หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 16

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 16
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 16
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 16
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 13 มีนาคม 2564


มีความสุขกันทุกคน วันนี้ก็เป็นวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 หรือเดือน 5 แล้วเนาะ ใกล้แล้วเนาะเดือน 4 ภาษาเดือนโบราณ อากาศก็เริ่มฝนฟ้าก็เริ่มตก ต้นไม้ก็เริ่มผลิใบมีความสวยงาม อากาศก็เริ่มเย็น หายหนาว ปีนี้หนาวนาน อากาศบางวันก็หนาว บางวันก็ร้อน อากาศก็แปรปรวน โรคภัยไข้เจ็บก็ระบาด ก็ค่อยยุบลงไปเรื่อยๆ โรคโควิดก็เป็นทั่วโลก เป็นโรคชำระ ถึงเวลาก็หดหายไป


ส่วนการขัดเกลากิเลส วิธีการแนวทาง พระพุทธเจ้าท่านได้ค้นพบ แล้วก็น้อมนำมาเปิดเผย หลายร้อยหลายพันปีก็ยังอยู่เหมือนเดิม ท่านสอนเรื่องหลักของอริยสัจ อริยสัจ 4 การดับทุกข์ การแก้ทุกข์ วิธีการแนวทางทำอย่างไรถึงจะดับทุกข์ได้ ภายในกายภายในใจของเรา ท่านชี้เหตุชี้ผลให้รู้จักวิธีการเจริญสติ สติรู้ตัวอยู่ปัจจุบันเป็นลักษณะอย่างนี้ รู้กายแล้วก็รู้ใจ
รู้ความเกิด รู้ความดับ จนรู้เท่ารู้ทัน รู้จักทำความเข้าใจ รู้กันรู้แก้


อะไรคือ 'สัมมาทิฏฐิ' ความเห็นถูก อะไรคือ 'มิจฉาทิฏฐิ' ท่านชี้หนทางเดิน หนทางนั้นมีอยู่แล้ว คืออริยมรรคในองค์ 8 แล้วก็อริยสัจ 4 ถ้าใจคลายออกจากขันธ์ 5 ได้ เราก็จะรู้เรื่องอัตตา อนัตตา รู้เรื่องสมมติวิมุตติ รู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในกายของเรา


ถ้าเราละกิเลสหยาบ กิเลสละเอียดได้ เราก็จะรู้เรื่องวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาภูมิ คือความรู้แจ้งเห็นจริง ถ้าเราสนใจ มีไม่มาก มีไม่ยากซึ่งมีอยู่ในกายของเราหมด อันนี้ส่วนรูป อันนี้ส่วนนาม การเกิดการดับของความคิด ของอารมณ์ถ้าเรารู้จักวิธีการแนวทาง แต่ก็ต้องอาศัยบุญบารมีที่เราสร้างสะสมมาด้วย ถ้าเราไม่สร้างสะสมบุญบารมีมา มันก็ยากอยู่


การละกิเลสเป็นอย่างนี้ กิเลสหยาบกิเลสละเอียดเป็นอย่างนี้ ส่วนมากก็ ... มันหลายสิ่งหลายอย่าง กิเลสหยาบกิเลสละเอียดปกปิดใจของเราเอาไว้ การเกิดของใจก็ปิดกั้นตัวเองเอาไว้ ถ้าเราไม่ศึกษา ไม่เป็นคนขยันหมั่นเพียรจริงๆ ก็ยากที่จะเข้าถึง ถึงเข้าถึงแล้วการทำความเข้าใจไม่ต่อเนื่องไม่เด็ดขาด มันก็ยากที่จะเข้าถึงจุดหมายได้ เข้าถึงแล้วถ้าเราไม่รู้จักละอีก มันก็ยากอีก เราต้องทำความเข้าใจในชีวิตของเราให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น


แต่ละวันๆ ตื่นขึ้นมา เรารีบวิเคราะห์ วิเคราะห์กาย วิเคราะห์ใจของเรา ทำความเข้าใจกับโลกธรรม ทำความเข้าใจกับสมมติ กายของเราเป็นก้อนสมมติ ใจของเรามาหลงมายึด ความหลงของใจตรงนี้หลงมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิด ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด หลงมาเกิดอยู่ในภพมนุษย์ แล้วก็มายึดติดอยู่ในภพมนุษย์ยังไม่พอ แล้วก็เป็นทาสของกิเลสอีก บางทีก็ความโลภ ความโกรธ ความอยาก ทั้งอยากทั้งไม่อยากความ ความเกิดนั่นแหละคือกิเลสอันละเอียดที่สุด ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด ถ้าอยากจะรู้ความจริงตรงนี้เราก็ต้องพยายามขัดเกลากิเลส แล้วก็เจริญสติหมั่นละหมั่นคลาย หมั่นเอาออก มองเห็นตามความเป็นจริง ชี้่เหตุชี้ผลให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น จนให้ปรากฏขึ้นที่ใจของเรา ท่านถึงบอกให้เชื่อ เราก็พยายามดำเนินชีวิตของเรา ได้เท่าไหร่ก็เอา


ได้บ้างไม่ได้บ้าง เผลอแล้วเริ่มต้นใหม่ เอาใหม่ แก้ไขตัวเราอยู่บ่อยๆ สักวันหนึ่งเราก็คงจะเดินถึงจุดหมาย ไม่ถึงช้าก็ต้องถึงเร็ว ก็พยายามกันเอา อย่าไปทิ้งบุญเด็ดขาด การทำบุญ การให้ทาน เป็นพื้นฐานในการขัดเกลากิเลสอันยิ่งใหญ่ในวันข้างหน้า


จะเอาจะมีจะเป็นก็เป็นเรื่องของสติเรื่องของปัญญา ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง มันก็พูดง่ายแต่การลงมือการกระทำจริงๆต้องเป็นคนที่ขยันหมั่นเพียรเป็นเลิศ ถึงจะเอาใจของเราอยู่ ท่านถึงบอกว่าใจของคนเรานี่เร็วไวเหมือนกับลิง เดี๋ยวก็วิ่งไปโน่นวิ่งไปนี่สารพัด คือความคิดของเรานั่นแหละ มันเกิดๆ ดับๆ อยู่ ซึ่งเป็นส่วนนามธรรม ซึ่งไม่มีตัวมีตน แต่เรามองเห็นเป็นตัวเป็นตน เป็นกลุ่มเป็นก้อน พระพุทธองค์ท่านมองเห็นเป็นของว่าง ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ว่างจะจากกิเลส ว่างจากการเกิด แนวทางนั้นมีอยู่ก็ต้องพยายามกัน


เอ้า...มีความสุขกันทุกคน


ดูดีๆ นะ พระเราชีเราก่อนที่จะขบจะฉัน ให้รู้จักพิจารณาปฏิสังขาโย แยกความอยากกับความหิว เรื่องกายของเรา ความอยากความหิว ใจเกิดความอยาก กายเกิดความหิว ตากระทบรูป ตากระทบอาหาร อันนู้นก็อร่อย อันนี้ก็อร่อย เอาน้อยๆ กลัวจะไม่อิ่ม กิเลสมันสั่งบอกว่าเอาเยอะๆ บอกว่างั้น เราต้องรู้จักกะประมาณ


ตั้งแต่ตื่นขึ้น รีบรู้กายรู้ใจของเราจนเป็นอัตโนมัติในการดู ในการรู้ ในการทำความเข้าใจจนกระทั่งถึงเวลาจะขบจะฉัน เราก็ต้องวิเคราะห์ อาหารมากอาหารน้อย อาหารเยอะๆ ใจของเราเกิดกิเลส เกิดความอยากหรือไม่ เราก็ต้องดู ต้องอบรมใจของเรา


ใจเกิดความอยาก เราก็รีบรู้จักดับ ใช้สมถะเข้าไปดับ เข้าไปหยุด เข้าไปควบคุมแล้วก็ค่อยเอา แล้วก็กะประมาณในการขบฉันของเราด้วย กะประมาณในการขบฉัน เราเอามากมันก็เหลือ ก็ทิ้ง เราเอาน้อยก็กลัวจะไม่อิ่ม ก็กะประมาณ กะประมาณทุกๆ วัน ทุกๆ เวลา ทุกขณะ ก็จะเกิดความเคยชิน


อันไหนใจเกิดความอยาก เราก็ไม่เอา ให้ผ่านไปผ่านเลยไป แล้วใจของเรายังเสียดายอาลัยอาวรณ์อยู่หรือไม่ เราก็ต้องดู มองซ้ายมองขวา มองบน มองล่าง มองกลางใจของเรา ไม่ใช่ว่าจะไปฝึกเฉพาะเวลาตั้งใจเดินตั้งใจนั่ง อันนั้นมันเป็นแค่รูปแบบ ทุกเวลา ทุกลมหายใจเข้าออก ทุกเรื่องในชีวิตตั้งแต่ตื่นขึ้น ตั้งแต่ยังไม่ได้ลุกจากที่ พอรู้ตัวปุ๊บรู้กาย รู้การหายใจ รู้ใจ จะลุกจะก้าวจะเดิน จะเข้าห้องส้วมห้องน้ำ สติปัญญาเป็นตัวสั่งหรือใจเป็นตัวสั่ง


เราต้องแยกให้ได้ว่าอะไรคือส่วนสติปัญญาที่เราสร้างขึ้นมา อะไรส่วนใจ อะไรส่วนอาการของใจ ซึ่งมีอยู่ในกายของเรา ส่วนใจหรือว่าส่วนวิญญาณเขาเรียกว่า 'ส่วนนามธรรม' ความคิดอารมณ์ต่างๆ เขามีอยู่แล้ว เขาเกิดๆ ดับๆ เพราะว่าเขาหลงเกิด หลงนั่นมันตั้งนาน เขามาสร้างขันธ์ 5 ขันธ์ 5 ของเรามีอะไรบ้างที่เป็นกองเป็นขันธ์


ที่พระพุทธองค์บอกว่าเป็นกองเป็นขันธ์ กองรูปกองนาม กองสังขาร กองวิญญาณ อันนั้นก็ไม่เที่ยง อันนี้ก็ไม่เที่ยง อันนี้ก็ไม่มีตัว อันนี้ก็ไม่มีตน ทำไมเรามองเห็นเป็นตัวเป็นตน ความจริงนั้นมีอยู่ ความจริงของรูป ความจริงของนาม ความจริงของวิมุตติ ความจริงของสมมติ เราก็ต้องทำความเข้าใจทั้งสองอย่าง ทั้งโลกทั้งธรรม เพราะเขาก็อาศัยกันอยู่


เวลานี้ใจของเรายังเกิด ยังหลง ใจของเรายังเป็นโรคอยู่ ถ้าใจคลายออกจากขันธ์ 5 ได้เมื่อไหร่แยกรูปแยกนามละกิเลสได้เมื่อไหร่ใจถึงจะตกกระแสธรรม ถ้าเราละกิเลสไม่หมดกิเลสมันก็ใช้งาน เล่นงานเราอยู่ตลอดเวลา เราพยายามใช้งานกิเลสให้เป็นประโยชน์ด้วยสติด้วยปัญญาด้วยเหตุด้วยผล


ตาก็ทำหน้าที่ดู หูก็ทำหน้าที่ฟัง ทุกอย่างก็ทำหน้าที่ของเขาหมด เราต้องแยกรูปรสกลิ่นเสียงออกจากใจของเรา โดยที่มีสติปัญญาคอยสังเกตคอยวิเคราะห์ สติปัญญาของเราสร้างขึ้นมา ชี้เหตุชี้ผลให้ได้ เพราะว่าทุกอย่างก็ล้วนเกิดจากเหตุ เหตุทางด้านนามธรรม เหตุทางด้านรูปธรรม จะเอาจะมีจะเป็นก็เป็นเรื่องของปัญญา ทำหน้าที่ขยันหมั่นเพียรมีความรับผิดชอบ ขยันมากเราก็มีความรับผิดชอบมาก


แต่ละวันตื่นขึ้นมาเราได้ทำบุญอะไรบ้าง เรามีความเสียสละบ้างไหม เรามีความรับผิดชอบหรือเปล่า เรามีหิริโอตัปปะความละอายเกรงกลัวต่อบาปหรือไม่ เรามีความขยันหมั่นเพียรหรือว่าเรามีความเกียจคร้านเข้าครอบงำ เราก็ต้องพยายาม ถ้าเรามีความเกียจคร้าน เราก็พยายามละความเกียจคร้าน สร้างความขยันหมั่นเพียรให้เป็นทวีคูณ ถ้าความเกียจค้านเข้าครอบงำก็ครั้งหนึ่ง ครั้งสอง ครั้งสาม ก็มากขึ้นๆๆ เป็นพระเกียจคร้านก็ไม่ดี เป็นชีเกียจคร้านก็ไม่ดี เป็นฆราวาสเกียจคร้านก็ไม่ดี


เราจงเป็นบุคคลที่มีความขยัน ขยันหมั่นเพียร มีความรับผิดชอบ มีความเสียสละ หมั่นอบรมใจของเราอยู่ตลอดเวลา ไม่ปล่อยโอกาสทิ้ง ไม่ปล่อยเวลาทิ้ง เราถึงจะเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ได้


ศาสนาพุทธสอนให้ทุกคนเป็นคนขยัน มีความเสียสละ สร้างพรหมวิหารความเมตตาให้มีให้เกิดขึ้น ในกายในใจของเรา เป็นผู้ให้ ผู้คลาย ผู้เอาออก จะเอา จะมี จะเป็นก็เป็นเรื่องของปัญญาทำหน้าที่ของสมมติ ยังสมมติให้มีความสุข เราอยู่กับสมมติ หมดลมหายใจเมื่อไหร่นั่นแหละถึงจะได้ทิ้งก้อนสมมติ เราต้องรู้สมมติภายในอยู่ที่กายของเราให้ได้เสียก่อน ทีนี้บุญของเราเต็มก็จะล้นออกไปสู่ภายนอก สู่หมู่สู่คณะ สู่พี่สู่น้อง สู่สังคม ไปที่ไหนก็มีความสุข ให้มองโลกในทางที่ดี คิดดีทำดี การกระทำของเราก็ให้ถึงพร้อม ก็จะเกิดประโยชน์ ก็ต้องพยายามกันนะ ตั้งใจรับพรกัน


ขอให้ทุกคนทุกท่านจงไหว้พระพร้อมๆ กัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง