ใจยังเกิดก็ต้องพยายาม

ความเกิด… ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด มันความหลงหลายชั้น หลงระดับสมมติ ทั้งหลงระดับวิมุตติสมมติ มันมีหลายชั้น มีภพภูมิหลายภพภูมิซ้อนๆ กันอยู่ ในกายของเราก็ซ้อนๆ กันอยู่ มีวิญญาณ ทั้งอาการของวิญญาณ ทั้งธาตุขันธ์ ส่วนกองรูปกองนาม มันซ้ำซ้อนกันอยู่ อยู่ในกายก้อนนี้ มีชีวิตหลายหมื่นหลายพันล้านอาศัยอยู่ด้วยกัน วิญญาณละเอียดวิญญาณหยาบ วิญญาณเล็กวิญญาณน้อย แต่ตัววิญญาณของเรานั้นก็เรียกว่าตัววิญญาณใหญ่ ในร่างกายของเรานี่เป็นรังแห่งโลก เชื้อโรคนั่นแหละก็มีวิญญาณอยู่เหมือนกัน ทั้งเชื้อโรคฝ่ายดีฝ่ายไม่ดี แต่เราก็อย่าไปทุกข์กับมัน เราก็มาดู จัดการกับใจของเรา แก้ไขใจของเราปล่อยวางที่ใจของเรา แล้วไม่ต้องกลับมาเกิด

พยายามรวบรวมพลังใจของเราให้เป็นเอกเป็นหนึ่ง เขาเรียกว่า “รวบรวมกายทิพย์ให้เป็นเอกเป็นหนึ่ง” เพราะว่าธาตุขันธ์แตกดับแล้วก็ถ้าติดยังเกิดเขาก็ต้องเกิดต่อ ถึงเกิดก็ขอให้เกิดอยู่ในกองบุญเอาไว้ อะไรที่จะเป็นบุญเราก็รีบทำรีบสร้างขณะมีกำลังอยู่ บุญสมมติเราก็ทำให้เต็มเปี่ยม

อย่าไปเห็นแก่ความเกียจคร้าน อย่าไปเห็นแก่ความตระหนี่เหนียวแน่น อย่าไปเห็นแก่ตัว กำจัดความเห็นแก่ตัวออกไปกำจัดความโลภความโกรธความทะเยอทะยานอยากออกไป ทีนี้เจริญสติจนใจคลายออกจากขันธ์ห้า นั่นเขาเรียกว่า“คลายความหลง” ในภาษาธรรมท่านเรียกว่า “สัมมาทิฏฐิ” ความเห็นถูกเปิดทางปรากฏ หรือว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิความเห็นถูก มิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด แต่เราก็เห็นถูกอยู่ระดับของสมมติ เชื่อมั่นเชื่อบุญเชื่อบาปเชื่อกรรม นี่ก็ถูกอยู่ระดับของสมมติ แต่ยังไม่ได้ถูกในหลักธรรมจริงๆ หลักธรรมจริงๆ นี้คือคลายความหลง ใจของเราต้องหงายออกจากสมมติเข้าไปสู่วิมุตติ

เราพยายามขัดเกลากิเลส ดับความโกรธให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น รู้เหตุรู้ผล ชี้เหตุชี้ผล รู้เท่ารู้ทัน รู้กันรู้แก้รู้ก่อน รู้อยู่ในความบริสุทธิ์ ผิดถูกชั่วดีสติปัญญาไปแก้ไข อีกสักหน่อยก็ต้องตายจากกัน ไม่ตายช้าก็ตายเร็ว เพราะว่าความตายมีมาคู่กับความเกิด

แต่ละวันมารับเอาโลงศพ อยู่ที่นี่ก็ 2โลง 3โลงๆ 4โลง 5 โลงอยู่อย่างงี้แต่ละวัน เดี๋ยวนี้สองพันกว่าแล้ว เผลอแพล็บเดียว จากนี้ไปหาหมดลมหายใจคงจะได้หลายพันอยู่ ถ้าจับมานั่งอยู่ด้วยกันคงจะไม่มีที่นั่ง คนตาย คนเป็นยังอยู่รีบแก้ไขตัวเรา

พระเราก็เหมือนกันชีเราก็เหมือนกัน อย่าพากันเกียจคร้าน ขยันหมั่นเพียร ละความเกียจคร้านสร้างความรับผิดชอบสร้างความเสียสละ เป็นผู้ให้ เพียงแค่ดูแลทำความเสียสละให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ที่พักที่อาศัย ที่หลับที่นอน พึ่งตัวเราให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น พึ่งตัวเราไม่ได้แล้วให้คนอื่นมาพึ่งให้มาอาศัยได้ยังไงล่ะ เราต้องพยายามหัดพึ่ง

ภายในเราก็สร้างทรัพย์ภายในของเราให้เต็มเปี่ยม ความเป็นเอกความเป็นหนึ่ง ความหนักแน่น ความไม่หวั่นไหว มีเครื่องอยู่ภายในเขาเรียกว่า “วิหารธรรม” ใจที่ไม่มีกิเลส ใจที่ไม่เกิด ใจที่มีความบริสุทธิ์เขาก็บริสุทธิ์ เขาก็อยู่ในความว่าง ความบริสุทธิ์ความว่างนั่นแหละคือวิหารธรรม เครื่องอยู่ของจิต แต่คนไม่รู้ คนไม่เข้าถึง คนไม่เข้าใจ ก็เลยวิ่งหาอยู่อย่างงั้น ความเกิดน่ะเป็นตัวปิดกั้นเอาไว้ ทั้งอยากทั้งไม่อยากสารพัดอย่าง ก็ค่อยขัดเกลากันเอา

อยู่ด้วยกันหลายคนหลายท่านก็พยายามขยัน สร้างความสามัคคี อย่าไปเห็นแก่ตัว อย่าไปเห็นแก่ความเกียจคร้าน ว่าไม่ใช่หน้าที่ของเราไม่ใช่งานของเรา กว่าพวกเราจะได้อยู่ดีมีความสุขนี่มันลำบากมาก่อน ลำบากมามาก แม้แต่ถ้วยชามจะใส่กับข้าวกับปลาเนี่ยก็ยังขุดเอาตามหลุมศพเลย ตั้งแต่ 30 กว่าปี ข้าวจะฉันข้าวจะทานนี่ก็ยังยากลำบาก น้ำปานะก็ยังยากลำบาก เดี๋ยวนี้อานิสงส์ผลบุญผลทานก็มีมากขึ้น ไม่อดไม่อยาก ยิ่งไม่อดไม่อยากนั่นแหละเราก็ยิ่งเพิ่มความเพียร ขัดเกลากิเลสของเรา เอาออก

ความสะดวกสบายมีมากขึ้นเราก็อย่าให้กิเลสมันเล่นงาน ยิ่งความสะดวกสบายมากขึ้นก็ยิ่งเห็นแก่ตัว ยิ่งเกิดความโลภ เกิดความเกียจคร้าน ยิ่งหนัก นั่นแหละ เราก็พยายามมาแก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา ถ้าสอนตัวเราไม่ได้อย่าไปเที่ยวให้คนอื่นเขาสอน ไม่เกิดประโยชน์

เราจงพยายามหมั่นสอนตัวเรา แก้ไขตัวเรา ผิดพลาดแก้ไขใหม่ รู้ไม่ทันเริ่มใหม่ การแยกรูปแยกนามเป็นอย่างนี้นะ นิวรณธรรมเป็นเครื่องกางกั้นไม่ให้ใจของเราได้รับความสะอาดความบริสุทธิ์เป็นอย่างนี้ ใจที่ไม่มีกิเลสเป็นอย่างนี้ ใจที่มีพรหมวิหารเป็นอย่างนี้ ใจที่มีความเมตตา ใจที่มีความกล้าหาญอาจหาญ มีความละอายเกรงกลัวต่อบาป กายวิเวกใจวิเวกเป็นอย่างนี้ เราก็จะเห็นหมด ยิ่งสนุกมีความสุขในการดูในการรู้

ทรัพย์ภายในก็เต็มเปี่ยม ทรัพย์ภายนอกเราก็สนุกทำเพื่อให้เกิดบุญ อันนี้ทรัพย์ภายนอกก็ไม่รู้จักขวนขวาย ไม่รู้จักสร้างขึ้นมาให้มันเกิดประโยชน์มันก็เลยยาก ก็เลยจะไปพึ่งตั้งแต่ภายนอก เพิ่งคนโน้นเพิ่งคนนี้ เพิ่งที่โน่นพึ่งที่นี่ ไม่เคยพึ่งตัวเองให้เป็นเสาหลักให้เป็นเอกให้เป็นหนึ่ง สมมติก็เพิ่งตัวเราให้ได้ วิมุตติก็ขัดเกลากิเลสออกให้มันหมด ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน จนมองเห็นหนทางเดิน มันถึงจะไม่เสียทีเสียเที่ยวที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วก็ได้พบพระพุทธศาสนา ว่าพระพุทธองค์ท่านสอนเรื่องอะไร

คำว่า “อัตตา อนัตตา” เป็นอย่างไร “สมมติ วิมุตติ” เป็นอย่างไร คำว่าสมมติ ภาษาธรรมภาษาโลกเป็นยังไง เราก็ต้องดู รู้ มีกันทุกคนนั่นแหละ เราทำความเข้าใจแล้วก็รู้จักขัดเกลาให้มันถึงจุดหมายได้หรือไม่ การละกิเลสออกให้หมดเราไม่อยากจะได้ความบริสุทธิ์เราก็ได้ เราไม่อยากจะได้ความสุขเราก็ได้ เราปล่อยวางทุกอย่างเราไม่อยากจะได้ความว่างเราก็ได้ กายก็เบาใจก็เบา อันนี้กายก็หนักใจก็หนัก สมมติก็เกียจคร้าน วิมุตติก็เกียจคร้าน สารพัดอย่าง มันจะเดินถึงจุดหมายปลายทางได้ยังไง ยิ่งพระเราชีเราต้องพยายามกันให้มากๆ ขึ้น

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง