หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 23

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 23
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 23
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 23
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 4 เมษายน 2564


ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจ ที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกให้ชัดเจน นั่งตามสบายวางกายให้สบาย แล้วก็วางใจให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย


ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมา พวกเราได้สร้างความรู้ตัว หรือว่าเจริญสติกันแล้วหรือยัง ถ้ายังก็เริ่มเสีย อย่าปล่อยวันเวลาทิ้ง อย่าผัดวันประกันพรุ่ง เพียงแค่การเจริญสติให้มีให้เกิดขึ้น ให้ต่อเนื่อง ให้เชื่อมโยง 5 นาที 10 นาทีนี้ก็ยังยากอยู่ ระลึกได้เมื่อไหร่เราก็ให้รีบดู


ส่วนศรัทธาความเชื่อ เชื่อมั่นในพระรัตนตรัย เชื่อบุญ เชื่อบาป เชื่อกรรม ตรงนี้มีอยู่ การทำความเข้าใจให้รู้แจ้งเห็นจริงปรากฏขึ้นที่ใจของเรา ตรงนี้แหละสำคัญ


วิธีการแนวทาง ทุกคนก็พอที่จะรู้กันอยู่ พอที่จะทราบกันอยู่ แต่การกระทำ การลงมือจริงๆ การทำให้ต่อเนื่อง ชี้เหตุชี้ผลให้เห็นเหตุเห็นผล เห็นการแยก การคลาย การละ ว่าอะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน ตรงนั้นยังเข้ากันไม่ถึง


ศรัทธามีอยู่ แต่ขาดปัญญา ปัญญานั้นเป็นปัญญาสมมติ ปัญญาโลกีย์ ก็อาจจะประคับประคองสมมติอยู่ในระดับ ให้อยู่ในความปกติของสมมติ แต่การเกิดการดับของใจ การเกิดการดับของความคิด ของอารมณ์ต่างๆ นั้นมีกันเต็มเปี่ยม


ใจของคนเรานี้หลง หลงมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิด ตั้งแต่ยังไม่เกิดมาเป็นมนุษย์นั่นแหละ ตัวใจนี่ตายไม่เป็นนะ ตัวใจนี่ตายไม่เป็น

คำว่า 'ใจ ความเกิด' กายเนื้อแตกดับเขาก็ไปหาที่เกิดใหม่ ถ้าสร้างบุญมาดีก็ไปสู่สถานที่ดี สร้างบุญมาไม่ดีก็ไปสู่สถานที่ไม่ดี เราพยายามเจริญสติเข้าไปอบรม อบรมทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ ของเราให้ได้ตลอดเวลา จัดระบบระเบียบ จัดระบบระเบียบ อันนี้คือตัวใจ อันนี้คือสมมติ อันนี้คือวิมุตติ


แนวทางนั้นพระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบออกมาเปิดเผย ให้สัตว์โลกก็พวกเรานี้แหละได้ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของท่าน ทำใจให้ถูกต้องหรือว่าสัมมาทิฐิ ความเห็นถูกในหลักธรรมเป็นยังไง เราก็อาจจะเห็นถูกอยู่ระดับของสมมติ แต่หลักธรรมแล้วถ้าใจยังคลายจากขันธ์ 5 ไม่ได้ สัมมาทิฐิก็ยังไม่เปิดทางให้


ถ้าใจคลายออก แยกรูปแยกนามได้ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกถึงจะเปิดทางให้ แล้วก็เห็นการเกิดการดับ รู้เรื่องหลักของอริยสัจ ความทุกข์ การดับทุกข์ หนทางดับทุกข์ มองเห็นหนทางเดิน รู้จักขัดเกลากิเลส กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด หมั่นพร่ำสอนตัวเราอยู่ตลอดเวลาด้วยปัญญา ไม่ใช่ไปนึกเอา ไปคิดเอา ต้องรู้ด้วย เห็นด้วย เข้าถึงด้วย ทำความเข้าใจได้ด้วย


ต้องเป็นบุคคลที่มีความขยันหมั่นเพียรเป็นเลิศ ถ้าความเกียจคร้านเข้าครอบงำ อันนี้ก็ลำบากอยู่ เพียงแค่ระดับสมมติ ความเป็นอยู่ของเราก็ให้ขยันหมั่นเพียร เรื่องวิมุตติหลุดพ้นนั้นต้องเป็นคนที่มีความเพียรเป็นเลิศอีก


ในการขัดเกลากิเลส กิเลสหยาบเป็นอย่างไร กิเลสละเอียดเป็นอย่างไร หน้าตาอาการของความโลภ ความโกรธ ความยินดียินร้าย สารพัดอย่าง ทุกเรื่อง


ความเกิด ความคิด นั่นแหละคือกิเลสอันละเอียดที่ปิดกั้นดวงใจของเราเอาไว้ นิวรณธรรม มลทินต่างๆ มีความกังวล มีความฟุ้งซ่านต่างๆ สารพัดอย่างที่จะเล่นงานเรา


ยิ่งเจริญสติ รู้จักลักษณะของคำว่า 'ปัจจุบัน' ให้ต่อเนื่องได้เท่าไหร่ เรายิ่งจะเห็นเยอะ ยิ่งเห็นเยอะเท่าไหร่ เรายิ่งทำความเข้าใจ ชี้เหตุชี้ผลลงที่เหตุ ทุกอย่างเกิดจากเหตุ ทางด้านจิตวิญญาณ ทางด้านนามธรรมก็เกิดจากเหตุ ทางด้านรูปธรรมก็เกิดจากเหตุ


เราก็ต้องพยายามศึกษาให้ละเอียด ไม่ใช่ว่าจะปิดกั้นตัวเราเอง จงเปิดโอกาสให้ตัวเรา แก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา โทษตัวเรา แก้ไขตัวเราอยู่ตลอดเวลา เป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น ทำภายในให้กระจ่าง แล้วก็ล้นสู่ภายนอก ยังสมมติให้อยู่ดีมีความสุข เพราะว่าเรายังอาศัยสมมติ กายของเรานี่แหละเป็นก้อนสมมติ กายของเราก็ยังอาศัยปัจจัย 4 ยืน เดิน นั่ง นอน กินอยู่ ขับถ่าย เราก็บริหารสมมติในสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยสติด้วยปัญญา


ตนเป็นที่พึ่งของตน เพียงแค่สมมติเราก็ขยันหมั่นเพียรเป็นที่พึ่งของเราให้ได้ ก็จะส่งผลถึงวิมุตติ ทางด้านจิตใจก็จะเบาบางจากกิเลสไปเรื่อยๆ ผิดพลาดแก้ไขใหม่ ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่แก้ไขใหม่ แก้ไขอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งหมดลมหายใจนั่นแหละ


รู้... ชี้เหตุชี้ผล ใจที่ไม่มีกิเลสเป็นอย่างนี้ ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างนี้ ใจที่ว่างจากขันธ์ 5 เป็นอย่างนี้ ลักษณะหน้าตาอาการ ชื่อของเขาเป็นลักษณะอย่างนี้ เราต้องพยายามให้รู้ให้เห็น จำแนกแจกแจงออกให้เห็นเป็นคนละส่วน


ส่วนสติปัญญาที่เราสร้างขึ้นมา เขาเรียกว่า 'ตน' ตัวแรกคือตัว 'สติ' 'ตนเป็นที่พึ่งของตน' เราพึ่งตัวเราให้ได้ สอนตัวเราให้ได้ ถ้าเราสอนตัวเราไม่ได้แล้ว อย่าให้คนอื่นเขามาสอนเราได้เลยนอกจากตัวของเรา


แนวทางนั้น พระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบมาตั้งนานแล้ว พวกเราก็พยายามเอา อย่าเอาทิฏฐิมานะ ความเห็นแก่ตัว เห็นผิด เข้ามาตัดสิน เราพยายามดำเนินตามทางของท่าน จนเจอเครื่องตัดสิน คือความเป็นกลาง ความว่าง ไม่เข้าข้างตัวเองไม่เข้าข้างคนอื่น เอาความเป็นกลางนั่นแหละเป็นเครื่องตัดสิน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนแต่มีเหตุ มีผล เกิดจากเหตุ เกิดจากผล เพียงแค่ระดับสมมติ ก็ขอให้พากันขยันหมั่นเพียรกันเถอะ อย่าพากันเกียจคร้าน


ที่พัก ที่อาศัย ที่หลับ ที่นอน ที่อยู่ เราก็ทำให้สมบูรณ์แบบ ให้อยู่ในความเป็นระเบียบเรียบร้อยมีความสะอาด ทั้งภายนอก ทั้งภายในเพราะทุกสิ่งทุกอย่าง มันมีเหตุมีผล ของมันอยู่ เราก็เข้าถึงเหตุถึงผลให้ได้ ถึงจะมองเห็นหนทางเดิน


ไม่ใช่ว่ามีตั้งแต่ศรัทธาขาดปัญญา มีตั้งแต่ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ มีตั้งแต่ความเห็นแก่ตัว เราจงเอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจเราไปใส่ใจเขา มองให้เห็นความถูกต้อง เราก็จะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสงบความสุข อยู่มากก็ไม่มีปัญหา อยู่น้อยก็ไม่มีปัญหา อยู่คนเดียวก็ไม่มีปัญหา ถ้าเรารู้จักแก้ปัญหาจากภายในของเราให้ได้ ก็ต้องพยายามกัน ไม่ว่าพระว่าโยมว่าชี อย่าพากันเกียจคร้าน ความเกียจคร้านเข้าครอบงำอยู่ทางโลกก็ไม่ดี อยู่ทางธรรมก็ไม่ดี อยู่คนเดียวก็ไม่ดี โดนกิเลสเข้าเล่นงาน


อันนี้หลวงพ่อก็เพียงแค่เล่าให้ฟัง ถ้าพวกท่านไม่ไปทำให้ปรากฏขึ้นที่ใจ มันก็ยากที่จะเข้าถึง อย่าไปโทษคนอื่น จงโทษตัวเราน่ะเป็นหลัก แก้ไขตัวเรา ยิ่งมาอยู่รวมกันหลายคนหลายท่าน ก็พยายามรู้จักรักสมัครสมานสามัคคี อยู่กันคนละทิศละที่ เคยสร้างบุญร่วมกันนั่นแหละถึงได้มาอยู่ร่วมกัน เคยสร้างอานิสงส์ร่วมกันมาก่อนถึงได้มาอยู่ร่วมกัน


เหตุ แต่ก่อนเราอยู่จากที่ไหนถึงได้มาอยู่ถึงที่นี่ แล้วก็มาแก้ไขตัวเราปรับปรุงตัวเราอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่ามาแล้วก็เพ่งโทษคนโน้น เพ่งโทษคนนี้ คนนั้นเป็นอย่างนั้นคนนั้นเป็นอย่างนี้ เอาตั้งแต่กิเลสของตัวเองเข้ามาตัดสิน จากความไม่มี เราก็พยายาม สมมติ จากความไม่มีเราก็ทำให้มี เพื่อที่จะยังส่วนรวมให้ได้มีความสุขกัน จนล้นออกไปสู่ภายนอก ล้นออกไปสู่หมู่ สู่คณะ สู่สังคม


จากน้อยไปหามาก จากมากมาหาน้อย จากความไม่มีก็ทำให้มี จากความมีอยู่แล้ว เราก็ทำไม่ให้มี คือคลายใจออกจากใจของเราให้มันหมด แล้วก็มีใหม่ ทำใหม่ ให้สมมติมีความสมบูรณ์แบบ ด้วยใจที่ไม่หลงไม่ยึด เราก็จะมีความสุข


ก็พยายามแก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเราให้ได้ ใช้ตัวเราให้เป็น ถ้าไม่รู้จักอบรมใจของเราแล้วก็ ไปอยู่ที่ไหนมันก็เหมือนเดิม ก็ต้องพยายามกัน


เอาล่ะวันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจกัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง